สมาธิศึกษา: พื้นที่ที่ควรระวัง


การศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสมาธิศึกษา ยังคงดำเนินไปตามสมควร จันทร์-ศุกร์ ไม่มีโอกาสฝึกฝนตามรูปแบบหลัก จึงใช้วิธีการเท่าที่พอจะทำได้ เช่น เมื่อหยิบ ก็รู้ว่ากำลังหยิบ เมื่อเดินก็รู้ว่ากำลังเดิน เป็นต้น โดยไม่ให้ใครรู้ว่าเรากำลังทำอะไร คืนวันศุกร์-เสาร์-และเช้าวันอาทิตย์ จะปลีกตัวไปอยู่ท้ายสวน กลางวันจะหัดทำขนำ ส่วนกลางคืนทั้งที่เหนื่อยล้าแต่ไม่หลับ จึงใช้วิธีเดินบ้าง นั่งบ้าง ไม่รู้สึกเครียด แรกๆ ความกลัวมักจะเข้ามาเยือนเสมอ ที่ผ่านมาได้ตั้งคำถามว่า เรากลัวอะไร และพบว่า ความกลัวเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น จากสิ่งที่เราพบและอนาคตที่คิดว่าจะเป็น ล่าสุดวิธีดับความกลัวท่ามกลางความเงียบและการต้องอยู่คนเดียวห่างไกลผู้คน (ไม่ได้ไกลมากนัก) คือ “ถ้าจะต้องตายก็ตายไป จะอะไรมากมาย (มรณสติ)” ข้อความนี้มักจะผุดขึ้นมาบ่อยๆ ความกลัวจึงบรรเทาลง 

การฝึกฝนเรียนรู้ในคืนวันศุกร์-เสาร์-และเช้าตรู่วันอาทิตย์ ไม่มีอะไรคืบหน้านัก ไม่พบอาการที่อยากพบ มีแต่ความคิดวุ่นอยู่ในสมอง ได้พยายามบังคับไม่ให้คิด อันหนึ่งที่ค้นพบคือ การดึงด้วยสติ หมายถึง เมื่อรับรู้ว่ากำลังจมจ่อมอยู่กับความคิด ก็ดึงความรู้สึกมาอยู่กับสิ่งที่เป็นปัจจุบัน เช่น ท้องที่พอขึ้นและท้องที่ยุบลงขณะหายใจเข้า-ออก มีบางครั้งพบว่า เหมือนเข็มจิ้มจึ๊กๆที่ผิวหนัง แต่มี “ความเชื่อ” อยู่อย่างหนึ่งว่า สิ่งที่ทำคือการสะสมแรงเพื่อก้าวไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง

เช้าวันจันทร์ แม้จะโดนเสียงและหน้าตาแบบอารมณ์รำคาญใส่ แต่ไม่รู้สึกโกรธ ถึงอย่างไนั้น ได้แสดงออกให้รับรู้ด้วยเสียงว่า "จะรำคาญใจไปถึงไหนเล่า" คำพูดนี้เหมือนสะกิดใจ จากนั้นจึงได้ฟังข้อความแบบชวนคุยที่ไม่ใช่ความรำคาญใจ อนึ่ง เช้านี้น่าจะเกิดจากเราเอง ที่แปลงสิ่งที่คิดออกมาเป็นเสียง ทำให้ผู้ฟังรำคาญ คิดย้อนกลับ ถ้าไม่พูดอะไรเลยจะรู้สึกอย่างไร ผู้อยู่รอบข้างจะรู้สึกเกร็ง/กลัวแทน แต่เมื่อพูดออกไป ผู้อยู่รอบข้างจะรู้สึกรำคาญ คงต้องฝึกฝนเรื่องการแปลงความคิดเป็นเสียง/คำพูดกันต่อไป ถ้าแปลงทุกความคิดจะกลายเป็นเพ้อเจ้อ ทั้งที่เจตนาเพียงบอกให้ฟังว่ากำลังคิดอะไร

เริ่มตรวจงานของนักศึกษาโดยเฉพาะการต้องใช้สายตาเพ่งตัวเลขที่เป็นคะแนนของนักศึกษาโดยไม่ให้พลาด ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ ๐๗.๓๐ น.-๐๙.๑๙ น. ส่งผลต่อเจ็บเบ้าตา ตาร้อน ต้องใช้มือทั้งสองข้างนวด แต่เมื่อนวดปรากฏว่า ตาฟาง มองตัวเลขไม่ชัด รับรู้สึกภายในสมองอึ้งๆ อึมๆ อึมครึม เห็นว่า อาจต้องพักสายตา จึงนั่งบนเก้าอี้และหันไปทางหน้าต่าง จากเดิมหันหน้าทางโต๊ะทำงาน การนั่งหลับตาและใช้ความรู้สึกรับรู้การพองขึ้นและแฟบลงของท้อง พบว่า ศีรษะก้มต่ำลง เมื่อได้สติ จึงขยับศีรษะให้ตั้งตรง และใช้ความรู้สึกรับรู้การพองขึ้นและแฟบลงของผนังท้องต่อไป จนถึงเวลา ๑๑.๑๕ น. พบว่า สิ่งที่อยากให้เกิดกลับคืนมา ช่วงที่เหมือนจะง่วง มืด อึมครึมเต็มที่ จะเปลี่ยนไปเป็นสว่างโล่ง แจ่มใส สดชื่น เข้าใจว่า น่าจะคือการเปลี่ยนผ่านจากสภาวะ/สภาพหนึ่งสู่อีกสภาพหนึ่งที่อิ่มเอม เวลาผ่านไปเร็วมาก บางช่วงกลับเหมือนเดิมคือเหมือนกำลังก้มเพราะคงไปจี้ที่ผนังท้องเกินไป และมีอยู่ครั้งหนึ่งมีวืบเกือบหล่นจากเก้าอี้ ดังนั้น การนั่งบนเก้าอี้อาจไม่เหมาะกับการฝึกสมาธิ แต่จะเหมาะก็ต่อเมื่อสติกล้า เหมือนถึงไม่เผลอ เข้าใจว่า คราวเผลอคือจิตตกภวังค์ อันนี้ไม่แน่ใจ แต่รับรู้ได้ว่าไม่ได้หลับ

เมื่อยุติการพักสายตา กลับมาอยู่หน้าคอมฯ สายตาดีขึ้น มีความรู้สึกสดชื่น 

หมายเหตุ เคยต่อสู้กับอาการเหมือนง่วงและสัปหงกอยู่นาน เป็นอาการที่รับรู้ขณะปัจจุบันและมืดมิดสลับกัน ช่วงมืดมิดจะสัปหงก แต่รับรุ้ว่าไม่ได้ง่วง เคยปล่อยให้ร่างกายสัปหงกไปเรื่อยๆจนหัวจรดพื้น ข้างนอกถ้าใครมอง จะเห็นเหมือนกับว่า เราหลับนิ่ง แต่ข้างใน รับรู้ได้ว่าไม่ได้หลับและไม่ได้ง่วง รู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่าหัวจรดพื้น การที่เกือบตกเก้าอี้เช้านี้เข้าใจว่าน่าจะคือจุดเริ่มต้นของอาการเดียวกัน เพราะถ้าปล่อยให้สัปหงกไปเรื่อยๆ ก็จะหล่นทันที หัวคงต้องการหาพื้นรองรับ

คำสำคัญ (Tags): #สมาธิศึกษา
หมายเลขบันทึก: 692698เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2021 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2021 11:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท