เรื่องเล่าชนเผ่ากะเลิง


 

       ช่วงว่างแห่งวันวานได้หวนคิดถึงเรื่องเล่าอันเป็นทางมาแห่งตัวตนที่เกิดในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งอยู่ในอำเภอท่าอุเทนจังหวัดนครพนมทำให้ฉุดคิดว่าเอ๊ะบรรพบุรุษแห่งตนนั้นเป็นชนเผ่าใด..?มีสถานที่ตั้งบ้านเรือนอยู่หรือไม่และถ้ามีจะสืบหาหลักฐานได้จากที่ใด..?  หลังจากค้นหาข้อมูลสักพักก็พอจะเข้าใจได้ว่า  กกกอแห่งตนนั้นคือชนเผ่ากะเลิง  มีต้นกำเนิดมาจากคนภูเขาอาศัยอยู่ที่ราบสูงบนเทือกเขา(ชื่อบ้านกงพัด บ้านแก้งเจ๊ก บ้านกูบกองลอ , บ้านนาหิน, บ้านนากอก บ้านมหาชัยกองแก้ว )ในเขตแขวงคำม่วนแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในปัจจุบัน

       ในตำนานกล่าวถึงช่วงหลังศึกสงครามที่สยามได้ปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์กษัตริย์แห่งเวียงจันทร์อยู่ในช่วง พ.ศ. 2369-2371 ตรงกับรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ถือว่าทางการได้สั่งให้ชนเผ่าต่าง ๆ อพยพข้ามฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อมาอยู่อาศัยในประเทศไทยปัจจุบันนับเป็นการอพยพครั้งยิ่งใหญ่                 ต่อมาเกี่ยวกับพระยอดเมืองขวาง  เดิมชื่อขำ ยอดเพชร ( พ.ศ. 2395 – พ.ศ. 2443 ) เป็นข้าราชการฝ่ายปกครองของกระทรวงมหาดไทยในสมัย ร. 5 ในตำแหน่งสุดท้ายเป็นข้าหลวงในฐานะเจ้าเมืองคำม่วน เมื่อปี พ.ศ. 2428 รับผิดชอบในเขตบ้านนาเป คำเกิด  คำม่วน นากาย  ปากพิบูลย์ และแก้งเจ๊ก ที่มีอาณาเขตติดต่อกับเวียดนาม  ต่อมาปี พ.ศ. 2436 ถูกฝรั่งเศสอ้างเอาดินแดนในกรณีพิพาท ร.ศ. 112 ( พ.ศ. 2436 ) ส่งผลให้จับกุมพระยอดเมืองขวางอยู่ 4 ปี ได้รับอิสรภาพ เมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดอำนาจของพระยอดเมืองขวางได้แล้วส่งผลให้ชนเผ่าต่าง ๆ ในแถบนี้อพยพข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมายังฝั่งสยามระรอกใหญ่อีกครั้ง นั้นคือหลัง พ.ศ. 2437 นี้เองที่ชนเผ่ากะเลิงกลุ่มหนึ่งนี้ก็ได้ย้ายถิ่นฐานโดยข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมาขึ้นฝั่งที่ท่าอุเทนและได้หาแหล่งทำไร่ทำสวนต่อมาก็กลายเป็นการทำนาปลูกข้าวพร้อมสร้างบ้านอยู่ใกล้หนองน้ำใหญ่ชื่อหนองสระพังต่อมากลายมาเป็นบ้านสะพัง ตำบลรามราช  อำเภอท่าอุเทน  จังหวัดนครพนม ในปัจจุบัน

       ในบริเวณใกล้กันนั้นก็มีชนเผ่าต่าง ๆ มาร่วมสร้างบ้านกระจายกันอยู่ทั่วไป เช่น ชนเผ่าภูไท สร้างบ้านรามราช  ชนเผ่าญ้อ สร้างบ้านท่าอุเทนและหมู่บ้านบริเวณใกล้เคียง ชนเผ่าโส้ สร้างบ้านโพนสวรรค์ ชนเผ่าแสก สร้างบ้านอาจสามารถ เป็นต้น

       ชนเผ่ากะเลิงที่สร้างบ้านอยู่ในเขตอำเภอท่าอุเทนจังหวัดนครพนมในปัจจุบันมีบริเวณกว้างหลายหมู่บ้าน เช่น หมู่บ้านสะพัง  บ้านแพง บ้านหนองไฮ บ้านโพนค้อ บ้านโพนก่อ บ้านโพนแดง บ้านม่วง บ้านนาสีดา บ้านปากทวย บ้านนาหัวบ่อ บ้านนาโสก บ้านห้อมไปถึงบ้านเวินพระบาท บ้านยางนกเหาะ เป็นต้น  ต่อมาหมู่บ้านเกิดใหม่เรียงรายไปตามบริเวณแถบนี้และตามริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตจังหวัดนครพนมแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน

       นอกจากนั้นชนเผ่ากะเลิงยังมีถิ่นฐานอยู่ในปัจจุบันที่กระจายไปทั่วเขตจังหวัดนครพนม จังหวัดสกลนคร  และจังหวัดมุกดาหาร เป็นต้นโดยถือว่าเราคือสายใยแห่งความผูกพันในชนเผ่ากะเลิง

       การย้อนมองทิศทางมาแห่งบรรพบุรุษของตนจะทำให้เห็นรากเหง้าของตนที่เกิดมาในชนเผ่านั้นเมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยเฉพาะขนบธรรมเนียมประเพณีและภาษาที่ยังติดมากับสายเลือดแห่งชนเผ่าของตนที่ยากจะลืมเลือน ด้วยผู้เขียนนั้นอยู่ในบ้านเกิดเพียงอายุ 11 ปีเพราะเรียนจบ ป.4 แล้วคุณพ่อได้นำไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์พระอาจารย์สิง  สุนทโร แห่งวัดศรีสะอาด ท่านเป็นเจ้าคณะตำบลอยู่ในหมู่บ้านรามราชมีชีวิตอาศัยอยู่กับชนเผ่าภูไท 2 ปี ได้ย้ายไปอยู่เมืองท่าอุเทนอาศัยอยู่กับชนเผ่าญ้อ 2 ปีหลังจากนั้นได้ไปอยู่กับชนเผ่าไทยในเขตกรุงเทพ ฯ โดยเฉพาะที่เขตบางกอกน้อยฝั่งธนบุรีอยู่นานมากจนเรียนจบ ป.โท ประมาณ พ.ศ.2518-2535

       จากนั้นมีชีวิตต้องระหกระเหินบินไปเรียน ป. เอก ไปอาศัยอยู่กับชาวภารตะหรือชนเผ่าอารยันที่เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย อยู่ที่นั้นประมาณ 3 ปีจึงหวนคืนรังมาใช้ชีวิตเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีแห่งเมืองปักษ์ใต้ตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2538 – 2549 และย้ายมาเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยทักษิณถิ่นเมืองสงขลาตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2549 – จนถึงปัจจุบันนี้แล.

หมายเลขบันทึก: 692376เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2021 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2021 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณครับ คุณศุภณัฐ เจตน์ครองสุข

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท