กลยุทธ์นับญาติทำไมเวิร์ค?


ดร.ปรเมศวร์ กุมารบุญ

นักอาชญาวิทยา

 

ได้เห็นตุลาการที่ได้ชื่อว่าตงฉินมีฐานะดีไม่ต้องการทรัพย์สินเงินทอง แต่ท่านทำให้ผมเข้าใจผิดไปเองว่า “ตาชั่งท่านเอียง” ในด้านหนึ่งผมเป็นนักอาชญาวิทยาทำให้นึกสงสัยในตัวท่านมากว่าเพราะเหตุใดถึงไม่รักษาเกียรติขนาดมีพร้อมทุกอย่างขนาดนี้ จึงลองมองผ่านสายตานักอาชญาวิทยาว่าจะหาทฤษฎีใดมาอธิบายได้บ้าง

ประเด็นคือว่า ผมยังเชื่อว่าท่านไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน แน่นอนว่าหลายคนรู้ดีอยู่แล้วว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคมการคิดแบบมีเหตุมีผลของมนุษย์ (Rationale) คือการเห็นแก่ตัว ด้วยการหาประโยชน์ให้ตน แต่ยังมีอีกแนวทางหนึ่งที่คนทั่วไปไม่รู้จักคือ มนุษย์ยังรู้จักการหาประโยชน์ให้ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนอีกด้วย 

มนุษย์และสัตว์อื่นรู้จักการหาประโยชน์ให้ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนเช่นการหาอาหารให้ลูก นกบินออกหาอาหารแต่เช้ามืดเพื่อกลับมาป้อนลูกๆที่รัง โดยไม่หวังผลตอบแทน พ่อแม่ของมนุษย์ที่ปกติก็หาเลี้ยงลูกโดยไม่หวังผลตอบแทนเช่นกัน ทฤษฎีทางมานุษยวิทยาและอาชญาวิทยาทั่วไปยังอธิบายไม่มีน้ำหนักน่าฟังเท่ากลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชีววิทยาที่อธิบายความเห็นแก่ตัวของมนุษย์และสัตว์ตั้งแต่ยีนส์ (Genes) ในกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติในระดับพันธุกรรมและการปรับตัว หลายคนคงเคยอ่านหนังสือ “ยีนส์เห็นแก่ตัว” 

สิ่งมีชีวิตนั้นหาประโยชน์ให้ยีนส์ของตนหรือสิ่งที่ดูคล้ายว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับยีนส์ของตน นอกจากลูกแล้ว มนุษย์ก็ยังหาประโยชน์หรือให้ประโยชน์แก่ยีนส์ในวงศ์เดียวกับตน เช่น พ่อแม่พี่น้อง ญาติหรือแม้แต่เพื่อนฝูงที่สนิทเหมือนญาติ โดยมีลำดับความสำคัญแตกต่างกันไปตามแนวคิดของนักพันธุวิทยา Dr.Sewall wright ในปี ค.ศ.1922 ได้เสนอการหาค่าสัมประสิทธิ์การนับญาติ (Coefficient of Relatedness) มีตารางที่พอเห็นภาพดังนี้

Dr.Sewall wright ทำวิจัยอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ตัวเลขค่าสัมประสิทธิ์ที่ว่า ทำให้พอเห็นภาพการเข้าใจลำดับความสำคัญว่ามนุษย์ชั่งน้ำหนักการให้ประโยชน์เครือญาติอย่างไร

นักชีววิทยาอีกคนที่น่าสนใจคือ William Donald Hamilton ได้พัฒนาต่อยอดแนวคิดค่าสัมประสิทธิ์การนับญาติของ Dr.Sewall wright ซึ่งคล้ายๆกับทฤษฎี Rationale choice theory ของนักอาชญาวิทยา แต่เป็นทฤษฎีทางชีวิวิทยาแต่เมื่อเอามาปรับใช้จะได้ว่า มนุษย์รู้จักชั่งน้ำหนักบุญคุณกับการตอบแทนผู้มีพระคุณที่เป็นเครือญาติ โดยประโยชน์ที่ได้รับ (B) คูณด้วยค่าสัมประสิทธิ์การนับญาติ (r) มนุษย์คนนั้นชั่งน้ำหนักแล้วพบว่ามีค่า “มากกว่า” สิ่งที่ต้องตอบแทนหรือต้นทุน (C) ที่จะต้องทำ

นั่นหมายความว่าก่อนที่จะตัดสินใจให้ประโยชน์ใคร มนุษย์ต้องนับญาติกันก่อน มีความเกี่ยวพันกันมากน้อยแค่ไหน อย่างไรเสียก็เรือล่มในหนองทองจะไปไหน ลึกๆแล้วผลประโยชน์นั้นอาจจะวนกลับมาหาตนในที่สุดก็เป็นได้

เพราะฉะนั้นสำหรับประเทศไทยวัฒนธรรมเราเป็นสังคมเป็นพี่เป็นเป็นน้อง เป็นลุงเป็นป้าน้าอา ดังนั้นการจะเติบโตในหน้าที่การงานไม่ใช่ก้มหน้าทำดีแล้วได้ดี ทำดีแล้วต้องวิ่งเข้าหาผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้เป็นเพื่อขอตำแหน่งมาทำงานให้บ้านเมือง 555 เราต้องหากลยุทธ์นับญาติให้ได้ก่อน แม้เกิดมาจะไม่เคยรู้จักท่านมาก่อนก็ตาม เช่น ไปหาดูรายชื่อท่านเรียนโรงเรียนไหน วปอ. รุ่นไหน พตส. รุ่นไหน เรารู้จักใครบ้างไปนับญาติมา แล้วพาไปรู้จัก สร้างความสนิทชิดเชื้อชั้นลึกให้รู้สึกว่าเป็นยีนส์วงศ์เดียวกับท่าน แล้วเสนอผลตอบแทน

 

ที่ผมสนับสนุนให้วิ่งเข้าหาผู้ใหญ่สร้างความสนิทให้ถึงระดับญาตินั้นเพราะเป็นเรื่องที่ดีกับสังคม ลองคิดดูว่าถ้าคนทำงานทุกคนสนิทกับนาย นายก็ต้องเลือกคนที่ทำงานดีกว่า เก่งกว่า เป็นคนดีกว่า ตัดประเด็นการนับญาติออกไป และการสนิทกับผู้ใหญ่หรือเจ้านายทำให้สังคมพัฒนามากขึ้น เมื่อได้พูดคุยกันมากขึ้น

พอมานั่งนึกถึงโลกความจริง มนุษย์บางคนพ่อแม่ทำดีให้แค่ไหนก็ไม่ตอบแทนได้ แต่บางคนผู้อื่นทำดีให้เล็กน้อยก็ตอบแทนกลับอย่างถึงขนาด แล้วพอมานึกถึงตุลาการที่ตงฉินล่ะ? ผู้มีพระคุณต้องให้ประโยชน์ขนาดไหนตาชั่งที่ถือมายอมปล่อยให้เอียง ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลที่สะสมมายอมละทิ้งได้ เพราะต้องมากกว่าคนปกติธรรมดาแน่นอน ก็จินตนาการเพลินเลยครับว่าประโยชน์อะไร

 

 

หมายเลขบันทึก: 692307เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2021 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ตุลาคม 2021 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท