Three-Track Mind กับ โรคซึมเศร้า


สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านทุกคน … ในอาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้เขียนก็ได้มีโอกาสได้เรียนวิชาเกี่ยวกับการใช้เหตุผลทางคลินิกของนักกิจกรรมบำบัดค่ะ ซึ่งเนื้อหาที่ได้เรียนก็คือ Three-Track Mind (TTM) กับโรคซึมเศร้านั่นเองค่ะ คุณผู้อ่านหลายๆคนคงสงสัยกันใช่ไหมคะว่า Three-Track Mind คืออะไร แล้วมันเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าได้ยังไง วันนี้ผู้เขียนก็จะมาอธิบายให้คุณผู้อ่านทุกๆคนคลายข้อสงสัยนี้กันค่ะ

โดยเริ่มจากการอธิบายคร่าวๆกันก่อนเลยนะคะ ว่า Three-Track Mind (TTM) คืออะไร?

Three-Track Mind (TTM) 

คือการใช้เหตุผลทางคลินิกของนักกิจกรรมบำบัด ที่แบ่งออกเป็น 3 หลักการด้วยกัน ดังนี้ :

1. Interactive Reasoning (Why) - เป็นการตั้งคำถามด้วยคำว่า “ทำไม” เช่น ทำไมคุณถึงชอบทำกิจกรรมนั้น, ทำไมคุณถึงทำแบบนั้น ซึ่งการตั้งคำถามก็จะทำให้เราทราบถึงความต้องการ ความเข้าใจ ความไม่รู้ และผลกระทบต่อความสุขความสามารถในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตของผู้รับบริการได้ โดยประเมินอ้างอิงตามหลักการกิจกรรมบำบัดต่อไป

2. Conditional Reasoning (Because) - เป็นการตอบ “เพราะว่า…” โดยให้เหตุผลจากคำถามที่ได้ถามไป ว่าเพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น เพื่อทำให้เราทราบถึงเหตุผลและค้นพบปัญหาที่แท้จริงของผู้รับบริการ แล้วนำไปใช้เพื่อการประเมินต่อไป

3. Procedural Reasoning (How to) - หลังจากที่เราได้ตั้งคำถามว่าทำไมและทราบเหตุผลแล้วว่าเพราะอะไร นี่ก็เป็นการเข้าสู่ขั้นตอนการแก้ไขปัญหา ว่าเราจะสามารถคิดแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ “อย่างไร” 

ซึ่งทั้ง 3 หลักการนี้ก็จะทำให้เราสามารถคิดแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างเป็นระบบ (Systematic Thinking) มากยิ่งขึ้น

 

คุณผู้อ่านหลายๆคนคงทราบกันอยู่แล้วใช่ไหมคะว่า…ในสังคมปัจจุบันนี้เราจะเห็นได้ว่ามีคนส่วนใหญ่เลยที่กำลังประสบปัญหาสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นความกดดัน ความเครียด ความเสียใจ จนกระทั่งถึงการเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งวันนี้ผู้เขียนก็จะนำหลัก Three-Track Mind มาทำให้เราเข้าใจโรคซึมเศร้าและผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากันมากขึ้นค่ะ

  • เริ่มต้นจากรูปนี้ คือ แบบทดสอบโรคซึมเศร้า

              (ขอบคุณภาพจาก : https://med.mahidol.ac.th/th/infographics/76)

ทำไมเราถึงต้องทำแบบทดสอบโรคซึมเศร้า (Interactive Reasoning)

เพราะว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีความผิดปกติทางอารมณ์และสภาพจิตใจ ทำให้พฤติกรรมของผู้ป่วยเปลี่ยนไปจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ กลายเป็นคนมองโลกในแง่ลบ ไม่มีความสุข เศร้า หดหู่ เก็บเนื้อเก็บตัว รู้สึกเบื่อหน่ายกับสิ่งที่เคยสนุก และถ้ามีอาการซึมเศร้าในระดับที่รุนแรงก็อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ ซึ่งการทำแบบทดสอบโรคซึมเศร้านี้ ก็จะสามารถช่วยให้เราได้ประเมินสภาพจิตใจของตนเองว่าเรามีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าไหม เพื่อที่จะได้เตรียมพร้อมดูแลสภาพจิตใจของเรา ค้นหาจัดการกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ หาคนปรึกษา พบจิตแพทย์และหาวิธีการรักษาสุขภาพจิตใจของเราให้ดีขึ้นต่อไป (Conditional Reasoning)

เราจะสามารถรู้ว่าตัวเองมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างไร และต้องทำอย่างไรต่อไปเมื่อพบว่าเรามีภาวะซึมเศร้า (Procedural Reasoning)

เริ่มจากการสังเกตตัวเองในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ว่ามีอาการดังต่อไปนี้บ่อยแค่ไหน 

1. รู้สึกเบื่อ ทำอะไรๆก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่รู้สึกสนุกเหมือนแต่ก่อน

2. ไม่สบายใจ ซึมเศร้า หรือท้อแท้

3. นอนไม่หลับ หรือหลับมากเกินไป

4. เหนื่อยง่าย หรือไม่ค่อยมีแรง

5. เบื่ออาหาร หรือกินมากเกินไป

6. รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง คิดว่าตัวเองล้มเหลว หรือเป็นคนทำให้ตัวเอง/ครอบครัวผิดหวัง

7. สมาธิไม่ดีเวลาทำกิจกรรมหรืองานที่ต้องใช้ความตั้งใจ

8. พูดหรือทำอะไรช้าจนคนอื่นเห็นได้ชัด หรือกระสับกระส่ายอยู่ไม่นิ่งเหมือนเคย

9. มีความคิดทำร้ายตนเอง หรือคิดว่าถ้าตายไปเลยก็คงจะดี

หลังจากที่สังเกตอาการของตัวเองครบทั้ง 9 ข้อ ก็ให้ลองใส่คะแนนตามระดับความบ่อยของอาการในแบบทดสอบโรคซึมเศร้า แล้วสรุปผลคะแนนจากแบบทดสอบ ถ้าได้ 5-8 คะแนนถือว่ามีความผิดปกติแต่ไม่มีภาวะซึมเศร้า, 9-14 คะแนนถือว่ามีภาวะซึมเศร้าเล็กน้อย, 15-19 คะแนนถือว่ามีภาวะซึมเศร้าปานกลาง และมากกว่าหรือเท่ากับ 20 คะแนน ถือว่ามีภาวะซึมเศร้ารุนแรง 

เมื่อพบว่าตนเองมีภาวะซึมเศร้าแล้ว ในระดับเล็กน้อยให้ควรสังเกตอาการตนเอง แต่ถ้าเป็นมากจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันให้ควรไปปรึกษาจิตแพทย์ ส่วนในระดับปานกลางจนถึงระดับรุนแรงให้ควรพบจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการและให้ความช่วยเหลือต่อไป

 

  • จากรูปนี้ คือ คำพูดทั้งหมดของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ทำไมคำที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าพูดกันมากที่สุดถึงเป็นคำว่า suicide หรือฆ่าตัวตาย (Interactive Reasoning)

เพราะผู้ป่วยซึมเศร้าเชื่อว่าการฆ่าตัวตายจะเป็นการแก้ปัญหาที่ทำให้พวกเขาสามารถหลุดพ้นจากความทุกข์ต่างๆได้ โดยที่ไม่ต้องรับรู้อะไรอีก การที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารู้สึกถึงความโดดเดี่ยว ไร้ค่า หมดหวัง ไม่มีใครอยู่เคียงข้าง ไม่สามารถไปปรึกษาใครได้ มองไม่เห็นทางออกของปัญหา ก็จะทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความคิดที่อยากจะฆ่าตัวตาย มีการทนต่อความเจ็บปวดมากขึ้น เริ่มทำร้ายตัวเอง และไม่กลัวความตาย (Conditional Reasoning)

เราจะสามารถสังเกตคนที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายได้อย่างไร (Procedural Reasoning)

คนที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายมักจะให้สัญญาณเตือนก่อนว่าเขากำลังต้องการความช่วยเหลือ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่แสดงสัญญาณเตือนนั้นจะคิดฆ่าตัวตายกันทุกคน เพราะว่ามีคนที่คิดฆ่าตัวตายบางคนก็ไม่แสดงสัญญาณเหล่านี้ออกมาเลย ซึ่งดังนั้นเราก็ควรที่จะสังเกตคนรอบข้างของเราเสมอ ว่าเขามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไหม หรือกำลังประสบปัญหาอะไรอยู่หรือเปล่า เพื่อที่เราจะได้ช่วยเหลือเขาได้ทัน

สัญญาณเตือนที่เราสามารถคอยสังเกตได้ มีดังนี้ : 

1. แยกตัวจากเพื่อนฝูง พี่น้อง ครอบครัว

2. มีอาการซึมเศร้า เช่น ไม่ค่อยสนใจสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว ดูเศร้า สิ้นหวัง หงุดหงิดง่าย การกิน การนอนเปลี่ยนแปลง ไม่มีเรี่ยวแรง ชอบตำหนิตัวเอง มีความคิดหรือจินตนาการเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายบ่อยๆ เปลี่ยนจากซึมเศร้าเข้าสู่ความรู้สึกสงบอย่างรวดเร็ว 

3. พูด เขียน เอ่ยถึงการตาย

4. เคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว

5. แสดงความรู้สึกหมดหวัง สิ้นหวัง

6. บริจาคของของตนเองให้ผู้อื่น

7. สนใจที่จะทำพินัยกรรม หรือประกันชีวิต

ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่มีสัญญาณเตือนเหล่านี้กำลังจะคิดฆ่าตัวตายแน่นอน แต่จะเป็นการสื่อว่าคนๆนี้กำลังต้องการความช่วยเหลือ

 

  • จากรูปนี้ คือ ประโยคต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

             (ขอบคุณภาพจาก : นักกิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล)

ทำไมประโยคเหล่านี้ถึงต้องห้ามสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (Interactive Reasoning)

เพราะว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ประโยคเหล่านี้มันก็เหมือนเป็นประโยคที่คอยซ้ำเติมความรู้สึกที่แย่อยู่แล้วของผู้ป่วยให้มากขึ้นกว่าเดิม อย่างเช่น ประโยค “พยายามอีก”, “ต้องทำได้”, “ทำไมทำไม่ได้” พวกประโยคเหล่านี้เมื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ยินก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกกดดันและโทษตัวเองมากกว่าเดิม ส่วนประโยคที่ใครหลายๆคนคิดว่าเป็นการให้กำลังใจอย่าง “สู้ๆนะ” ซึ่งก็ถูกจัดให้เป็นประโยคต้องห้าม เพราะว่าเวลาที่ผู้ป่วยซึมเศร้าได้ยินประโยคนี้ มันเหมือนกับว่าเป็นการปล่อยให้ผู้ป่วยสู้ด้วยตนเองตามลำพัง มันไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาอะไรให้ดีขึ้นมาได้เลย (Conditional Reasoning)

เราสามารถพูดประโยคให้กำลังใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้อย่างไร (Procedural Reasoning)

ประโยคที่เราควรพูดให้กำลังใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ควรเป็นประโยคที่เป็นคำพูดเชิงบวก ไม่เป็นคำพูดกดดัน เมื่อผู้ป่วยได้ฟังแล้วจะทำให้เขารู้สึกว่าไม่ได้สู้อยู่คนเดียว แต่มีคนที่คอยอยู่เคียงข้างเขาเสมอ อย่างเช่น 

ตัวอย่างประโยคเหล่านี้ที่ควรพูดให้กำลังใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

1. อีกไม่นานก็จะดีขึ้นและเธอจะผ่านมันไปได้
2. ฉันอาจจะไม่เข้าใจเธอ แต่ฉันจะอยู่ข้างๆ เธอนะ
3. เธอยังมีเวลาอีกมาก และฉันจะอยู่ข้างๆ เผื่อว่าจะช่วยอะไรเธอได้บ้าง
4. อดทนไว้นะ เธอยังมีฉันอยู่ข้างๆ นะ
5. เธอไม่ได้อยู่คนเดียวนะ
6. ไม่มีใครตั้งใจให้เรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นหรอก
7. ฉันเห็นแล้วว่าเธอกำลังพยายาม มีอะไรที่ฉันพอจะช่วยเธอได้บ้าง
8. ออกไปเดินเล่นกันไหม / ฉันจะกอดเธอไว้นะ

 

ขอบคุณอ้างอิงจาก : 

https://med.mahidol.ac.th/th/infographics/76

https://www.phukethospital.com/th/%E0%B8%A8%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%88/depression/

https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1134

https://women.trueid.net/detail/NV6Wyz5XEEgx

 

หมายเลขบันทึก: 692246เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2021 17:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2021 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท