TTM Reasoning


มนุษย์เรานั้นก่อนที่จะเริ่มทำอะไร หากเรายังจัดระเบียบตนเองกับสมองไม่ได้ แน่นอนว่าสิ่งที่กำลังจะทำมันก็คงเป็นไปได้ยาก เหมือนเส้นทางที่แยกออกเป็นหลากหลายเส้นทาง เราก็เกิดความสับสน งุนงง กว่าจะคิดออกว่าควรเลือกเส้นทางไหนนั่นก็เสียเวลาไปมากแล้ว ฉะนั้นทางผู้เขียนอยากเสนอหนทางการจัดการกระบวนความคิดอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดเส้นทางที่ดีที่สุดที่เราควรเลือกเดินไป การมองปัญหาด้วยหัวใจเพราะหัวใจกับสมองเป็นสิ่งที่สื่อถึงกันได้ด้วยหลักของ TTM ( Three-Track Mind ) ผ่านหัวข้อประเด็นที่น่าสนใจอย่างสิ่งที่เรียกว่า ซึมเศร้า (MDD)

TTM ( Three-Track Mind ) หรือสามทหารเสือ ประกอบไปด้วย

 1. Interactive Reasoning : การให้เหตุผลเชิงปฏิสัมพันธ์ เป็นการสื่อสารระหว่างนักกิจกรรมบำบัดกับผู้รับบริการเพื่อให้ผู้รับบริการเข้าใจถึงความสำคัญและกระบวนการบำบัดฟื้นฟู ซึ่งการที่จะเข้าใจในตัวผู้รับบริการนั้น เราต้องเกิดการตั้งคำถามด้วยคำว่า " ทำไม (Why) " เพื่อทำความเข้าใจในตัวของผู้รับบริการ

ตัวอย่างการตั้งคำถาม Why

  • Needs Assessment : ทำไมผู้รับบริการถึงต้องการมาพบนักกิจกรรมบำบัดเพื่อบำบัดซึมเศร้า (ถามเพื่อต้องการรู้ความต้องการที่แท้จริง)
  • Impact Assessment : ทำไมผู้รับบริการรู้สึกเศร้าหมอง อยากอยู่เฉยๆ ไม่อยากจะทำอะไร  (ไม่มีความสุข/ส่งผลต่อการทำ occupation)
  • Occupational Profile Assessment : ทำไมผู้รับบริการถึงมีพฤติกรรมการนอนที่มากกว่าปกติ

2. Conditional Reasoning : การให้เหตุผลเชิงเงื่อนไข เพื่อเรียนรู้และเข้าใจในตัวของผู้รับบริการในเหตุผลที่แตกต่างกัน โดยมีความสมดุลของ Creative & Critical Thinking จะทำให้เราเกิดการตั้งเงื่อนไขที่เหมาะสมและสร้างสรรค์ ด้วยคำว่า " Because of เพราะเหตุใด " ซึ่งเงื่อนไขที่ได้ตั้งนั้นจะทำให้ผู้บำบัดมองเห็นถึงปัญหาเหตุผลต่างๆที่ซ่อนอยู่ในใจของผู้รับบริการมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไป (บางทีการตั้งคำถามเพียงคำว่า Why ก็อาจไม่ชัดเจนพอ ซึ่ง Because of จะเป็นสิ่งที่มาช่วยเสริมความชัดเจนนั้น )

3. Procedural Reasoning : การให้เหตุผลเชิงกระบวนการ เพื่อหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม ด้วยคำว่า " อย่างไร(How to) " คือกระบวนการแก้ไขอย่างเป็นขั้นเป็นตอนอย่างมีระบบ โดยใช้หลักการรักษาทางกิจกรรมบำบัดด้วยประสบการณ์ของผู้บำบัดแต่ละคน

และไม่ลืมหลักการ therapeutic use of self  ใช้ตนเองเป็นสื่อในการบำบัด

เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้รับบริการเพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือด้วยหัวใจของเรา หมายถึงเข้าใจในตัวผู้รับบริการ และตัวผู้รับบริการเองก็พร้อมที่จะเปิดใจให้เราได้เข้าไปช่วยเหลือ เริ่มจากการเข้าหาด้วยท่าทีที่เป็นมิตร ยิ้มแย้มสดใส ใส่ใจทุกคำพูด ใช้คำถามปลายเปิดในการพูดคุยสอบถาม รับฟังอย่างตั้งใจ ทำความเข้าใจสังเกตอารมณ์ของผู้รับบริการ เปิดรับฟังสิ่งที่เขาต้องการสื่อสารด้วยความเข้าใจและไม่ตัดสิน ให้คำแนะนำและวิธีการที่ถูกต้องเพื่อช่วยส่งเสริมความสามารถให้กับผู้รับบริการ

🤍Interactive Reasoning  - เรียนรู้อย่างเข้าใจ ด้วยคำว่า " Why " ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

" โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคแต่คือกำแพงขวางกั้นความสุข ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ใช่ผู้ป่วย เขาคือผู้ที่พยายามก้าวข้ามกำแพงนั้นเพื่อจะได้พบกับความสุขที่เขาตามหา "

Why คำถามเพื่อเรียนรู้อย่างเข้าใจในสิ่งที่เรียกว่า " ซึมเศร้า "

  1. ทำไมถึงต้องใช้การรักษาแบบไม่ใช้ยาควบคู่ไปกับการรักษาแบบใช้ยาในบุคคลที่มีภาวะซึมเศร้า?
  2. ทำไมการเลี้ยงของผู้ดูแลในเด็กวัย 2-6 ปี จึงส่งผลต่อการมีภาวะซึมเศร้าของเด็ก?
  3. ทำไมถึงมีคำพูดต้องห้ามที่ไม่ควรพูดกับบุคคลที่มีภาวะซึมเศร้า?
  4. ทำไมบุคคลที่มีภาวะซึมเศร้าถึงมีพฤติกรรมเฉื่อยชา ไม่ค่อยเคลื่อนไหว เบื่อหน่าย ไม่กระปรี้กระเปร่า?
  5. ทำไมบุคคลที่มีภาวะซึมเศร้าจึงมีความคิดที่จะพยายามฆ่าตัวตาย?

—————————————————————————————————————————————
💜Conditional Reasoning :  เรียนรู้คำว่า " Because of " ด้วยความ Soft skill เหตุผลที่แตกต่างในแต่ละบุคคล

การใช้กรอบอ้างอิงตาม model ต่างๆ เช่น PEO model ในการคำนึงถึงผู้รับบริการแบบองค์รวมและสามารถมองผู้รับบริการได้รอบด้านเพื่อตอบโจทย์ปัญหา (Why) ที่เราได้ตั้งเอาไว้ในตอนแรกโดยใช้เป็นข้อมูลประกอบการให้การบำบัดรักษา การใช้กรอบอ้างอิงอย่างเป็นระบบทำให้เราเกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผล รู้ที่มาของปัญหาในแต่ละบุคคลว่าเป็นเพราะเช่นใด (Because of) แล้วจึงทำการประเมินและรักษาต่อไป

 

P - Person : เรียนรู้ Profile ของผู้รับบริการ เขาคือใคร เป็นอะไร เพื่อจะได้หาหนทางการรักษาที่เหมาะสม

  1. เพราะผู้รับบริการปกติใช้แต่ยาต้านเศร้าแต่ไม่มีการบำบัดด้วยวิธีปรับความคิด พฤติกรรม สังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้อาการไม่ทุเลาลง แต่มีการใช้ยาบางตัวที่ส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ เช่น ยานอนหลับ ยาแก้อักเสบ รวมทั้งมีพฤติกรรมเสพสารเสพติดและแอลกอฮอล์
  2. เพราะผู้รับบริการเป็นเด็กหญิงวัย 4 ขวบ มีพฤติกรรมก้าวร้าว อาละวาด  ร้องไห้ง่าย ชอบพูดว่า "เกลียดพ่อแม่พ่อแม่ไม่รัก ไม่เคยมาสนใจในตัวของหนู" โดยมีประวัติว่าแม่ของเด็กก็เป็นซึมเศร้าเช่นกัน
  3. เพราะผู้รับบริการรู้สึกตนเองเป็นคนคิดมาก มองโลกในแง่ร้าย อาการแย่ลงเวลาที่เพื่อนสนิทของตนบอกว่า"สู้ๆนะ" หรือเอาแต่ถามว่า "เธอจะร้องไห้ทำไม"
  4. เพราะผู้รับบริการ เหม่อลอย ไม่ยอมทำอะไร เฉื่อยชา เคลื่อนไหวช้าและมีภาวะนอนไม่หลับ
  5. เพราะผู้รับบริการเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย สนใจแต่ในด้านไม่ดีหรือด้านลบของสิ่งต่างๆ มากกว่าด้านบวก เมื่อประสบปัญหาก็ใช้วิธีหลีกเลี่ยงหรือหนีปัญหา เก็บกดอารมณ์ไม่แสดงออกคิดลบ จึงมีความคิดพยายามทำร้ายตนเองและฆ่าตัวตายตลอดเวลาเพราะทนเสียงในหูและความวิตกกังวลที่เกิดจากการคิดลบของตนเองไม่ไหวครอบครัวเป็นห่วงจึงส่งมาบำบัดกับนักกิจกรรมบำบัด

E - Environment : สภาพแวดล้อม สังคมรอบตัวของผู้รับบริการ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญและมีอิทธิพลมากกับคนที่มีภาวะซึมเศร้า จากผลการสำรวจนั้นปัจจัยที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัย คือ 1)ปัจจัยทางพันธุกรรม2)ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วน 40:60 จะเห็นได้ว่าปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลมากถึง 60%

  1. เพราะยาต้านเศร้าเป็นยาที่ช่วยในเรื่องการปรับสมดุลของสารสื่อประสาท หากแต่ผู้รับบริการยังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยังส่งผลให้อาการซึมเศร้าไม่บรรเทาลง ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม อยู่ในกลุ่มเพื่อน/ผู้ร่วมงานที่ไม่เป็นมิตร ชอบกลั่นแกล้ง อยู่กับครอบครัวที่ชอบระบายอารมณ์ด้วยการทำร้ายร่างกาย ซึ่งหากผู้รับบริการยังอยู่ในสภาพแวดล้อมดังกล่าวก็ไม่มีทางที่จะทำให้อาการซึมเศร้าทุเลาลงได้
  2. เพราะในวัยเด็กเป็นวัยที่กำลังเติบโตและมีพัฒนาการในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยพื้นฐานจิตใจเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญ ส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกและการดำเนินชีวิตขั้นพื้นฐาน ซึ่งอิทธิพลครอบครัวและสภาพแวดล้อมรอบตัวก็เป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อตัวเด็กโดยตรง โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัย (2-6 ปี) จะจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้มากและเริ่มซึมซับกับเรื่องราวเหล่านั้นจดเก็บเป็นความทรงจำระยะยาว เด็กต้องการความสนใจ ต้องการความรัก เนื่องจากทฤษฎีทางจิตเวชเชื่อว่ามโนธรรมหรือคุณธรรมต่างๆ จะเกิดขึ้นเมื่อเด็กมีอายุประมาณ 3 ปี หากเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ครอบครัวขาดความอบอุ่น พ่อแม่ไม่ให้ความใส่ใจ ก็อาจส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กจนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้าขึ้นได้
  3. เพราะคนสนิทเป็นบุคคลที่เราคิดว่าเขาจะอยู่เคียงข้างเราและเข้าใจเราในวันที่เรารู้สึกว่าไม่เหลือใคร เช่น พ่อแม่ คนใกล้ชิน แฟน หรือแม้แต่เพื่อนสนิท แต่ในกรณีของบุคคลที่มีภาวะซึมเศร้าย่อมต้องการหาที่พึ่งพิงทางจิตใจ บางคนอาจใช้วิธีไประบายกับคนใกล้ชิดที่ตนไว้ใจ แต่ด้วยอาการของโรคจึงส่งผลต่อความsensitive ในคำพูดค่อนข้างมาก คำพูดบางคำจึงทำให้บุคคลที่มีเป็นภาวะซึมเศร้ารู้สึกอึดอัดใจและแย่กว่าเดิม เนื่องจากบุคคลที่มีภาวะซึมเศร้ามักมีพฤติกรรมคิดวกวนและคิดเล็กคิดน้อย มองโลกในแง่ร้าย แม้คำพูดนั้นจะดูเป็นความหวังดีก็ตาม รวมทั้งคำพูดนั้นยังมาจากคนใกล้ชิดของตนเอง จึงเป็นเหตุผลทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี และมีอาการของโรคที่แย่ขึ้นได้
  4. เพราะอาการของโรคจะส่งผลต่อการแสดงออกทางพฤติกรรม สภาพแวดล้อมรอบตัวอาจไม่เอื้ออำนวยให้บุคคลที่มีภาวะซึมเศร้าอยากที่จะทำอะไร เช่น อยู่ในห้องนอนแคบๆ จะเกิดความรู้สึกอึดอัด และสร้างอารมณ์ความคิดลบมากยิ่งขึ้น หรือสังคมรอบข้างเช่น เพื่อน พ่อแม่ ไม่มีการกระตุ้นให้คนที่มีภาวะซึมเศร้าอยากที่จะเคลื่อนไหวร่างกาย ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนที่มีภาวะซึมเศร้าอยากอยู่เฉยๆ ไม่ยอมทำอะไรและเอาแต่คิดลบวนไปมา
  5. เพราะอาการโรคจะส่งผลต่อความคิดเชิงลบ บุคคลที่มีภาวะซึมเศร้ามักคิดและวิกตกกังวลจนเกิดความเครียดอยู่ตลอดเวลา เมื่อทนต่อสภาวะความเครียดนั้นไม่ไหวจึงเกิดความคิดอยากที่จะฆ่าตัวตาย ยิ่งในกรณีที่อยู่ตัวคนเดียวและอยู่ใกล้สิ่งของที่สามารถนำมาทำร้ายหรือฆ่าตัวตายได้ เช่น ของมีคม(มีด/คัตเตอร์/กรรไกร) หรือการนำตนเองไปในสถานที่ที่ฆ่าตัวตายได้เช่น ตึกสูง สะพานลอย เป็นต้น

O - Occupation :

  1. เพราะภาวะซึมเศร้าส่งผลต่อกิจกรรมการดำเนินชีวิต ฉะนั้นแล้วการบำบัดเพียงการใช้ยาเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถรักษาอาการซึมเศร้าได้
  2. เพราะเด็กปฐมวัยเป็นวัยแห่งการเรียนรู้และอยากรู้อยากเห็น หากเด็กไม่ได้มีoccupationที่ควรมีตามพัฒนาการในช่วงวัย เช่น การได้เจอสังคมภายนอกที่ดีมีการทำกิจกรรมที่เหมาะสม การมีส่วนรวมในกิจกรรมกับครอบครัวหากเด็กไม่มีในส่วนนี้ ก็อาจส่งผลต่อภาวะซึมเศร้าในตัวเด็กได้
  3. เพราะคำพูดบางอย่างที่ทำให้รู้สึกเกิดความอึดอัดใจ ไม่เข้าใจกัน ส่งผลต่อการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (social participation) อาจทำให้ไม่อยากที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมต่างๆจนเกิดเป็นพฤติกรรมเก็บตัวและปลีกตัวออกจากสังคม
  4. เพราะภาวะซึมเศร้าส่งผลให้เกิดความรู้เบื่อหน่าย ไม่มีแรงใจที่จะทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต จนเกิดปัญหาในด้านต่างๆ เช่น บกพร่องในเรื่องของการดูแลสุขอนามัยของตนเอง ปัญหาการนอนหลับ ปัญหาการเข้าสังคมเป็นต้น
  5. เพราะกิจกรรมบางอย่างส่งผลให้ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเกิดความรู้สึกว่าจะใช้กิจกรรมนั้นมาทำร้ายตนเองได้ เช่นนั่งตัดกระดาษด้วยกรรไกร ทำอาหารแล้วจับมีด เป็นต้น

—————————————————————————————————————————————

💚 Procedural reasoning : “ How to ” รู้คิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ

เป็นกระบวนการที่ใช้เป็นแนวทางเรียนรู้และเข้าใจผู้รับบริการเพื่อนำไปสู้ขั้นตอนกระบวนการรักษาทางกิจกรรมบำบัดอย่างเป็นระบบ

1.การศึกษาวิจัยยังไม่ทราบสาเหตุของโรคซึมเศร้าอย่างแน่ชัด แต่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง บริเวณส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและการแสดงออกของอารมณ์ คือ สารสื่อประสาท ดังกล่าวจะเสียความสมดุลทำให้การทำงานผิดปกติไปดังนั้นจึงต้องใช้ยารักษาซึมเศร้าหรือยาต้านเศร้า การให้การรักษาด้วยยาต้านเศร้า ยาส่วนใหญ่มีฤทธิ์ระงับอาการซึมเศร้าโดยการช่วยปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร ภายหลังรับประทานยา 2-3 วันแรกจะทำให้หลับได้ดี จิตใจสงบลงลดความหงุดหงิด กระวนกระวายใจ หลังจากนั้น 1-2 สัปดาห์ อารมณ์จะดีขึ้น จิตใจสดใส หลังจากอาการซึมเศร้าจะหายดีก็ต้องรับประทานต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ โดยทั่วไปจะต้องรับประทานยาต่อไปอีกประมาณ 6เดือนถึง 1 ปี แพทย์จึงจะสั่งให้ลดยาลงเรื่อยๆจนในที่สุดก็หยุดยาได้ ตัวอย่างยาต้านเศร้าหรือยารักษาโรคซึมเศร้า(Antidepressants ) ยาหมวด TCAs ได้แก่ amitriptyline, nortriptyline, doxepin, clomipramine, imipramine (แต่การใช้ยาก็มีผลข้างเคียงเช่นกัน ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด) แต่การบำบัดโดยใช้ยาไม่ใช้การรักษาที่มีประสิทธิภาพเพราะอาจไม่ได้ทำให้อาการซึมเศร้าทุเลาลง ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องใช้การบำบัดโดยไม่ใช้ยาหรือที่เรียกว่าการบำบัดด้านจิตใจควบคู่ไปด้วย เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวอย่างหลักการบำบัดโดยไม่ใช้ยาหรือที่เรียกว่า D O S E :

D : Dophamine --> "วันนี้เราตั้งใจจะทำ..." (เงียบเพื่อให้ผู้รับบริการตอบ ให้เขาเกิดคำถามฉุกคิดกับตัวเอง) เพราะคนที่เป็นซึมเศร้ามักปล่อยสมองว่างเปล่าแล้วตัวเองก็จมอยู่กับอดีต

O : Oxytocin --> ใช้ความเงียบ อยากสบตา รู้สึกเกิดความรู้สึกเปิดใจที่จะอยากรับฟัง 3 วินาที แล้วถามว่ารู้สึกยังไง

(บางทีความเงียบก็เป็นสิ่งที่ดี มันทำให้ผ่อนคลาย การพูดเยอะๆไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป) หรือการใช้มือสัมผัส มือคนที่อยากจะช่วยเหลือ อยู่ใต้โอบล้อมคนที่เราอยากจะช่วย ถือเป็นการให้เกียรติ ให้ความไว้วางใจ (ถ้าเอามือไว้ข้างบนมันเหมือนการแสดงออกว่าเราอยู่เหนือกว่า)

S : Serotonin --> ถ้าเขาอยู่นิ่ง เป็นคนเชื่องช้า เราต้องเพิ่มตัวนี้โดยการทำให้เขารู้สึกสนุก เช่น ชวนเชิญให้มาตบมือกัน ยิ้มแย้ม ให้เขามีการเคลื่อนไหว แม้เขาจะนั่งเฉยๆเราก็ควรให้เขาเคลื่อนไหว ถ้าเขาไม่ยอมมีส่วนร่วม ให้เราสนุกไปกับตัวเองให้เขาดู 5 นาที

E : endorphins --> หัวเราะ ใส่อารมณ์ขันให้เขาไปด้วย (ขำให้เขาฟังเสียงหัวเราะ ฟังเสียงความสุขของเรา)ใส่ความสนุกสนาน มีชีวิตชีวา เติมเต็มหัวใจที่ไร้ชีวิตชีวาของเขา

--------------------------------------------

 2. อาการของโรคซึมเศร้าในเด็กจะมีลักษณะหลากหลาย  บางคนแสดงออกด้วยอาการก้าวร้าว อาละวาด  ร้องไห้ง่าย  ในขณะที่บางคนมีอาการเศร้า ซึม  มีความรู้สึกสิ้นหวังเวลาถูกปฏิเสธ  ถูกขัดใจก็จะอ่อนไหวง่ายกว่าปกติ  ใช้คำพูดรุนแรง  บ่นปวดหัว ปวดท้อง  รู้สึกไร้ค่า  ไม่มีสมาธิ  คิดถึงความตาย  คล้ายกับที่ผู้ใหญ่เป็น หรือบางคนอาจจะมีอาการให้เห็นได้จากการไม่เข้าสังคมในช่วงเริ่มต้นของอาการ  ซึ่งอาการเหล่านี้จะต้องเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ เด็กส่วนใหญ่ที่มีอาการของโรคซึมเศร้า มักจะมีปัญหาในด้านการเรียนร่วมด้วย

การรักษาโรคซึมเศร้าในเด็กนั้นผู้ปกครองเป็นส่วนสำคัญ เพื่อให้เด็กที่มีภาวะซึมเศร้ารับมือกับภาวะนี้ ควรมีหลักการปฏิบัติคือ

  • คอยพูดคุยและรับฟังอยู่เสมอ เพื่อให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงรับฟังและทำความเข้าใจว่าเด็กรู้สึกอย่างไรเพื่อให้เข้าใจในตัวของเด็กมากยิ่งขึ้น หากเด็กมีการปฏิเสธการพูดคุยก็ควรแสดงให้เห็นว่าผู้ปกครองพร้อมจะอยู่เคียงข้างเด็กเสมอ
  • ควรใช้เวลาร่วมกับเด็กให้มากขึ้น โดยอาจทำกิจกรรมที่ช่วยให้ทั้งครอบครัวผ่อนคลายความเครียดอีกทั้งยังสร้างความสุขและความสนุกสนานได้ เช่น ไปเดินเล่น เล่นเกม ทำอาหารร่วมกัน หรือดูภาพยนตร์สนุกๆ ร่วมกัน เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวอาจช่วยกระตุ้นให้เด็กรู้สึกสดชื่นแจ่มใสขึ้น และอาจจัดการกับความรู้สึกเศร้าได้ดีขึ้นไปด้วย
  • หากเด็กแสดงพฤติกรรมที่เกิดจากโรคซึมเศร้าออกมาอย่างมีทีท่าไม่พอใจหรือหงุดหงิด ผู้ปกครองควรหลีกเลี่ยงการโต้เถียงหรือการใช้คำพูดที่รุนแรง แต่ควรใช้ความอดทนและความเข้าใจในการรับมือกับเด็กแทน เพราะหากผู้ปกครองและเด็กมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันก็อาจช่วยให้อาการของโรคซึมเศร้านั้นดีขึ้นได้เช่นกัน

การคิดกิจกรรมในทางกิจกรรมบำบัด :

  • การคิดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะ social participation, playfulness, adaptability and flexibility,problemsolving,imagination,takingturns,sharing เริ่มจากกลุ่มเล็กๆโดยจัดเตรียมอุปกรณ์ที่หลากหลาย เช่น ชุดเครื่องครัว ชุดหลากหลายอาชีพ หรือกิจกรรมที่มีการทำงานเป็นทีม เช่น การเล่าเรื่องแบบกลุ่มการเล่นหุ่นมือ
  • จัดเป็นกลุ่มฝึกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจวัตรประจำวัน เพื่อให้เด็กนำไปใช้ได้จริง
  • จัดกิจกรรมที่ฝึกทักษะการคิดและจัดการปัญหา เช่น ต้องมีการจดบันทึก มีการแสดงบทบาทสมมติ
  • จัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการสำรวจตนเอง เกิดการหยั่งรู้ถึงความสามารถของตนเอง อาจจะจัดในรูปแบบกลุ่มหรือพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน

-------------------------------------------------

3. สำหรับบุคคลที่มีภาวะเป็นโรคซึมเศร้านั้นเป็นโรคที่เราต้องใช้ความเข้าใจสูง เพราะเป็นโรคที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน คำพูดของเราสามารถไปทำร้ายเขาได้ง่ายๆ วิธีที่จะรับมือนั้นคือความเข้าว่าโรคนี้จะต้องใช้คำพูดแบบไหนเพื่อให้เขารู้สึกดี คำพูดไหนห้ามใช้เพราะจะทำให้เขารู้สึกแย่หนักกว่าเดิม


*หลีกเลี่ยงคำต้องห้ามสำหรับโรคซึมเศร้า ไม่ควรพูดคำห้าม คำกดดัน คำพูดเชิงลบ : ต้องทำได้/แค่นี้เอง/อย่าคิดมาก/สู้ๆนะ ในเชิงจิตวิทยาเป็นคำพูด ignorance ปล่อยให้ผู้รับบริการสู้ด้วยตัวเองตามลำพัง ชะนั้นควรใช้คำพูดที่เหมือนเป็นการปลอบปะโลมหัวใจว่าเขายังมีเราอยู่ข้างๆและพร้อมจะช่วยเหลือเขาทุกเมื่อ เช่นตอนทำกิจกรรมอาจบอกเขาว่า " สู้ๆนะ มาทำไปด้วยกัน! "

ประโยคที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

“อีกไม่นานเธอก็จะดีขึ้น หรือ อดทนไว้นะ”

“ไม่มีใครตั้งใจให้เรื่องร้ายๆ มันเกิดหรอก ฉันรู้ดี”

“ฉันก็ไม่รู้หรอกนะว่าเธอจะรู้สึกแย่สักแค่ไหน แต่ฉันยินดีจะทำความเข้าใจเธอนะ”

“พวกเราจะไม่ทิ้งเธอนะ เราจะอยู่ข้างๆ เธอ”

“เธอไม่ได้เป็นบ้า เธอก็แค่เศร้า”

“มากอดกันไหม”

“ออกไปเดินเล่นกันไหม”

“ฉันรักเธอ แม้เธอจะเป็นยังไงก็ตาม "

"เธอไหวไหม  เธอเหนื่อยมากไหม"

"ชีวิตเธอสําคัญกับฉันมากๆ นะ"

"เธออยากให้เราช่วยอะไรบ้าง บอกได้นะ เราอยากช่วย"

เราควรที่จะเรียนรู้วิธีการที่ทำให้ผู้รับบริการรู้สึกมีค่า  มีกำลังใจในชีวิตมากขึ้น  การเป็นผู้ฟังที่ดีจะช่วยให้ผู้รับบริการรู้สึกผ่อนคลาย ข้อความดังที่กล่าวไปจะช่วยให้บุคคลที่มีภาวะซึมเศร้าโรคซึมเศร้าไม่รู้สึกกดดัน และทำให้เขาได้พูดถึงความคิดของตนได้มากขึ้น

------------------------------------------------

4.อาการของโรคซึมเศร้านั้นส่งผลให้ผู้รับบริการมีพฤติกรรมเบื่อหน่าย ไม่อยากจะทำอะไร เคลื่อนไหวเชื่องช้า ไม่กระปรี้กระเปร่า หรืออาจเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในตนเอง มีความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลาแก้ปัญหาด้วยวิธีการวางแผนดูแลสุขภาพทุกเช้าหลังตื่นนอน ใช้เวลา 5-10 นาที  ทบทวนรูปแบบการดําเนินชีวิตว่า คิดกังวลเยอะไหม ท่ีมักพูดว่า “กลัวทําไม่ได้  ถ้าทําแล้วแย่ลง คนอื่นจะมองไม่ดี เหนื่อยเบื่อไม่อยากทํา ไม่รู้” ให้ปรับความคิดว่า “ความกลัวเป็นเรื่องธรรมชาติ มนุษย์หยุดกลัวไม่ได้ พวกเราเอาชนะความ กลัวได้ด้วยการต้ังใจเป่าลมหายใจออกทางปากยาวๆ” จาก 1-10 คะแนน คิด ว่า กลัวกังวลกี่คะแนน ถ้า 10 คะแนนเต็ม ก็เป่าลมหายใจออกทางปากยาวๆ 10 รอบ ( ผศ.ดร.ก.บ.ศุภลักษณ์ เข็มทอง, 2563, น. 101 )

กิจกรรมบำบัดซึมเศร้า (Activity selection for MDD )

  1. กิจกรรมที่มุ่งเน้นเตรียมความพร้อม เน้นกำลังหรือพลังงานของร่างกาย เช่น กิจกรรมเกมส์กีฬา นันทนาการ
  2. กิจกรรมที่เพิ่มทักษะเบื้องต้น เช่น ให้ผู้รับบริการตัดสินใจคิดหรือแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
  3. กิจกรรมที่มีโครงสร้างหรือรูปแบบ มีผลงาน วิธีการชัดเจน โดยระยะเวลาที่ทำอยู่ในช่วงความสนใจที่ผู้รับบริการมี
  4. กิจกรรมกลุ่มเพื่อส่งเสริมทักษะการเข้าสังคมและเพิ่มอารมณ์ด้านบวก

แม้ผู้รับบริการจะนั่งอยู่เฉยๆ เราก็ควรให้เขาเคลื่อนไหวร่างกายบ้าง ถ้าเขาไม่ยอมมีส่วนร่วม ปฏิเสธที่จะทำกิจกรรมให้ผู้บำบัดสนุกไปกับตัวเองให้ผู้รับบริการดู 5 นาที (ให้เขาเห็นต้นแบบจนเกิดความรู้สึกอยากจะสนุกไปด้วยกันกับเรา)

----------------------------------------------

5.ความรู้สึกเศร้า หม่นหมองและผิดหวัง เป็นอารมณ์ปกติที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เมื่อคุณได้รับสิ่งดีๆเข้ามา เราก็จะเกิดความรู้สึกมีความสุข ดีใจขึ้นมาอีกครั้ง ทว่าว่าความรู้สึกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคนบางกลุ่ม ความสุขที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากอารมณ์เศร้าที่มีอยู่นั้นได้ เสียงในหูของคนเหล่านั้นนั้นดังกว่าเสียงภายนอกที่เข้ามา " เรามันแย่ / ทำไม่ได้หรอก / ไม่เห็นจะมีอะไรดีเลย " วนเวียนวุ่นวายทะเลาะกับตัวเองอยู่แบบนั้น จนท้ายที่สุดก็ทนต่อเสียงในหูของตนเองไม่ไหว จนอยากจะทำให้เสียงนั้นเงียบลงไปด้วยการฆ่าตัวตาย ( suicide )

5.1) การบำบัดด้านจิตเป็นวิธีการสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาในด้านอารมณ์ ความสัมพันธ์ต่อผู้อื่น ความคิด ทัศนคติในการมองโลก ปัญหาพฤติกรรม และ ความทุกข์ทรมานเรื้อรังของผู้ป่วยได้ โดยนักกิจกรรมบำบัดต้องใช้ความสามารถและวิธีการบำบัดคิดค้นวิธีการอย่างสร้างสรรค์มาใช้ในการรักษาผู้รับบริการอย่างเป็นระบบ

การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive-Behavioural Therapy)

  • การรักษาด้วยการยอมรับและความมุ่งมั่น (Acceptance and Commitment Therapy)
  • การบำบัดทางความคิดบนพื้นฐานของการเจริญสติ (Mindfulness Based Cognitive Therapy)
  • การบำบัดจิตสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal Therapy)
  • การบำบัดแบบยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Person-centered Therapy)
  • การบำบัดตามแนวคิดทฤษฎีทางอารมณ์ (Emotional Focused Therapy)
  • การบำบัดโดยการบรรยาย (Narrative Therapy)

ส่วนใหญ่การทำจิตบำบัด จะไม่ได้ใช้เพียงวิธีการใดวิธีการหนึ่ง แต่จะใช้ร่วมกันหลายๆวิธีเพื่อให้ผู้รับบริการได้รับการรักษาที่ตรงและเหมาะสมกับอาการมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ได้รับการรักษาและรับยาจากจิตแพทย์หากได้เสริมด้วยการบำบัดจิตควบคู่กันไป จะส่งผลให้การรักษาเห็นผลเร็วขึ้น

5.2 ) การคลายความเครียดอย่างสร้างสรรค์ด้วยวิธีหายใจ 4-7-8 นั่งแบบเปิดมือ(เปิดใจ) เงยหน้าขึ้น ตามองขึ้นเล็กน้อยหายใจลึกๆเข้านับในใจ 1-2-3-4 ค้างไว้ 1-2-3-4-5-6-7 เปาลมออก 8 หายใจเข้าลึกๆออกเสียง " อ๊า! โอ๊! "

-------------------------------------------

การนำ TTM ไปประยุกต์ใช้ในทางคลีนิก : การคิดแบบ Systematic Thinking = PRICE taxonomy คิดอย่างเป็นระบบจนเกิดคุณค่า คือหลักการที่เราต้องใช้ในการรักษาบำบัดผู้รับบริการ

P (information-Processing skills) : หากเรารู้คำถามว่า ทำไม (Why) ในประเด็นหัวข้อใหญ่เชิงกว้างไปแล้ว เราก็จะเกิดกระบวนการความคิดเพื่อเจาะลึกมองลึกเข้าไปคำถามนั้นๆมากขึ้น อันนำไปสู่การคิดในกระบวนการต่อไปจนตอบคำถามที่ตั้งเอาไว้ได้ ซึ่งเราจะนำคำถามที่เกิดขึ้นในหัวของเรา ไปใช้ในเป็นการสืบค้น สัมภาษณ์ ดึงข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการบำบัดรักษา คำถามที่ใช้ต้องผ่านกระบวนการคิดอย่างถี่ถ้วนและเป็นคำถามปลายเปิดเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการเล่าเรื่องราวที่อยู่ภายในใจของเขาออกมาให้เรารับฟัง

R ( Reasoning skills) : เรียนรู้ถึงปัญหาของผู้รับบริการ ซึ่งแต่ละคนก็ล้วนมีปัญหาที่แตกต่างกันไป (Because of ) เราต้องเรียนรู้และรับฟังอย่างเข้าใจโดยไม่ตัดสินผู้รับบริการ และมองหาทางออก เปรียบดั่งคานงัด ตอนที่เรารับฟังปัญหาของคนไข้เราจะมองเห็นจุดสว่าง ซึ่งจุดๆนั้นจะเป็นจุดที่เราสามารถช่วยเขาได้

I (Inquiry skills) : ในการสัมภาษณ์หากข้อมูลที่เราได้มานั้นยังไม่สมบูรณ์ (Whyยังไม่ครอบคลุมพอ) เราก็ต้องตั้งคำถาม คิดใคร่ครวญเพื่อถามคำถามที่จะมาช่วยเสริมให้ข้อมูลของเราสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น (เพื่อจะได้ Because ofที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น) ซึ่งอาจเป็นคำถามที่เฉพาะเจาะจง ลึกซึ้ง โดยมีหลักการคือจุดประสงค์คำถามนั้นเราถามไปเพื่ออะไร

ใช้หัวใจที่ใส่ใจเพราะคำถามที่ใช้นั้นสำคัญ

-ถามผู้รับบริการก่อนว่าพร้อมที่จะเล่าหรืออยากที่จะเล่าไหม เราจะไม่คาดครั้นหากเขาไม่ต้องการที่จะพูดออกมา

-การทำให้ผู้รับบริการรู้สึกผ่อนคลาย พักจากการพูดคุย เพราะบางทีบรรยากาศนั้นตรึงเครียดเกินไป อาจเสนอให้ไปเดินผ่อนคลายรอบๆห้องซัก 10 นาที หรือใช้ความเงียบก็เป็นอีกวิธี การพูดเยอะๆไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป ลองให้ผู้รับบริการเงียบและสูดหายใจเข้าออกช้าๆเพื่อคลายความตรึงเครียด

*โปรดสังเกตอารมณ์ ท่าทีที่ผู้รับบริการแสดงออก เพราะคำถามอาจทำให้ผู้รับบริการรู้สึกอึดอัดใจที่จะเล่าออกมา

C (Creative Thinking skills) : สร้างโปรแกรมที่สร้างสรรค์โดยหลักการ How to อย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ ปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาให้เหมาะสมต่อตัวของผู้รับบริการ เพราะแต่ละคนก็จะมีเหตุผลและปัญหาที่แตกต่างกันไป

E (Evaluation skills) : ในฐานะที่เป็นวิชาชีพทางการแพทย์เพื่อวัดผลของการรักษา การประเมินจึงเป็นสิ่งที่นักกิจกรรมบำบัดต้องทำ เพื่อใช้เป็นสิ่งที่อ้างอิงผลการรักษาว่าเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งการวัดค่าควรวัดออกมาเป็นตัวเลขและอาจทำการประเมินซ้ำดูผลของการรักษา (เพื่อให้ How to นั้นนำไปใช้ได้จริงและประสบผลสำเร็จในการบำบัดรักษา )

อ้างอิง ;

หมายเลขบันทึก: 692234เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2021 03:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2021 11:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท