เข้าใจ ไม่ Depressed กับสามทหารเสือทางความคิด TTM


สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน ในสัปดาห์แรกของการเปิดเรียน ผู้เขียนได้มีโอกาสเรียนหนึ่งในการให้เหตุผลทางคลินิกกิจกรรมบำบัด TTM Three-Track mind ที่จะช่วยให้นักกิจกรรมบำบัดเป็นอัศวินสามทหารเสือที่สามารถเข้าใจและสร้างสรรค์กิจกรรมที่มีคุณค่าและเหมาะสมต่อผู้รับบริการได้ ผู้เขียนเลยนำการคิดแบบนี้มาวิเคราะห์ประเด็นเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าต่อยอดจากในห้องเรียน และอยากให้ทุกคนได้ลองคิดไปทีละขั้นตอนด้วยกันค่ะ โดยเรื่องแรกที่ผู้เขียนเกิดคำถามเลย ก็คือ

ทำไมปัญหาสุขภาพทางกายถึงมีความเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์การฆ่าตัวตาย?

ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) พบว่าปัญหาด้านสุขภาพกายส่งผลต่อสถานการณ์การฆ่าตัวตาย ถึง 23 % 

ที่มา: https://www.healthline.com/health/suicide-and-suicidal-behavior#preventing-suicidal-thoughts

คิดว่าที่เป็นเช่นนี้ เพราะ ในช่วงที่ร่างกายของเราเกิดความบกพร่อง เรามักจะรู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับอาการของโรคที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างตัวผู้เขียนเองที่ในช่วงบ่ายของวันหนึ่ง จู่ ๆ ก็มีอาการปวดท้องขึ้นมา ก็จะเริ่มคิดกังวลว่าเป็นเพราะอะไร ปวดบริเวณนี้หมายถึงอาการของโรคอะไร แล้วพอค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก็จะยิ่งมีความวิตกกังวลมากกว่าเดิม และเมื่อเกิดความเจ็บป่วยก็จะต้องมีการใช้ยาในการรักษาโรค การได้รับความเจ็บปวดทรมานจากตัวโรคที่อาจเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต การไม่ได้รับกำลังใจที่ดีจากคนรอบข้างขณะเข้ารับการรักษา หรือการมีกำลังใจที่ดีให้ตัวเอง ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา สิ่งที่ตามมาเหล่านี้ หากมีระยะเวลาที่เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวบุคคลเกิดภาวะซึมเศร้า และคิดฆ่าตัวตายได้ 

 

แล้วเราจะมีวิธีป้องกันการฆ่าตัวตายที่เกิดจากการมีปัญหาด้านสุขภาพกายได้อย่างไร?

คำตอบก็คือ เราจะต้องมีสุขภาพกายที่แข็งแรงค่ะ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายใช่ไหมล่ะคะ? เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าปัญหาด้านสุขภาพกายจะแวะมาหาเราเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้น เมื่อปัญหาด้านสุขภาพเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ควรทำเพื่อให้สุขภาพกลับมาแข็งแรง และห่างไกลจากสถานการณ์การฆ่าตัวตาย คือ 

  • การคิดบวก เป็นสิ่งแรกที่เราควรทำ ซึ่งการคิดบวกก็จะต้องอาศัยการฝึกคิดบ่อย ๆ เหมือนกับการคิดลบเลยค่ะ ถ้าเราจดจ่ออยู่กับเรื่องลบ ๆ มากเกินไปในแต่ละวัน ก็เหมือนกับว่ากำลังฝึกคิดลบอยู่นั่นเอง แต่ถ้ารู้สึกว่าคิดบวกคนเดียวไม่ไหว อาจจะลองพาตัวเองไปอยู่ในบรรยากาศของคนคิดบวก อยู่กับคนที่รักเรา คนที่สามารถพูดคุยเปิดใจเพื่อเติมเต็มความสุขได้ 
  • ต่อมา คือ การออกกำลังกาย แค่ออกมาลุกเดินรอบ ๆ บ้านก็นับว่าเป็นการออกกำลังกายแล้วนะคะ แถมยังช่วยเพิ่มระดับสารเคมี "เซโรโทนิน" ในสมองที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกสุขสงบ ทำให้นอนหลับดี และสารแห่งความสุข อย่างเอ็นโดรฟิน อีกด้วย 
  • สุดท้ายเลยก็คือ การทำในสิ่งที่ชอบค่ะ อย่างเช่น การชมภาพยนตร์ การปลูกต้นไม้ การทำอาหาร การท่องเที่ยว ในช่วงแรกที่มีอาการป่วยหลายคนอาจจะหลงลืมสิ่งเหล่านี้ไปเลย แต่ถ้าเขาได้กลับมาทำ มันก็เหมือนเป็นการช่วยผ่อนคลายความเครียด และทำให้เปลี่ยนจุดโฟกัสได้เลย หรือถ้าผู้อ่านมีคนใกล้ตัวที่เขากำลังมีปัญหาสุขภาพกาย ก็ลองชวนทำกิจกรรมที่เขาชอบดูค่ะ เรื่องเล็ก ๆ ที่มีคนใส่ใจคงทำให้เขามีความสุขน่าดู เมื่อมีความสุขแล้ว ภาวะซึมเศร้าก็คงจะเป็นเรื่องที่ไกลตัวออกไปเลย
ภาพโดย congerdesign จาก Pixabay

พอพูดถึงปัญหาสุขภาพทางกายมีผลต่อสถานการณ์การฆ่าตัวตายอย่างไรแล้ว ผู้เขียนก็เกิดความสงสัยต่อค่ะ ว่าทำไมยาบางชนิดที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ถึงมีความสัมพันธ์ต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย?

จากประเด็นก่อนหน้าที่มีการกล่าวถึง ปัญหาสุขภาพกาย และการใช้ยาในการรักษาโรค ผู้เขียนก็เกิดสงสัยว่าทำไมยาที่ถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์ที่สามารถรักษาโรคบางอย่างได้ ถึงทำให้เกิดอีกโรคหนึ่งอย่าง โรคซึมเศร้า ขึ้นมาได้ด้วย และหากมีการใช้ยาหลายชนิด ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นอีกค่ะ แปลกแต่จริง เราจะหาความพอดีได้อย่างไร?

ที่มา: https://www.vox.com/science-and-health/2018/6/14/17458726/depression-drugs-suicide-side-effect

โดยในที่นี้จะขอยกตัวอย่างข้อมูลจาก วารสารเครือข่ายวิทยาลัยพยาบาลและการสาธารณสุขภาคใต้ หัวข้อ ภาวะซึมเศร้า: ปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญในผู้สูงอายุความดันโลหิตสูง ความว่า ผู้สูงอายุที่มีความดันโลหิตสูงจำเป็นต้องได้รับยาเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง แต่ยารักษาความดันโลหิตสูงบางกลุ่มทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ เช่น กลุ่มกั้นเบตา (Beta-Adrenergic Blocker) (Tham-Aree, 2007) ยาปิดกั้นแอลฟาวันแอดรีเนอจิก (Alpha 1- Adrenergic Blockers) (Singhun, 2006) โดยเฉพาะโพรพราโนลอล (Propranolol) และเมโทโพรลอล (Metoprolol) ซึ่งละลายได้ดีในไขมันจึงซึมผ่านไปสู่สมองได้ง่าย (Jongtrakul, 2014) ทำให้รบกวนการหลั่งของสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า ซึ่งตรงกับข้อมูลในตารางแสดงตัวยาทั้งหมด 203 ชนิดที่มีงานวิจัยว่ามีผลกระทบต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า และการฆ่าตัวตาย พบว่า โพรพราโนลอล (Propranolol) และเมโทโพรลอล (Metoprolol) ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า 

ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.vox.com/science-and-health/2018/6/14/17458726/depression-drugs-suicide-side-effect

ภาพโดย Steve Buissinne จาก Pixabay

แต่ตัวผู้เขียนเองไม่ได้มีจุดประสงค์ให้ผู้ที่ต้องทานยาเหล่านี้เกิดความรู้สึกกลัวนะคะ ในฐานะนักศึกษากิจกรรมบำบัดคนหนึ่งก็ต้องการที่จะช่วยหาจุดสมดุลในการดำเนินชีวิตของผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ยา เพื่อให้การรักษาโรคหลักเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้า ซึ่งอาจนำมาสู่การฆ่าตัวตายได้ 

แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาเหล่านี้? โดยในการรับยาแต่ละครั้ง หรือเมื่อได้รับยาตัวใหม่ ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรเกี่ยวกับตัวยา วิธีการใช้อย่างละเอียด และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการบอกประวัติการแพ้ยา หรือตัวยาที่ใช้อยู่หากมีการเปลี่ยนสถานพยาบาล เพื่อทำให้ผู้ที่ใช้ยาและบุคคลใกล้ชิดเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเมื่อมีผลกระทบจากการใช้ยาเกิดขึ้น จะได้เป็นการเตรียมความพร้อมและป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าที่อาจตามมาด้วย

ได้พูดถึงเรื่องผลกระทบจากการใช้ยากันไปแล้ว แล้วทำไมในผู้ที่มีการใช้แอลกอฮอล์ และยาเพิ่มมากขึ้น ถึงเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนว่าบุคคลนั้นอาจจะกำลังคิดฆ่าตัวตาย?

ที่มา: https://www.healthline.com/health/suicide-and-suicidal-behavior#preventing-suicidal-thoughts

ที่เขาใช้แอลกอฮอล์มากขึ้น เขาอาจจะเป็นคนรักการสังสรรค์ หรือชอบดื่มหรือเปล่า และในผู้ที่มีการเพิ่มปริมาณยา เขาอาจจะใช้ตามที่แพทย์สั่งก็เป็นได้ ผู้อ่านมีความเห็นว่าอย่างไรกันบ้างคะ? 

หลาย ๆ คนอาจจะทราบกันว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะนั่นช่วยให้เกิดความสุข ผ่อนคลายความเครียดได้ และยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีก แต่จะขอมุ่งไปที่การดื่มแอลกอฮอล์ช่วยให้ผู้ที่ดื่มมีความสุข อารมณ์ดี ตรงจุดนี้ล่ะค่ะที่เป็นเหตุผลว่า การที่คนคนหนึ่งมีการใช้แอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น อาจเป็นเพราะเขากำลังไม่มีความสุข เลยต้องใช้สิ่งที่คิดว่าจะช่วยให้ความสุขแก่เขาได้ แต่เดี๋ยวก่อน ความสุขจากการใช้แอลกอฮอล์นั้นเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และหากใช้มากเกินไปก็จะมีผลเสียมากกว่าดีเช่นเดียวกับยาที่สามารถช่วยรักษาโรค บรรเทาความเจ็บปวดได้ แต่หากใช้ไม่ถูกต้องก็จะเกิดผลเสียตามมา เพราะทั้งสองอย่างนี้มีผลต่อสมองและสารเคมีที่เกี่ยวข้องทางด้านอารมณ์ เช่น ทำให้หลั่งสาร “เซโรโทนิน” ได้น้อยลง ส่งผลให้มีพฤติกรรมก้าวร้าว รวมถึงความบกพร่องทางกระบวนการคิด ซึ่งอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ 

แล้วเราจะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร? 

สามารถทำได้โดยการสังเกตพฤติกรรมว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ เช่น บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว แต่ระยะหลังมีการเพิ่มปริมาณมากขึ้น จากที่เคยร่าเริงกลับเงียบขรึม หากบุคคลนั้นเป็นคนใกล้ตัวที่สนิทกัน เราอาจจะเข้าไปถามไถ่ เพื่อพูดคุยปรับทุกข์กัน หรือหากเขามีความเครียดมาก ควรแนะนำให้เขาไปพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยแนะนำวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการความเครียด ซึ่งจะช่วยป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมเสี่ยงของเขาได้ 

ภาพโดย Free-Photos จาก Pixabay

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ? การเชื่อมโยงเหตุผลโดยใช้ TTM Three-Track Mind ทำให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ของแต่ละสิ่งเพิ่มขึ้นไหมคะ? อย่างไรก็ตามการเกิดภาวะซึมเศร้ามีสาเหตุจากหลายปัจจัย และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน อยากให้ทุกคนคิดบวกเข้าไว้ และอย่าลืมพาตัวเองไปอยู่ในบรรยากาศที่ดีกันนะคะ

 

อ้างอิง:

https://www.healthline.com/health/suicide-and-suicidal-behavior#preventing-suicidal-thoughts

https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017

https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/Depression

วารสารเครือข่ายวิทยาลัยพยาบาลและการสาธารณสุขภาคใต้ ภาวะซึมเศร้า: ปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญในผู้สูงอายุความดันโลหิตสูง Depression: an Important Mental Health Problem among Elderly with Hypertension

https://www.bbc.com/thai/international-44466955

https://www.vox.com/science-and-health/2018/6/14/17458726/depression-drugs-suicide-side-effect

https://alcoholrhythm.com/alcohol-and-violence/

https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 692221เขียนเมื่อ 2 กันยายน 2021 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กันยายน 2021 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท