Three-Track Mind มหัศจรรย์และการแจกแจงใช้ในผู้มีภาวะซึมเศร้า


Three-Track Mind มหัศจรรย์และการแจกแจงใช้ในผู้มีภาวะซึมเศร้า

 

 

สวัสดีค่ะผู้อ่านทุกท่าน ยินดีต้อนรับ (ตัวเอง) กลับมาสู่บล็อกในรอบสิบเดือนค่ะ ไม่ได้พบกันนานพอสมควรเลยนะคะ หวังว่าทุกคนจะสบายดี ผู้เขียนตอนนี้ยังสบายดีเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือขึ้นปี 2 แล้วค่ะ ^^ และแน่นอนว่าเมื่ออายุเพิ่มขึ้นก็จะมีงานใหม่ ๆ ที่ท้าทายมากขึ้น อย่างเช่นงาน TTM ชิ้นนี้นี่เอง จะเป็นอย่างไร ไปชมกันได้เลยค่า

ก่อนอื่นต้องขออนุญาตเกริ่นเรื่องราวเกี่ยวกับสามทหารเสือ TTM นี้โดยคร่าวตามความเข้าใจเบื้องต้นก่อนนะคะ เริ่มกันเลย

 

  1. Interactive Reasoning (WHY) เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามเพื่อประเมิน Needs และ Impact ของผู้รับบริการเบื้องต้นก่อน ว่าเขามีความต้องการ มีความเข้าใจ มีความสนใจในเรื่องอะไร ‘ทำไม’ จึงคิดเช่นนั้น รวมทั้งสอบถามว่าอะไรเป็นผลกระทบต่อความสามารถในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตของเขา ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยอาจจะอ้างอิงตามหลักของกิจกรรมบำบัด นำโมเดลมาใช้ให้เหมาะสมเพื่อให้เห็นภาพรวม ส่งเสริมให้เกิดการคิดเป็นระบบ (Systematic Thinking)
  2. Conditional Reasoning (BECAUSE) คือการให้เหตุผลเชิงเงื่อนไข หลังจากได้ถาม Why ในข้อแรกไปแล้ว ก็จะนำมาสรุปว่าแต่ละคนมี ‘เหตุผล’ อะไร ถึงได้กระทำการเช่นนั้น หรือเหตุผลที่ต้องการทำการกระทำเช่นนั้น ซึ่งอาจมีหลายมุมมองซ่อนอยู่ เราจึงต้องใส่ ‘เงื่อนไข’ เข้าไปเพื่อย้ำให้สาเหตุชัดเจนขึ้น และถ้าหากเราฝึกการคิดเป็นระบบทบทวนบ่อย ๆ ก็จะนำไปสู่สามทหารเสือตัวสุดท้าย ก็คือ
  3. Procedural Reasoning (HOW TO) อธิบายวิธีการ โดยอาศัยการคิดอย่างเป็น ‘ขั้นตอน’ ที่เป็นเหตุเป็นผล ด้วยกระบวนการคิดออกแบบเชิงระบบ (Design Thinking) เพื่อนำมาสู่การบำบัดที่มีประสิทธิภาพและประเมินได้ชัดเจนต่อไป

 

แนะนำกันไปพอหอมปากหอมคอแล้ว แต่อาจจะยังไม่ชัดเจน ไม่ต้องห่วง วันนี้เราพกตัวอย่างมาด้วย เป็นเกี่ยวกับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตายค่ะ

 

                                                          TW: ภาวะซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย

.

.

.

ลองพิจารณารูปภาพด้านล่างนี้ ที่เป็นคำพูดที่ออกมาจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

 

เราจะสังเกตได้ว่ามีทั้งสิ่งที่เขาคิดจะทำ อารมณ์ความรู้สึก และสาเหตุของอาการมากมายอยู่ในรูปนี้ จะยกนำมาประกอบตัวอย่างบางคำนะคะ

 

พิจารณา Interactive Reasoning ขั้นแรกกันก่อน ว่า Why หรือ ทำไม เขาพูดเช่นนั้น ทำไมหลายคนถึงได้มีความคิดว่าอยากตาย อะไรที่ทำให้พวกเขาเจ็บปวด (Pain) หดหู่ (Depress) จนคิดอยากฆ่าตัวตายด้วยวิธีต่าง ๆ และจากภาพก็ได้ระบุสาเหตุหลัก ๆ เอาไว้ เป็น Conditional Reasoning ว่า Because (เพราะ) พบปัญหาในการดำเนินชีวิต (Problem, Issues), ปัญหาเรื่องการเรียน-ระบบการศึกษา (Education), ความเครียด (Stress, Serious), ความวิตกกังวล (Anxiety, Worried), ความอับอาย (Shame), ความกดดัน (Pressure), ความกลัว (Fear), อาการเจ็บป่วย (Illness) หรือโดนล่วงเกิน (Abuse) ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เขา ‘ไม่มีความสุข (Unhappy)’

 

โดยข้อมูลสถิติของประเทศอเมริกาในปี 2017 (จากศูนย์ CDC American foundation for suicide prevention) พบว่ามีผู้พยายามจะฆ่าตัวตายถึง 1,400,000 คน และทำสำเร็จไปถึง 47,173 คน นับว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 10 ของประเทศ โดยพบว่าช่วงอายุ 45 ถึง 54 ปีมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด รองลงมาคือผู้มีอายุมากกว่า 85 ปีขึ้นไป เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ และนอกจากนั้นพบว่าเป็นผู้ที่มีการวินิจฉัยภาวะสุขภาพจิตก่อนจะเสียชีวิตแล้วถึง 90% แล้วอีก 10% ทำไมถึงหายไป จากการอ่านข้อมูลในเว็บไซต์นี้เพิ่มเติม ได้ระบุถึงสาเหตุของการฆ่าตัวตายไว้มากมาย อย่างเช่น

 

-ปัญหาด้าน Mental Health

-ปัญหาเกี่ยวกับงาน (Poor job security, Low levels of job satisfaction or loss job) 

-ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรค (Being diagnosed with a serious medical condition, Having a chronic disease)

-เป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งหรือล่วงละเมิด (Being socially isolated or a victim of bullying or harassment, Childhood abuse or trauma) 

-การสูญเสียครั้งสำคัญ (Family history of suicide, Social loss such as the loss of a significant relationship) 

-การเข้าถึงอุปกรณ์สังหารได้ง่าย (Access to lethal means including firearms and drugs)

-เลือกเสียชีวิตเพื่อแก้ปัญหาส่วนตัว (Following belief systems that accept suicide as a solution to personal problem)

 

ซึ่งอาจจะเห็นได้ว่าหลายสาเหตุจะประสบพบเจอก็ต่อเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงานแล้ว หรือมีอายุมากประมาณหนึ่ง จึงอาจจะทำให้สาเหตุของการฆ่าตัวตายในบุคคลที่อายุ 45-50 ปีมีมากที่สุด รองลงมาก็ 85 ปีขึ้นไป ที่อาจจะตรวจพบปัญหาสุขภาพมาก อาจทำให้ส่งผลกระทบต่อจิตใจจนตัดสินใจกระทำการลงไป และสำหรับผู้ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายอีก 10% ที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยเรื่องสุขภาพทางจิต อาจจะเป็นเพราะว่า

-มีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการ หรือถูกกีดกัน (Difficulty seeking help or support)

-ขาดการดูแลสุขภาพจิต หรือการบำบัดการใช้สารเสพติดที่ถูกต้อง (Lack of access to mental health or Substance use treatment)

 

 

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่เรารู้จักหรือคุยด้วยอยู่นั้นมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายหรือไม่? ในเมื่อความเป็นจริงแล้วสิ่งที่มนุษย์แสดงออกมา เป็นเพียงแค่ <10% ของความคิดทั้งหมด?

 

 

ปัญหานี้แก้ได้ด้วยหลักการสังเกต “Warning Signs” มี How To ดังต่อไปนี้

1. เริ่มสังเกตจากอารมณ์เบื้องต้นก่อน ว่ามีความวิตกกังวล กระสับกระส่ายมากเกินเหตุ หรือมีอารมณ์ฉุนเฉ๊ยวแปรปรวนมากกว่าปกติหรือไม่

2. หากคุ้นชินสนิทสนมหรือเป็นครอบครัวเดียวกัน สามารถสังเกตพฤติกรรมเบื้องต้นได้ ว่ามีเหม่อลอย ซึม นอนมากไปหรือน้อยไป กินมากเกินไปหรือน้อยไปจนผิดวิสัย รวมถึงหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น หรือปฏิเสธการร่วมกิจกรรมที่ปกติชื่นชอบหรือไม่

3. จากนั้นเริ่มจับสังเกตุจากคำพูดว่าพูดเกี่ยวกับความสิ้นหวังโดดเดี่ยว หรือการไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อหรือไม่

 

 

หากมี นี่อาจจะเป็นสัญญาณเริ่มต้นของเรื่องร้ายที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แล้วเราจะทำอย่างไรดีหากพบคนที่คิดจะฆ่าตัวตาย ลองนำวิธีดังต่อไปนี้มาปรับใช้ *ให้ระมัดระวังที่สุด* ดูเถอะ!!

 

 

1. บอกเขาเกี่ยวกับความกังวลเป็นห่วงของเรา เริ่มการสนทนาด้วยคำถามที่ไม่เจือปนการตัดสินและขัดแย้ง

2. ลองพูดคุยกับเขาไปอย่างเปิดเผยว่าเคยมีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย อยากหายไปจากโลกไหม เคยพยายามทำร้ายตนเอง หรือมีวางแผนไว้หรือไม่

3. บอกเขาว่ามีศูนย์ช่วยเหลือรักษาที่สามารถช่วยบำบัดได้ เสนอตัวพาไปหาผู้ให้คำปรึกษาทางจิตใจหรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพอื่น ๆ โดยอาจจะไปกับเขาในครั้งแรกด้วยเพื่อเพิ่มความมั่นใจและแสดงถึงการพร้อมเคียงข้าง

 

*ในทุกขั้นตอน เราต้องแน่ใจว่าเราสงบสติอารมณ์ และพูดด้วยน้ำเสียงที่มั่นใจ ยอมรับความรู้สึกของเขาพร้อมให้กำลังใจ ไม่ได้ลดปัญหาหรือพยายามทำให้พวกเขาเปลี่ยนใจด้วยความรุนแรง เน้นการรับฟังและคอยอยู่เคียงข้างเป็นหลัก ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยเขา แต่ถ้าหากรู้สึกว่าไม่ไหว สามารถติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสายด่วนป้องกันการฆ่าตัวตายให้มาช่วยเหลือแทนได้ โดยเรามีตัวอย่างคำพูดที่ควรใช้และต้องห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพราะอาจเป็นคำพูดเชิงลบและแสดงถึงการเพิกเฉยมาฝากด้วยค่ะ อย่าลืมคำนึงถึงคำเหล่านี้ก่อนการสนทนาด้วยนะคะ ขออนุญาตแหล่งข้อมูลต้นทางด้วยค่ะ 

 

Sompo Thailand : สังเกตและรับมืออย่างไรกับคนใกล้ตัวที่เป็นโรคซึมเศร้า

 

ประโยคที่ควร/ไม่ควร พูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า - เลิฟแคร์สเตชั่นดอทคอม

 

 

และนอกจากการใช้คำพูดแล้ว มีการแสดงออกอีกอย่างหนึ่งที่ทำได้ง่าย ๆ แต่มีประโยชน์มากนักจนหลายคนอาจจะนึกไม่ถึง สิ่งนั้นก็คือ “การกอด” นั่นเอง โดย Virginia Satir นักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงได้กล่าวเอาไว้ว่า คนเราต้องการการกอด 4 ครั้งต่อวันเพื่อการดำรงชีวิต กอด 8 ครั้งต่อวันเพื่อการดำเนินชีวิต และกอด 12 ครั้งต่อวันเพื่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ว่าแต่ทำไมการกอดถึงมีประโยชน์ล่ะ? แล้วมันเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายอย่างไร? ด้านล่างนี้มีคำตอบค่า

 

ประโยชน์ของการกอด หลัก ๆ คือจะสามารถช่วยลดระดับความเครียดความกังวลลงได้ และสามารถทำให้เรารู้สึกสงบลง โดยระดับเซโรโทนิน (Serotonin) ของร่างการจะเพิ่มขึ้น ซึ่งสารสื่อประสาทตัวนี้จะทำให้เรารู้สึก ผ่อนคลาย สร้างความสุขเพิ่มขึ้น รวมถึงฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) หรือฮอร์โมนแห่งความผูกพันธ์ ที่จะช่วยรักษาความรู้สึกเปล่าเปลี่ยวได้ และการกอดยังช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ปลดปล่อยความตึงเครียดในร่างกาย บรรเทาความเจ็บปวดได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้การกอดยังช่วยสร้างความเชื่อใจและเพิ่มความรู้สึกปลอดภัย สบายใจ กล้าเปิดใจเข้าหากันมากขึ้น ทำให้เราเห็นคุณค่าของตัวเองเพิ่มขึ้น ซึ่งมีงานวิจัยออกมาเช่นกันว่าถ้าลูกได้รับการกอดจากพ่อแม่บ่อย ๆ ตั้งแต่ยังเป็นวัยทารก จะช่วยในการสร้างระบบภูมิคุ้มกันได้ดี ระบบร่างกายสมดุล รวมถึงมีความมั่นใจ คิดบวก พอใจกับตัวเองมากด้วยเช่นกัน ดังนั้นการโอบกอดด้วยความรักถึงเป็นวิธีที่สำคัญในการเยียวยาจิตใจของทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่การแสดงความรู้สึกต่อกันเพียงอย่างเดียว

 

                                                     กอดผู้อื่นแล้ว..ก็อย่าลืมกอดตัวเองด้วยนะ

.

.

.

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว รู้สึกคุ้นชินกับ Three-track mind กันขึ้นมาบ้างหรือยังคะ เป็นการนำคำพื้นฐานอย่าง Why, Because of, How to มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ทางกิจกรรมบำบัด ส่งเสริมการคิดอย่างเป็นระบบและสร้างสรรค์ เพื่อนำมาใช้สังเกตผู้รับบริการพร้อมประกอบการให้เหตุผลทางคลีนิกต่อไป หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะรู้จักและเข้าใจสามทหารเสือที่แสนมีประโยชน์นี้มากขึ้นนะคะ หากมีคำติชมหรือข้อผิดพลาดประการใดสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ที่ช่องคอมเมนต์ด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ วันนี้ขอลาไปแต่เพียงเท่านี้ ขอให้ทุกท่านมีความสุขและห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บนะคะ สวัสดีค่า ^^

 

 

                                                                                                      

 

 

-ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก-

ข้อมูลสถิติของสหรัฐอเมริกา ปี 2020 สาเหตุและแนวทางช่วยเหลือผู้ที่มีความคิดฆ่าตัวตาย : https://www.healthline.com/health/suicide-and-suicidal-behavior#imminent-danger

คำต้องห้ามและคำที่ควรพูดกับผู้ป่วยซึมเศร้า :

https://www.sompo.co.th/en/home/sompo-article/Sompo-blog-article-listing/area-body/Know%20more%20about%20Sompo/blog%20content%2016.html

https://www.lovecarestation.com/ประโยคที่ควรไม่ควร-พูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ข้อดีของการกอด :

https://sistacafe.com/summaries/1155 

https://www.sanook.com/women/158715/

 

 

หมายเลขบันทึก: 692215เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2021 22:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กันยายน 2021 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท