Three-Track Mind กับโรคซึมเศร้า


Three-Track Mind กับโรคซึมเศร้า 

 

มาทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้ากัน

เชื่อว่าหลายๆคนคงเคยได้ยินคำว่า “โรคซึมเศร้า” กันมาอย่างหนาหู เพราะโรคซึมเศร้านี้เป็นโรคที่พบได้อย่างแพร่หลาย ทั้งในเพศชายและเพศหญิง และสามารถพบได้ในทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ หรือกระทั่งวัยชรา โรคซึมเศร้านี้เป็นโรคทางอารมณ์ บางรายเป็นแล้วรักษาหาย บางรายเป็นแล้วรักษาไม่หาย บางรายตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้านี้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว...มักเป็นเช่นนั้น 

โรคซึมเศร้าสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจอเหตุการณ์เลวร้าย ที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของบุคคล เช่น ความผิดหวัง การสูญเสีย ความเครียด และผู้ที่มีคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้าก็จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีคนใกล้ชิดเป็น หลายคนคิดว่าผู้ที่เป็นโรคนี้ เป็นผู้ที่อ่อนแอ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะทางการแพทย์พบว่าโรคซึมเศร้ามีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง และพันธุกรรมก็มีผลต่อโรคซึมเศร้าด้วยเช่นกัน โดยอาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มีดังนี้

ปัจจุบันโรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้ ทางการแพทย์จะรักษาโดยการพูดคุยให้คำปรึกษา การทำจิตบำบัด และการใช้ยา อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกรายที่จะสามารถหายจากโรคนี้ได้ บางรายรักษาจนหาย และกลับมามีชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป บางรายรักษาไม่หาย และบางรายยังไม่ทันได้รับการรักษาก็ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่หายจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ 

 

มาทำความรู้จักกับ Three-Track Mind กัน 

Three-Track Mind (TTM) เป็นการให้เหตุผลทางคลินิกของนักกิจกรรมบำบัด เพื่อให้เกิดความคิดอย่างเป็นระบบ เรียกว่า “Systematic Thinking ” ซึ่งจะประกอบไปด้วย 

     1. Interactive Reasoning (Why) : การให้เหตุผลเชิงปฏิสัมพันธ์ เป็นการตั้งคำถามว่า “ทำไม” ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

        1.1 Need Assesment : การประเมินความต้องการที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ภายในใจของผู้ป่วย เช่น ทำไมถึงอยากฆ่าตัวตาย?  

        1.2 Impact Assesment : การประเมินความสุข และความสามารถในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต เช่น ทำไมถึงไม่มีความสุขในการทำกิจกรรมนี้? 

        1.3 Occupational Profile Assesment : การประเมินกิจกรรมการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย เช่น ทำไมถึงไม่อยากออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน? 

     2. Conditional Reasoning (Because of) : การให้เหตุผลเชิงเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขชั่วคราว (Temporary) , เงื่อนไขถาวร (Permanent) , เงื่อนไขที่ทำให้เกิดความบกพร่อง (Impairment) และเงื่อนไขที่นำไปสู่ความพิการ (Disability) โดยการให้เหตุผลเชิงเงื่อนไขต้องมีความสมดุลในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ (Creative) และการมีวิจารณญาณ (Critical) เพื่อให้เกิดการคิดเกี่ยวกับระบบ เรียกว่า “Systemic Thinking”

     3. Procedural Reasoning (How to) : การให้เหตุผลเชิงขั้นตอน โดยใช้กระบวนการคิดออกแบบ ที่เรียกว่า “Design Thinking” เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างชัดเจน โดยขั้นตอนของ Design Thinking มีดังนี้ 

DESIGN THINKING

การใช้ Three-Track Mind ในการรักษาโรคซึมเศร้า 

การใช้ Three-Track Mind จะช่วยให้นักกิจกรรมบำบัดรู้จักตั้งคำถามว่า “ทำไม” (Interactive Reasoning : Why) จากนั้นจึงหาคำตอบให้กับคำถามที่ตั้ง (Conditional Reasoning : Because of) เมื่อได้คำตอบแล้ว จึงเริ่มกระบวนการคิดออกแบบที่เรียกว่า “Design Thinking” และนำไปสู่การหาขั้นตอนในการบำบัดรักษา (Procedural Reasoning : How to) ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการคิดอย่างเป็นระบบที่เรียกว่า “Systematic Thinking” 

 

Interactive Reasoning : Why

  • ทำไมผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจึงอยากฆ่าตัวตาย ?
  • ทำไมเราถึงต้องสังเกตอาการของโรคซึมเศร้า ?
  • ทำไมผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจากแพทย์จึงสามารถรักษาให้หายได้แค่บางราย ?

Conditional Reasoning : Because of

  • ทำไมผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจึงอยากฆ่าตัวตาย ?

ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีความรู้สึกเบื่อหน่ายอย่างรุนแรง เบื่อแทบทุกอย่างในชีวิต เกิดความเศร้าที่รุนแรงจนทำให้เกิดความคิดว่าตัวเองเป็นคนผิด เป็นคนไร้ค่า และไม่เห็นหนทางในการแก้ไขปัญหา ไม่เห็นหนทางในการดำเนินชีวิตต่อไป รู้สึกว่าชีวิตมืดมน และสิ้นหวัง ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้ว มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น... 

น่าเสียดายที่เขามีความคิดอยากฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้า หากเขาได้รับการรักษา เขาอาจไม่มีความคิดที่ว่าอยากจะฆ่าตัวตายเลยก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นเราต้องป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความคิดอยากฆ่าตัวตาย โดยสิ่งแรกที่เราสามารถทำได้ นั่นคือการสังเกตอาการของคนใกล้ชิด โดยอาการเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า มีดังนี้ 

  • ทำไมเราถึงต้องสังเกตอาการของโรคซึมเศร้า ?

อาการของโรคซึมเศร้าจะเริ่มจากน้อยๆจนแทบไม่สามารถสังเกตเห็นได้ และจะค่อยๆหนักขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มักไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็น ทำให้อาการหนักขึ้นเรื่อยๆ และเมื่ออาการหนักขึ้น อาจทำให้ควบคุมได้ยาก รักษายาก เข้าถึงตัวผู้ป่วยได้ยาก จนทำให้ผู้ป่วยอาจมีความคิดอยากฆ่าตัวตายได้ในที่สุด นั่นคือเหตุผลที่ว่า ทำไมเราจึงต้องสังเกตอาการของโรคซึมเศร้า เพราะหากเรารับรู้อาการของผู้ป่วยได้เร็วขึ้นเท่าไหร่ เราจะสามารถพาผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษาจากแพทย์ได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นผลดีต่อตัวผู้ป่วยอย่างมาก

เมื่อรู้ถึงอาการเริ่มต้นของโรคนี้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเข้าใจโรคซึมเศร้า ซึ่งสามารถย้อนกลับไปอ่านได้ในหัวข้อ “ทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้า” ที่กล่าวไว้ในข้างต้น จากนั้นจึงพาผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา บางรายไม่ยอมไปพบแพทย์ เพราะคิดว่าการมาพบจิตแพทย์แสดงว่าเป็นโรคจิต โรคประสาท ทำให้ไม่ได้เข้ารับการรักษา ทั้งที่จริงๆแล้วมันไม่ใช่ เพราะโรคนี้เป็นโรคทางอารมณ์ จึงสามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ การสำรวจพบว่า จากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั้งหมด 100 คน มีเพียง 10 คนเท่านั้นที่ได้เข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างถูกต้อง พูดง่ายๆว่า มีเพียง 10% เท่านั้นที่สามารถเข้ารับการรักษา และใน 10% นี้ ก็ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะรักษาหาย 

  • ทำไมผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจากแพทย์จึงสามารถรักษาให้หายได้แค่บางราย ?

ทางการแพทย์ การรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องยาก โดยจะรักษาด้วยวิธีการพูดคุยให้คำปรึกษา การทำจิตบำบัด และการใช้ยา แต่ผู้ป่วยจะหายหรือไม่นั้น ส่วนหนึ่งมาจากคนในครอบครัว คนใกล้ชิด และคนรอบข้าง เพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ไม่ได้ต้องแอดมิดอยู่ที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยยังคงต้องใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป ยังคงต้องเจอคนในครอบครัวในทุกๆวัน เพียงแต่ต้องเข้าไปพบแพทย์ตามนัดเป็นระยะๆ เพราะฉะนั้นคนในครอบครัวจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาโรคซึมเศร้านี้ 

ตารางสรุปการตั้งคำถาม (Interactive Reasoning : Why) และการหาคำตอบ (Conditional reasoning : Because of) เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

Procedural Reasoning : How to

เมื่อเราสามารถตั้งคำถามตามหลัก Interactive Reasoning คือ “Why” และหาคำตอบให้กับคำถามตามหลัก Conditional Reasoning คือ “Because of” ได้แล้ว เราก็จะสามารถหาขั้นตอนในการบำบัดรักษาตามหลัก Procedural Reasoning คือ “How to” ได้ ดังนี้

 

คำแนะนำสำหรับผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

     1. ชักจูงให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา 

  • ทำไมถึงต้องชักจูงให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์ ? (Interactive Reasoning : Why)

เมื่อสังเกตเห็นว่าคนใกล้ชิดมีอาการของโรคซึมเศร้า และอาจกำลังคิดทำร้ายตัวเอง เราต้องพยายามชักจูงให้เขาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง โดยการบอกให้เขารู้ถึงผลดีของการรักษา เช่น “โรคซึมเศร้านี้สามารถรักษาให้หายได้นะ มันไม่ใช่โรคจิต หรือโรคประสาทที่น่ากลัวเลย แต่มันเป็นโรคทางอารมณ์ และการรักษามันได้ผลดีมากด้วยนะ คนที่หายเป็นปกติแล้วจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้อย่างมีความสุข เหมือนคนทั่วไปเลย” คำพูดเหล่านี้ไม่ได้เป็นการหลอกล่อเพื่อให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาแต่อย่างใด แต่เป็นความจริง สามารถพิสูจน์ได้ และนั่นจะทำให้ผู้ป่วยคล้อยตาม และอยากเข้ารับการรักษา ซึ่งถือเป็นผลดีต่อตัวผู้ป่วยโดยตรง (Conditional Reasoning : Because of)

     2. พูดคุยให้ผู้ป่วยเห็นข้อดีของตัวเอง 

  • ทำไมต้องให้ผู้ป่วยเห็นข้อดีของตัวเอง ? (Interactive Reasoning : Why)

นอกเหนือจากการพบแพทย์ การทำจิตบำบัด และการใช้ยานั้น หัวใจหลักของการรักษาโรคซึมเศร้าคือการที่ผู้ป่วยมองเห็นคุณค่าของตัวเอง มองเห็นข้อดีของตัวเอง เพราะเมื่อผู้ป่วยเห็นคุณค่าและข้อดีของตัวเองแล้ว จะทำให้เขามีกำลังใจในการต่อสู้ มีแรงในการใช้ชีวิตต่อไป และเห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ นั่นส่งผลให้ผู้ป่วยหายจากโรคซึมเศร้าได้เร็วขึ้น และห่างไกลจากการฆ่าตัวตายได้มากขึ้นอีกด้วย (Conditional Reasoning : Because of)

     3. ชักชวนผู้ป่วยให้ลุกมาทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย  

  • ทำไมถึงต้องชักชวนผู้ป่วยให้ลุกมาทำกิจกรรม ? (Interactive Reasoning : Why)

การทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย จะลดโอกาสที่ผู้ป่วยจะคิดฟุ้งซ่าน คิดมากกับเรื่องเดิมๆ คิดถึงเรื่องเศร้าๆที่ทำให้ตัวเองรู้สึกหดหู่ใจ กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การเล่นเกมส์ เล่นกีฬาเบาๆ ออกกำลังกายง่ายๆที่บ้าน จะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขอย่าง “เอ็นโดรฟิน”  (Endorphin) ออกมา ซึ่งให้ผลดีกับตัวผู้ป่วยใกล้เคียงกับการใช้ยาเลยทีเดียว (Conditional Reasoning : Because of)

     4. รับฟังผู้ป่วยด้วยควมตั้งใจ ไม่กดดัน ไม่ตัดสิน 

  • ทำไมถึงต้องฟังผู้ป่วยด้วยความตั้งใจ ? (Interactive Reasoning : Why)

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีความคิดที่ว่าตัวเองเป็นคนน่ารำคาญ เป็นภาระของคนรอบข้าง ดังนั้น การให้ผู้ป่วยพูดความรู้สึกของเขาออกมา ถือเป็นการให้เขาได้ระบายความรู้สึก เราต้องสร้างความไว้ใจ ความสบายใจ สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไม่กดดันให้กับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยกล้าที่จะพูดความรู้สึกออกมาได้อย่างเต็มที่ หากผู้ป่วยมีความคิดที่อยากทำร้ายตัวเอง หรืออยากฆ่าตัวตาย คนใกล้ชิดจะได้ป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที (Conditional Reasoning : Because of)

     5. ถามผู้ป่วยถึงเรื่องการฆ่าตัวตาย สามารถทำได้โดยการใช้ชุดคำถามขั้นบันได ดังนี้

ข้อมูลจาก https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=516
  • ทำไมถึงต้องถามเรื่องฆ่าตัวตาย ? (Interactive Reasoning : Why)

หลายท่านคิดว่าการถามเรื่องฆ่าตัวตายเป็นการกระตุ้น หรือชักนำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคิดที่จะกระทำ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า การถามเรื่องฆ่าตัวตายจะช่วยให้ผู้ป่วยที่คิดอยากฆ่าตัวตายอยู่แล้วได้เปิดเผยอารมณ์เศร้า ความเครียดที่มี และความคิดของเขาออกมา เมื่อได้เปิดเผยแล้ว จะทำให้เขาล้มเลิกความคิดอยากฆ่าตัวตายได้ ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ได้มีความคิดอยากฆ่าตัวตายมาก่อน เมื่อถูกถามถึงเรื่องการฆ่าตัวตาย นั่นไม่ได้ไปกระตุ้นให้เขาคิด หรือชักนำให้กระทำ แต่จะทำให้เขาเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจที่ยังมีคนสนใจและห่วงใยเขา เกิดความรู้สึกดีต่อการใช้ชีวิต มีความหวังในการดำเนินชีวิตต่อไป (Conditional Reasoning : Because of)

 

ข้อห้ามสำหรับผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 

     1. อย่าบอกปัด หรือตีตัวออกห่างจากผู้ป่วย 

  • ทำไมถึงอย่าบอกปัด หรือตีตัวออกห่างจากผู้ป่วย ? (Interactive Reasoning : Why)

หากคนใกล้ชิดตีตัวออกห่างจากผู้ป่วย จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกทันทีว่าเขาไม่มีที่พึ่งพา ไม่มีใครอยากคุยกับเขา ไม่มีใครรับฟังเขาเลย เขาเป็นคนน่ารำคาญ ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้และตีตัวออกห่าง ความคิดเหล่านั้นจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความคิดที่ว่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่อีกต่อไปแล้ว คิดอยากฆ่าตัวตาย และกระทำมันในที่สุด (Conditional Reasoning : Because of)

     2. อย่าทำเป็นไม่ได้ยินในสิ่งที่ผู้ป่วยพูด โดยเฉพาะเรื่องการฆ่าตัวตาย  

  • ทำไมถึงห้ามทำเป็นไม่ได้ยินผู้ป่วย ? (Interactive Reasoning : Why)

หากผู้ป่วยพูดถึงการฆ่าตัวตาย แต่คนใกล้ชิดกลับมีทีท่านิ่งเฉย ไม่สนใจ และต่อต้าน เพื่อให้ผู้ป่วยล้มเลิกความคิดที่จะฆ่าตัวตายนั้น เป็นความคิดที่ผิด เพราะมันยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ลงมากกว่าเดิม และลงมือฆ่าตัวตายได้ในไม่ช้า (Conditional Reasoning : Because of)

 

ประโยคที่ควรพูดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

  • ทำไมถึงควรพูดประโยคเหล่านี้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ? (Interactive Reasoning : Why)

เมื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ฟังประโยคเหล่านี้  จะทำให้เขารู้สึกดีขึ้น รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีความสำคัญกับคนรอบข้าง รู้สึกเป็นที่รัก ไม่โดดเดี่ยว ไม่เศร้าหมอง ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคนี้ มีแรงในการใช้ชีวิต เห็นคุณค่าของตนเอง และคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ และยังส่งผลให้ผู้ป่วยหายจากโรคนี้ได้เร็วขึ้นอีกด้วย (Conditional Reasoning : Because of)

 

ประโยคต้องห้ามกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 

  • ทำไมถึงห้ามพูดประโยคเหล่านี้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ? (Interactive Reasoning : Why)

เมื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ฟังประโยคเหล่านี้ จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่ดี มีสภาพจิตใจที่แย่ลงอย่างมาก รู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนน่ารำคาญ ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้ ไม่มีใครต้องการเขา ไม่มีที่พึ่งพา และผิดหวังในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระของคนรอบข้าง เกิดความเครียดและกดดันอย่างรุนแรง ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย จะส่งผลให้เขาไม่มีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคนี้ ไม่มีแรงในการใช้ชีวิตต่อไป ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง และไม่เห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ และยังส่งผลให้ผู้ป่วยที่กำลังจะดีขึ้น กลับไปแย่ลง และมีอาการหนักกว่าเดิม หรือผู้ป่วยที่ยังไม่ดีขึ้น ก็จะมีอาการแย่ลงไปกว่าเดิมอีก และที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ป่วยจะมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย และจะลงมือกระทำได้อย่างแน่นอน (Conditional Reasoning : Because of) 

 

ทั้งหมดนี้คือวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามหลัก Three-Track Mind (TTM) ซึ่งเป็นการให้เหตุผลทางคลินิกของนักกิจกรรมบำบัด เพื่อให้เกิดความคิดอย่างเป็นระบบ เรียกว่า “Systematic Thinking"โดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่า ”ทำไม” (Interactive Reasoning : Why) การหาคำตอบให้กับคำถามที่ตั้ง (Conditional Reasoning : Because of) และการหาแนวทางการรักษาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน (Procedural Reasoning : How to) หากสามารถทำตามหลัก Three-Track Mind ได้ จะส่งผลดีต่อการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเป็นอย่างมาก

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยน์ต่อทุกท่านที่ได้อ่าน ;)

 

อ้างอิง 

https://www.bangkokhospital.com/content/depression 

https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=516 

https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=282 

https://www.paolohospital.com/th-TH/phahol/Article/Details/บทความ-สุขภาพจิต/Do’s---Don’t-ควรทำตัวยังไง-เมื่อคนใกล้ชิดเป็น--โรคซึมเศร้า- 

https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/depression-do-dont 

หมายเลขบันทึก: 692209เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2021 17:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กันยายน 2021 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท