Three-Track mind


         ปัญหาการฆ่าตัวตายไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคม ในปี ๆ หนึ่งจะมีผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จทั่วโลกเป็นจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งสาเหตุอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ความเครียดสะสม ปัญหาครอบครัว หรือปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและบีบคั้นต่อจิตใจ จนทำให้หาทางออกไม่ได้ ท้ายที่สุดเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตายในที่สุด โดยปัญหาเหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอก แต่ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยภายในที่แฝงเร้นในร่างกายที่จะนำไปสู่หนทางมรณะของการฆ่าตัวตายโดยไม่รู้ตัวนั่นก็คือ “โรคซึมเศร้า” ซึ่งในบทความนี้จะมาพูดถึงวิธีหาทางแก้ไขกับปัญหาเหล่านี้ด้วยเหล่าสามทหารเสือนั่นก็คือ Three Track mind

 

Three-Track mind คืออะไรกันนะ??

          Three-Track mind เป็นลักษณะหนึ่งของการให้เหตุผลทางคลินิกทางกิจกรรมบำบัด ซึ่งจะประกอบไปด้วย 3 หลักดังนี้

1. Interactive Reasoning (Why) : การให้เหตุผลเชิงปฏิสัมพันธ์ เป็นการตั้งคำถามว่า “ทำไม” ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

        1.1 Need Assesment : การประเมินความต้องการที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ภายในใจของผู้รับบริการว่าจริงๆแล้วผู้รับบริการมีความคิดหรือความต้องการอย่างไรบ้าง

        1.2 Impact Assesment : เป็นการประเมินความสุขและความสามารถในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตของตัวผู้รับบริการ

        1.3 Occupational Profile Assesment : เป็นการประเมินกิจกรรมการดำเนินชีวิตต่างๆของตัวผู้รับบริการ โดยสามารถพูดถึงทั้งตัวบุคคล สิ่งแวดล้อมและกิจกรรมการดำเนินชีวิตของผู้รับบริการได้

     2. Conditional Reasoning (Because of) : การให้เหตุผลเชิงเงื่อนไข โดยในการให้เหตุผลเชิงเงื่อนไขต้องมีความสมดุลในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ (Creative) และการมีวิจารณญาณ (Critical) เพื่อให้เกิดการคิดเกี่ยวกับระบบ เรียกว่า “Systemic Thinking”

 

     3. Procedural Reasoning (How to) : การให้เหตุผลเชิงขั้นตอน โดยใช้กระบวนการคิดออกแบบ ที่เรียกว่า “Design Thinking” เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

** บทความต่อไปนี้จะพูดถึงการใช้ Tree-Track mind กับการฆ่าตัวตาย 

 

“ทำไมถึงฆ่าตัวตาย สาเหตุมาจากอะไรและเราจะแก้ไขอย่างไรกันได้บ้าง”

 

 

 

ทำไมถึงฆ่าตัวตาย?? (Interactive Reasoning)

 

Suicide Facts & Figures 

 

              ในปี 2020 ผลการสำรวจการฆ่าตัวตายของชาวอเมริกันได้เผยออกมาว่า การฆ่าตัวตายนั้นติดอันดับ 10 ของสาเหตุการตายทั้งหมดของประเทศสหรัฐอเมริกาและยังเกิดขึ้นในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ซึ่งกว่า 90% ของผู้ที่ฆ่าตัวตายนั้นมีปัญหาในด้านสภาวะจิตใจอีกด้วย อีกทั้งในปี 2017 อัตราการฆ่าตัวตายของทหารผ่านศึกชาวอเมริกันนั้นเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับคนปกติ อย่างไรก็ตามเราสามารถสังเกตอาการของผู้ที่มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายเบื้องต้นได้ดังนี้

  1. พูดคุยถึงการฆ่าตัวตายสำเร็จ
  2. มีปัญหาการกินหรือการนอน
  3. พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
  4. แยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อนหรือกิจกรรมทางสังคมต่างๆ

               ทั้งนี้หากเราต้องการทราบว่าบุคคลนี้มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายหรือไม่นั้น เราสามารถที่จะถามได้โดยตรง เช่น คุณมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายไหม คุณเคยพยายามที่จะทำร้ายตัวเองมาก่อนหรือไม่ คุณเคยคิดหาหนทางที่จะทำร้ายตัวเองหรือไม่ เป็นต้น การที่เราถามคำถามเช่นนั้นไม่ได้เป็นการลดความคิดที่จะฆ่าตัวตายแต่เป็นการสำรวจว่าบุคคนนี้มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายมากน้อยเพียงใด เพื่อทำความเข้าใจถึงความรู้สึกและความคิดของอีกฝ่าย อีกทั้งยังเป็นการรับรู้ถึงอดีตของตัวบุคคลนั้นที่อาจจะเป็นสาเหตุหลักของการฆ่าตัวตายก็เป็นได้

 

 

เพราะอะไรกันนะถึงฆ่าตัวตาย?? (Conditional Reasoning)

 

 

               จากบทความที่แล้วจะเห็นได้ว่าการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่แล้วสาเหตุสำคัญมาจากสภาวะทางจิตใจ ซึ่งอาจเกิดมาจากความเครียดสะสม ความเจ็บช้ำในอดีตหรือโรคซึมเศร้าก็เป็นไปได้(Conditional Reasoning)

จากการศึกษาวิจัยในปัจจุบันพบว่า “โรคซึมเศร้า” สัมพันธ์กับระดับของสารเคมีในสมองที่ควบคุมเรื่องอารมณ์เศร้าเสียสมดุลไป โดยเฉพาะสารสื่อประสาทที่ชื่อ “เซโรโทนิน” (Serotonin) และ “นอร์เอพิเนฟริน” (Norepinephrine) นอกจากนี้แล้ว “โรคซึมเศร้า” ยังมีสาเหตุการเกิดอีกหลายอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยควรพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้รักษาเพื่อที่จะให้การรักษาได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาการเริ่มต้นของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสามารถสังเกตได้ผ่านทางร่างกายและความคิด เช่น มีปัญหาด้านการนอน นอนไม่หลับ ไม่เจริญอาหาร น้ำหนักลดลงมาก กลายเป็นคนเศร้าสร้อย หดหู่หรือมีมองอะไรก็ดูแย่ไปหมด เป็นต้น 

 

 

How to deal with it!! (Procedural Reasoning)

 

               จะเห็นได้ว่าสาเหตุจากการเกิดโรคซึมเศร้านั้นสาเหตุหนึ่งเกิดจากการที่สารเคมีในสมองนั้นเสียสมดุลไป ดังนั้นแพทย์จะรักษาอาการนี้ด้วยการให้ยาต่อผู้ป่วยไปรับประทาน เช่น metoprolol prednisoneและomeprazole เป็นต้น ซึ่งการรักษาด้วยยานั้นอาจจะส่งผลให้สามารถปรับสารเคมีในสมองได้ดีในระดับหนึ่งแต่ถ้าหากมีการปรับในเรื่องของความคิด ทัศนคติ จิตใจและการบำบัดด้วยสิ่งแวดล้อมรอบตัวนั้น จะสามารถช่วยให้โรคซึมเศร้านี้รักษาให้ดีขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยสิ่งที่เป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของการรักษานี้นอกจากตัวของผู้ป่วยเองแล้วครอบครัวก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การรักษานี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งครอบครัวสามารถช่วยบำบัดผู้ป่วยได้ง่ายๆ คือ การแสดงความรัก

 

 

แสดงความรักต้องทำอย่างไรกันนะ?? (Procedural Reasoning)

 

               การแสดงความรักสามารถทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่สำคัญที่สุดของการบำบัดรักษาโดยครอบครัวนั้น คือ การเปิดใจรับฟัง การเปิดใจรับฟังเหมือนเป็นการบอกรักและการแสดงให้เห็นว่าเธอไม่ได้อยู่คนเดียวนะ ฉันยังยืนอยู่ตรงนี้คอยรับฟังและดูแลเอาใจใส่เธออยู่เสมอ ซึ่งการแสดงออกแบบนี้จะทำให้ตัวผู้ป่วยเปลี่ยนความคิดและทำให้อาการดีขึ้นได้ นอกจากนี้ การกอด เองก็เป็นอีกวิธีนึงที่สามารถแสดงความรักได้อย่างดี ซึ่งการกอดมีผลฮอร์โมนที่เรียกว่า “ออกซิโตซิน” (oxytocin) โดยสารเหล่านี้จะออกมาได้เมื่อได้รับสัมผัสอันอบอุ่นจากคนรักหรือคนที่ไว้วางใจ ซึ่งฮอร์โมนออกซิโตซินมีประโยชน์ในด้านการเสริมสร้างพฤติกรรมเอื้อสังคม (prosocial behaviors) และเป็นสารช่วยต้านความซึมเศร้าได้  นอกจากนี้การสัมผัสด้วยการกอดนั้นยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นก็ออกมาในทำนองเดียวกันว่าช่วยลความเครียดซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าอีกด้วย

 

 

สำหรับนักกิจกรรมบำบัดแล้วการเป็นโรคซึมเศร้านั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและโรคซึมเศร้าเองยังเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายได้อีกด้วย แต่ถ้าหากเรามีการคิดอย่างเป็นระบบ รู้ถึงสาเหตุ เข้าใจความคิดความรู้สึกและบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง โรคนี้ก็จะไม่สามารถมาทำร้ายเราได้ สิ่งแวดล้อมรอบตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะช่วยบำบัดรักษาโรคนี้ ดังนั้นการแสดงความรักต่อกันและรับฟังซึ่งกันและกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยสิ่งนี้สามารถทำได้ในทุกเวลา ไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่เปลืองแรงกายแม้แต่น้อยอีกทั้งยังได้แรงใจกลับมา ไม่แน่ว่าสิ่งที่ได้กลับมาจากการกอดนั้นมันอาจจะยิ่งใหญ่กว่าที่เราคิดไว้ก็เป็นได้

 

 

อ้างอิง

https://www.medix-global.com/thai/content/blog/view/?ContentID=2023

https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=28266

https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/09042014-1017

https://www.bangkokhospital.com/content/attitude-adjustment-for-suicide-prevention

https://workpointtoday.com/depress/

 

 

หมายเลขบันทึก: 692160เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2021 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2021 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท