ว่าด้วยโลกสวยในการจำกัดสิทธิเสรีภาพแสดงออกของประชาชน


ว่าด้วยโลกสวยในการจำกัดสิทธิเสรีภาพแสดงออกของประชาชน

13 สิงหาคม 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น)[1]

สิทธิและเสรีภาพในโลกแห่งความเป็นจริงไม่สวยนะแต่ต้องพอดีๆ

 

ช่วงที่ผ่านมาหมาดๆ มีข้อพิจารณาเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐในการจัดการกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง กลุ่มผู้เห็นต่างรัฐ กลุ่มผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐ เรียกว่า “การดำเนินการต่อฝ่ายตรงข้ามรัฐ” ด้วยการใช้มาตรการทางกฎหมายที่แปลกแตกต่าง หรือขัดแย้งต่อหลักการสากล (International Law) หรือ หลักนิติธรรม (The Rule of Law) 

ปรัชญาว่า “สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก” (Freedom of Expression) [2]หรือ “สิทธิเสรีภาพในการพูด” (Freedom of Speech) และ “สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม” ในปัจจุบันต้องอย่าลืมสิทธินี้ “สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกออนไลน์” ถือว่าเป็นเสรีภาพของทุกคน เป็น “สิทธิการเมือง” ในการสื่อสารความคิดของบุคคลผ่านการพูด เป็นแสดงออกหรือสื่อสารความรู้สึกนึกคิดหรือความเห็น ทั้งด้วยการพูด การแสดงท่าทาง หรือการสื่อสารด้วยตัวหนังสือ ไม่ว่าจะบนหน้ากระดาษหรือในโลกออนไลน์ ตลอดจนในรูปแบบอื่น รวมถึงสิทธิในการค้นคว้า หา เข้าถึงหรือได้รับข้อมูล ความรู้สึกนึกคิด ความเห็นที่มีการสื่อสารและเผยแพร่ด้วย “ถือเป็นสิทธิมนุษยชน” (Human Rights) [3] เป็น สิทธิพลเมืองของประชาชน (Civil Rights) [4] เป็น “สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” (Fundamental Right) ตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” ที่รัฐภาคีต้องยอมรับ เพียงมีข้อจำกัดในบางเรื่องว่า “สิทธินี้จะเข้มแข็งเพียงใดขึ้นอยู่กับการแสดงออกของประชาชนในแต่ละรัฐเท่านั้น” และ การใช้สิทธิดังกล่าวต้องมี “หน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษ” ควบคู่ไปด้วย  

ในท่ามกลางโลกแห่งการประชดประชันเย้ยหยัน อาจถึงขั้นเหยียด Bully เป็นวาทกรรม (Discourse) แห่งการดัดจริตมากไปหรือไม่ คำว่า “โลกสวย” หรือ พวกโลกสวย คนโลกสวย คนคิดบวกมาก เชิงหวังดีเกิน หรือ “โลกยูโธเปีย” (Uthopia) [5] เป็นคำกระแนะกระแหน พูดส่อเสียด ว่ามองโลกในแง่มุมที่ดีเกินไป หรืออ่อนต่อโลกเกินไป ทำอะไรก็ไม่ดีขัดต่อความดี หรือ ดีเกินไปกว่าชีวิตจริง แม้การพูดจาหยาบคายก็ว่าไม่ได้ ทำอะไรก็ไม่ดีไปหมด จนบางครั้งคนที่ชอบพูดตรงๆ และทำอะไรตรงๆ แบบ Inconvenient Truth หรือ “ความจริงที่เป็นปัญหา” แต่ไม่กล้าบอก เพราะแทงใจดำ อย่างไรก็ดี การฝึกคิดในแง่ดี คิดโลกในแง่บวกเพื่อเสริมสร้างทัศนะคติที่ดีในชีวิต โดยไม่ทำร้ายสังคม เพื่อรับมือกับ “วิกฤติทุกอย่าง” ที่ผ่านเข้าเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับกัน “การยอมรับในโลกแห่งความเป็นจริง” ณ เวลานี้ ถือเป็น “ศาสตร์และศิลป์แห่งการรักษาสมดุล” (ความพอดี ความได้สัดส่วนกัน) โดยแท้

สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือเสรีภาพการแสดงออกก็ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับ พุทธศักราช 2475 เป็นต้นมา แม้จะมีบทบัญญัติข้อจำกัดของการใช้เสรีภาพไว้ด้วยเงื่อนไขต่างๆ บ้างก็ตาม คือ มีเสรีภาพตามที่กฎหมายบัญญัติ เท่าที่ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นต้น ฉะนั้น บทบัญญัติดังกล่าวจึงอยู่ในสถานะทางกฎหมายในลำดับสูงเหนือกว่ากฎหมายอื่นใดทั้งปวง

หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งถือว่ารัฐบาลเพิ่มข้อจำกัดด้านเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้รับรองถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้ในข้อที่ 19[6] เป็นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) เพื่อให้เกิดผลผูกพันในทางระหว่างประเทศ

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปว่า ผู้นำเป็นบุคคลสาธารณะต้องอดทนอดกลั้นต่อการวิพากษ์วิจารณ์ ฉะนั้น เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลประมาทปล่อยปละละเลยไม่ดูแลประชาชนให้ดีทั่วถึง จนเกิดโรคระบาดโควิดขยายวงกว้าง และทำให้เกิดคนตายด้วยความผิดพลาดในการบริหารจัดการ และการจัดหาวัคซีนเพื่อบริการแก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเป็นความประมาทเลินเล่อ (negligence) หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง (gross negligence) ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 3 บัญญัติถึงการบริหารราชการตามหลักนิติธรรม มาตรา 26 บัญญัติการจำกัดสิทธิประชาชนเกินสมควรไม่ได้ มาตรา 47[7] บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิ ได้รับบริการสาธารณสุข การป้องกันโรค การขจัดโรค จากภาครัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งประชาชนสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้ เพราะรัฐบาลในที่นี้หมายถึง นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี หรือคณะรัฐบาล

 

สิทธิขั้นพื้นฐานการแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชน

 

พ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ในภาวะฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 16 มาตรา 17[8] จะมีบทบัญญัติว่าไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองก็ตาม แต่มีประเด็นว่า (1) นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าบริหารใช้อำนาจจัดตั้ง ศบค. โดยความเห็นชอบของ ครม. ซึ่งมีนายกฯ เป็นประธานกรรมการ ศบค. เพื่อกำหนดนโยบายจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารหรืออำนาจทางปกครอง (2) นโยบายของนายกฯ และ ศบค. จัดการโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้ นายกฯ และ ศบค. ก็ไม่ต้องรับผิดทางกฎหมาย หรือไม่ (3) เรื่องเทียบกับคดีจำนำข้าวของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์แตกต่างกันอย่างไร ฯลฯ เป็นต้น อันเป็นที่มาของการฟ้องร้อง “รัฐบาลและผู้นำ” จากความเดือดร้อนในช่วงภาวะวิกฤติปัจจุบันที่สับสนอลหม่าน ปนเปกันมาก ระหว่าง วิกฤติโควิด วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติศรัทธาความเชื่อมั่น (ในรัฐบาล) ที่สรุปว่า คนรากหญ้ากำลังจะตาย เพราะไม่มีจะกิน 

เป็นปัญหาทางปฏิบัติ ที่ศาลปกครองอ้างว่าไม่อยู่ในเขตอำนาจ ในที่นี้เห็นว่าการกระทำของรัฐบาลบางอย่างอาจเป็นการใช้อำนาจทางปกครองได้ เพราะเป็นการใช้ฐานอำนาจตามกฎหมาย คือ พ.ร.บ. ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองเพราะนายกฯ ยึดอำนาจรัฐมนตรีไปให้ตนเอง โดยเฉพาะอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เปรียบเทียบเหมือนกับการใช้อำนาจทางปกครอง เช่นคดีจำนำข้าวนายกฯ ยิ่งลักษณ์ฯ อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้หากฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัด ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ศาลปกครองจะต้องรับคำฟ้อง เพราะอยู่ในเขตอำนาจแน่นอน ณ ปัจจุบัน ทราบว่า ศบค.และนายก รมต.ถูกฟ้องศาลปกครองกลาง กรณีละเลยล่าช้าต่อหน้าที่ฯ ปล่อยให้คนป่วยตายโควิด ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งรับฟ้องแล้ว 

ลองมาสำรวจข่าวในความเห็นดังกล่าว

 

รัฐปล่อยปละละเลยในการบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่

 

มีประเด็นดราม่า ส.ส. บางคนโจมตีว่า รัฐบาลปล่อยให้ประชาชนเสียชีวิตเดือนละไม่ต่ำกว่า 1-2 พันคน เป็นการบริหารประเทศที่เกินคำว่า “เลินเล่อ” แต่ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงสามารถใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อเอาผิดรัฐบาลได้ และถ้ารัฐบาลให้ประชาชนซื้อวัคซีนเอง ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกัน และขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” ถึงขนาดจะฟ้องนายกรัฐมนตรี กล่าวหากระทำผิดทั้งกฎหมายอาญา และรัฐธรรมนูญ ตาม ป.อาญา มาตรา 157[9] ฐานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ประชาชนเสียหาย แต่การกล่าวหานายกรัฐมนตรีมักจบลงด้วยความล้มเหลว ด้วยนายกรัฐมนตรีอยู่เหนือกฎหมาย เป็นอภิสิทธิ์ชน เช่น กรณีที่กล่าวหานายกรัฐมนตรีอยู่บ้านพักทหาร กระทำผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (3) [10]

 

กรณีศึกษาการให้วัคซีนแก่ประชาชน 

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กล่าวได้ว่า รัฐบาลไทยมีปัญหาในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรค หนึ่งในปัญหาสำคัญก็คงหนีไม่พ้นปัญหาการจัดหาวัคซีน ที่ทำให้มีจำนวนวัคซีนไม่เพียงพอ และยังรวมถึงปัญหาการกระจายวัคซีนไปยังประชาชนในภูมิภาคต่างๆ ที่ยังไม่ครอบคลุม และไม่เป็นไปตามแผนหรือระยะเวลาที่รัฐบาลเคยได้เคยกำหนดไว้ ซึ่งหลายท่านอาจมีคำถามว่า แล้วแบบนี้ รัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐต้องผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือไม่ มีกรณีศึกษาตัวอย่างเกี่ยวกับการละเลย เพิกเฉย ไม่ทำหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ในสาธารณรัฐฝรั่งเศส คำพิพากษาสภาแห่งรัฐ ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2017 เลขที่ 397151[11]

ประมวลกฎหมายการสาธารณสุขฝรั่งเศสกำหนดให้เด็ก อายุต่ำกว่า 18 เดือน ต้องได้รับวัคซีนที่จำเป็นเพื่อป้องกันโรค จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ (Vaccin antidiphtérique) วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก (Vaccin antitétanique) และวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ (Vaccin antipoliomyélitique) หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า “วัคซีนภาคบังคับ” ซึ่งในทางปฏิบัติไม่ปรากฏว่ามีวัคซีนชนิดใดที่มีคุณสมบัติที่สามารถป้องกันโรคได้ตรงทั้ง 3 ประเภทรวมอยู่ในตัวเดียวกันวางจำหน่ายในประเทศ แต่กลับมีวางจำหน่ายเฉพาะวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคทั้ง 3 ประเภทและป้องกันโรคอื่นผสมรวมอยู่ด้วย ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคอื่นไม่ได้อยู่ในข่ายบังคับให้เด็กจำเป็นต้องได้รับตามกฎหมาย เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ผู้ฟ้องคดีกับพวก จึงยื่นคำร้องต่อรัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่ดูแลด้านสุขภาพ (Ministre chargé de la santé) เพื่อขอให้พิจารณากำหนดมาตรการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนในกลุ่มของวัคซีนภาคบังคับที่เด็กจำเป็นต้องได้รับโดยไม่จำต้องมีวัคซีนป้องกันโรคอื่นรวมอยู่ แต่รัฐมนตรีฯ ปฏิเสธคำขอดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงมาฟ้องคดีต่อสภาแห่งรัฐ เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งปฏิเสธของรัฐมนตรีฯ โดยการเพิกเฉยไม่กำหนดมาตรการใดๆ ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี และขอให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการกำหนดมาตรการดังกล่าว พร้อมทั้งให้รัฐชดใช้ค่าธรรมเนียมศาลให้แก่ผู้ฟ้องคดีทุกราย รายละ 30 ยูโร ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้จ่ายไปสำหรับการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมทางปกครองของสาธารณรัฐฝรั่งเศส

ในเรื่องนี้สภาแห่งรัฐ (Conseil d'État) ในฐานะศาลปกครองสูงสุด พิจารณาพิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของรัฐมนตรีฯ และสั่งรัฐมนตรีฯ กำหนดมาตรการหรือดำเนินการใดๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดให้มีวัคซีนภาคบังคับทั้ง 3 ประเภทในวัคซีนเดียวกันตามประมวลกฎหมายการสาธารณสุข ทั้งนี้ ภายในกำหนดระยะเวลา 6 เดือนนับแต่ได้รับแจ้งคำพิพากษาของสภาแห่งรัฐ คำขออื่นให้ยก ในกรณีของไทยขอยกตัวอย่าง คำวินิจฉัยชี้ขาดฯ ที่ 14/2548[12] กรณีติดเชื้อจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคสามารถฟ้องกรมการแพทย์ต่อศาลยุติธรรมได้

 

ปัญหาความชอบของข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29

 

อ้างถึงข้อกำหนดฉบับที่ 27 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (รวมถึงข้อกำหนดฉบับที่ 29 ด้วย) [13] เพื่อให้หน่วยงานของรัฐต่างๆ ดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่เฟกนิวส์ (Fake news) ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายใดหรือไม่ มีประเด็นจากนักวิชาการว่า[14] (1) ความไม่ชัดเจนและคลุมเครือ (Ambiguity) ตั้งแต่ต้นว่าอะไรคือ เฟกนิวส์ (Fake news) [15] ที่ใช้ไทยคำว่า “ข่าวปลอม” “ข่าวลวง” รวมถึง “ข้อมูลบิดเบือน” การให้ "รัฐแต่ผู้เดียว" เป็นผู้ชี้ว่ากรณีนั้นๆ เป็นเฟกนิวส์หรือไม่อย่างไร เป็นการจำกัดเสรีภาพของสื่อและประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 เพียงใด (2) การนำเสนอข่าวของสื่อ และการแสดงความคิดเห็นของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาล “ที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศแทนประชาชน” ย่อมทำได้เสมอตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่ไม่ได้มีเจตนาร้าย (actual malice) (3) ตามหลักกฎหมาย สื่อและประชาชนย่อมไม่มีความผิดกรณีเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ อันเป็นเท็จ หากขณะที่โพสต์พวกเขาเหล่านั้นไม่ทราบว่าข้อมูลที่กำลังเผยแพร่เป็นเฟกนิวส์ หาก "ไม่มีเจตนา" (4) "ข่าวจริง" หรือ "ข่าวปลอม" หาใช่รัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดตัดสินแต่เพียงฝ่ายเดียว สิ่งที่รัฐบาลควรทำก็คือ การอธิบายชี้แจงข้อเท็จจริงกับสื่อและประชาชนมากกว่าการมุ่งดำเนินคดี (5) หากรัฐจะดำเนินคดีกับสื่อและประชาชนจริง ที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีเป็นการลงโทษของรัฐตามข้อกำหนดที่อ้างอิง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นบทลงโทษที่รุนแรงมากเกินกว่าเหตุแห่งการกระทำความผิด (Disproportionate) (6) หากมีการบังคับใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดเสรีภาพในการนำเสนอข่าว หรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชน ทั้งๆ ที่การใช้เสรีภาพของพวกเขาบน "ความสุจริต" ไม่มีเจตนามุ่งร้าย หรือเจตนาที่จะเผยแพร่เฟกนิวส์ตามข้อ 1-5 ย่อมถือว่า รัฐใช้อำนาจไปโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ (Unconstitutional) รวมถึงขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (Illegal) เสียเอง ที่อาจต้องรับผิดทั้งในทางแพ่ง อาญา หรือทางวินัย และไม่สามารถยก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาเป็นเหตุเพื่อยกเว้นความรับผิดได้ ล่าสุดศาลแพ่งได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ พ 3618/2564[16] ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2564 มีคำสั่งห้ามจำเลยดำเนินการบังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 29) [17] เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

 

ตำรวจแถลงจะดำเนินคดีต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

 

“ตำรวจเตือนห้ามวิจารณ์รัฐบาล” [18]ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329  “ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต (3) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท“ เป็นคำเตือนที่บรรดานักกฎหมายออกมาวิพากษ์อย่างเสียไม่ได้

ตัวบุคคลในตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ถือเป็นบุคคลสาธารณะ (Public Figure) มีสิทธิ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์การทำงานได้ “โดยสุจริต” ไม่ผิดกฎหมาย เพียงแต่ไม่ด่าในเรื่องส่วนตัว เพราะ การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลโดยสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่ทำตัวเป็นศาลยุติธรรม ออกมาตัดสินประชาชนเสียเองว่า เพราะปัจจุบันโลกโซเซียลคนไทยรู้ทันกฎหมายกันหมด

ตามตัวอย่างศึกษา กรณีรัฐบาลถูกฟ้องเป็นจำเลย หรือรัฐบาลเป็นโจทก์ ฟ้องคดี ในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้รัฐบาลใช้ค่าเสียหายในการที่ทรัพย์ของโจทก์ถูกระเบิดในระหว่างสงคราม กรณีนี้ โจทก์สามารถฟ้องรัฐบาลซึ่งไม่เป็นนิติบุคคลไม่ได้ เพราะรัฐบาลไม่เป็นนิติบุคคลตาม ป.พ.พ. รัฐบาลหาใช่นิติบุคคลตามกฎหมายไม่ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 724/2490[19] 

 

          ย้อนดูข่าวแล้วอ่อนใจกับการบริหารประเทศในภาวะวิกฤติยิ่งนัก เป็นวิกฤติแห่งศรัทธาโดยแท้ที่ยากแก่การแก้ไขเพียงใดหรือไม่ วิญญูชนทั่วไปพิจารณาได้เอง ไม่จำต้องมีใครชี้นำจูงจมูก

 


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 13 สิงหาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/270757   

[2]เสรีภาพการแสดงออก (Freedom of Expression) หรือเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) เป็นสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ หมายถึง สิทธิที่เราสามารถที่จะแสดงออกหรือสื่อสารความรู้สึกนึกคิดหรือความเห็น ทั้งด้วยการพูด การแสดงท่าทาง หรือการสื่อสารด้วยตัวหนังสือ ไม่ว่าจะบนหน้ากระดาษหรือในโลกออนไลน์ ตลอดจนในรูปแบบอื่นๆ เช่น เสียงเพลง ภาพถ่าย ภาพกราฟฟิกหรือภาพเคลื่อนไหว ฯลฯ นอกจากนี้ยังรวมถึงสิทธิในการค้นคว้า หา เข้าถึงหรือได้รับข้อมูล ความรู้สึกนึกคิด ความเห็นที่มีการสื่อสารและเผยแพร่ด้วย : iLaw

เสรีภาพในการแสดงออก (Freedom of Expression)ความคิดเห็นที่หลากหลายเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศและสังคมให้รุ่งเรืองและมีความสุข แต่ปัจจุบัน พื้นที่เสรีภาพในการแสดงออกของคนทั่วโลกกำลังลดลงอย่างมาก กฎหมายหลายฉบับออกมาเพื่อปิดกั้นเสรีภาพที่จะคิด พูด พิมพ์ หรือเขียน แม่บ้านถูกตั้งข้อหาเพราะโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก นักศึกษาถูกจับเพราะยืนชูป้ายนิ่งๆ นักข่าวติดคุกเพราะเขียนบทความวิจารณ์รัฐบาล จนดูเหมือนว่าเสรีภาพในการแสดงออกกำลังอยู่ในช่วงขาลง ทั้งในไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลก เสรีภาพการแสดงออกมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับเสรีภาพในการรวมตัว สมาคม และชุมนุมอย่างสงบ

ดู เสรีภาพในการแสดงออก, โดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, https://www.amnesty.or.th/our-work/freedom-expression/ 

[3]สิทธิมนุษยชน (Human Right) หมายถึง สิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ทั้งความคิดและการกระทำที่ไม่มีการล่วงละเมิดได้ โดยได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชนคือสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ซึ่งประกอบไปด้วยสิทธิตามธรรมชาติและสิทธิที่มีกฎหมายรับรอง

สิทธิมนุษยชน คือ สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เป็นของพวกเราทุกคน ไม่ว่าเราจะเป็นใคร หรืออยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ ไม่ว่าคุณจะมีความเชื่ออะไร หรือใช้ชีวิตแบบไหนก็ตาม สิทธิมนุษยชนไม่สามารถถูกพรากไปได้ แต่บางครั้งสิทธิมนุษยชนอาจถูกจำกัด 

ดู สิทธิมนุษยชน คืออะไร, โดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, 15 พฤษภาคม 2561, https://www.amnesty.or.th/latest/blog/62/ 

[4]สิทธิพลเมือง หรือสิทธิทางแพ่ง (Civil Rights) หมายถึง การที่พลเมืองของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐสมัยใหม่สามารถคนในสังคมไทย กระทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมายบ้านเมืองของสังคมนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ สิทธิพลเมืองจึงซ้อนทับอยู่กับสิทธิทางการเมือง (political rights) เนื่องจากในสังคม และการเมืองการปกครองสมัยใหม่นั้น เสรีภาพจัดได้ว่าเป็นคุณธรรมรากฐานประการหนึ่งที่ระบบการเมือง และระบบกฎหมายจะต้องธำรงรักษาไว้ ทว่าหากพลเมืองทุกคนมีเสรีภาพอย่างไม่จำกัดแล้วไซร้ การใช้เสรีภาพของพลเมืองคนหนึ่งๆ ก็อาจนำมาซึ่งการละเมิดการมีเสรีภาพของพลเมืองคนอื่นๆ ในรัฐได้เช่นกัน ดังนั้น เสรีภาพของพลเมืองจึงต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายที่รัฐกำหนดว่า สิ่งใดที่พลเมืองไม่อาจกระทำเพราะจะเป็นการละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น หรือ สิ่งใดที่พลเมืองสามารถกระทำได้อย่างอิสระโดยปราศจากการควบคุมของรัฐ เป็นที่มาของการเกิดสิ่งซึ่งเรียกว่า สิทธิทางการเมือง หรือ สิทธิพลเมือง : วิกิพีเดีย

[5]ยูโทเปีย (Utopia) หรือ “ดินแดนแห่งความฝัน” เปรียบดัง “สังคมในอุดมคติ” ที่ไม่มีอยู่จริง เพียงจินตนาการ (a good place and a no place) เป็นแนวคิดเชิงอุดมคติเกี่ยวกับโลกอันสมบูรณ์ เป็นวรรณกรรมเสียดสีล้อเลียนความโง่เขลาและความเลวร้ายของสังคมในสมัยนั้น ที่ โทมัส มอร์ (SirThomas More) นักปรัชญามานุษยนิยมชาวอังกฤษเขียนขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1516 (ในคริสตศตวรรษที่ 16 สมัยเดียวกับกรุงศรีอยุธยาตอนต้น) เป็นนักการศาสนาที่เคร่งครัดจนได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญเมื่อปี 1935 และเป็นนักการเมืองมือสะอาด 

แนวคิดที่ตรงข้ามกับยูโทเปีย เรียก "ดิสโทเปีย" (Dystopia) เป็นสังคมที่ไม่พึงประสงค์หรือน่าหวาดกลัว ปกครองด้วยระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ หรือมีภัยพิบัติทางธรรมชาติ ความหมายโดยพยัญชนะของ ดิสโทเปีย หมายถึง "สถานที่เลวร้าย"

ดู ยูโทเปีย (Utopia) โดย ชำนาญ  จันทร์เรือง. ในประชาไท, 24 กันยายน 2551, เผยแพร่ใน กรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 24 กันยายน 2551, https://prachatai.com/journal/2008/09/18284 

& ดินแดนแห่งความฝัน(Utopia), โดย musa, จาก คุณเดซี่ knationnetblog (daisy/2007/04/24/), https://dreammusa.blogspot.com/2012/02/blog-post.html 

[6]ข้อ 19

1. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง

2. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูล

ข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่า ด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูป

ของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก

3. การใช้สิทธิตามที่บัญญัติในวรรค 2 ของข้อนี้ต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบพิเศษควบคู่ไปด้วยการใช้สิทธิ

ดังกล่าวอาจมีข้อจำกัดในบางเรื่องแต่ทั้งนี้ข้อจำกัดนั้นต้องบัญญัติไว้ในกฎหมายและจำเป็นต่อ

(ก) การเคารพในสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น

(ข) การรักษาความมั่นคงของชาติ หรือความสงบเรียบร้อย หรือการสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน

ดู กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR), https://deepsouthwatch.org/sites/default/files/archives/docs/iccpr_th.pdf 

[7]มาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ

บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ

บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

[8]มาตรา 16 ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

มาตรา 17 พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่

[9]มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

[อัตราโทษ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560]

[10]รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 9 การขัดกันแห่งผลประโยชน์ 

มาตรา 184 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้อง ...

(3) ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ

[11]สำนักงานศาลปกครอง. (2560). ทันข่าวสาร สวว. เก็บสาระมารวมเล่ม (เล่ม 9) (ฉบับที่ 392 เดือนพฤศจิกายน 2559 - ฉบับที่ 441 เดือนตุลาคม 2560). กรุงเทพฯ: สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานศาลปกครอง. หน้า 121-123, เรื่องที่ 49 หน้าที่ของฝ่ายปกครองในการจัดให้มีวัคซีนที่จำเป็นในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน, https://www.admincourt.go.th/admincourt/upload/webcms/Academic/Academic_050218_111631.pdf 

& กรณีศึกษาเรื่องวัคซีนตามกฎหมายฝรั่งเศสโดยกฎหมายใกล้มอ, ใน เฟซบุ๊ก, 23 กรกฎาคม 2564, https://www.facebook.com/361665117826279/posts/802248320434621/?d=n 

[12]วินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายใบเตย ผู้ฟ้องคดี กรมการแพทย์ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม กรณีเด็กชายบานเย็น ผู้เยาว์ อายุ 6 ปี 3 เดือนบุตรของผู้ฟ้องคดี คลอด รพ.ราชวิถีติดเชื้อเอชไอวี (HIV)จากการรับวัคซีน จากการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล ดู คำวินิจฉัยที่ 14/2548 ผู้ฟ้องคดี นายใบเตย ผู้ถูกฟ้องคดี กรมการแพทย์, https://www.smartdeka.com/each_deka/คำวินิจฉัยที่14_2548 

[13]พระราชกำหนด​ การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน​ พ.ศ.2548

มาตรา 9 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

(3) ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร

ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดพื้นที่และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้

 

ตาม ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) 

ข้อ 1 ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ข้อ 2 กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารตามข้อ 1 ในอินเตอร์เน็ต ให้ กสทช. แจ้งผู้รับใบอนุญาตการให้บริการอินเตอร์เน็ตตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทุกรายทราบ และให้ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวทุกราย มีหน้าที่ตรวจสอบว่าข้อความหรือข่าวสารดังกล่าวมาจากเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ใด หากเป็นเลขที่อยู่ไอพี (IP address) ที่ตนเป็นผู้ให้บริการ ให้แจ้งรายละเอียดตามที่ กสทช.ทราบและให้ระงับการให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ไอพี (IP address) นั้นทันที

ให้ กสทช.ส่งรายละเอียดตามที่ได้รับแจ้งตามวรรคที่หนึ่งให้แก่ สำนักตำรวจแห่งชาติ(ตร.)โดยเร็วเพื่อดำเนินคดีต่อไป

ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ในใบอนุญาตการให้บริการอินเตอร์เน็ต และให้ กสทช. ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 

ประกอบ ข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 27) 

ข้อ 11 มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิด ความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ดู 

ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 27), http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/154/T_0001.PDF 

& ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29), http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/170/T_0001.PDF  

& รศ.ดร. มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ใน Munin Pongsapan, อ้างจากเฟซบุ๊ก, 29 กรกฎาคม 2564, https://www.facebook.com/100008333165973/posts/2988204161467327/?d=n 

& รอง นรม. วิษณุออกมาอธิบายอีกรอบแล้ว, ไทยโพสต์, 29 กรกฎาคม 2564, https://www.thaipost.net/main/detail/111576 

& 'ชัยวุฒิ’ เผยพ.ร.ก. ฉ.29 ออกมาให้ทำงานเร็วขึ้น จัดการคนเจตนาไม่ดีต่อบ้านเมืองไม่คิดลิดรอนสิทธิ ปชช., สยามรัฐออนไลน์, 30 กรกฎาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/266803

[14]เสรีภาพในการแสดงออกเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครอง : ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย, คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ, ในเฟซบุ๊ก, 29 กรกฎาคม 2564, https://www.facebook.com/pornson.liengboonlertchai/posts/10159763428505979

[15]รู้จัก Fake News ทั้ง 7 รูปแบบ ที่อาจเจอทุกวันบน Facebook และ Twister เขียนโดย ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล (บก.อก.บช.ส.), 19 กุมภาพันธ์ 2563, https://www.sbpolice.go.th/news/รู้จักFakeNewsทั้ง7รูปแบบที่อาจเจอทุกวันบนFacebookและTwister_164.html

& คู่มือ “การเสนอข่าว ‘ข่าวลวง’ และข้อมูลบิดเบือน” : การเสนอข่าว ‘ข่าวลวง’ และ ข้อมูลบิดเบือน คู่มือเพื่อการศึกษาและอบรมด้านวารสารศาสตร์ แปลจาก JOURNALISM, ‘FAKE NEWS’ & DISINFORMATION (Thai Version), บรรณาธิการ: เชอริลิน ไอร์ตัน (Cherilyn Ireton) และ จูลี โพเซ็ตติ (Julie Posetti), จัดพิมพ์ในปี พ.ศ.2563 โดย UNESCO : องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ 7, place de Fontenoy, 75352 Paris 07 SP, France, https://image.mfa.go.th/mfa/0/mkKfL2iULZ/migrate_directory/news3-20200325-180130-276433.pdf?fbclid=IwAR2XNN9fN6yNdqSeD9zcJ4xm3aqNOQ0aQcp77NElMOI0Su8ILB3wO2BIO_I

[16]บริษัทรีพอร์ตเตอร์โปรดักชั่น จำกัดกับพวก รวม 12 คน ฟ้องพลเอกประยุทธ์ต่อศาลแพ่ง ให้เพิกถอนข้อกำหนด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 29 ศาลรับฟ้องแล้ว คดีหมายเลขดำที่ พ.3618/2564 นัดฟังคำสั่งขอคุ้มครองชั่วคราว ในวันที่ 6 สิงหาคม 2564

ศาลแพ่งสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามนายกรัฐมนตรี ใช้ข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาตรา 9 ให้อำนาจ กสทช.ตัดอินเตอร์เน็ตสื่อสร้างความหวาดกลัว ชี้ข้อกำหนดมีลักษณะไม่แน่ชัดและขอบเขตกว้าง กระทบการทำหน้าที่สื่อมวลชน และมีกฎหมายอื่นหลายฉบับที่ใช้ดำเนินการได้

ดู

รอลุ้น!ศาลรับคุ้มครองหรือ-ไม่ ภาคีนัก กม.สื่อมวลชน ยื่นฟ้อง ‘บิ๊กตู่’ ออกข้อกำหนดให้อำนาจ กสทช.ฟันเฟคนิวส์, ข่าวมติชน, 2 สิงหาคม 2564, https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2862234 

& ศาลแพ่งสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามนายกฯใช้ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุมสื่อ, ประชาชาติธุรกิจ, 6 สิงหาคม 2564, https://www.prachachat.net/general/news-733081

& ศาลแพ่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามใช้ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตัดเน็ตสื่อรายงานข่าวหวาดกลัว ชี้มี กม.อื่นใช้จัดการได้, ผู้จัดการออนไลน์, 6 สิงหาคม 2564, https://mgronline.com/crime/detail/9640000077132

[17]ด่วน นายกลงนามยกเลิกข้อกำหนด ห้ามเสนอข่าวอันอาจสร้างความหวาดกลัว, ข่าวสด, 10 สิงหาคม 2564, https://www.khaosod.co.th/update-news/news_6556266 

ดู ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 31), ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 185 ง วันที่ 10 สิงหาคม 2564 หน้า 1, (ออกมาเพื่อยกเลิกข้อกำหนด ฉบับที่ 29 ที่มีปัญหา ปิดกั้นสื่อ ปิดกั้นการนำเสนอข่าวสาร), http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/185/T_0001.PDF

[18]‘ทนายอนันต์ชัย’ ยัน ปชช.วิจารณ์รัฐได้โดยสุจริต ฝาก ตร.ดูข้อเท็จจริง-กม.-จรรยาบรรณ, ข่าวมติชน, 25 กรกฎาคม 2564, https://www.matichon.co.th/politics/news_2848002 

& ทนายอนันต์ชัย ถาม รอง ผบช.น. ใช้อำนาจใด สอบดาราคอลเอาต์ ลั่น อย่านิ่งเฉย ปชช.ทั้งประเทศ อยากรู้, ข่าวมติชน, 26 กรกฎาคม 2564, https://www.matichon.co.th/politics/news_2850566 

& บช.น. แถลง ยอดคดีม็อบ 284 คดี เร่งเอาผิดให้ครบทุกราย ช้าเร็ว จับหมด, The Bangkok Times เดอะบางกอกไทม์, 3 สิงหาคม 2564, https://www.facebook.com/watch/?v=834094147220974

[19]ผู้ที่จะฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นจำเลยในโรงศาลนั้นจะต้องเป็นบุคคลโดยเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลตามกฎหมาย รัฐบาลไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จึงเป็นคู่ความไม่ได้ ศาลสั่งในคำฟ้องโจทก์ว่าไม่เป็นฟ้องที่จะรับไว้พิจารณา เมื่อโจทก์จะอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งเช่นนี้เสียค่าขึ้นศาล 20 บาท ตาม 2 ข. แห่งตาราง 1 ต่อท้าย ป.วิ.แพ่ง ไม่ใช่ว่าจะต้องเสียตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ตั้งมาในคำฟ้อง

ดู คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 724/2490, https://deka.in.th/view-87171.html 



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท