เมื่อหมอฟันคุยกับนักมานุษยวิทยา : ทันตาภิบาลสำหรับผู้สูงอายุในชุมชนชาติพันธุ์ที่ห่างไกล


งานทันตาภิบาลจึงไม่ใช่เป็นเรื่องเชิงเดี่ยวที่เกี่ยวแต่หมอ ยา คนไข้ หากแต่เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆอย่างซับซ้อนและเป็นองค์รวม

การเข้าถึงบริการทันตกรรมในกลุ่มผู้สูงอายุโดยเฉพาะในชุมชนชาติพันธุ์ ถือว่ามีปัญหามานาน

วันนี้ คุณหมอป้อด หมอฟันจาก รพ.ปางมะผ้า แวะมาถึงบ้าน ชวนคุยเพื่อนำข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ในวิทยานิพนธ์ คณะทันตแพทย์

หัวข้อน่าสนใจครับ "รูปแบบการให้บริการทันตกรรมผู้สูงอายุใน รพ.สต.ที่ห่างไกล ในเขตอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน"

 

 

คุยกันแป๊บเดียว เวลาไหลไปสองชั่วโมง เราพบว่าผู้สูงอายุกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลมีข้อจำกัดหลายอย่าง  อาทิ

ปัจจัยด้านคมนาคม ปัจจัยด้านการสื่อสาร (ภาษาชาติพันธุ์) ที่รวมถึงระบบไอที

ปัจจัยทางการเงินและต้นทุนทางทรัพยากร

ปัจจัยด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องทางอ้อมกับบริการทันตกรรม

ปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรม

พูดง่ายๆ กรอบในการวิเคราะห์คงต้องดู บริบทปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ ( Social Determinants of Health : SDH ) ประกอบด้วย

ดังนั้นงานทันตภิบาลจึงไม่ใช่เป็นเรื่องเชิงเดี่ยวที่เกี่ยวแต่หมอ ยา คนไข้ หากแต่เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆอย่างซับซ้อนและเป็นองค์รวม

 

 

 

ด่านหน้าที่สำคัญคือ รพ.สต. จึงต้องปรับรูปแบบจากสถานบริการสุขภาพ เป็นหน่วยประสานเพื่อบูรณาการเชื่อมโยงภาคีและปัจจัยแวดล้อมที่เป็นระบบสนับสนุนต่างๆเข้ามา

เช่น การขาดพาหนะ และระบบรับส่งคนชรา รวมถึงการมีล่ามแปลภาษาตรงนี้ก็สามารถบรรจุในแผน อบต.ได้ ซึ่งมีช่องทางหลายอย่าง โดยเฉพาะกองทุนสุขภาพตำบล

ในส่วนกลไกชุมชน เราอาจจะมอง Non-Health Sector อย่าง อสม. แต่ลำพังกำลัง อสม.ไม่ไหว เพราะรับหลายเรื่องมากและมักจะเทไปในวาระเร่งด่วนที่จังหวัดและส่วนกลางกำหนด เช่น ไข้เลือดออก COVID-19 , กลุ่มโรคเบาหวาน ความดัน

ส่วน อาสาสมัครพัฒนาสังคม หรือ อพม.เองก็มีน้อย และรับมาสารพัดเรื่องเช่นกัน

Change Agent สำคัญในงานทันตาภิบาล (ซึ่งรวมถึงสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ) คงต้องมองลึกไปถึงชีวิตจริงของคนชรา ว่าจริงๆไม่ได้มีแค่คนชราเอง แต่ยังรวมถึงผู้ดูแลใกล้ชิด หรือ Care Giver (CG) ของผู้สูงอายุท่านนั้นด้วย

ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกหลาน โดยเฉพาะในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุยังมีลูกหลานอยู่ร่วมชายคา เป็นโครงสร้างครอบครัวที่มีคนสามวัยอยู่ใกล้ชิดกัน

 

 

ตรงนี้งานทันตาภิบาลคงต้องมีฐานข้อมูล CG ผู้สูงอายุเหล่านี้ไว้ด้วย เพื่อเวลาสื่อสาร ติดตามการรักษาดูแลจะง่ายขึ้น เข้าถึงมากขึ้น โดยน่าจะได้เปิด Group Line หรือ เพจใน Facebook ไว้รองรับอย่างเป็นระบบ จะเป็นการสร้างเครือข่ายที่เป็น Momentum ในการเรียนรู้งานสุขภาพช่องปากไปในตัว

พูดง่ายๆคือ สุขภาพ ชีวิตของผู้สูงวัยในกลุ่มชาติพันธุ์ เอาเข้าจริงขึ้นอยู่กับการเอาใจใส่ของลูกหลานเป็นอย่างมาก

มานุษยวิทยาเรามักจะช่วยสะท้อนความสำคัญของระบบสุขภาพที่เชื่อมโยงกับหน่วยเล็กๆ กับคนตัวเล็กๆเหล่านี้ที่สัมพันธ์กับบริบทต่างๆ

 

 

….…………………………………………………..


ไหนๆ พูดถึง Change Agent ที่เป็นลูกหลานผู้สูงอายุกันแล้ว ผมก็เลยลงลึกไปอีกหน่อย ถึงคำถามที่ว่า ที่นี้ รพ.สต. หรือระบบงานทันตกรรมเราจะส่วนช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่าง CG ตามวิถีชาติพันธุ์ คือลูกหลานกับผู้สูงอายุได้อย่างไร

มุมนี้ หมอฟันก็นึกไม่ถึง แต่ดีนะ เลยคุยต่อ

ที่ความสัมพันธ์ระหว่าง CG ตามวิถีชาติพันธุ์ คือลูกหลานกับผู้สูงอายุดีหรือไม่นั้น มันก็มีปัจจัยหลายอย่าง ก็คงต้องดูเป็น case ไป แต่ผมอาจจะมองแบบภาพรวมในพื้นที่ปางมะผ้าว่า ที่ความสัมพันธ์ดีไม่ดีนั้น มาจากความเข้าใจระหว่างกัน ซึ่งตรงนี้ มันมี Social Gap หรือช่องว่างทางสังคม ช่องว่างในการสื่อสารระหว่างผู้สูงอายุกับลูกหลาน กับคนรุ่นใหม่มากน้อยแค่ไหน แต่ผมคาดเอาจากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสชุมชน ช่องว่างระหว่างวัยนี้น่าจะเยอะพอสมควร

มันทำให้เหมือนว่าอยู่บ้านเดียวกัน แต่จริงๆหลายเรื่องก็คุยกันคนละโลก ไลฟ์สไตล์ก็เริ่มไปคนละอย่าง

ตรงนี้อาจจะต้องมีวงคุยเปิดใจ ปรับมุมมองระหว่างผู้สูงวัยกับลูกหลานในบ้าน บางบ้านบางทีมีปม ทำให้เกิดช่องว่าง บาดหมางคลางแคลงใจในการจะพาคนเฒ่าคนแก่ไปรักษาพยาบาล ทั้งที่ฐานะทุกอย่างมีพร้อม

จิตวิทยาสำหรับผู้สูงอายุ การฟังอย่างอย่างลึกซึ้ง สุนทรียสนทนา เป็นสิ่งที่ครอบครัวน่าจะเรียนรู้และนำไปใช้ร่วมกัน

ตรงนี้ Fam Med หรือหมอครอบครัว น่าจะเป็นอีกหนึ่งคนที่มาช่วยจัดกระบวนการเหล่านั้นที่นำไปสู่การสานพลังภายในได้ดี

ทันตาภิบาลทั้งหลาย รวมถึงงานสุขภาวะสูงวัยน่าจะได้ดึงเหล่าขุนพล Fam Med มาร่วมแจมด้วย
….…………………………………………………..

อีกเรื่องที่ดูแล้วจะโหดหินสำหรับหมอฟันทั้งหลาย คือ ชราภาพไม่พอ แต่ยังเป็นคนพิการด้วย

นี่คิดคนเดียวคงไมเกรน ก็ต้องชวนผู้เชี่ยวชาญด้านงานคนพิการรวมถึงภาคีเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย

คิดคนเดียวเหนื่อยตาย ต้องหากัลยาณมิตรและมองเป็นระบบ เป็นเครือข่าย อาจจะเบลอๆในระยะแรก แต่ระบบจะค่อยๆ set โครงสร้างขึ้นมาเอง

ระบบจึงสำคัญ แต่ลึกไปกว่านั้นคือ Mindset


….…………………………………………………..


Mindset กำหนดสิ่งที่เรามอง สิ่งที่เรามองกำหนดโจทย์ วิธีการแก้ปัญหา รวมถึงผลที่เกิดขึ้นตามมา

สิ่งที่ผมฝากทิ้งท้ายคือการหันกลับมาสำรวจ Mindset ของตนเองและสังคมครับว่าบ้านเรา ส่วนใหญ่ยังใช้ Mindset ที่มองผู้สูงอายุกันใน Mode เก่าๆ ที่มองเป็นภาพตายตัว ว่าผู้สูงอายุเป็นผู้ที่รอการช่วยเหลือ เป็นคนอ่อนแอ เป็นคนที่ขี้เหงา เป็นคนที่ลูกหลานไม่ควรต้องให้ทำอะไรมาก เดี๋ยวเสี่ยง ฯลฯ

ผมประมาณเลาๆว่า บุคลากรการแพทย์จำนวนมาก นักพัฒนาชุมชนจำนวนมากก็ยังมีวิธีคิดตายตัวกับผู้สูงอายุแบบนี้

ความรักความห่วงใยนั้นดีครับ แต่ต้องระวังวิธีคิดที่ปิดกั้น

ผู้สูงอายุไม่ใช่คนที่รอการสงเคราะห์ แต่หากเป็นคนที่ต้องการการยอมรับนับถือ ต้องการเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีเหมือนกันกับเรา ผู้สูงอายุเป็นคนที่มีศักยภาพพร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ถ้ามีแรงบันดาลใจ มีองค์ประกอบแวดล้อมที่เหมาะสม ผู้สูงอายุก็พัฒนาศักยภาพได้เกินกว่าที่เราจะคาดเดา

ดูอย่างคุณยายเหนี่ยง คนไทยอายุเก้าสิบกว่าที่ลงแข่งกีฬาโอลิมปิคนั่นปะไร

จะเปลี่ยนจาก Fixed Mindset เป็น Growth Mindset ได้อย่างไร?

มีวิธีการเยอะแยะ ไม่ได้มีสูตรสำเร็จ 
แต่อย่างน้อย จากจุดนี้ไป ก็น่าจะช่วยให้เราออกแบบการจัดการได้ชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้น

 

 

คุยกับหมอฟัน เลยถือโอกาสโน๊ตความคิดเห็นเก็บไว้ย้อนทบทวนในตัว

ขอบคุณที่มาสัมภาษณ์นะครับ 

หมายเลขบันทึก: 691909เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2021 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 สิงหาคม 2021 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท