STKS
ฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี STKS

FWCI คืออะไร


Field-Weighted Citation Impact (FWCI) เป็นเมตริกหรือตัวชี้วัดผลกระทบของการอ้างอิงโดยเฉลี่ย ซึ่งเปรียบเทียบ จำนวนการอ้างอิงจริงที่ผลงานได้รับ กับ จำนวนการอ้างอิงที่คาดหวังสำหรับผลงานประเภทเดียวกัน (ประเภทเดียวกันหมายความถึงประเภทผลงาน ปีที่พิมพ์ และสาขาวิชาเดียวกัน) มาจาก SciVal โดยอาศัยข้อมูลจากฐานข้อมูล Scopus ของ Elsevier

FWCI เป็นเมตริกหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับจำนวนอ้างอิงที่ผลงานได้รับ ช่วยให้เห็นอิทธิพลที่บทความ นักวิชาการ/นักวิจัย กลุ่มวิจัย หรือหน่วยงานมี ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการพิจารณาตัดสินใจว่าจะอ้างอิงบทความใด จะตีพิมพ์บทความในวารสารใด หรือจะร่วมมือกับนักวิชาการ/นักวิจัย กลุ่มวิจัย หรือ หน่วยงานใด

เมตริกที่ต่างกันมีความแตกต่างกันในบริบทและสูตรการคำนวณ เช่น

  • FWCI ประเมินในระดับบทความ แต่ Impact Factor (IF) ประเมินในระดับวารสาร
  • FWCI พิจารณาจำนวนการอ้างอิงย้อนหลัง 3 ปี และ คาดการณ์ล่วงหน้า 3 ปี แต่ IF พิจารณาจำนวนการอ้างอิงย้อนหลัง 2 ปี
  • FWCI ไม่ได้ใช้จำนวนบทความเป็นตัวหาร แต่ใช้จำนวนการอ้างอิงโดยเฉลี่ยของบทความประเภทเดียวกันเป็นตัวหาร

ความหมายของค่า FWCI

  • FWCI = 1 หมายความว่า บทความมีจำนวนการถูกอ้างอิงจริงเท่ากับค่าเฉลี่ยที่คาดหวังของจำนวนการอ้างอิงผลงานประเภทเดียวกัน
  • FWCI มากกว่า 1 หมายความว่า บทความมีจำนวนการถูกอ้างอิงจริงมากกว่าค่าเฉลี่ยที่คาดหวังของจำนวนการอ้างอิงผลงานประเภทเดียวกัน ตัวอย่างเช่น บทความมีค่า FWCI 1.48 หมายความว่า บทความถูกอ้างถึงมากกว่าค่าเฉลี่ยที่คาดหวังของจำนวนการอ้างอิงผลงานประเภทเดียวกัน 48%
  • FWCI น้อยกว่า 1 หมายความว่า บทความมีจำนวนการถูกอ้างอิงจริงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่คาดหวังของจำนวนการอ้างอิงผลงานประเภทเดียวกัน ตัวอย่างเช่น บทความมีค่า FWCI 0.48 หมายความว่า บทความถูกอ้างถึงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่คาดหวังของจำนวนการอ้างอิงผลงานประเภทเดียวกัน 52%

สิ่งที่ควรคำนึงถึงเกี่ยวกับการเลือกใช้เมตริกหรือตัวชี้วัด

  1. การพิจารณาเพียงแค่จำนวนของการอ้างอิงของบทความโดยเปรียบเทียบกับผลงานประเภทเดียวกัน ในสาขาเดียวกัน และในปีที่ตีพิมพ์เดียวกัน ยังไม่สามารถวัดคุณภาพของบทความนั้นๆ ได้โดยตรง เนื่องจากบทความอาจถูกอ้างอิงถึงด้วยเหตุผลเชิงลบและเชิงบวก
  2. หน่วยงานให้ทุนหลายแห่งในต่างประเทศให้ความสนใจผลกระทบของงานวิจัย โดยไม่จำกัดแค่การวัดจำนวนการอ้างอิง
  3. ควรพิจารณาบริบทที่เมตริกถูกสร้างขึ้นเพื่อพิจารณาความเกี่ยวข้อง เช่น ไม่ควรใช้ IF เพื่อเปรียบเทียบวารสารต่างสาขาวิชา เช่น ระหว่างสาขาวิทยาศาสตร์ชีภาพและสาขาสังคมศาสตร์ เนื่องจากทั้ง 2 สาขาวิชามีความแตกต่างกันในธรรมชาติของจำนวนการตีพิมพ์และจำนวนการอ้างอิงผลงาน
  4. เมตริกบางตัวมีความเฉพาะเจาะจงสำหรับบางฐานข้อมูล เช่น IF โดย Web of Science และ FWCI โดย Scopus และ Scival
  5. เมตริกอาจมีความแตกต่างกันเนื่องจากฐานข้อมูลที่คำนวณเมตริกนั้นๆ เช่น จำนวนการอ้างอิงบทความ และ H-index ของนักวิจัย สามารถคำนวณและดูได้จากทั้ง Web of Science และ Scopus แต่ผลลัพธ์อาจแตกต่างกัน เนื่องจากฐานข้อมูลมีความแตกต่างกัน (เช่น แตกต่างกันในจำนวนประเภทผลงาน จำนวนผลงาน และปีพิมพ์ของผลงานที่ฐานข้อมูลครอบคลุม)
  6. ควรพิจารณาใช้เมตริกมากกว่า 1 ตัว เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนและเป็นพหุนิยมมากขึ้น เนื่องด้วยตัวชี้วัดทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีแนวโน้มที่จะเกิดความคลุมเครือและความไม่แน่นอนในเชิงแนวคิดและต้องการสมมติฐานที่ชัดเจน ซึ่งยังไม่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ยกตัวอย่าง ความหมายของการนับการอ้างอิงที่เป็นที่ถกเถียงกันมานานแล้ว
หมายเลขบันทึก: 691575เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2021 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2021 09:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท