โพรมีธีอุส: จากนิทานปรัมปรากรีกสู่ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์


สิ่งประหลาดในนิทานปรัมปราและภาพยนตร์
ตอน โพรมีธีอุส: จากนิทานปรัมปรากรีกสู่ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์

#เกริ่นนำ
Prometheus (2012) เป็นภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ระทึกขวัญ ที่เขียนบทและกำกับโดยริดลีย์ สก็อตต์ เจ้าพ่อหนังสัตว์ประหลาดต่างดาว ว่าด้วยเรื่องราวในโลกอนาคต ที่กลุ่มนักโบราณคดี ไปขุดค้นทางโบราณคดีที่ถ้ำแห่งนี้ แล้วเห็นภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นมนุษย์ร่างใหญ่ กับหมูดวงดาว

ดูคลิป scoop นี้ ได้ที่นี่

จากนั้นนักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์ ก็ได้เชื่อมโยงงานศิลปกรรมรุ่นโบราณ นับตั้งแต่อารยธรรมอียิปต์ อารยธรรมเมโสโปเตเมีย และหลาย ๆ อารยธรรมมาเชื่อมโยงกัน แล้วก็สรุปได้ว่า แท้จริงแล้วมนุษย์เรามีผู้สร้าง ซึ่งผู้สร้างนั้นน่าจะมาจากต่างดาว ผู้สร้างได้มอบรหัสไว้ให้กับมนุษย์ผ่านงานศิลปกรรมเหล่านี้ เพื่อให้ได้เดินทางไปหาผู้สร้าง ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชื่อด้านนี้จึงสร้างยานอวกาศให้ทุน แล้วรวบรวมนักวิทยาศาสตร์เพื่อเดินทางไปหาดาวที่ผู้สร้างได้ชี้เป็นแนวทางเอาไว้

ภาพจาก imdb.com

แต่ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ยานอวกาศที่เดินทางไปดาวดวงนั้น ใช้ชื่อว่าโพรมีธีอุส และที่สำคัญคือการเกริ่นนำเรื่อง เขาทำให้เราเห็น สิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเหมือนมนุษย์ร่างยักษ์ กินบางสิ่งบางอย่างทำให้ตัวเองตาย แล้วเมื่อร่างกายตกลงไปในน้ำ ก็ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นมา

นั่นคือการเชื่อมโยงของหนัง กับนิทานปรัมปราหรือตำนานโบราณที่เกี่ยวกับการสร้างมนุษย์ โดยเทพที่ชื่อว่า โพรมีธีอุส ซึ่งในนิทานกรีกโบราณและอธิบายว่า นี่คือเทพที่เป็นผู้ให้กำเนิดมนุษย์นั่นเอง

นิทานปรัมปราหรือคติความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างโลกสร้างมนุษย์นั้น เป็นความเชื่อที่มีมาอยู่อย่างยาวนาน แล้วก็เล่าสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น อย่างนิทานปรัมปราของอียิปต์โบราณ กล่าวว่ามีเทพนัต (Nut) ผู้เป็นเทพธิดาแห่งสรวงสวรรค์ กับเทพแก๊ป (Geb) ผู้เป็นเทพแห่งแผ่นดิน เป็นผู้ช่วยกันสร้างมนุษย์

ในคัมภีร์ฮีบรูโบราณ ก็ได้กล่าวว่าพระเจ้า หลังจากที่สร้างโลกแล้ว ก็ได้สร้างมนุษย์เพศชายขึ้นมาก่อนจากดิน จากนั้นเจ้าสร้างมนุษย์เพศหญิงเกิดมาให้คู่กัน โดยชักกระดูกซี่โครงจากเพศชายมาสร้างนั้นเอง

ส่วนตำนานกรีกได้กล่าวว่า หลังจากที่ทวยเทพแห่งสรวงสวรรค์ได้สร้างโอลิมปัสขึ้นมาครอบครอง ก็เริ่มมีมนุษย์เกิดขึ้นมาจากแผ่นดิน ในยุคแรกชีวิตมนุษย์นั้นมีความสงบและมีความสุขสบายเช่นเดียวกับทวยเทพ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ต้องปฏิบัติภารกิจใดๆ มีอาหารการกินที่สมบูรณ์ และมีความสัมพันธ์กันดีกับเหล่าทวยเทพ มีความสนิทสนมกันขนาดที่ว่า สามารถนั่งร่วมโต๊ะอาหารกันได้เลยทีเดียว แต่ด้วยความที่มนุษย์กินดีอยู่ดีเกินไป แถมทพตัวทำตัวเหมือนเทพ ทวยเทพจริงพิโรธ เกิดเทวโองการให้มนุษย์รู้จักความหิวโหย มนุษย์ต้องทำการเพาะปลูกเอง

นี่คือตัวอย่างนิทานปรัมปราหรือความเชื่อเรื่องการกำเนิดมนุษย์นั้นมีอยู่อย่างมากมาย ไม่อาจนำมาอธิบายได้ทั้งหมด ดังนั้น บทความ/คลิปนี้ จึงขออธิบายความเชื่อเรื่องการกำเนิดมนุษย์ที่สอดคล้องกับ ภาพยนตร์เรื่องโพรมีธีอุส ที่กล่าวไปในข้างต้นครับ

#โพรมีธีอุสกับเทพปกรณัม

นิทานปรัมปรากรีกได้กล่าวไว้ว่า หลังจากที่เหล่าทวยเทพได้สร้างเหล่าสรรพสัตว์ขึ้นมาเต็มไปทั่วโลก นกบินว่อนอยู่เต็มท้องฟ้า ฝูงสัตว์แทะเล็มอยู่ตามทุ่งหญ้า ฝูงปลาก็แหวกว่ายอยู่ในสายน้ำ ซึ่งเป็นภาพที่งดงามจับจิต สรรพเสียงโลกมนุษย์นั้นไพเราะจับใจ แต่เสียดายที่ไม่มีใครได้ยินได้ฟังเสียงเหล่านั้น

ภาพจาก britannica.com

ไททันตอนหนึ่งที่มีร่างกายใหญ่โต ชื่อว่าโพรมีธีอุส เดินไปทั่วพื้นโลกแล้วเกิดอาการสร้อยเศร้า  มองเห็นแต่เหล่าสรรพสัตว์ที่มีลักษณะไม่เหมือนเขาทุกประการ และที่เสียดายเป็นอย่างมากที่ไม่มีใครเคยได้เห็นหรือได้ฟังเสียงธรรมชาติเหล่านั้นเลย

โพรมีธีอุส อยากมีเพื่อนมาคอยดูภาพอันงดงามและนั่งฟังเสียงอันไพเราะเหมือนเขาบ้าง

โพรมีธีอุสจึงนำดินและน้ำมาผสมกันปั้นเป็นรูปมนุษย์คนแรก ให้มีร่างกายและลักษณะเหมือนเขา และเหล่าเทพเจ้า อาทิ เทพีอาเธน่า เทพสติปัญญาและความเฉลียวฉลาด ได้มอบวิญญาณให้กับรูปปั้นที่โพมีธีอุส นั่นคือมนุษย์คนแรกของโลก แล้วก็สืบลูกสืบหลานต่อกันมา ส่วนโพรมีธีอุส ก็ได้รับฉายาว่าเป็นบิดาแห่งมนุษย์

ภาพจาก wikipedia.org

เริ่มแรกเดิมที มนุษย์นั้นช่างไร้เดียงสา ไม่รู้จักฤดูกาล วัน คืน เดือน ปี ไม่รู้จักวิธีการทำงาน ไม่รู้จักการล่าสัตว์ ไม่รู้จักการก่อไฟ ไม่รู้จักวิธีการหุงหาอาหาร ไม่รู้จักการตัดไม้เพื่อการสร้างบ้านเรือน พวกเขาอาศัยอยู่รวมกันบนพื้นดินและใต้ดินอยู่ในถ้ำ

โพรมีธีอุสสงสารมนุษย์ยิ่งนัก จึงลงมาจากสวรรค์และสอนให้พวกเขาสร้างบ้านเรือน สร้างเรือต่อแพ ให้รู้จักการอ่านการเขียน สอนให้รู้จักการแพทย์ รู้จักวิทยาศาสตร์ ให้รู้จักนำสัตว์มาใช้เพื่อทุ่นแรง สอนให้มนุษย์รู้จักหาแร่ที่มีค่าที่อยู่ในดิน เช่นทองแดง เงิน ทอง

บางตำนานกล่าวว่าเทพซุส เป็นผู้บัญชาให้ โพรมีธีอุส และ เอพิมีธีอุส สองพี่น้องไททันให้สร้างสรรค์สิ่งมีชีวิตขึ้นมา โพรมีธีอุสผู้พี่ได้มอบพรสวรรค์ให้กับสิ่งมีชีวิตประเภทต่าง ๆ เช่น ความสวยงาม พลกำลัง ความคล่องแคล่วว่องไว ความเฉลียวฉลาด สติปัญญา อาวุธประจำตัว ส่วนเอพิมีธีอุส ผู้น้องได้มอบพรสวรรค์ให้กับเหล่าสรรพสัตว์ทั้งสิ้นจนหมด เมื่อถึงคราวสร้างมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตประเภทสุดท้าย มนุษย์ก็ไม่มีพรสวรรค์อะไรเลย มีแต่ร่างกายที่เปล่าเปลือย ไร้สติปัญญา

ดังนั้นโพรมีธีอุส จึงไปขโมยสติปัญญาและความเฉลียวฉลาดมาจากเทพีอาเธน่า ผู้เป็นเทพแห่งสติปัญญาและความเฉลียวฉลาดมาให้กับมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์รู้จักใช้เหตุและผล อีกทั้งยังไปขโมยไฟจากเตาไฟของเทพเฮเฟสตัส เทพที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพอัคนีและเทพแห่งการประดิษฐ์เครื่องโลหะทั้งมวล เพื่อให้มนุษย์ไว้ใช้ทำให้เกิดความอบอุ่นแก่ร่างกาย ปกป้องอันตรายจากสัตว์ ใช้ไฟในการประกอบอาหาร และยังสอนวิชาความรู้ให้กับมนุษย์อีกด้วย

แต่เทพซุสและเหล่าทวยเทพเกิดข้อสงสัยว่า ในเมื่อมนุษย์แม้จะเรียนรู้ทุกอย่างแล้ว แต่เหตุใดมนุษย์จึงไม่เรียนรู้เกี่ยวกับการเคารพบูชาเทพบ้าง ทั้ง ๆ ที่เหล่าเทพเป็นผู้สร้างทุกอย่าง แม้กระทั่งสร้างความอุดมสมบูรณ์ แถมยังเป็นผู้กำหนดโชคชะตาชีวิตของมนุษย์ ซุสจริงสั่งให้โพรมีธีอุสลงไปบอกกับมนุษย์ว่า ให้รู้จักบูชาเทพ แล้วถวายเครื่องบูชาอันเหมาะสมแก่เทพ

โพรมีธีอุสจึงรับปากเทพซุส ว่ามนุษย์จะถวายเครื่องเซ่นสังเวยที่น่ากินที่สุดให้กับเหล่าทวยเทพ

ด้วยความที่โพรมีธีอุสรักมนุษย์เหลือเกิน จึงได้ฆ่าวัวตัวหนึ่ง แล้วแบ่งเป็น 2 กอง กองแรกเป็นเนื้อที่ไม่ติดมันซ่อนอยู่ใต้หนังวัวโดยมีเครื่องในวางอยู่ด้านบน ซึ่งดูแล้วก็ไม่น่ากินเอาซะเลย ส่วนกองที่ 2 จะเป็นกระดูกที่มีไขมันหุ้มเอาไว้หนาจนมองไม่เห็นกระดูก ซึ่งดูเป็นกองใหญ่และน่ากินกว่ากองแรกมาก ๆ

จากนั้นโพสมีธีอุสจึงให้เทพซุสเลือกอาหารสังเวยจากมนุษย์ แน่นอนว่าเทพซุสก็ระแวดระวังตัวว่าน่าจะมีเล่ห์กลหลอกเอาไว้ แต่ไขมันพอกกระดูกนั้นมันส่งกลิ่นหอมอบอวล พร้อมกับไขกระดูกที่สะท้อนแสงเกิดความแวววาวยิ่งนัก เทพซุสจริงเดินเข้าเลือกกองไขมันพอกกระดูกนี้ แต่ก็ไม่วายที่เทพซุสจะไปเปิดอีกกองหนึ่งแล้วพบว่า มีแต่เนื้อที่น่ากิน เทพซุสจึงเกิดความโมโหเป็นอย่างมาก ได้ประกาศเป็นเทวโองการว่า

ต่อไปนี้มนุษย์จะมีแต่ความหิวโหย และความลำบาก เทพซุสได้ยึดไฟที่ได้มาจากเฮเฟสตัสกลับคืนมา และถึงแม้ว่ามนุษย์จะจุดไฟขึ้นมาได้ใหม่ แต่ชุสก็ดลบันดาลให้ก้อนเมฆทุกก้อนบนท้องฟ้ากลายเป็นฝนมาดับไฟทุกครั้ง มนุษย์จึงไม่สามารถหุงต้มอาหารได้ แถมยังต้องทำงานหนัก ทำไร่ทำนา เพาะปลูกเลี้ยงสัตว์และเก็บเกี่ยวผลผลิต ในช่วงเวลาที่เหน็บหนาวที่สุดก็ไม่สามารถสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายได้

 

โพรมีธีอุสรู้สึกผิด ที่ทำให้มนุษย์ต้องตกระกำลำบาก เขาจึงหาทางช่วยมนุษย์อีกครั้ง โดยคิดจะเข้าไปขโมยไฟอมตะที่ไม่มีวันดับอยู่ในปราสาทของเทพซุส โพรมีธีอุสจึงต้องปีนเขาโอลิมปัสไปถึงยอดสุด แล้วมุ่งไปยังปราสาท แล้วก็ขโมยไฟ ซ่อนไว้ในโพรงของไม้เท้า จากนั้นก็กลับลงมายังโลกมนุษย์แล้วหม้อไฟให้กับมนุษย์อีกครั้ง

มนุษย์จึงสามารถหุงหาอาหารได้ สามารถผลิตสิ่งของที่ทำจากโลหะได้ เทพซุสโกรธจัด จึงเรียกเฮเฟสตัสมาพบทันที

ซุสจึงสั่งให้เฮเฟสตัวปั้นรูปปั้นผู้หญิงที่สวยงามที่สุด แล้วก็ออกมางดงามจริง ๆ ซะด้วย เทพีอาเธน่าได้มอบผ้าคลุมหน้าให้กับมนุษย์เพศหญิงนี้ เทพีอโฟรไดท์ได้มอบความสง่างาม เทพเฮอร์เมสได้มอบน้ำเสียงที่ไพเราะเสนาะหู คำพูดที่แสดงถึงความเฉลียวฉลาดและมีชีวิตชีวาให้กับเธอ

จากนั้นเทพซุสก็ตั้งชื่อให้เธอว่า แพนเดอร่า แล้วมอบกล่องทองคำปริศนาให้เธอรักษาไว้ จากนั้นก็สั่งให้เทพเฮอร์เมสพาแพนด้าลงมายังโลกมนุษย์ไปหาน้องชายของโพรมีธีอุสคือ เอพิมีธีอุส มอบแพนเดอร่าให้เป็นของขวัญ

เอพิมีธีอุสหลงเสน่ห์แพนเดอร่าทันที แม้ว่าโพรมีธีอุสผู้พี่จะเตือนอย่างไรว่านั่นคืออุบายของเทพ แต่น้องชายก็ไม่เชื่อ แล้วทั้งสองก็ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เอพิมีธีอุสสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่า กล่องทองคำที่ภรรยาเก็บรักษาไว้ข้างในมีอะไรกันแน่ เพราะเหตุใดจึงห่วงนักห่วงหนา ไม่ยอมให้เปิด แถมไม่ยอมบอกว่าอะไรอยู่ข้างใน

ภาพจาก wikipedia.org

เอพิมีธีอุสขอร้องภรรยาของเขาอยู่สักพัก แพนเดอร่าจึงใจอ่อนเปิดกล่องทองคำ ทันใดนั้นเอง ความมืดดำก็พวยพุ่งออกมาจากกล่องทองคำ นำพาโรคภัยไข้เจ็บ ความอดอยากยากไร้ ความทุกข์ทรมาน ความสิ้นหวัง ล่องลอยออกไปทั่วอาณาบริเวณ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้ลอยออกมาด้วยก็คือความหวัง เพราะแพนเดอร่าเธอตกใจซะก่อนจึงรีบปิดกล่องทองคำ

แล้วมันเข้าไปสู่บ้านเรือนของมนุษย์ มนุษย์ทุกคนได้รู้จักกับโรคร้าย ความเจ็บปวด ความสิ้นหวัง ความทุกข์ทรมาน และจบลงที่ความตาย

ภาพจาก wikipedia.org

ภัยพิบัติครั้งนี้แม้แต่โพรมีธีอุสเองก็ไม่สามารถช่วยมนุษย์ได้ เทพเฮเฟสตัสได้จับตัวโพรมีธีอุสมัดไว้กับโซ่เหล็กที่มีความหนักและแข็งแกร่งที่สุดไว้กับหินบนยอดเขาคอเคซัส ณ ที่ปลายขอบของโลก

ภาพจาก wikipedia.org

ในช่วงเวลากลางวัน ทุกวันจะมีนกอินทรีย์มาจิกร่างกายของเขา กินตับไตไส้พุงจนสิ้น ส่วนเวลากลางคืนร่างกายของโพรมีธีอุสจะซ่อมแซมตัวเองให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม และเมื่อถึงเวลากลางวันก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกครั้ง วนเวียนไปเช่นนี้เรื่อย ๆ  แม้จะเป็นความเจ็บปวดที่สุดแสนจะทรมาน แต่โพรมีธีอุสก็ไม่ได้ร้องขอการอภัยโทษจากเทพซุสเลยสักครั้ง

อีก 30 ปีต่อมา เฮราคลีส หรือเฮอคิวลิสบุตรของซุสได้เดินทางเพื่อที่จะไปเก็บแอปเปิ้ลทองคำ  เขาเห็นโพรมีธีอุสงถูกจองจำด้วยความทุกข์ทรมานจนเกิดความสงสาร เฮราครีสใช้ธนูยิงนกอินทรีตายไป และช่วยปลดโซ่ให้กับโพรมีธีอุสจนเป็นอิสระ

ภาพจาก wikipedia.org

ถึงกระนั้นเทพซุสก็ยังไม่ยอมอยู่ดี แต่ได้ลดโทษให้กับโพรมีธีอุส ด้วยการที่โพมีธีอุสต้องใส่ห่วงคอเหล็กซึ่งมีหินจากภูเขาคอเคซัสเป็นเครื่องประดับกับคอไว้ตลอดเวลา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า โพรมีธีอุสถูกพันธนาการไปตลอดชีวิต

แล้วก็จบเรื่องราวของ โพรมีธีอุส ไททันที่มีความรักมนุษย์ที่เขาสร้างขึ้นมาอย่างมากมาย รักมากกว่าเทพเจ้าที่จะรักมนุษย์ได้ซะอีก

#วิเคราะห์ความหมายในเทพปกรณัม

หากลองมาพิจารณาแนวคิดของเรื่องนี้ ก็พอจะแยกเป็นประเด็นได้ว่า ผู้สร้างไม่ว่าจะเป็นเทพสร้างมนุษย์ หรือพ่อแม่ที่สร้างลูก ก็ล้วนแต่มีความรักเมตตาให้กับสิ่งที่เขาได้สร้างด้วยกันทั้งสิ้น แม้ว่าลูกหลานที่สร้างขึ้นมานั้นจะเผชิญกับอุปสรรคเลวร้ายมากแค่ไหน ก็พร้อมที่จะปกป้องดูแลเสมอ และนี่คือความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกอย่างแท้จริง

โพรมีธีอุส นอกจากจะมีสถานะเป็นเทพผู้สร้างมนุษย์แล้ว เขายังมีสถานะเป็นเทพแห่งไฟด้วย เนื่องจากเกี่ยวข้องกับไฟถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือการไปขโมยไฟจากเทพเฮเฟสตัสมาให้มนุษย์ และครั้งที่ 2 คือการไปขโมยไฟจากปราสาทของเทพซุสบนเทือกเขาโอลิมปัสมาให้มนุษย์อีก

แต่ไฟในที่นี้ยังมีความหมายแฝงถึง แสงสว่างที่เปรียบได้กับองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ความคิดอ่าน และการที่โพสมีธีอุสขโมยไฟมาใหมนุษย์ใช้ ไฟจึงมีความหมายที่เป็น สิ่งที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์ เพราะไฟสามารถสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้หลายอย่าง

ดังนั้นโพรมีธีอุสจึงเป็นสัญลักษณ์ของ ความเจริญของมนุษย์ และการสร้างอารยธรรมของมนุษย์นั่นเอง

และอีกประเด็นหนึ่งในทางเทววิทยาคือ เทพในนิทานปรัมปราของกรีก แม้จะมีสถานะเป็นทิพย์ เป็นเทพ มีพลังอำนาจเหนือมนุษย์มหาศาล แต่ความมีตัวตนทั้งหมดทั้งมวลนั้น ก็ต้องได้รับความยอมรับจากมนุษย์ หากมนุษย์ไม่มีความยอมรับ แม้จะมีอำนาจมากแค่ไหน ก็ไม่มีความหมาย ซึ่งก็เหมือนกับมนุษย์นั่นแหละ หากมีความสามารถ มีสติปัญญามากแค่ไหน แต่หากไม่มีใครยอมรับ มนุษย์คนนั้นก็ไม่มีความหมายและไม่มีตัวตนเช่นกัน

ส่วนตัวของแพนเดอร่ามีความหมายสำคืญคือ แม้ว่ามนุษย์จะมีชีวิตที่ดี กินดีอยู่ดี ไม่ต้องลำบากไม่ต้องเล่นเร่รอน มีไฟให้ใช้แล้ว มีองค์ความรู้ต่างๆ แล้ว แต่มนุษย์ก็ต้องรู้จักใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ไม่ว่าจะการกินอาหารที่สุขลักษณะ หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ หากมนุษย์ปล่อยปละละเลย มัวแต่ทำงาน ไม่ดูแลสุขภาพ อยู่และกินไม่ถูกสุขลักษณะ ก็จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ และถ้าไม่รู้จักวิธีการรักษาที่ถูกต้อง ก็จะนำไปสู่ความตายอย่างรวดเร็วเช่นกัน

นอกจากนี้ยังอาจเปรียบเทียบได้ว่า โพรมีธีอุสมีสถานะเป็นเหมือนพระเจ้า ที่สอดคล้องกับเรื่องราวในคัมภีร์ฮีบรูโบราณ คือเป็นผู้ที่สร้างมนุษย์ และรวมถึงเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิล คือหลังจากที่สร้างมนุษย์ขึ้นมาแล้ว ก็มีความรักในมนุษย์อย่างนี้ ยอมเสียสละตนเองทนทุกข์ทรมาณเพื่อไถ่บาปแทนมนุษย์

#เทพปกรณัมกับภาพยนตร์

ย้อนกลับมาที่ภาพยนตร์ Prometheus (2012) หนังทำให้เห็นว่า แรกเริ่มของหนังนั้น ทำให้เราเห็นภูมิทัศน์ในโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็น ป่า ภูเขา ภูเขาน้ำแข็ง แม่น้ำ ทะเล ทะเลทราย ล้วนแต่มีความสวยงามและมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่เลย

ภาพจาก imdb.com

จากนี้ก็มีสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งร่างกายเหมือนมนุษย์ ซึ่งอาจอนุมานได้ว่านั่นคือโพรมีธีอุส ยืนอยู่บนหน้าผาน้ำตกแห่งนี้ มองขึ้นไปบนท้องฟ้า มองบางอย่างเห็นลักษณะเหมือนยาวอวกาศลอยลำอยู่ จากนั้นสิ่งมีชีวิตนี้ก็ดื่มกินบางสิ่งบางอย่างเข้าไป ทำให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงต่อร่างกาย ทำลายเซลล์ประสาทไปจนถึงระดับ DNA จากนั้นก็ตกลงไปในน้ำตก ร่างกายไหลไปตามแม่น้ำ แล้วค่อ ยๆ เสื่อมสลายไป จากเซลล์ที่เสื่อมสลายนั้นก็ถือกำเนิดเป็น DNA นานาพันธุ์ แล้วก็ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตนั่นเอง

ในภาพยนตร์ยังให้แนวคิดที่สำคัญบางอย่างกับเราคือ บางครั้งในการสร้างก็ต้องมีการทำลายก่อน ซึ่งในภาพยนตร์เขาก็ไม่ได้สรุปว่า เพราะเหตุใดผู้สร้างจึงต้องทำลายตัวเองก่อน และรวมไปถึงผู้สร้างเหตุใดจึงต้องคิดทำลายมนุษย์ด้วย ซึ่งจะมีความหมายอย่างไร  เป็นคำตอบที่ผู้ชมต้องค้นหาเอาเองครับ

@วาทิน ศานติ์ สันติ
4 เมษายน 2560
#บทความไทยศึกษาคติชนวิทยา
#SuperReviewChanel

#เอกสารประกอบการเขียน

ดารณี เมืองมา. (2550). เทพนิยายและตำนานกรีกโบราณ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ข้าวฟ่างจำกัด.

รมณีย์ กอวัฒนา. (2561). เทพนิยายที่เป็นพื้นฐานของงานวรรณคดี. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

เสาวลักษณ์ อนันตศานต์. (2558). นิทานปรัมปรากับคติชน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคําแหง.

britannica. (2021). Prometheus
Greek god. สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2564, จาก 

หมายเลขบันทึก: 691541เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2021 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2021 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท