"วัคซีนโควิด19และการเปิดเมืองท่องเที่ยว" : เก็บความจาก Maehongson Online Forum ep.2


Self Talk: เก็บความ  Maehongson Online Forum ep.2 
"วัคซีนโควิด19และการเปิดเมืองท่องเที่ยว"

สัปดาห์ก่อน หมอสุพัฒน์อินบ๊อกซ์มาชวนเข้าวง Special Zoom Meeting
อาจารย์เก ประธานสภาพลเมืองก็ชวนอีกรอบ
ก็ดีใจที่แนวคิดที่เราร่วมผลักดันมีการนำไปใช้ 
วันนี้เปิดเป็นเวทีสาธารณะ คนไม่เยอะ แต่ส่วนตัวคิดว่ากำลังดี ถ้ามากกว่านี้จัดการเวลาลำบาก เผลอๆต้องแยกเป็น panel ย่อยๆ

จริงๆ คุณหมอในฐานะ Moderater & Host ตั้งไว้ชั่วโมงกว่าๆ แต่ประเด็นน่าสนใจเลยลากยาวเป็นสองชั่วโมง ไม่เป็นไร

แต่ละท่านคุยได้กระชับดี เข้าเนื้อ ไม่วกวน ไม่เยิ่นเย้อ ถือว่าได้ Key Speaker ทั้งห้าที่คุณภาพคับแก้ว

ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร จากคณะสังคมศาสตร์ มช.
อาจารย์เก ประเสริฐ ประดิษฐ์ ประธานสภาพลเมืองแม่ฮ่องสอน และเป็นประธานเชื่อมต่ออีกหลายข่าย
พี่อรรถสิทธิ์ แสงจันทร์ สสอ.เมืองแม่ฮ่องสอน
พี่อ้อย อรุณี เวียงแสง ผู้ก่อตั้งและขับเคลื่อนเครือข่ายนักวิจัยเพื่อท้องถิ่น 
นพ.สุพัฒน์ ใจงาม ผอ. รพ.ปางมะผ้า แพทย์ชนบทดีเด่นสดๆร้อน

นอกจากนี้ก็มี คุณโอม บัณฑิต นิลอุดมศักดิ์ ประธานหอการค้า จ.แม่ฮ่องสอน และโอ๋ ชาญชัย วิทยาพูน จากงานสื่อภาคประชาสังคม โครงการ 4PW มาร่วมด้วย

ธีมหลักที่เราตั้งไว้ในฟอรั่มนี้คือ "วัคซีนโควิด19และการเปิดเมืองท่องเที่ยว"

ผมร่วมประชุมในฐานะนักวิชาการอิสระ จดโน๊ตมาได้เจ็ดแปดหน้า ก็ขอสรุปประเด็นสำคัญ ออกมาเผื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจนะครับ


.....................................................................................................................

 

เริ่มหลังจากหมอสุพัฒน์โปรยหัวด้วยที่มาที่ไป และกระบวนการ กฏกติกามารยาทที่ใช้วันนี้แล้ว การพูดคุยก็เริ่มจากอาจารย์เกช่วยเปิดประเด็นให้เห็นบริบทของแม่ฮ่องสอน ที่โครงสร้างภาครัฐกับประชาสังคมทำงานกันใกล้ชิดมากกว่าแต่ก่อน ทั้ง ผวจ.คนปัจจุบันที่รับฟังกระแสความคิดเห็นของคนท้องถิ่น ถือเป็นจังหวะที่ดี แต่ก็มีข้อชวนคิดเรื่องแรงงานคืนถิ่นแม่ฮ่องสอนกว่า 30,000 คนซึ่งถ้ากลับบ้านมา เราจะตั้งรับปรับตัวอย่างไร

ในส่วนชุมชน หลายแห่งมีการจัดการตนเองได้อย่างเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม การสื่อสารภายในชุมชนนั้นสำคัญมาก หอกระจายข่าวและวิทยุ สวท.แม่ฮ่องสอน ยังมีบทบาทมากต่อประชาชนในการรับรู้และตัดสินใจ แม้ในส่วนคนรุ่นใหม่จะใช้การสื่อสารและเสพสื่อออนไลน์มากขึ้นก็ตาม

การคุยวันนี้ก็จะเป็นข้อมูลที่ถือว่าจะนำไปสู่การพิจารณาในเครือข่ายต่างๆต่อไป อาจารย์เก จั่วหัวไว้

.....................................................................................................................


จากนั้นพี่โต๋ ดร.มาลี ก็ให้มุมมองว่า ถ้าสนใจเรื่องการท่องเที่ยว ก็ค้องวิเคราะห์กลุ่มที่มาเที่ยวแม่ฮ่องสอน ซึ่งคนที่มาส่วนใหญ่ก็มักเป็นชนชั้นกลาง เป็นคนหนุ่มสาวที่ชอบแนวผจญภัย adventure หรือชีวิตกลางแจ้ง ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจหดตัวแบบนี้ ส่งผลต่อกำลังซื้อของชนชั้นกลางเหล่านี้มาก ดังนั้น ถึงเปิดการท่องเที่ยวจริงก็ไม่แน่ว่าพวกเขาจะมาได้สักเท่าไร ครั้นจะเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายใหม่ก็ดูจะยากเพราะบริบทท่องเที่ยวของเรามีความเฉพาะ

 

พอหันไปดูที่พัก ส่วนใหญ่เป็นรีสอร์ต โฮมเสตย์  ซึ่งหากถามถึงมาตรฐานในการจัดการ COVID-19 อันนี้ก็ไม่แน่ใจว่าฝั่งสาธารณสุขจะตามไปดูได้ทั่วถึงไหม ต่างจากโรงแรมใหญ่ๆที่เขามีมาตรการจัดการเชิงระบบได้ชัดเจนกว่า

ส่วนผลกระทบจาก COVID-19 ตรงนี้ ดร.มาลีไม่แน่ใจเท่าไร เพราะไม่ชัดว่าระบบการผลิตโดยเฉพาะภาคเกษตรของแม่ฮ่องสอนตอนนี้เป็นอย่างไร แต่ที่เชียงใหม่นี่ก็น่วมตามๆกัน หากตัวบ่งชี้เรื่องการปรับตัวอย่างหนึ่งก็คืออัตราการฆ่าตัวตายของคนแม่ฮ่องสอนซึ่งสูงขึ้น

ที่สำคัญเราอาจต้องแบ่งหมวดหมู่ (Social Categorized) โดยจำแนกคนที่ละเอียดไปกว่าการแบ่งคนตามพื้นที่กายภาพ อย่างประชากรแม่ฮ่องสอนเรา ก็สามารถจัดเป็นสี่กลุ่ม คือ กลุ่มที่อยู่ในเขตพื้นราบในเมือง , กลุ่มที่อยู่บนดอยพื้นที่สูง , กลุ่มผู้ลี้ภัย , กลุ่มผู้อยู่ติดขอบชายแดน เช่นริมน้ำสาละวิน ซึ่งแต่ละกลุ่มนี้ มีสภาพการรับรู้เรื่อง COVID-19 การเข้าถึงสิทธิทางสุขภาพ ตลอดจนต้นทุนทางวัฒนธรรม ที่รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่ยในการตั้งรับปรับตัวกับโรคระบาดแตกต่างกันออกไป

สำคัญอีกเรื่องคือต้อง Decentralized คือกระจายอำนาจให้ชุมชนจัดการตนเองร่วมด้วย อย่าเพิ่งไปคิดแทนหมดว่าพอไม่มีวัตซีนแล้วเขาผิด เขาไม่ปรับตัว ไม่ทำอะไรเลย

ถ้าเราเข้าจิตเข้าใจชาวบ้าน จะรู้ว่า คนดอยเขากลัวการมา รพ. กลัวเข็มฉีดยามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว จะเปลี่ยนความรู้สึกกันแป๊บๆไม่ง่าย อาจต้องคุยกับผู้นำชุมชน อย่าเผลอใช้อำนาจไปบังคับ อันนี้ เราจะยิ่งเหินห่าง เข้าไม่ถึงชุมชน

.................................................................................................................................

ส่วนทางพี่จีรัง อรรถสิทธิ์ ก็เล่าถึงแนวทางในการจัดการในพื้นที่แม่ฮ่องสอน โดยตอนนี้เกิดการระบาดจากข้างนอกเข้ามาในชุมชน ซึ่งเป็นผลจากการเดินทางกลับเข้ามาในพื้นที่ของคนแม่ฮ่องสอน แต่ระยะต่อไปถ้าไม่จัดการให้ดีอาจเป็นการระบาดจากคนในชุมชนด้วยกันเองแล้วขยายออกไป โดยมีข้อเสนอแนะคือ
1.จัดระดับพื้นที่การแพร่ระบาด และหาจุดรับคนไข้ให้ชัดเจน ครอบคลุม และ 2. หากมีการระบาดหนักขึ้น ก็คงต้องเน้นการออกแบบการจัดการกักตัว/รักษาตัวที่บ้านด้วย

...................................................................................................................................

หมอสุพัฒน์ได้เล่าถึงการได้รับความร่วมมือระหว่างผู้นำด่านหน้า (Frontier Leader) ร่วมกับ Non-Health Sector เช่น อสม. care-giver กำนันผู้ใหญ่บ้าน ในกิจกรรมรณรงค์ระดับชุมชน ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ถือว่าแข็งขันดีมาก แต่ก็ยังมีภาวะความกังวลใจของแกนนำ อย่าง อสม. ในการสมัครใจฉีดวัคซีน ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยการสร้างความเข้าใจ  ความเป็นมิตร การเปิดช่องทางให้มีการสื่อสารเชิงรุก เช่น เวทีที่หมอและทีมนักสื่อสารสุขภาวะลงเยี่ยมหมู่บ้าน การเปิดช่องทาง Line , FB พร้อมตอบคำถามตลอด 24 ชม. ด้วยจิตใจและท่าทีให้กำลังใจกัน อันนี้น่าจะเป็นองค์ประกอบที่ทำให้อำเภอปางมะผ้าจัดการปัญหาได้ดีระดับหนึ่ง

 

...................................................................................................................................

พี่อ้อย อรุณีก็พูดถึงสถานการณ์ COVID-19 นี้ เป็นจังหวะที่ทำให้เกิดการทบทวนในหลายๆด้าน อาทิ การทบทวนวิธีคิด วิธีใช้ชีวิตแบบทุนนิยม ที่ไปไม่รอด ทบทวนการบริโภคนิยมของตนเองที่ต้องหันกลับมาสู่วิถีที่พอเพียง , วิถีท่องเที่ยวที่กลับมาสู่ความเข้าใจต้นทุนของตนเองโดยไม่ต้องแข่งกับใคร , การได้เห็นปัญหาที่หมักหมม เช่น การทุจริตในระดับต่างๆเปิดเป็นวงสาธารณะที่คนให้ความสำคัญมากขึ้น เหมือนสถานการณ์นี้เป็นการชำระล้างหลายสิ่งสกปรกเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ ซึ่งกระบวนการหลังจากนี้คือ Post-COVID-19 เราจะอยู่อย่างไร และจะเตรียมรับภัยพิบัติที่อาจจะขึ้นขึ้นมาอีกในรูปแบบอื่นๆได้อย่างไรบ้าง ตรงนี้น่าจะให้บทเรียนที่น่าสนใจไปใช้ต่อได้

...................................................................................................................................

ส่วนผมก็สะท้อนความเห็นเพิ่มเติม เพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้นใน 5 ประเด็น (อาจจะเขียนได้ยาวกว่าคนอื่นหน่อยเพราะเป็นเรื่องในหัวตัวเองจำได้แม่นกว่า) คือ

1.การกีดกันและตีตราผู้ป่วยหรือผู้มีความเสี่ยง ที่อาจต้องมี Family Meeting ตามลงไปโดยบุคลากรการแพทย์ หรือ สหวิชาชีพเพื่อแก้ไข ฟื้นฟูความสัมพันธ์ นี่ก็ได้ยกตัวอย่างที่หมอสุพัฒน์ทำในเคสที่มีเด็กผู้หญิงทำงานกลางคืนติดเชื้อแล้วทีมหมอทำทั้งกระบวนการสื่อสารเชิงรุก ไปจนถึงการสื่อสารเชิงฟื้นฟูแบบสมานฉันท์  นี่น่าจะเป็น Story ที่มีพลังอย่างหนึ่ง

 

2.โอกาสด้านแรงงาน การประกอบการท้องถิ่น และการปรับพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพ ที่มากับสถานการณ์โรคระบาด การลดการเดินทางเข้าเมืองใหญ่ ทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นในบางกิจการ เช่น สินค้าไอที , อาหารตามสั่งที่เชื่อมกับบริการ Home Delivery ยังคงรักษาฐานลูกค้าไว้ได้ และพัฒนาช่องทางสื่อสารและบริการหลังการขายกับลูกค้ามากขึ้นผ่านช่องทาง Line , FB  เรียกว่ามีการ upskill โดยอัตโนมัติ

3.การศึกษาและการพัฒนาคนรุ่นใหม่ -ผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอย จะเกิดเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาตามมา โดยเฉพาะเด็กในครอบครัวที่มีกลุ่มเปราะบาง , นอกจากนี้ ความเหลี่ยมล้ำทางดิจิตัล (Digital Divide) ของเด็กในแม่ฮ่องสอนยังมีมาก ก่อให้เกิดมีภาวะเครียด ซึมเศร้า ในการปรับตัวกับการเรียนที่ปรับรูปแบบไปมา (Onsite -Online) กังวลกับการศึกษาต่อและตลาดงานในอนาคตที่ผันผวน ในส่วนด้านบวก ก็มีคือเด็ก คนรุ่นใหม่หันมาสนใจวิเคราะห์บ้านเมืองมากขึ้น  หลายคนผันตัวเองป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เป็น Youtuber ที่นำเสนอเรื่องราวดีๆ แหล่งท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ชาวบ้านในแม่ฮ่องสอน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวก คือโครงการที่รองรับแรงงาน/บัณฑิตคืนถิ่น เช่น โครงการ U2T ของราชภัฏ , การพัฒนาสังคมสูงวัยโดยให้คนรุ่นใหม่มาเรียนรู้เป็น Care Giver เป็นต้น

4.เรื่องคนไกลบ้าน อันนี้อยากให้มองแม่ฮ่องสอนไม่ใช่แค่จังหวัด แต่แม่ฮ่องสอนเป็น เครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมที่กว้างกว่าพื้นที่บอกอาณาเขต ดังนั้น เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องดูแลคนแม่ฮ่องสอนด้วย ไม่ว่าพวกเขาจะไปอยู่ที่ไหน ในเมืองใหญ่ หรือต่างประเทศ จริงๆระดับครัวเรือนเขาก็ช่วยกันอยู่ แต่พอมาระดับอำเภอ จังหวัดนี่มันถูกครอบด้วยเขตปกครอง ทั้งที่แม่ฮ่องสอนเป็นเรื่องความสัมพันธ์ ตรงนี้ อยากให้คิดข้ามช็อต เพราะปัญหานอกพื้นที่-ในพื้นที่ มันกระทบถึงกัน ถ้าคนแม่ฮ่องสอนที่อยู่ไกลบ้านไม่ได้รับการเหลียวแล คนที่นี่ก็แย่ไปด้วย ต้องมองและมีแนวทางอย่างไร ก็อยากฝากชวนคิด

5. พื้นที่ชี้ขาดการระบาดหาก COVID-19 ลามเข้าในชุมชน จะอยู่ที่ระดับครอบครัว ซึ่งตรงนี้แม่บ้านจะมีหน้าที่โดยวิถีวัฒนธรรมเป็นผู้ดูแลสุขภาวะคนในบ้านอยู่แล้ว ผู้หญิงเหล่านี้จะเป็นผู้มีความสำคัญมากในการช่วยสื่อสารและดูแลสุขภาพคนในครอบครัว อีกกลุ่มคือเด็ก เยาวชนที่ได้รับการศึกษา คนรุ่นใหม่เหล่านี้จะเป็น"โซ่ข้อกลาง" ในการสื่อสาร และโน้มน้าวให้คนในครอบครัวที่เป็นรุ่นอาวุโสปรับพฤติกรรมให้สอดคล้องกับการจัดการโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ  แต่เราเองต้องมียุทธศาสตร์ มีกระบวนการเฉพาะลงไปที่กลุ่มสตรีและเด็กเหล่านี้เพื่อพัฒนาเป็น Non-Health Sector มาร่วมรบอย่างสอดคล้องกับกระบวนใหญ่ด้วย

 

...................................................................................................................................

จริงๆมีในส่วนของคุณโอม ที่เป็นประธานหอการค้าอีก แต่โอมพิมพ์มาใน Chat ระหว่าง ZOOM ผมเองไม่ทันได้โน๊ต แต่เข้าใจว่าประเด็นหลักๆจะเป็นเรื่องการถามถึงสถิติและพฤติกรรมการรับวัคซีนของคนแม่ฮ่องสอน ซึ่งคุณหมอสุพัฒน์ได้ตอบไปข้างต้นแล้ว

นี่ก็เป็นสรุปความแบบคร่าวๆนะครับ ผมคิดว่าน่าจะได้ข้อมูลที่นำเสนอต่อได้เลย แต่ถ้ามีอะไรจะเติมเต็ม หรือตกหล่นประเด็นใดไปบ้าง ก็เพิ่มเข้ามาได้เลยครับ

พิมพ์แบบด่วนๆมาให้ เพราะเห็นว่าเรื่องนี้ถ้าช้า ก็อาจจะไม่ทันการณ์

ขอบคุณสำหรับโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนใน Maehongson Online Forum รอบนี้ครับ

-ครูยอด วิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์ 
นักวิชาการอิสระ 

หมายเลขบันทึก: 691459เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2021 18:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กรกฎาคม 2021 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท