ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 25)


ข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 25)

30 มิถุนายน 2564

กระทบธุรกิจผู้ประกอบการคาเฟ่ ร้านอาหารและบาร์ เช่น ร้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ผู้ประกอบการคาเฟ่ ร้านอาหารและบาร์ เตรียมฟอร์มทีมจ่อฟ้องรัฐบาล จากกรณีออกคำสั่ง ‘ห้ามนั่ง 30 วัน’ เมื่อวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งและขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้คำสั่งดังกล่าวไม่บังคับใช้ ขณะที่มีการดำเนินการฟ้องร้อง

ผู้ประกอบการคาเฟ่ ร้านอาหารและบาร์  นำโดยผู้ประกอบการร้าน A BOOK with NO NAME, Beergasm และ Teens of Thailand ร่วมด้วยภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association) จ่อฟ้องรัฐบาลต้นเดือนหน้า จากเหตุออกประกาศ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง​พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25)

กลุ่ม ‘ประชาชนเบียร์’ หนึ่งในผู้สนับสนุนการฟ้องครั้งนี้ระบุว่า การดำเนินการทางกฎหมายมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่

1. เพิกถอนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 ฉบับที่ 25 ประกาศ ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2564

2. ละเมิดเรียกค่าเสียหาย ซึ่งจากข้อเรียกร้องที่มีการการเรียกค่าเสียหายนี้ทำให้ผู้ฟ้องต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาลล่วงหน้าก่อนรายละ 10,000 บาท

3. ขอคุ้มครองชั่วคราว คือขอให้ข้อกำหนดฉบับที่ 25 (ห้ามนั่งในร้าน) ไม่บังคับใช้ตอนที่ดำเนินการฟ้องร้อง

หลังคำสั่งดังกล่าวประกาศในพระราชกิจจานุเบกษารุ่งเช้าวันที่ 27 มิถุนายน 2564 เกิดเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนมากถึงนโยบายห้ามนั่งในร้านอาหาร โดยอนุญาตให้ผู้บริโภคซื้อแบบห่อกลับไปรับประทานได้อย่างเดียว ส่งผลกระทบให้ “ผู้ประกอบการร้านอาหารเหมือนโดนฟ้าผ่ากลางวันแสกๆ นอนพะงาบ ไม่มีหมอ ไม่มีเครื่องมือ ได้แต่รอเวลาตายเท่านั้น เพราะรัฐควบคุมแต่ไร้เยียวยา” ตามคำให้สัมภาษณ์ของนายกสมาคมภัตตาคาร

ด้านโลกออนไลน์ผุดแฮชแท็ก #กูจะเปิดมึงจะทำไม ชักชวนให้ผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ เปิดร้านต้านคำสั่ง โดยส่วนหนึ่งเชื่อว่าร้านอาหารไม่สามารถแบกรับภาระทางเศรษฐกิจได้ไหว

โดนัท เจ้าของกิจการร้าน A Book with No Name ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าที่ผ่านมามีการหารือเรื่องนี้ ตลอดจนเครือข่ายอย่างประชาชนเบียร์ได้รับร้องเรียนจากผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ร้านลาบ เป็นต้น จึงเริ่มดำเนินการประสานกับองค์กรภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อหาแนวทางในการดำเนินการทางกฎหมาย "ถ้าทำได้ก็จะเป็นแนวทางให้คนอื่นสู้ตามไป"

เธอกล่าวอีกว่าตั้งแต่เริ่มประกาศมาตรการเดือนมีนาคมปี 2563 ทุกคนได้รับผลกระทบลดหลั่นกันไป เช่นร้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดนเต็มๆ ร้านคาเฟ่ของตนไม่กระทบหนักเท่าร้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ยอดขายลดลงแน่นอน เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการที่ลงทุนมีที่นั่ง ตั้งใจเปิดร้านให้คนใช้เวลาในร้านเพื่อเสพบรรยากาศ แม้เปลี่ยนไปช่องทางออนไลน์แพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็เพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการจนกำไรเหลือน้อย "ออนไลน์ไม่ใช่ทุกทางออกของทุกธุรกิจ เราปรับตัวแล้ว"

เธอระบุว่า ห้ามนั่งรอบแรกธุรกิจยังสามารถไปต่อไปเนื่องจากมาตรการเยียวยาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำค่าไฟ หรืออื่น ๆ แต่เมื่อมาหลายรอบก็ไม่เสนอมาตรการให้แล้วแต่รัฐบาลก็ยังสั่งปิดอยู่ และที่ผ่านมารัฐใช้คำว่าขอความร่วมมือมาตลอด แต่เมื่อให้ความร่วมมือก็ไม่เห็นว่าสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงแต่อย่างใด

"ตอนนี้รัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าคำตอบคือการหาวัคซีนแต่กลับมาโยนบาปให้ผู้ประกอบการว่า 'หละหลวม' และ 'การ์ดตก' " ผู้ประกอบการร้านคาเฟ่กึ่งร้านหนังสืออิสระสะท้อน

 

กระทบผู้ประกอบการก่อสร้าง

Act of God or Exceptional Event or Force Majeure = เหตุสุดวิสัย

ข้อกำหนด พ.ร.ก. กำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25) ที่ได้ประกาศออกมาให้ปิดสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนอาคาร และ ปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราวคนงานก่อสร้าง (ออกมาเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา)

ผู้รับจ้างก่อสร้าง จะขอขยายเวลาก่อสร้างได้หรือไม่ 

จากข้อกำหนดดังกล่าว อาจทำให้โครงการก่อสร้างได้รับผลกระทบกับระยะเวลาในการก่อสร้างและค่าใช้จ่ายทั้งโครงการภาครัฐและเอกชน ในส่วนของการขยายเวลาก่อสร้าง อาจพิจารณาโดยแบ่งได้ดังนี้

1. โครงการก่อสร้างภาครัฐ

ตามที่คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว.171 เรื่อง ซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการในช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบจากกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เขียนไว้ เกี่ยวกับกรณีที่ สัญญายังไม่ครบกำหนด ให้หน่วยงานของรัฐนำจำนวนที่ได้รับผลการทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 มาขยาย เวลาทำการตามสัญญาหรือข้อตกลงตาม “จำนวนวันที่เหตุเกิดขึ้นจริง” โดย จำนวนวันที่เหตุเกิดขึ้นจริงนั้นก็หมายถึง ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาจากกฎหมาย ข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งของทางราชการที่ให้หน่วยงานของรัฐปิดทำการ หรือสั่งห้ามเข้าพื้นที่เสี่ยงภัย หรือสั่งปิดสถานที่หรือสั่งห้ามกระทำการใดๆ จนถึงวันที่เปิดทำการหรือวันที่กระทำการหรือดำเนินการได้ตามปกติ

ดังนั้น จากข้อกำหนด พ.ร.ก. กำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25) นี้ที่อาจทำให้ ต้องปิดสถานที่ก่อสร้างหรือปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราวของคนงานก่อสร้าง อย่างน้อย 30 วัน ก็ถือเป็นจำนวนวันที่เหตุเกิดขึ้นจริงที่เกิดจากเหตุโควิด 19 หากผู้รับจ้างอยู่ในพื้นที่ ได้รับผลกระทบ จากข้อกำหนดดังกล่าว ผู้รับจ้างก็จะสามารถที่จะขอขยายเวลาได้

2. โครงการก่อสร้างภาคเอกชน

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 205 บัญญัติว่า “ตราบใดการชำระหนี้นั้นยังมิได้กระทำลงเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ตราบนั้นลูกหนี้หาได้ชื่อว่าผิดนัดไม่” ดังนั้น จากกรณีนี้ การประกาศข้อกำหนด พ.ร.ก. กำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25) นี้ก็ถือ พฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ เมื่อก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนด ลูกหนี้(ผู้รับจ้างก่อสร้าง) ก็หาเป็นผู้ผิดนัดไม่ หากพิจารณาตามหลักกฎหมายแล้ว กรณีนี้ก็คงเป็นเหตุให้ผู้รับจ้างขอขยายเวลาก่อสร้างได้

ข้อสังเกตเพิ่มเติม
ในสัญญา FIDIC เงื่อนไขทั่วไปข้อ 8.5 ได้กำหนดสิทธิในการได้รับการขยายเวลาออกไป 5 กรณี โดยเหตุหนึ่งได้กำหนดไว้ว่า “Unforeseeable shortages in the availability of personnel or Goods (or Employer-Supplied Materials, if any) caused by epidemic or governmental actions” ซึ่งก็คือ ผู้รับจ้างสามารถขอขยายเวลาได้จากกรณีที่งานก่อสร้างล่าช้านั้นเกิดจากการขาดแคลนแรงงานและวัสดุ สิ่งของในการก่อสร้างอันเนื่องมาจากโรคระบาดหรือการกระทำของทางราชการ  และเงื่อนไขทั่วไปข้อ 8.6 Delays Caused by Authorities ยังกำหนดด้วยว่า ถ้าผู้รับจ้างได้ปฏิบัติตามวิธีของหน่วยงานของรัฐแล้วบุคคลดังกล่าวทำให้งานของผู้รับจ้างล่าช้าหรือหยุดชะงัก ประกอบกับความล่าช้านั้นไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้า (Unforeseen) ผู้รับจ้างมีสิทธิขอขยายเวลาก่อสร้างออกไปได้

ดังนั้น จะเห็นว่ากรณีที่เราคุยกันนี้ เหตุเกิดจาก โควิด-19 ที่เป็นโรคระบาด ที่ทางราชการจึงได้ออกคำสั่งให้ปิดสถานที่ก่อสร้างและปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราวของคนงาน เพราะฉะนั้น หากพิจารณาตามสัญญา FIDIC ข้อนี้ ผู้รับจ้างก็สามารถขอขยายเวลาได้ 

: ชมรมนักกฎหมายก่อสร้าง, 27 มิถุนายน 2564

ประกาศกึ่งล็อกดาวน์ กทม.-ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ห้ามกินในร้าน-ห้างปิด 3 ทุ่ม-ห้ามรวมกลุ่มสังสรรค์ มีผล 28 มิถุนายนเป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 25)

สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. สั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง สั่งหยุดทำงานก่อสร้าง และห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 30 วัน โดยให้อำนาจผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าฯ จังหวัดปริมณฑลเป็นผู้สั่งปิด

2. การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งรวมร้านที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ ให้ซื้อแบบกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น

3. ห้างสรรพสินค้า ให้เปิดได้ถึง 21.00 น. งดโรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ พื้นที่นั่งกินอาหาร

4. โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม ให้เปิดได้ แต่ให้งดการจัดประชุม การสัมมนา และจัดเลี้ยง

5. ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกินกว่า 20 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค

6. เมื่อพบแหล่งที่มีการระบาดของโรคเป็นกลุ่มก้อน ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจดำเนินการสั่งปิดชุมชน หรือสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว

7. ให้ประชาชนงดกิจกรรมทางสังคมที่มีการรวมกลุ่ม งานเลี้ยงรื่นเริงในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เป็นระยะเวลา 30 วัน เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการตามประเพณีนิยม

สำหรับมาตรการและข้อปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้บังคับใช้ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม, จังหวัดนนทบุรี, จังหวัดปทุมธานี, จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร) และพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส, จังหวัดปัตตานี, จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
.
อ้างอิง:

(1) workpointTODAY, 30 มิถุนายน 2564
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ไม่พลาดข่าวธุรกิจ การตลาดที่สำคัญ ติดตาม TODAY Bizview https://bit.ly/3picIeS 
ติดตามรายการของ workpointTODAY ทาง YouTube https://bit.ly/2YDfyiK

(2) ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก. ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 25)
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/140/T_0001.PDF 

(3) พื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด ตามข้อกำหนด ฉบับที่ 25 คำสั่ง ศบค.ที่ 6/2564 ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2564
โทรสารกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0230/ว 3658 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2564

(4) BREAKING ข่าวTheStandardNews อื่นๆ ฝ่าวิกฤตโควิด19, 27 มิถุนายน 2564

(5) การใช้กฎหมายรักษาความมั่นคงของรัฐ : กับอำนาจการตรวจสอบของศาล

: ครองธรรม ธรรมรัฐ, https://www.dpt.go.th/images/stories/pdf/law/03/22.pdf



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท