เครื่องมือเปิดหูเปิดตา (ศึกษาดูงาน)


เครื่องมือที่กล่าวถึงนั้น เป็นเพียงทฤษฎี หรือหลักคิดเท่านั้น จึงจำต้องทำความเข้าใจด้วยการศึกษาเพิ่มเติมและฝึกปฏิบัติ หรือมุ่งที่จะเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แจ่มชัดในความเป็นศาสตร์และศิลป์ของเครื่องมือการเรียนรู้

การศึกษาดูงาน คืออีกหนึ่งกระบวนการของการพัฒนาตัวเองและองค์กร อันหมายถึงการเดินทางไปเรียนรู้ “ความจริง” ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งความจริงในมิติที่เป็นความสำเร็จและความจริงในมิติของความล้มเหลว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันการศึกษาดูงานมักมุ่งไปค้นหาแนวปฏิบัติที่ดี (best practice) เสียมากกว่า

และคงไม่ผิดกระมัง หากจะนิยามความหมายของคำว่า “ศึกษาดูงาน” แบบกว้างๆ ง่ายๆ ว่า “ไปเปิดหูเปิดตา” หรือที่เรียกเป็นวาทกรรมว่า “เปิดโลกทัศน์” ที่ประกอบด้วยการ “ไปดู ไปสังเกต ไปจด ไปจำ” ในสิ่งอันเป็นความรู้เพื่อนำกลับมาพัฒนาตัวเองและองค์กร

หรือแม้แต่การให้คำจำกัดความบนฐานคิดว่าด้วยศาสตร์ของการจัดการความรู้ (Knowledge management) อาทิเช่น การเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่สะท้อนถึงลักษณะสำคัญสองอย่างในตัว 

 

 

วาทกรรมของการเรียนรู้

โดยส่วนตัวผมมองว่า พื้นฐานการศึกษาดูงานที่ดีย่อมมาจากทัศนคติที่ดีต่อการ “เรียนรู้” ผมเชื่อว่าคนและองค์กรจะเข้มแข็งได้ก็ด้วยการเรียนรู้ ซึ่งจะเรียนรู้ได้ก็ต้องมีเครื่องมือในการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน 

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงสร้างวาทกรรมขึ้นมารองรับกระบวนการเรียนรู้ในกิจกรรมนอกหลักสูตรเป็นระยะๆ อาทิเช่น ไม่มีที่ใดปราศจากเรื่องเล่าและตำนาน ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้ ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้ (เว้นเสียแต่เราไม่เปิดใจที่จะเรียนรู้) ทุกถิ่นฐานมีเรื่องเล่า หรือแม้แต่ “ใจนำพาศรัทธานำทาง”  

วาทกรรมข้างต้นยืนยันชัดเจนว่าผมให้ความสำคัญกับคำว่าเรียนรู้เป็นอย่างมาก เพราะเชื่ออยู่แล้วว่าความรู้มีอยู่ในทั่วทุกหนแห่ง ทั้งในธรรมชาติ ในตัวตนของคน และในรูปลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ตำรา อินเทอร์เน็ต ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเรียนรู้หรือเปิดใจเรียนรู้แค่ไหน หรือแม้แต่เราจะมีความรู้และทักษะในการเรียนรู้ได้ดีหรือไม่เท่านั้นเอง
 

 

กรอบแนวคิดและทฤษฎีการเรียนรู้

นอกจากประเด็น “การเรียนรู้” ที่เป็นทัศนคติอันสำคัญต่อการศึกษาดูงานข้างต้นแล้ว ยังมีกรอบแนวคิด หรือทฤษฎีอื่นๆ อีกหลายประเด็นที่เกี่ยวโยงกับการต้องไปศึกษาดูงาน  ขึ้นอยู่กับว่ารูปแบบการศึกษาดูงาน จะเป็นไปในรูปแบบใด และผู้ศึกษาดูงาน หรือที่เรียกตนเองว่า “นักเรียนรู้” จะหยิบจับกรอบแนวคิดและทฤษฎีมาใช้ได้ตรงจุดมุ่งหมายหรือไม่

สำหรับผมแล้ว ก่อนการเดินทางไปศึกษาดูงาน ผมมักคิดคำนึงถึงกรอบแนวคิดหรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้องล่วงหน้าเสมอ อาทิเช่น

  • Community-based learning (เรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน)
  • Culture based learning (เรียนรู้บนฐานวัฒนธรรม)
  • Student-centered learning (เรียนรู้โดยใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง)
  • Knowledge management (การจัดการความรู้)
  •  

ตัวอย่างของประเด็นที่หยิบยกข้างต้นนั้น คือการให้ความสำคัญ และแสดงความเคารพต่อกับองค์กร หน่วยงาน หรือบุคลากรในองค์กรที่เราไปทำการศึกษาดูงาน โดยเชื่อว่าทั้งองค์และบุคลากรนั้นๆ  มีความรู้ความสามารถที่เราต้อง “เปิดใจ” ที่จะ “เรียนรู้” มิใช่การยึดโยงเอา “ตัวเองเป็นศูนย์กลาง” เพราะถ้าเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปศึกษาดูงานให้เสียทั้งเวลาและงบประมาณ

 



เครื่องมือการเรียนรู้

            อย่างไรก็ดี กิจกรรมการศึกษาดูงานด้านกิจกรรมนิสิตนั้น มองภาพรวมโดยไม่เจาะจงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เราสามารถนำเอาเครื่องมือจากการจัดการความรู้มาประยุกต์เป็นเครื่องมือในการศึกษาดูงานได้ในหลายประเด็น ยกตัวอย่างเช่น

  • Study tour :  เรียกโดยทั่วไปว่า “ทัศนศึกษา” ก็ไม่ผิด คล้ายคลึงกับการท่องเที่ยวไปด้วยและเรียนรู้บริบทของสถานที่ไปด้วย เสมือนการได้ทั้งความเพลิดเพลินและความรู้ ดังวาทกรรม “บันเทิงเริงปัญญา” ซึ่งเชื่อมโยงกับแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-based learning) การเรียนรู้บนฐานวัฒนธรรม  (Culture based learning) ของสถานที่นั้นๆ
  1.  
  2. Knowledge Sharing : ถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักในการพัฒนาตนเองผ่านเวทีของการศึกษาดูงาน กล่าวคือ การเปิดใจที่จะรับรู้เรื่องราวของสถานที่หรือผู้คนตรงนั้น พร้อมๆ กับการเปิดใจที่จะสื่อสารเรื่องราวของตนเอง เพื่อนำไปสู่การร่วมคิดร่วมสร้าง สะท้อนความเป็น “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” ไปในตัวพร้อมๆ กัน
  3.  
  4. กระบวนการดังกล่าว คือกระบวนการแห่งการ “แบ่งปัน” ความรู้และประสบการณ์ต่อกันและกัน โดยไม่จำเป็นต้องชี้วัดในแบบ “ผิด-ถูก” เว้นแต่ในบางประเด็นที่จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่ “ข้อสรุป” หรือ “มติ” ดังนั้นเครื่องมือดังกล่าวนี้ จึงมีสถานะที่ละม้ายคล้ายคลึงกับการ Show and Share แต่ก็ต้องชัดเจนว่าสิ่งที่แบ่งปันนั้นต้องอยู่บนฐานคิดต่างๆ เช่น Knowledge Bases เป็นต้น

 

  1.  
  2. Dialogue  : คือการสนทนา (สุนทรียสนทนา)  หรือที่ภาษาอีสานเรียกกันโดยทั่วไปว่า “โสเหล่” (เว้านัวหัวม่วน) การสนทนาเป็นระบบและกลไกสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) โดยปกติแล้วแต่ละบุคคลจะมีสไตล์ หรือท่วงทำนองการสื่อสารแตกต่างกันไป แต่ทั้งปวงก็คือการสื่อสารสองทาง กล่าวคือ “มีคนพูด - มีคนฟัง” หรือ “สลับกันพูด-สลับกันฟัง” หรือ “ป้อนคำถาม-ป้อนคำตอบ” และดำเนินไปในลักษณะของการเกื้อหนุนแบบกัลยาณมิตร

                       ในบางขณะการสนทนาอาจถูกขับเคลื่อนผ่านเรื่องเล่าเร้าพลัง (Storytelling) ด้วยก็เป็นได้  เพราะการเล่าเรื่องแบบนี้จะทำให้เกิดชีวิตชีวา เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการซึมซับเรื่องราวที่นำไปสู่แรงบันดาลใจทั้งในเชิงบุคคล และทีม ทั้งนี้ในการสนทนาจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมืออีกชิ้นมาประกอบสร้างเข้าด้วยกัน นั่นคือการฟังแบบฝังลึก (Deep listening)  

     

    Peer Assist : เรียกเป็นวาทกรรมว่า “เพื่อนช่วยเพื่อน” เครื่องมือดังกล่าวนี้อธิบายโดยกว้างๆ ก็คือ การถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่อกันและกัน มักนิยมใช้ในห้วงก่อนดำเนินกิจกรรม เสมือนการเรียนรู้เพื่อมิให้เกิดการพลั้งพลาดในเรื่องเดิมๆ โดยอาจจับกันเป็นกลุ่มเป็นทีม แบ่งหน้าที่เกื้อหนุนการเรียนรู้ของกันและกัน 

         Lesson Learned : การถอดบทเรียนถือว่าสำคัญมากเพราะเป็นกระบวนการเรียนรู้ในระยะปลายน้ำอันหมายถึงการประเมินผลการเรียนรู้ว่า “ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการศึกษาดูงาน” ทั้งการเรียนรู้องค์กรอื่นและการเรียนรู้เพื่อกลับคืนสู่ตัวเองและองค์กรต้นสังกัด ประหนึ่งคำถามที่คุ้นชินในทำนอง “เรียนรู้แล้วได้อะไร และ “จะนำความรู้มาปรับใช้กับตัวเองอย่างไร”

                        การถอดบทเรียนที่ดีย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง (Chang) เชิงสร้างสร้างต่อตัวเอง เพื่อนร่วมงาน (องค์กร) และสังคม โดยต้องไม่ลืมว่าความรู้ที่ได้จากการศึกษาดูงาน บางอย่างนำมาใช้โดยตรงได้เลย แต่บางอย่างจำต้องประยุกต์ใช้บนฐานวัฒนธรรมของตนเองเป็นสำคัญ 

 

 

นี่คือตัวอย่างเครื่องมือการเรียนรู้ในบางประเด็น ซึ่งจริงๆ แล้วยังมีเครื่องมืออีกหลายชิ้นที่นำมาประกอบสร้างเป็นระบบและกลไกของการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมศึกษาดูงาน

กระนั้นต้องไม่ลืมว่า เครื่องมือที่กล่าวถึงนั้น เป็นเพียงทฤษฎี หรือหลักคิดเท่านั้น จึงจำต้องทำความเข้าใจด้วยการศึกษาเพิ่มเติมและฝึกปฏิบัติ หรือมุ่งที่จะเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แจ่มชัดในความเป็นศาสตร์และศิลป์ของเครื่องมือการเรียนรู้

นอกจากนี้ยังมีเครื่องมืออื่นๆ ที่นักเรียนรู้ต้องไม่มองข้ามและก่อนการไปศึกษาดูงานก็ควรติดตั้งไว้ในตัวเองให้เสร็จสรรพ โดยเฉพาะประเด็นบันไดแห่งปราชญ์ (สุ จิ ปุ ลิ) และอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง เช่น 

  • การประเมินความคาดหวังก่อนออกเดินทางปเรียนรู้ (Before action review : BAR) เพราะสิ่งนี้จะทำให้เรามีหมุดหมายการเรียนรู้ที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าสิ่งใดคือจุดมุ่งหมายโครงการ อะไรคือจุดมุ่งหมายส่วนบุคคลและควรต้องใช้ร่วมกับเครื่องมือการประเมินผลการเรียนรู้ในแบบรายวัน หรือภาพรวมหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมทั้งหมด (After action review : AAR)
  •  
  • การสัมภาษณ์ (Interview) เราต้องประเมินสถานการณ์ว่าห้วงเวลาใดควรค่าต่อการตั้งคำถาม/สัมภาษณ์ โดยปกติในเวทีการศึกษาดูงาน เมื่อ “เจ้าบ้าน” บอกเล่าเรื่องราวเสร็จสิ้นลงก็ย่อมมีการเปิดพื้นที่ให้ซักถาม พร้อมๆ กับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอยู่แล้ว
  •  
  • การสัมภาษณ์ในบริบทของการศึกษาดูงาน จึงจำต้องวิเคราะห์ให้ชัดว่าควรเป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการ แต่ทั้งปวงต้องอยู่บนหลักคิดของสุนทรียสนทนา
  •  
  •  
  • การจดบันทึก (Note taking) เป็นการบันทึกเรื่องราวที่เกิดจากการฟัง การอ่านเอกสารตามความเข้าใจของตนเอง เพื่อเตือนความจำและความเข้าใจในรูปของการ “ย่อความ” ที่เป็นได้ทั้งวลี วาทกรรม ประโยคสั้นๆ
  •  
  • หรือแม้แต่การจดบันทึกในลักษณะของผังมโนทัศน์ก็สามารถทำได้ การจดบันทึกไม่เพียงเกิดประโยชน์แต่กับเฉพาะตัวเอง แต่ยังสามารถแบ่งปันให้คนอื่นได้เรียนรู้ไปกับเราด้วย

ทั้งปวงนี้ ล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญๆ ในการศึกษาดูงานด้านกิจกรรมนิสิต โดยประมวลมาจากศาสตร์ที่ว่าด้วย “การจัดการความรู้” ส่วนจะก่อเกิดเป็นพลังอันสร้างสรรค์ได้มากน้อยแค่ไหน ย่อมขึ้นอยู่กับการปฏิบัติจริงและขึ้นอยู่กับว่าเรามีทัศนคติต่อการเรียนรู้อย่างไรเท่านั้นเอง

 

….

ภาพ องค์กรนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 691200เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2021 20:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2021 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท