กระบวนการเรียนรู้เล็กๆ ที่เกิดขึ้นจริง ณ วันนั้น (ชมรมสานฝันคนสร้างป่า)


ผมไม่ได้บอกนิสิตหรอกว่า นี่คือการเรียนรู้เรื่องการสื่อสารสร้างสรรค์ผ่านเทคโนโลยี หรือแม้แต่การไม่ยอมที่จะเอ่ยปากชัดๆ ว่านี่เป็นการทำงานภายใต้ข้อจำกัดของวิกฤตทางสังคม เพราะอยากให้นิสิตคิดเองและเข้าใจเองว่านี่คือการฝึกฝนเพื่อก่อให้เกิด Soft skills สำคัญๆ ที่ว่าด้วยการสื่อสารสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือแม้แต่การบริหารจัดการเวลา อันเป็นทักษะที่นิสิตควรติดตั้งไว้ในตัวเอง

วันนี้ (วันที่ 18 พฤษภาคม 2564) เป็นอีกวันที่ผมยังต้องทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” พานิสิตจาก “ชมรมสานฝันคนสร้างป่า” มหาวิทยาลัยมหาสารคามลงพื้นที่ ณ วัดป่าโพธิญาณ (วัดเกาะ) ตำบลเกิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

จริงๆ ผมไม่ใช่อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมฯ หรอกนะครับ  มีสถานะยึดโยงกับโครงการนี้ 2 สถานะ คือ 1) อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ และ 2) เจ้าหน้าที่ในระบบที่ต้องหนุนเสริมการเรียนรู้ของนิสิต สำคัญคือสถานะที่ว่านั้นผมเป็นผู้ “ลงนาม” ในเอกสารทั้งหมด เพราะช่วงนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมฯ ติดราชการ 

เช่นเดียวกับข้อเท็จจริงของการ “มือใหม่” ของแกนนำที่นำเสนอโครงการมาอย่างกระชั้นชิด ประหนึ่ง “ผีถึงป่าช้า”  ผมจำต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการลงนามในเอกสารที่ว่านั้น  เพื่อให้ระบบและกลไกการเรียนรู้กิจกรรมนอกหลักสูตรของนิสิตไหลลื่น -

 

 

กิจกรรมนิสิตกับการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ของสังคม
 

เดิมชมรมสานฝันคนสร้างป่า ปักหมุดการจัดกิจกรรมครั้งนี้ในชื่อโครงการ “ฅ.สร้างฝายครั้งที่10” ระหว่างวันที่ 29 เมษายน ถึงวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ณ โรงเรียนบ้านท่าโป่ง ตำบลวังตะเฆ่า อำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ 

แต่อย่างที่บอก ช่วงนี้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้นิสิตไม่สามารถเดินทางออกไปจัดกิจกรรมได้ 

ในฐานะที่ผมเกี่ยวข้องโดยตรงจึงพยายามตั้งประเด็นให้นิสิตได้ประชุมหารือกันว่าจะปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้าง  ทั้งการเปลี่ยนแปลงสถานที่ เปลี่ยนแปลงรูปแบบกิจกรรม เปลี่ยนแปลงงบประมาณ  รวมถึงการปรับลดจำนวนคนให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงของสังคม

และที่แน่ๆ ผมพยายามกระตุ้นให้พวกเขารู้สึกมีแรงบันดาลใจที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมที่ว่านี้มากกว่าการทำให้รู้สึกทดท้อ สิ้นหวังต่อวิกฤตของสังคม จนนำไปสู่การยกเลิกกิจกรรม

 

 

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงฝากข้อมูลให้แกนนำชมรมฯ นำประเด็นกลับไปหารือร่วมกับสมาชิกและอาจารย์ที่ปรึกษาชมรม เช่น การเสาะแสวงหาพื้นที่จัดกิจกรรมในมหาสารคาม แล้วนำโจทย์ของพื้นที่นั้นๆ มากำหนดเป็นรูปแบบกิจกรรม พร้อมทั้งปรับแต่งเรื่องงบประมาณและจำนวนคน

พร้อมๆ กับการเสนอข้อมูลที่มีในมือให้พวกเขานำไปหารือกัน ประกอบด้วยโรงเรียนที่ประสบวาตภัยและวัดที่กำลังซ่อมแซมศาลาการเปรียญ  

ทั้งปวงนั้น ผมยืนยันว่าผมมิได้บังคับให้ “ต้องเลือก” จัดกิจกรรม ณ สถานที่ที่ผมได้ฝากเป็นข้อมูลเลยแม้แต่น้อย 

ตรงกันข้าม ผมย้ำหนักแน่นว่า หากนิสิตมีสถานที่อื่นที่อยากจะจัดกิจกรรมก็ไม่ต้องวิตกกับข้อมูลที่ผมนำเสนอก็ได้ แต่ขอให้หารือร่วมกันอย่างจริงจังระหว่างนิสิตกับนิสิต และนิสิตกับอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมฯ

 

 

 

ลงพื้นที่สนธิกิจกรรมบนความต้องการของวัดและนิสิต

 

เมื่อมติของชมรมออกมาชัดเจนว่าเลือกที่จะจัดกิจกรรม ณ วัดป่าโพธิญาณ (วัดเกาะ) ผมก็เริ่มชวนแกนนำออกแบบกิจกรรม โดยอธิบายให้เข้าใจว่าทางวัดมีแผนงานอันเป็นรูปธรรมใดที่นิสิตสามารถเข้าไปเติมเต็มร่วมกับทางวัด หรือแม้แต่การเข้าไปออกแบบกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม   

ในระยะแรกที่แกนนำนิสิตยังไม่ว่างลงพื้นที่ ผมก็ทำหน้าที่แทนนิสิตด้วยการเข้าไปกราบนมัสการเจ้าอาวาส เพื่อหารือเรื่องแนวทางการจัดกิจกรรมร่วมกันภายใต้ข้อจำกัดของเจ้าไวรัสโคโรน่า 2019 และนำข้อหารือนั้นมาสื่อสารต่อแกนนำนิสิตเป็นระยะๆ 

ผมเข้าๆ ออกๆ วัดดังกล่าวไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง จวบจนนิสิตพร้อมจึงพานิสิตเข้าไปในพื้นที่ เพื่อให้นิสิตได้สัมผัสกับสภาพทั่วไปของวัดด้วยตัวเอง  เพราะผมเชื่อเสมอมาว่า การที่นิสิตเห็นสภาพจริงด้วยตนเอง จะช่วยให้นิสิตออกแบบกิจกรรมต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ทั้งที่เป็นกิจกรรมเดิมๆ และกิจกรรมใหม่ๆ บนฐานความต้องการของวัดและนิสิต 

นั่นคือกระบวนการง่ายๆ ที่ผมบอกกับนิสิตอย่างตรงไปตรงมาว่า เป็นการสนธิ (ผสมผสาน) ความต้องการของนิสิตกับชุมชน (วัด) เข้าด้วยกัน เรียกเป็นศัพท์วิชาการว่า  “พัฒนาโจทย์กิจกรรม"  เป็นการการพัฒนาโจทย์ที่สัมพันธ์กับแนวคิดการจัดกิจกรรมโดยใช้ชุนชนเป็นฐาน  หรือการจัดการเรียนรู้โดยใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

 


 

พูดให้ฟัง ทำให้ดู อยู่เป็นเพื่อน
 

ด้วยความที่ผมเกี่ยวข้องกับกิจกรรมนี้มาตั้งแต่ต้น มิหนำซ้ำยังเกี่ยวโยงในหลายสถานะ ยังผลให้ผมต้องฝังตัวทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหนุนเสริมการเรียนรู้ของนิสิตอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยนัดหมายกันเป็นระยะๆ ผ่านเฟซบุ๊ก อันเป็นช่วงนี้ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ลดขั้นตอนการทำงานให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนิสิต รวมถึงหลีกเลี่ยงมิให้กิจกรรมกระทบต่อเวลาเรียนของนิสิต

เอาจริงๆ เลยนะ นิสิตสะดวกทักช่วงไหน หลักๆ แล้วผมไม่เกี่ยวงอนเลยแหละ บางครั้งทักถามคุยงานกันดึก ซึ่งถ้าผมยังไม่หลับไม่นอน ผมก็ยินดีที่จะพูดคุยกับนิสิตอย่างไม่งอแง

 

 

บางทีกระบวนการนี้ ผมไม่ได้บอกนิสิตหรอกว่า นี่คือการเรียนรู้เรื่องการสื่อสารสร้างสรรค์ผ่านเทคโนโลยี หรือแม้แต่การไม่ยอมที่จะเอ่ยปากชัดๆ ว่านี่เป็นการทำงานภายใต้ข้อจำกัดของวิกฤตทางสังคม เพราะอยากให้นิสิตคิดเองและเข้าใจเองว่านี่คือการฝึกฝนเพื่อก่อให้เกิด Soft skills สำคัญๆ ที่ว่าด้วยการสื่อสารสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือแม้แต่การบริหารจัดการเวลา อันเป็นทักษะที่นิสิตควรติดตั้งไว้ในตัวเอง เพื่อนำไปใช้กับโลกความจริงหลังสำเร็จการศึกษา  –

เช่นเดียวกับการอาสาใช้พาหนะตัวเองพานิสิตลงพื้นที่โดยมิได้คิดค่าใช้จ่ายใดๆ  โดยพยายามเตือนตัวเองตลอดว่าให้ผ่อนคลายความเป็นตัวตนของผมลง  เพื่อมิให้นิสิตเกิดอาการเคอะเขิน หรือแม้แต่ออกอาการเกร็ง ประหนึ่งถูกแช่แข็งในรถที่ผมเป็นพลขับ 

 

 

ก่อนการเดินทางไปยังพื้นที่ในเช้านั้น (วันที่ 18 พฤษภาคม 2564)  ผมนัดหมายล่วงหน้าเล็กน้อย แต่ทั้งปวงนั้นก็เอาเวลาที่นิสิตสะดวกนั่นแหละ 

ผมจงใจเลือกนัดนิสิตที่ศาลาหน้าอาคารพัฒนานิสิต เพราะมีเหตุผลหลัก คือ อยากใช้บริบทตรงนี้สอน หรือบอกเล่าการเรียนรู้บางอย่างแก่นิสิต อย่างน้อยก็การปูพรมว่าด้วยเรื่อง “นิเวศวัฒนธรรมของการเรียนรู้”  เพื่อผูกโยงไปยัง “บริบท” อันเป็นนิเวศวัฒนธรรมของวัดป่า

แต่เอาเข้าจริงๆ ด้วยเวลาอันจำกัด  ผมจึงไม่เจาะจง- ลงรากลึกสู่กับประเด็นข้างต้น  หลักๆ ุ่มงไปเรื่องสำคัญๆ อันเป็นหน้างานของกิจกรรมในครั้งนี้ เช่น

  • รูปแบบกิจกรรมหลักที่จะมีขึ้น
  • รูปแบบกิจกรรมที่นิสิตต้องคิดเพิ่มเติม เมื่อไปเจอสถานการณ์ หรือบริบทจริงของวัด
  • งบประมาณที่จะบริหารจัดการร่วมกับวัด
  • รูปแบบ / วิธีการของการเก็บข้อมูลเพื่อนำกลับมาออกแบบกิจกรรม
  • วิธีการ / ทางเลือกในการสืบค้นข้อมูลของวัด/ชุมชนเพิ่มเติมผ่านระบบอื่นๆ เช่น สัมภาษณ์  อินเทอร์เน็ต
  • การเดินเท้าสำรวจสถานที่จริงอย่างสำรวม
     

 

โดยเฉพาะการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมนั้น  ผมมองถึงประเด็นการเรียนรู้จากการสืบค้น (Inquiry-Based Learning) นั่นเอง

โดยทั้งปวงนั้น ผมย้ำกับนิสิตว่า ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องถึงขั้นต้อง “จดบันทึก” ก็ได้ เน้นการฟังและการพูดคุยอย่างเป็นธรรมชาติ ตลอดจนการสังเกตอะไรต่างๆ ด้วยตนเอง เสมือนการเรียนรู้ด้วยตนเองบนฐานคิดอันเป็นวาทกรรมที่ผมพร่ำพูดเป็นสโลแกนมาโดยตลอดว่า “ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้และการเรียนรู้”

รวมถึงการเน้นย้ำว่า ทุกๆ อย่าง เมื่อไปถึงแล้วต้องยืดหยุ่นตามสภาพจริง เพราะบางทีเมื่อไปถึงแล้ว วัดอาจจะกำลังมีกิจกรรมอย่างอื่นอยู่แล้ว นิสิตต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ตรงนั้น และใช้เวลา ณ ที่ตรงนั้นอย่างพอเหมาะพองาม แล้วค่อยนำข้อมูลกลับมาโสเหล่กันเองว่าจะขับเคลื่อนต่อในประเด็นใดบ้าง  –

นี่คือกระบวนการเล็กๆ ที่เกิดขึ้นจริง ณ วันนั้น 

 

หมายเลขบันทึก: 691164เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2021 00:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2021 16:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ยังคงทำหน้าที่เช่นเคยนะครับ ;)…

สวัสดีครับ อ.วัส

ผมเหมือนไม้ชราใกล้ฝั่ง นับวันสุ่มเสี่ยงผุพังหักโค่นครับ จะไปเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ ในที่ใหม่ๆ คงลำบากน่าดูครับ

คิดถึง ‘เชียงใหม่’ นะครับ

คุณแผ่นดิน

อายุขัยมาเยือนเหมือนกัน เริ่มคิดถึงเวลาเกษียณกันแล้ว ตอนนี้

เชียงใหม่ ยังสถานการณ์คงตัว เดินทางเข้ายังไม่ได้ครับ

โรงเรียนที่เพิ่งเปิดไป ปิดไปแล้ว ๓ โรงเรียน

ดูแลสุขภาพครับ ;)…

สวัสดีจ้ะน้องแผ่นดิน มาทักทายจ้ะ เป็นกำลังใจให้กับผู้ทำหน้าที่ “ ครู”ทุกคน รู้ดีว่ายุคสมัยนี้มันเป็นช่วงที่ น้อง ๆ ครูทุกคนต้องผจญกับความเครียดรอบตัว งานครูเป็นงานต้องใช้สมอง ต้องใช้พลังกาย พลังใจ สติปัญญา เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ต้องมาเผชิญสถานการณ์ปัจจุบันแล้วยิ่งเพิ่มความเครียดให้เป็นทวีคูณ คุณมะเดื่อนึกขอบคุณโชคชะตา ที่ให้ได้เกษียณก่อนหน้าเพียงเส้นยาแดงเท่านั้น …. ถ้ายังยืนยาวมาจนวันนี้ ก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรนะ เป็นกำลังใจให้จ้ะน้องแผ่นดิน

ในการทำกิจกรรมครั้งนี้ของหนู ซึ่งอยู่ในนานประธานชมรมสานฝันคนสร้างป่า ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมการปลูกป่าครั้งแรกของหนู ที่เคยทำมาแต่ก่อนกับรุ่นพี่จะเป็นรูปแบบของการทำฝายชะลอน้ำ การบวชป่า การปลูกป่าหนูยังไม่เคยทำ แล้วมาติดสถานการณ์โควิด 19 ยิ่งทำให้การทำงานยากลำบากมากขึ้น ด้วยจำนวนคนที่ไม่สามารถพาไปเยอะได้ และการที่จะหาน้องมาสานต่อก็ยากขึ้นเช่นกัน แต่การไปปลูกต้นไม้ครั้งนี้ทำให้หนูได้รู้จักเพื่อนซึ่งแม้จะมีไม่เยอะ และรู้จักการพูดคุย การประสานงานต่างๆ แถมยังไม่รู้จักพันธุ์ไม้ที่ตัวเองเคยเห็นแต่ไม่รู้จักชื่อมาก่อน ได้ตื่นแต่เช้าไปใส่บาตร ได้ทำอะไรมากมายที่ไม่เคยทำมาก่อน กิจกรรมครั้งนี้จึงทำให้หนูภูมิใจในตัวเองมากคะ ที่จากเป็นคนที่ไม่เคยทำงานร่วมกับใครไม่เคยทำกิจกรรมอะไรแบบนี้ ก็ได้เปิดโลกของหนูใหม่ให้อยากเรียนรู้อะไรใหม่ๆเพิ่มขึ้นค่ะ🙏

ในนามของสมาชิกในชมรมการได้ไปปลูกป่าครั้งนี้ได้ทำให้ผมคิดว่าได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างพื้นที่สีเขียวและได้ทำกิจกรรมกับรวมกับชมรมซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่ให้กับผมเช่นกัน

ครับ อาจารย์ Wasawat Deemarn

ตอนนี้นับถอยหลังอายุราชการแล้ว แต่ก็อยากออกนอกระบบไวๆ 5555 จะได้มีประสบการณ์ใหม่พอได้เล่าให้ลูกหลานฟังว่าจากการเป็นข้าราชการสู่การเป็นพนักงานต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง และมีข้อดี ข้อด้อยที่ต้องเรียนรู้และอยู่ร่วมเช่นใด -

คิดถึงนะครับ สู้ๆ ครับ

สวัสดีครับ พี่ คุณมะเดื่อ

ผมชื่นชอบและเห็นด้วยกับข้อคิดนี้ ครับ “งานครูเป็นงานต้องใช้สมอง ต้องใช้พลังกาย พลังใจ สติปัญญา เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ต้องมาเผชิญสถานการณ์ปัจจุบันแล้วยิ่งเพิ่มความเครียดให้เป็นทวีคูณ”

ขอเป็นอีกหนึ่งแรงใจนะครับ และเชื่อว่าความเป็นครูยังหลากล้นอยู่่ในหัวใจของพี่ฯ ครับ

ครับ Areeya Baokham

อ่านแล้วก็ดีใจ สุขใจไปด้วยที่นิสิตได้เรียนรู้เรื่องการจัดกิจกรรมภายใต้ข้อจำกัดของสังคมที่กำลังถูกคุกคามจากโควิด-19

ดีใจที่กิจกรรมเล็กๆ ง่ายๆ (ง่ายงาม) ทำให้นิสิตได้รู้จักมักคุ้นกับเพื่อนๆ มากขึ้น ซึ่งถ้าไม่จัดกิจกรรมนี้ อันหมายถึงยกเลิกกิจกรรมไปเลย กระบวนการเรียนรู้การทำงานอย่างเป็นทีมก็คงไม่เกิดขึ้น เพราะแผนงานในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมาทางชมรมฯ ไม่ได้จัดกิจกรรมใดๆ ส่งผลให้ขาดความรู้และประสบการณ์ไปบ้างเป็นธรรมดา

และดีใจมากครับที่เราเข้าใจเจตนารมณ์ที่ออกแบบไว้ให้เรียนรู้มากกว่ากิจกรรมหลัก ซึ่งนั่นก็คือการได้เรียนรู้ “วิถีบุญ” ที่ว่าด้วยการ “ตักบาตร” และ”กินข้าวก้นบาตร” หรือแม้แต่การได้รู้จักชื่อพันธุ์ไม้ ซึ่งมีทั้งที่จำไม่ได้ และไม่รู้จักมาก่อน -

ครับ อิทธิพล มินทระ

กิจกรรมครั้งนี้ คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างไม่ต้องสงสัย แต่การจะเป็นป่าได้ก็มาจากการปลุกต้นไม้ก่อนนี่แหละ ซึ่งก็ดีใจที่นิสิตยังเข้าออกวัดแห่งนี้มากกว่าหนึ่งครั้ง ทั้งในแง่ของการไปทำบุญ หรือการไปติดตามผลของการปลูกต้นไม้ ตอกย้ำว่า ไม่ใช่แค่ปลูกแต่ก็ยังตามไปดูแล -

ซึ่งในภาวะโควิดเช่นนี้ คงยากที่จะเดินทางข้มจังหวัดไปจัดกิจกรรมเหมือนในอดีต ดังนั้นพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ จึงน่าจะเป็นทางเลือกอีกหนึ่งพื้นที่ของการเรียนรู้ในมิติต่างๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท