โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต



หนังสือแปล เปิดนวัตกรรม ‘ซัมมิต’ โรงเรียนเตรียมคน พร้อมสู้อนาคต (1) แปลจาก Prepared : What Kids Need for a Fulfilled Life  เขียน Diane Tavenner ผู้ร่วมก่อตั้งและเป็น ซีอีโอ โรงเรียนรัฐบาลในเครือซัมมิต ของสหรัฐอเมริกา     บุคลิกของหนังสือจึงเด่นชัดว่า เขียนโดยนักปฏิบัติ    คือหนังสือเดินเรื่องด้วยเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด เน้นเรื่องราวของโรงเรียนและนักเรียนชั้นมัธยมปลาย    เป็นหนังสือที่อธิบายทฤษฎีจากเรื่องราวของการปฏิบัติ    ครูมัธยมของไทยไม่ควรพลาด    

การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงได้ทั้งสนุก และประเทืองปัญญา    แต่ในรอบนี้ผมเน้นฝึกอ่านเร็วเพื่อจับความ    ไม่ได้อ่านแบบละเลียดที่จะให้สุนทรียารมณ์มากกว่า    รวมทั้งจับคุณค่าระหว่างบรรทัดได้มากกว่าด้วย    บันทึกจากการอ่านเร็วแบบจับความนี้ จึงมีข้อจำกัด    ทดแทนการที่ท่านอ่านหนังสือเองไม่ได้เลย    

หนังสือเล่มนี้เขียนอย่างเปี่ยมอุดมการณ์ความเป็นครู    ที่มีโอกาสยิ่งใหญ่ ในการ “ช่วยชีวิต” ศิษย์ เปลี่ยนจากความล้มเหลว เป็นความสำเร็จในชีวิต    หน้าที่อันยิ่งใหญ่ของครูคือช่วยให้ศิษย์เปลี่ยนชีวิตที่ไร้ความหมายของตน ไปเป็นชีวิตที่เปี่ยมความหมาย และเป้าหมาย    แล้วใช้ความมานะพยายามและวิธีพัฒนาตัวเองที่ถูกต้องเหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น   

หนังสือประกอบด้วย ๓ ส่วน คือ (๑) ทำไมจึงต้องเตรียมพร้อม  (๒) เตรียมพร้อมอย่างไร  (๓) อย่างไรเรียกว่าพร้อมแล้ว    หัวข้อทั้งสาม เป็นทั้งเรื่องของนักเรียนและของครูไปด้วยกัน    โดยที่นักเรียนเป็นวัยรุ่นชั้นมัธยมปลาย ที่ชีวิตเต็มไปด้วยความวุ่นวาย    ที่ครูจะต้องสังเกตแต่ละคน  ว่ากำลังมีปัญหาชีวิตหรือไม่    หากมีปัญหาต้องเข้าไปช่วยให้คำแนะนำ หรือช่วยแก้    อุดมการณ์คือ ไม่ทอดทิ้งใครแม้เพียงคนเดียว   

เตรียมพร้อมอย่างไร   ตอบสั้นที่สุดว่า โดยจัดการเรียนรู้เชิงรุก (active learning) ให้นักเรียนเรียนโดยการทำโครงงานร่วมกันเป็นทีม   เรียนโดยเอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน ไม่ใช่แข่งขันกัน    เพื่อพัฒนาสมรรถนะหลากหลายด้าน รวมทั้งเป้าหมายชีวิต    มีเป้าหมายสูงในชีวิต    ซึ่งก็คืออุปนิสัยเพื่อประสบความสำเร็จ

อย่างไรเรียกว่าพร้อมแล้ว  อยู่ในบทที่ ๘  อุปนิสัยเพื่อประสบความสำเร็จ   บทที่ ๙ ภูมิปัญญาจากความใฝ่รู้ (ผ่านสัมผัสสำรวจ และมุ่งสู่เป้าหมาย   ซึ่งหมายถึงการเรียนแบบนักเรียนลงมือทำ)   บทที่ ๑๐ ทักษะอันเป็นสากล (หมายถึงทักษะสำคัญที่คนทุกคนพึงมี ซึ่งก็คือทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ นั่นเอง)    และบทที่ ๑๑ ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง (ซึ่งหมายถึงก้าวออกจากโรงเรียนมัธยมปลายไปเรียนต่อ ประกอบอาชีพ และมีครอบครัวที่ดี  เป็นพลเมืองดี     

สรุปย่อสาระในหนังสือทั้งเล่มอยู่ในหัวข้อ ก้าวต่อไป ในหน้า ๒๖๙ - ๒๘๑    แต่อ่านเฉพาะ ๑๓ หน้านี้จะไม่รู้เรื่อง    เพราะหนังสือเล่มนี้เขียนแบบฝังความหมายไว้ในเรื่องราว    และมีเทคนิคดีๆ สำหรับครู/ผู้บริหารการศึกษาไทยนำมาปรับใช้ได้ เช่น การประชุมสุดยอดนวัตกรรม(innovation summit) ที่หน้า ๒๑๙ - ๒๒๔   สำหรับให้ครูร่วมกันใช้ design thinking เพื่อออกแบบการจัดการเรียนการสอนตามความต้องการของศิษย์     เครื่องมือ STP สำหรับฝึกการตัดสินใจร่วมกัน (หน้า ๑๕๘ - ๑๖๒) ที่ครูควรฝึกให้นักเรียนใช้จนติดเป็นนิสัย   เป็นส่วนหนึ่งของ “ทักษะอันเป็นสากล”     

ขอขอบคุณ กสศ. ที่มอบหนังสือเล่มนี้

วิจารณ์ พานิช

๓ พ.ค. ๖๔

 

หมายเลขบันทึก: 690900เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2021 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2021 17:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท