“ทำงานยังไง ไม่ให้ทุกข์”


มีบทหนึ่งในหนังสือ “คู่มือชีวิต” โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่ผมคิดว่า ทำให้มนุษย์งานอย่างเรา ควรหันกลับมาตั้งคำถามกับวิธีคิดและตรวจสอบพัฒนาการของ “งาน” ที่เราทำอยู่ทุกวันนี้กันมากขึ้น

"ทำงานไม่ได้ตามหวังก็ทุกข์ แต่พอทำงานได้ดีแล้วก็ยังทุกข์ เฮ้อ!"

ผมสังเกตเห็นวังวนเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ หลายคนอยู่ในสภาพแบบนี้ เลยย้อนกลับมาใคร่ครวญ ทบทวน ศึกษาเพิ่ม

มีบทหนึ่งในหนังสือ “คู่มือชีวิต” โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่ผมคิดว่า ทำให้มนุษย์งานอย่างเรา ควรหันกลับมาตั้งคำถามกับวิธีคิดและตรวจสอบพัฒนาการของ “งาน” ที่เราทำอยู่ทุกวันนี้กันมากขึ้นครับ

พระอาจารย์ปยุตโต ท่านว่า ทำงานได้ดี นั้นต้องมีองค์ประกอบสองอย่าง

1.มีแรงจูงใจที่ถูกต้อง ที่ไม่ติดแต่แรงจูงใจด้านวัตถุทรัพย์สิ่งของ ซึ่งเป็นความสุขภายนอกที่กวัดแกว่งได้ตลอด แต่ให้มีแรงจูงใจที่ละเอียดขึ้น สุขได้ยาวนานขึ้น แรงจูงใจที่ว่านี้ คือแรงจูงใจที่มาจากการเห็นคุณค่าของงานที่ทำซึ่งยังประโยชน์ต่อผู้คนในวงกว้าง อย่างนี้ก็จะอิ่มใจขึ้น เรียกว่ามีฉันทะ เป็นความสุขภายในที่ได้เห็นคุณค่าของงาน เห็นงานที่ทำสำเร็จเป็นประโยชน์ต่อตนเองและคนอื่นๆ 

แต่นั่นก็ยังไม่พอ เพราะยังจะทุกข์ได้ต่อ เพราะเอาใจ เอาตัวตนยึดมั่นถือมั่นไปผูกไว้ในงาน ยึดในความดีที่ตนเองทำ จึงต้องมีองค์ประกอบอย่างที่สอง 

นั่นคือ ต้องมีปัญญารู้เท่าทันความจริง

2.ปัญญา คือ การรู้เท่าทันความจริง ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่มีอยู่ซับซ้อนมากมาย 

เราทำงาน ก็คือทำเหตุปัจจัยในส่วนของเราให้เต็มที่ ส่วนผลมันก็มาจากเหตุปัจจัยหลายๆอย่างมาประกอบกัน 

เรากำหนดผลได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ตรงนี้ เราจะวางความอยากได้ ใคร่มี อยากโน่นอยากนี่ แม้แต่อยากให้มันสำเร็จ อยากให้มันดี หรือไปถือค้างไว้ รวมถึงความอยาก ความไม่อยาก ทั้งหลายลงได้มาก 

เพราะเราเข้าใจสัจธรรมเรื่องเหตุปัจจัย เราก็คลายกังวลลงได้ เหลือแต่ความเท่าทัน หลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ เหนือสิ่งทั้งปวง แม้สิ่งนั้นจะเป็นงานอันประเสริฐเพียงใดก็ตาม

สิ่งสำคัญอีกเรื่อง ที่จะทำให้เราเข้าใจ เข้าถึงความสุขอันลึกซึ้งจากการทำงานได้มากขึ้นนั้น นั่นคือ การที่เรามีความเห็นที่ถูกต้องในเรื่องงาน ว่าแท้จริงแล้ว งานกับชีวิตไม่ได้แยกจากกันเลย

เราอาจจะเคยชินกับระบบ โครงสร้างการแบ่งงานในโลกปัจจุบัน ที่แยกเวลาต่างๆออกเป็นส่วนๆเช่นเวลางาน เวลาพัก เวลาผ่อนคลาย เวลาครอบครัว เวลาส่วนตัว เวลาปฏิบัติธรรม ฯลฯ ขาดจากกันราวกับว่าเวลาแต่ละช่วงไม่เกี่ยวข้องอะไรกันเลย

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเรามององค์ประกอบสองอย่างข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า งานนั้นคือชีวิต งานกับชีวิตไปด้วยกันทั้งด้านนอก (วัตถุสิ่งของทรัพย์สิน ปากท้อง) และด้านใน (ความดี และปัญญาเท่าทันสู่ความหลุดพ้น)

ถ้าเราเข้าใจองค์ประกอบสองประการข้างต้นแล้ว เราใคร่ครวญต่อ

เราก็จะเข้าใจเพิ่มเติมว่า ในงานมีชีวิต ในชีวิตก็มีงาน งานกับชีวิตเป็นเรื่องเดียวกัน

เราจึงทำงานอย่างเข้าใจว่าเรากำลังทำชีวิตให้มีความสุขที่ปราณีต ลึกซึ้งไปเรื่อยๆ

เมื่อเรามีความคิดเห็นที่ถูกต้องต่องาน มีแรงจูงใจที่ลึกถึงข้างใน และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของผลที่จะเกิดกับงานตามเหตุปัจจัย เราจึงทำงานด้วยความผ่อนคลายมากขึ้น

แม้ว่างานจะเร่ง มีแรงกดดัน ตัวชี้วัดมากมาย แต่ใจเราเป็นอิสระมากขึ้น

เราสามารถทำให้งานมีชีวิตด้วยการเล่น พักผ่อน ทำงานอดิเรก งานศิลปะ สุนทรียะต่างๆ ผสมผสานเข้าไปในการทำงานได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยเอื้อให้งานนั้นมีคุณค่าต่อโลกมากขึ้นตามไปด้วย

เรื่องทั้งหมดนี้ อาจไม่ง่ายนักที่คนทั่วไปจะเข้าใจ ก็อย่างว่าครับ มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย การสั่งสมประสบการณ์ ต้นทุนชีวิตของแต่ละคนที่บ่มเพาะมา 

แต่สำหรับผมแล้ว การได้จดและแชร์บันทึกอย่างนี้มันมีค่า มันสมบูรณ์ในตัวมันเอง ผมพิมพ์เสร็จแล้วก็มีความสุข เหมือนได้ทบทวนและอ่านให้ตัวเองฟังอีกรอบช้าๆ 

ถ้ามีใครอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว รู้สึกมีความสุขในงานมากขึ้นได้ ผมก็ยินดีด้วยนะครับ 

-สกัดจากแนวคิดเรื่อง “งาน” ซึ่งสิ่งที่ท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้สอนไว้ในเล่มนี้ “คู่มือชีวิต”เป็นหนังสือที่ดีมากๆอีกเล่มที่ควรจะมีไว้ศึกษาและทบทวนเป็นประจำครับ

หมายเลขบันทึก: 690843เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2021 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2021 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท