ชีวิตที่พอเพียง 3961. ต้านข่าวลวงเรื่องโควิด



            บทความเรื่อง How to Counter Covid Misinformation : We each have more power than we may realize (1)    สรุปสั้นๆ ว่า ต้องใช้วิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง    เราแต่ละคนสามารถต้านหรือกลบข่าวลวงได้

 บทความนี้ยาวมาก มีข้อมูลวิชาการมาก เขียนโดย Kathleen Hall Jamieson ผู้เชี่ยวชาญเรื่องข่าวลวง และผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ FactCheck.org ที่ทำหน้าที่เผยแพร่ผลการตรวจสอบข่าวลวง

ข่าวลวงนำไปสู่พฤติกรรมผิดๆ ที่ก่อผลร้ายต่อตนเองและต่อสังคม    เช่นคนที่เชื่อเรื่องที่กุขึ้นเกี่ยวกับเชื้อโควิด และวัคซีน (2) จะไม่ค่อยมีพฤติกรรมสวมหน้ากากอนามัย  เว้นระยะห่าง  ล้างมือบ่อยๆ  และมักไม่ยอมรับการฉีดวัคซีนโควิด  

ในสถานการณ์วิกฤติอย่างการระบาดใหญ่ของโควิด การสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ (science communication) เป็นแหล่งที่น่าเชื่อถือ และคนทั่วไปควรเลือกฟังเฉพาะแหล่งนี้    แต่ในความเป็นจริงการสื่อสารเชิงสังคม (social communication) เข้าถึงผู้คนมากกว่า    เป็นเรื่องการสื่อสารวิทยาศาสตร์และความรู้ผ่านกระบวนการทางสังคม    ที่เขาบอกว่า ข้อคิดเห็นหรือคำแนะนำของเพื่อนสนิทหรือเพื่อนบ้าน มีอิทธิพลมากกว่าหมอหรือผู้รู้จริงในเรื่องนั้น    นี่คือข้อสรุปจากผลการวิจัย  

คำอธิบายคือ ข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิทยาศาสตร์บอกกว้างๆ สำหรับคนทั่วไป    แต่คำบอกเล่าหรือแนะนำจากเพื่อนหรือคนใกล้ชิดนั้น จัดเฉพาะตัวเรา รู้บริบทหรือเงื่อนไขสภาพแวดล้อมของเรา    จึงเข้าถึงจิตใจของเราได้ดีกว่า     หากจะต้านข่าวลวง พลเมืองดีต้องร่วมมือกันใช้สื่อสังคม (โซเชี่ยลมีเดีย) ช่วยกันแพร่ข่าวจริง ข่าวถูกต้อง และต้านข่าวลวง    

พลเมืองดีต้องร่วมกันต่อต้านข่าวลวง  ซึ่งทำได้ผลโดยใช้เครื่องมือไม่กี่อย่าง    ที่บทความเรียกว่า “ระบบป้องกันโดยใช้วิทยาศาสตร์” (science defense system)    ที่บทความเสนอว่ามี ๔ ด่าน ดังต่อไปนี้

น่าเสียดายที่ด่านแรกของระบบ คือ social media platform ทั้งหลาย เช่น FB, Twitter, เป็นต้น    ไม่สนใจทำหน้าที่นี้ โดยปิดกั้นไม่ให้ข่าวลวงเข้ามาใน platform    ที่จริงวงการข่าวทั้งหมดแหละที่หากินกับข่าวโดยไม่คำนึงถึงความรับผิดรับชอบ (accountability) ต่อสังคม    ผมเคยประสบด้วยตนเองกรณี นสพ. ไทยรัฐ และ เดอะเนชั่น สมัยผมทำหน้าที่ ผอ. สกว.     

ด่านที่สองคือหน่วยงานตรวจสอบความจริง เช่น PolitiFact,  FactCheck.org, CriticaScience ช่วยได้มาก    นี่คือข้อสรุปจากผลงานวิจัยหลายชิ้น     

ด่านที่สามเรียกว่าด่านความสัมพันธ์ออนไลน์ (online engagement)    คือการทำหน้าที่เชิงปัจเจก หรือรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กๆ   ใช้การสื่อสารออนไลน์ต่อต้านข่าวปลอมหรือข่าวเท็จ โดยแนะนำแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือแทน   ตัวอย่างที่หมอรวมตัวกันทำหน้าที่นี้คือ CriticaScience    

ด่านที่สี่ซึ่งเป็นด่านสุดท้าย คือความสัมพันธ์กันในชีวิตจริง  ครอบครัว  เพื่อน  และเพื่อนร่วมงาน  ที่จะร่วมกันทำให้ ระบบป้องกันโดยใช้วิทยาศาสตร์ ทำงานในชุมชนของตน    คือสร้างนิสัยตรวจสอบข่าวกับแหล่งที่น่าเชื่อถือ  

บทความบอกว่า ในกรณีของโควิด การต่อต้านข่าวลวงที่สำคัญที่สุดมี ๒ เรื่องคือ การสวมหน้ากากอนามัย กับการฉีดวัคซีน  

เนื่องจากเรื่อง โควิด มีความซับซ้อนสูงมาก เขาให้คำแนะนำพลเมืองดีทั้งหลายไว้ ๘ ประการ คือ

  1. 1. เมื่อค้นพบข้อมูลความจริงที่สำคัญให้ทำเครื่องหมายไว้ ให้ค้นง่าย
  2. 2. พึงตระหนักว่า วิทยาศาสตร์เองก็มีความสับสน และหลายส่วนยังเป็นข้อสรุปเบื้องต้น
  3. 3. กำหนดข้อพึงปฏิบัติ โดยเอาอย่างพฤติกรรมที่ดี
  4. 4. อย่าเอาการเมืองเข้าไปยุ่งกับวงการวิทยาศาสตร์  
  5. 5. คิดให้ดี ก่อนกด like
  6. 6. กำหนดเป้าหมายที่สมจริง    วงเล็บไว้ว่าคนเรามักรับสารที่สอดคล้องกับความเชื่อของตนเอง
  7. 7. ให้คำนึงถึงการปกป้องเพื่อนบ้านด้วย   
  8. 8. มี “ภูมิคุ้มกันหมู่” (community immunity) เป็นเป้าหมาย    ซึ่งหมายถึงภูมิคุ้มกันสองด้าน คือภูมิคุ้มกันต่อโควิด  กับภูมิคุ้มกันต่อข่าวลวง

จะป้องกันโควิดได้ต้องป้องกันการแพร่สองอย่าง คือการแพร่เชื้อไวรัส กับการแพร่ข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด    โดยต้องลดการเมืองในเรื่องวิทยาศาสตร์  และตระหนักถึงพลังและข้อจำกัดของการจูงใจ (persuation)       

วิจารณ์ พานิช

๒ พ.ค. ๖๔   


หมายเลขบันทึก: 690761เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2021 19:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2021 19:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท