เครื่องหมายวรรคตอนนั้นสำคัญ


คนไทยไม่ชอบใช้เครื่องหมายวรรคตอนในการเขียนหรือพิมพ์, บางคนก็อ้างว่า "ครูภาษาไทยสมัยก่อนไม่ชอบให้นักเรียนใช้" ผมสงสัยว่า จริงหรือ?

ผมเคยคุยกับเพื่อนรุ่นน้องที่เป็นนักแปลหนังสือชื่อดังคนหนึ่ง. เขาบอกว่า บรรณาธิการคนไทยมักไม่ชอบให้ใช้เครื่องหมายวรรคตอน. (ผมเข้าใจเอาว่า ก็คงมีข้อยกเว้นบ้าง ใช้ได้เท่าที่จำเป็น แต่ไม่มากเหมือนในภาษาอังกฤษแน่นอน.)

ผมเคยคุยกับศาสตราจารย์ทางด้าน AI ของไทยคนหนึ่งเมื่อสัก ๒ ปีก่อน: ท่านพูดว่า อยากให้คนไทยเขียนโดยมีเครื่องหมายวรรคตอน. ดูเหมือนท่านเน้นว่า ควรรณรงค์ใช้คนไทยใช้เครื่องหมาย มหัพภาค (full stop) เพราะคนที่ทำงานทาง computational linguistics หรือ natural language processing ของ ภาษาไทย ปวดหัวมาก ว่า ประโยคต่างๆ ที่คนไทยพูดและเขียน จบเมื่อไรกันแน่. และเรื่องนี้ทำให้คอมพิวเตอร์แปลความหมายผิดไปด้วย. ผมเห็นด้วยกับท่านว่า เราต้องใส่ มหัพภาค ในการเขียนภาษาไทย. ถ้าเราใช้มหัพภาค นัยความหมายที่จบลงไปในแต่ละประโยคภาษาไทย จะไม่เกินเข้าไปยังประโยคถัดไป. ถ้ามี มหัพภาค คือเนื้อความจบ สมบูรณ์. ไม่ต้องไปสงสัยอีกว่า ความหมายในวรรคถัดไปเป็นส่วนหนึ่งของประโยคหรือไม่. 

ผมรู้สึกว่าตอนนี้ คนไทยส่วนมากขี้เกียจใส่เครื่องหมายวรรคตอนกันหมด (รวมทั้งผมด้วย). อะไรทุกอย่างไปลงที่ เว้นวรรค ถ้าลืมเว้นวรรคละก็แย่เลย. แล้วก็พบได้บ่อยว่า เว้นวรรคบางที่ที่ควรมีก็หายไป. ตอนนี้พบเห็นได้บ่อยว่าคนไทยยุคนี้ยังจงใจไม่ชอบเว้นวรรคเพิ่มอีก. (ยังไม่ต้องพูดถึง สะกดคำแบบห่วยแตก)

มีตัวอย่างการใชัที่ผมจำได้ เพราะครูสอนไว้สมัยผมเรียนตอนประถม มีตัวอย่างเมื่อราว ๕๐ ปีมาแล้วว่า :-

ที่โรงเรียน มีครูคนหนึ่งมีเอกสารกองใหญ่อยู่บนโต๊ะครู วันหนึ่งมีลมแรง พัดเอกสารปลิวกระจาย ครูจึงไปหาของสิ่งหนึ่งมาทับไว้ด้านบน แล้วเรียกใช้เด็กนักเรียนคนหนึ่งให้ไปเขียนป้ายให้ครู เพื่อจะติดไว้บอกว่า อย่าเอาไป ใช้ทับกระดาษ.

เด็กคนนั้นก็ไปเขียนป้ายว่า:-

“อย่านำไปใช้ทับกระดาษ” แล้วเอาไปวางไว้ที่นั้น

วันต่อมา ลมแรงก็พัดเอกสารกระจายไปอีก ที่ทับกระดาษก็ย้ายที่ไปอยู่ที่อื่น ครูจึงถามว่า ใครย้ายที่ไป ก็มีเด็กอีกคนรับว่า เขาย้ายไปเอง เพราะเข้าใจผิด นึกว่าไม่ให้เอาไปวางทับกระดาษ เพราะ เห็นมีป้ายบอกไว้ว่า “อย่านำไปใช้ทับกระดาษ”

ครูก็เข้าใจ เพราะอันที่จริง เด็กคนแรกควรเขียนว่า “อย่านำไป. ใช้ทับกระดาษ.” หรือ มิฉะนั้นก็ควรเขียนว่า “ใช้ทับกระดาษ. อย่าเอาไป.”

ผมเคยอ่านเจอตัวอย่างหนึ่งในภาษาอังกฤษ เรื่องการใช้เครื่องหมายวรรคตอนมีความสำคัญ จดไว้หลายปีแล้ว (ไม่แน่ใจว่ามาจากตัวอย่างของ David Avocado Wolfe หรือเปล่า ยังขี้เกียจกลับไปค้น). เนื้อเรื่องคือ:-

Punctuation is power

(แปลว่า) การใช้เครื่องหมายวรรคตอนคือพลัง(ในการแสดงออก)


มีศาสตราจารย์ผู้สอนภาษาอังกฤษคนหนึ่งเขียนกระดานที่หน้าชั้นว่า

a woman without her man is nothing

แล้วให้นิสิตในชั้นเรียนออกไปใส่เครื่องหมายวรรคตอนบนกระดานให้ถูก

นิสิตชายทั้งหมดต่างเดินออกไปเขียนเติมเครื่องหมายวรรคตอนเป็น

"A woman, without her man, is nothing."

(แปลว่า) ผู้หญิง, ปราศจากชายของเธอ, ก็ไม่มี(ค่า)อะไร.

แต่นิสิตหญิงทั้งหมดต่างเขียนเครื่องหมายวรรคตอนเป็นแบบนี้

"A woman: without her, man is nothing."

(แปลว่า) ผู้หญิง: ปราศจากเธอ, ชายก็ไม่มี(ค่า)อะไร.

จะเห็นว่า การใช้เครื่องหมายวรรคตอนต่างกัน ได้ความหมายต่างกัน.

โพสต์นี้เกี่ยวกับภาษา: ผมคิดว่า คงไม่ค่อยมีคนมาอ่านเท่าไร. แต่ผมคิดในขณะนี้ว่า ต่อไปจะกลับมาเขียนต่อ.

หมายเลขบันทึก: 690747เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2021 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2021 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กลับมาเขียนแนะนำนะคะอาจารย์ ตนเองยังต้องเรียนรู้เพื่อใช้ให้ถูกค่ะขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท