บทบาทครูในยุคศตวรรษที่ 21


      โลกในยุคศตวรรษที่ 21 มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วในทุกๆด้านซึ่งเป็นผลจากความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ประเทศต่างๆต้องเผชิญกับสภาวะการแข่งขันสูงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาและส่งเสริมสมรรถนะของประชากรในประเทศของตนให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ โดยมีเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณภาพประชากรคือการศึกษา  เมื่อประชากรได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพจะทำให้เกิดคนไทยที่มีศักยภาพและการสร้างสังคมที่รุ่งเรืองให้แก่ประเทศไทยบุคคลสำคัญที่จะเป็นกลไกในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนคือ ครู (Teacher) ดังนั้นในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  (พ.ศ. 2561-2580) กำหนดให้มีแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้แบบพลิกโฉมเพื่อพัฒนาระบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบทบาทครู ให้เป็น ครูในยุคศตรวรรษที่ 21 จากการเป็นผู้บอกความรู้ ผู้สั่งสอน เป็นผู้จัดการเรียนรู้และออกแบบการเรียนรู้ เป็นการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียนรู้จักคิดและสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างชาญฉลาดพอกับสิ่งที่จะเกิดในอนาคต

          บทบาทสำคัญของครูต่อการจัดการศึกษาในยุคศตวรรษที่ 21 มีดังนี้

          1.  สอนให้น้อยลง เรียนรู้ให้มากขึ้น (Teach less Learn More) ส่งผลให้ครูต้องความรู้และสั่งสมประสบการณ์เกี่ยวกับวิธีการสอนที่หลากหลายเปิดโอกาสให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริง หรือศึกษาจากสภาพจริงเป้าหมายของการเรียนรู้เปลี่ยนจากเรียนเพื่อรู้ เป็น เพื่อทักษะ ดังนั้นรูปแบบการสอนจึงเป็นการให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นของผู้เรียน
          2.  ครูเป็นครูฝึก (Coach) ครูต้องเรียนรู้หลากหลายศาสตร์และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดทักษะและประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการดำรงชีวิต และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้เรียน
          3.  สอนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative) เป็นการจัดการเรียนรู้ที่แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ ให้ทำงานร่วมกันเพื่อขยายความรู้ของตนเองให้ออกไปได้มากที่สุด ซึ่งจะเกิดความรับผิดชอบร่วมกันและเกิดบรรยากาศการเรียนรู้แบบใหม่เป็นการร่วมมือ (Collaborative) มิใช่มุ่งการแข่งขัน (Competitive) เพื่อให้เกิดผู้ชนะและผู้แพ้ แต่เรียนรู้ที่จะร่วมมือเพื่อขยายความสามารถและนำไปสู่ทักษะการเรียนรู้พร้อมๆกัน

collaborative

          4.  ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ (Student-directed Learning) ครูเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอนตั้งแต่เริ่มต้นคือ วิเคราะห์ตนเองว่าสนใจหรือถนัดในเรื่องใด ต้องการเรียนรู้ด้วยวิธีไหน ต้องการได้รับการประเมินแบบไหน และมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการสอนต่างๆ เพียงใด โดยครูควรจะส่งเสริมจุดเด่นและพัฒนาจุดด้อยของผู้เรียน รวมทั้งการทำข้อตกลงในชั้นเรียนระหว่างครูกับผู้เรียนเพื่อสร้างความมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน 
          5.  จัดการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติ (Learning by Doing)  การเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติ หรือทำกิจกรรมด้วยตนเอง เรียกว่า การสอนโดยเน้นการใช้กิจกรรม (Activity base approach)  ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาผู้เรียนให้เกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการทำงานจริง โดยมีครูเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำและความช่วยเหลือแก่ผู้เรียนซึ่งจะส่งผลให้ผู้เรียนได้ฝึกใช้ทักษะต่างๆ ตั้งแต่ ทักษะการตั้งประเด็นปัญหา  ทักษะการค้นคว้าและสืบค้นข้อมูล ทักษะการลงมือปฏิบัติ ทักษะการสรุปผล และได้ฝึกทักษะการนำเสนอผลงานและทักษะการประเมินความก้าวหน้าของงานหรือกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นการฝึกการทำงานเป็นกลุ่มของผู้เรียนได้อีกด้วย 

          6.  ครูประเมินผู้เรียนจากผลการพัฒนา  (Teacher Evaluation) ปัจจุบันรูปแบบการประเมินผลการเรียนรู้ควรต้องปรับเปลี่ยนจากการการสอบและตัดสินด้วยผลคะแนน เป็นการประเมินความก้าวหน้ามุ่งนำผลมาแสดงให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเอง ทราบความก้าวหน้าของตนเอง เป็นการเสริมแรงเชิงบวกให้กับผู้เรียนเกิดแรงบันดาลใจให้พัฒนาตนเองด้วยการเรียนรู้ให้มากกว่าเดิม โดยครูต้องมีความเชื่อว่า “ผู้เรียนสามารถพัฒนาให้ก้าวหน้าได้ตลอดเวลา” ดังนั้นครูต้องเรียนรู้เพื่อให้มีความสามารถในการวัดและประเมินผลที่ต้องมีความละเอียดรอบคอบ มีความยุติธรรม ขยันและอดทนต่อภาระงานของครูในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน

          7.  ร่วมชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community :PLC) ครูต้องมีร่วมมือระหว่างเพื่อนครูในโรงเรียน บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหาร โดยการจัดให้มีชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ  เพื่อได้มีโอกาสพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนปัญหาและประสบการณ์ นำไปสู่วิเคราะห์วางแผนและออกแบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดวัฒนธรรมการทำงานที่มุ่งเน้นความร่วมมือ (Collaboration skills) และการเรียนรู้แบบเป็นทีม (Team learning) บทบาทของครูในการเป็นผู้อำนวยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้จะชัดเจนขึ้น และส่งผลต่อห้องเรียนอย่างเป็นระบบ 

PLC

          จากบทบาทของครูที่กล่าวมาแล้วข้างต้นทำให้อาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงที่ต้องเปิดรับความรู้ใหม่ๆ ปรับปรุงการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง และพัฒนาตนเองให้มีความรู้ที่ก้าวทันโลกเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีที่สุดกับผู้เรียน 

หมายเลขบันทึก: 690721เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2021 23:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2021 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

วิธีสำคัญของครูเรา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของเด็กๆปัจจุบันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท