มหาวิทยาลัยกับงานวิจัย การปรับเปลี่ยนเพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา ตอน 2 (4)


โรคระบาดทางวัฒนธรรม “เสรีภาพจะไม่ทำงาน” นี้ สามารถแก้ไขได้โดยไม่ยาก หากมีการปรับเปลี่ยนระบบมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ และยกเลิกการจ้างงานแบบถาวรร่วมกันกับการกำหนดภารกิจของบุคลากรในมหาวิทยาลัย ให้ชัดเจนเป็นรายคน

         < เมนูหลัก >

         ตอน 2 (4)

         "ปฏิวัติวัฒนธรรม" เพื่อภารกิจสร้างสรรค์ปัญญา

         เสรีภาพ 2 แบบ

         วัฒนธรรมอีกประการ คือ อาจารย์มหาวิทยาลัยมักเรียกร้อง “เสรีภาพทางวิชาการ” (Academic Freedom) ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และควรช่วยกันหวงแหน แต่ยิ่งนับวันความหมายของเสรีภาพทางวิชาการก็ยิ่งถูกคนในมหาวิทยาลัยนำมาเป็นข้ออ้าง เพื่อประโยชน์ส่วนตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยยกมาอ้างเพื่อให้ตัวเองมีเสรีภาพที่จะทำงานหรือไม่ทำงานก็ได้ตามใจชอบ กลายเป็น “เสรีภาพที่จะไม่ทำงาน”

         เสรีภาพทางวิชาการที่ถูกต้อง น่าจะเป็น “เสรีภาพที่จะทำงานวิชาการอย่างมีคุณภาพ” โดยไม่ถูกปิดกั้นด้วยความเชื่อที่แตกต่างกัน หรือปิดกั้นด้วยความแตกต่างอย่างยิ่ง

         เป็นที่น่าเสียดายว่า มีเหตุปัจจัยมากมายหลายด้าน ชักจูงให้อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมาก หาเหตุผลที่จะใช้เวลาไปทำกิจอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอน การบริการวิชาการแก่สังคม หรือการวิจัย ทำให้งานสร้างสรรค์ทางวิชาการ กลายเป็นภารกิจรองของอาจารย์เหล่านั้น

         แนวคิดและแนวปฏิบัติเช่นนี้ นับวันจะแพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่เพียงแต่กัดกร่อนเกียรติภูมิของอาจารย์มหาวิทยาลัยเท่านั้น ยังทำให้ความเข้มแข็งทางวิชาการ ของประเทศตกต่ำอย่างน่าวิตก

         แนวทางแก้ไขทำได้ 3 ทาง แนวทางแรกเป็นการแก้ไขเชิงบวก คือ เพิ่มค่าตอบแทนให้แก่อาจารย์ที่ทุ่มเททำงานสร้างสรรค์วิชาการอย่างมีคุณภาพ และแนวทางที่สอง ซึ่งเป็นการแก้ไขเชิงลบ คือ ลงโทษ หรือลดค่าตอบแทนแก่ผู้ไม่ทำงานหรือทำงานน้อย ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำได้ยากภายใต้ระบบราชการและระบบการเข้าสู่ตำแหน่งบริหาร โดยการเลือกตั้ง

         ส่วนแนวทางที่สาม เป็นวิธีการผสมระหว่างแนวทางที่หนึ่งกับแนวทางที่สอง

         โรคระบาดทางวัฒนธรรม “เสรีภาพจะไม่ทำงาน” นี้ สามารถแก้ไขได้โดยไม่ยาก หากมีการปรับเปลี่ยนระบบมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ และยกเลิกการจ้างงานแบบถาวรร่วมกันกับการกำหนดภารกิจของบุคลากรในมหาวิทยาลัย ให้ชัดเจนเป็นรายคน

         บทความพิเศษ ตอน 2 (4) นี้ ได้ จากหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ปีที่ 9 ล.2788 (104) 9 พ.ค. 39 พิเศษ 6 (บทความไอที)

         เขียนโดย ศ.นพ.วิจารณ์   พานิช

         วิบูลย์ วัฒนาธร

 

หมายเลขบันทึก: 6906เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2005 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 20:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมอยากเห็นพัฒนาการการศึกษาของไทยพัฒนาคุณภาพ อยากเห็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยทุ่มเทให้กับงานวิชาการแทนที่จะมาวุ่นวายทางการเมือง ทำหน้าที่ตนเองให้ดีใครฝักใฝ่งานนอกหน้าที่ให้ลาออกเสีย อยากเล่นการเมืองก็ลาออกไปอย่าอาศัยมหาลัยเป็นฐาน เพราะคนเรียนมหาลัย คนสอนมหาลัยต้องเป็นนักวิชาการที่สนใจการวิเคราะห์และทดลองใช้ทฤษฎีแล้วเผยแพร่ แต่ไม่ใช่ออกมาแสดงว่าข้านี้รู้จริงรู้เลิศคุณต้องฟังผมพวกนี้มักทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อม เพราะใช้ความคิดเห็นของตนเองทั้งนั้นที่ออกมาแนะนำสังคมไม่เคยแสดงผลงานที่ตนเองศึกษาอย่างมีระบบออกมาเผยแพร่ ชาวมหา'ลัยครับ จงมาช่วยกันกำจัดขยะทางวิชาการเหล่านี้ออกจากสังคมมหา'ลัยเสีย มาช่วยกันเพิ่มความเข้มข้นทางวิชาการ นำผลงานออกมาเสนอสังคมโดยไม่ออกมาชี้นำเพราะที่ออกมาชี้นำล้วนเป็นขยะทางวิชาการทั้งสิ้น อายเด็กมั่งนะเพราะทุกวันนี้เด็กมหาลัยส่วนใหญ่น่ารักมากมีจุดยืนทางวิชาการที่มั่นคง บ้านเรามีความนอบน้อมถ่อมตน แต่เดียวนี้มีความหยาบคายที่แสดงออก การลดมาตรฐานทางวิชาการเพื่อความขาดแคลนนั้นบัดนี้น่าจะปรับเปลี่ยนให้มีความเข้มข้นเหมือนเดิมได้แล้ว เช่น หมอเคยมีเตรียมแพทย์ควรกลับไปใช้เหมือนเดิมเพราะเดี๋ยวนี้คุณภาพของคุณหมอดูจะลดลงขอให้กลับไปใช้มาตรฐานเดิมแต่เพิ่มโอกาสให้คนเก่งที่ด้อยโอกาสมากขึ้น คนเรียนกฎหมายควรให้ผ่านนักธรรมก่อนส่วนหนึ่ง ผ่านการเรียนด้านธุรกิจส่วนหนึ่ง ผ่านวิทยาศาสตร์แทคโนโลยีส่วนหนึ่ง หรือให้มีสหวิทยาการ เพราะนักกฎหมายต้องทำงานเป็นทีม ทนายความควรเก่งภาษาไทย ควรคัดสรรทนาย ไม่ใช่ใครเรียนนิติศาตร์แล้วเป็นทนายได้ เพราะในปัจจุบันนี้ผลงานที่เกิดของกลุ่มทนายมักใช้อารมณ์เข้าตัดสิน ผู้ทำงานทางกฎหมายควรเป็นกลางไม่เข้าข้างไม่ว่าจะเป็นคนดีหรือคนเลวเพราะสังคมประชาธิปไตยเราแยกไม่ได้ เรามักพูดกันเรื่องความยุติธรรมแต่เรามักจะไม่คอยสนใจว่าความยุติธรรมมันจะเกิดได้อย่างไร สรุปแล้ว มหาลัยทั้งหลายต้องตื่นตัวในการพัฒนาวิชาการ อย่ามุ่งแต่ผลประโยชน์ค่าตอบแทนนัก แต่อย่างไรก็ตามผู้รับผิดชอบก็ให้มีการประเมินความรับผิดชอบตามคุณภาพของนักศึกษา คนทุกคนพัฒนาให้ดีได้ถ้าการคัดสรรบุคคลเข้าเรียนอย่างมีคุณภาพ แต่ตลาดวิชาก็ยังคงมีแต่การประเมินคุณภาพควรเข้มข้น และให้การแนะแนวผู้เรียนได้ว่าเขาควรทำอย่างไรก่อน ช่วยกันคิดต่อด้วยนะครับถ้าอยากเห็นการศึกษาของชาติเด่นในสังคมโลก

เสรีภาพทางวิชาการ และความคิดเห็นที่แตกต่าง 2คำนี้มันหมิ่นเหม่ต่อการสร้างความแตกแยกในสังคมมาก ผมขอเสนอว่า เสรีภาพทางวิชาการไม่ควรหมายถึงการออกมาพล่อยชี้นำสังคมอย่างที่เห็นกัน ควรเป็นเสรีภาพในประดิษฐคิดค้น การศึกษาหาคำตอบต่างอย่างมีระบบ แล้วนำมาเสนอและบอกสังคมว่างานนี้ไม่มีความสมบูรณ์นะเพราะเหตุผลอะไรต้องบอกด้วย ไม่ใช่ออกมาต้องอย่างนั้นอย่างนี้ โดยที่ตัวเองใช้เครืองมือในการรวบรวมข้อมูลมีคุณภาพเชื่อถือได้แค่ใหน การสรุปและลงความเห็นข้อมูลใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เชื่อถือได้อย่างไร มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง ดังนั้นเสรีภาพทางวิชาการควรเน้นที่การศึกษามากกว่าการออกมาพล่อย การจัดอบรมสัมนาถือเป็นการระดมความคิดเท่านั้นและถือได้ว่าเป็นเสรีภาพที่ขอสนับสนุน แต่การนำผลการสัมนาออกเผยแพร่ถือว่ายังไม่ถูกต้อง เพราะมันยังเป็นแค่ภาพที่ยังไม่จัดระบบ แม้แต่การศึกษายังไม่เริ่มต้นเลยเพียงแต่อยู่ในขั้นต้อนการมองภาพของปัญหาเท่านั้น แต่ปัญหาแท้จริงยังไม่รู้แน่ๆจากการสัมนา แต่เพียงได้เค้ารางเท่านั้น การนำความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมนามาเผยแพร่ของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน นักวิชาการต้องออกมาชี้แจงเสมอว่านี้ไม่ใช่ปัญหาแท้จริงเพียงแต่เป็นการมองปัญหาของแต่ละบุคคลเท่านั้น แล้วมหาลัยต้องรีบดำเนินการจัดให้มีการศึกษาปัญหาอย่างหลากหลาย อย่างนี้จึงน่าจะเรียกว่าเสรีภาพทางวิชาการ ส่วนความคิดที่แตกต่างก็เช่นกัน คิดได้แต่ต้องไม่เอาออกมาโจมตีกัน มาจัดกลุ่มจัดพวกอันนี้ไม่น่าจะเป็นความคิดที่แตกต่างแต่มันเป็นความแตกแยกของสังคมนักวิชาการต้องตระหนักหน่อยนะ ถ้าความคิดเห็นที่แตกต่างควรมีในวงสัมนาเท่านั้น และในนั้นก็ต้องมีข้อสรุปแต่ไม่ใช่การตัดสินผิดถูกในการตัดสินความคิดเห็นที่แตกต่าง ต้องมีการระบุข้อดี และข้อด้อยของแต่ละความคิดตามเหตุผลของการเสนอความคิด ผมอยากให้มหาลัย พยายามศึกษา เรื่องเสรีภาพทางวิชาการ กับ ความโง่เขลาทางวิชาการ และ ความคิดแตกต่าง กับความคิดเห็นที่แตกแยก ให้ดีด้วยนะครับ มหาวิทยาลัยจะได้อยู่แนวหน้าในระดับโลกกับเขาบ้าง และสังคมจะดีขึ้นกว่านี้ถ้าอาจารย์ของมหาลัยไม่ออกมาเดินขบวนประท้วงเพราะเป็นการแสดงออกของความด้อยความคิดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท