ชีวิตที่พอเพียง 3955. วิธีคิดที่เอื้อต่อการพัฒนา



            หนังสือ Liminal Thinking : Create the Change You Want by Changing the Way You Think (2016)  บอกหลักการ ๖ ข้อ เรื่องความเชื่อ   และวิธีปฏิบัติ ๙ ข้อ    เพื่อเปลี่ยนวิธีคิด     สู่การคิดอยู่ในพื้นที่ หรือดินแดน หรือชายขอบ ของความเชื่อแบบใดแบบหนึ่ง     โดยเข้าใจว่า ความเชื่อในความจริงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นมายา    เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นเองในใจของเรา    ไม่ใช่ของจริงแท้    ที่เรียกว่า liminal thinking  

อ่านหนังสือเล่มนี้แบบผ่านๆ เพื่อจับใจความแล้ว     ผมบอกตัวเองว่า นี่คือวิธีคิดแบบอยู่บนฐานความเชื่อแบบ  “เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง”    สำรองพื้นที่ไว้สำหรับความเชื่อแบบอื่น ที่มีโอกาสประสบและเข้าใจในโอกาสข้างหน้า    ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป  

เครื่องมือเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่ใช้ง่าย และได้ผลชะงัดคือ Double-loop learning    ก็มีการเอ่ยถึงในหนังสือเล่มนี้    เป็นการใช้ผลของการปฏิบัติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็น feedback กลับไปท้าทายสมมติฐานหรือความเชื่อ    เพื่อเปลี่ยนความเชื่อ    ทรงพลังกว่า Single-loop learning ที่ใช้ผลของกิจกรรมเป็น feedback กลับไปปรับปรุงเฉพาะวิธีการปฏิบัติตามสมมติฐานเดิม    จะเห็นว่า หากเรามีวิธีการเรียนรู้ ในการทำงานเดียวกัน คนเราเรียนรู้ได้ลึกกว่ากัน    เพราะคนหนึ่งอยู่ใน comfort zone    อีกคนหนึ่งอยู่ใน liminal zone 

ที่จริง หลักการเรียนรู้สมัยใหม่  ก็แนะนำให้ครูจัดพื้นที่เรียนรู้ให้ผู้เรียนอยู่ในพื้นที่แห่งความขัดแย้งไม่เห็นพ้อง (tension & dilemma)    ดังในเว็บไซต์ OECD Learning Compass2030    ที่มิติสำคัญของการเรียนรู้คือการได้ปฏิบัติ ในลักษณะที่มีความรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น   

ที่น่าสนใจคือ ในบทแถมตอนท้าย The Roots of Liminal Thinking    ที่เขาบอกว่ามีรากมาจากศาสนาเชน และพุทธ    โดยเฉพาะนิกายเซน      

บันทึกนี้ และบันทึกที่จะลงใน blog ThaiKM ในวันศุกร์ทุกศุกร์ต่อจากนี้ไปอีกหลายเดือน    จะเป็นบันทึกจากการฝึกเขียนจาก critical reflection จากการอ่านหนังสือแบบอ่านเร็ว    ใช้เฉพาะหัวข้อ และ keywords ในหนังสือ เป็นตัวกระตุ้น    ไม่ได้อ่านสาระในหนังสือโดยละเอียด    เพราะมีหนังสือให้อ่านจำนวนมาก    

ขอขอบคุณ นพ. เนตร รามแก้ว ที่ส่งหนังสือเล่มนี้มาให้จากเยอรมนี  

วิจารณ์ พานิช

๔ เม.ย. ๖๔   


หมายเลขบันทึก: 690585เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2021 18:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2021 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท