ทำไมใคร ๆ ไม่อยากอยู่เมืองไทย อยากย้ายไปอยู่เมืองนอก...


สืบเนื่องจากเมื่อวานได้เห็นท่านคุณหมอวิจารณ์ เห็นบันทึกเรื่องนี้

มหาวิทยาลัยไทยกับปรากฏการณ์ที่คนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากอยากย้ายประเทศ วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ https://www.gotoknow.org/posts...

จึงได้คิดต่อและเขียนออกมาได้ข้อความดังนี้




ช่วงนี้ได้เห็นได้ยินหัวข้อข่าวที่กำลังมีมากในสื่อช่องต่าง ๆ เกี่ยวกับการอยากย้ายประเทศของคนไทย จึงทำให้กลับมาย้อนคิดวิเคราะห์ว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ ๆ ถึงอยากย้ายจากประเทศไทยไปอยู่ประเทศอื่น




หากย้อนกลับไปสมัยเรียนวิชาองค์การและการจัดการ หรือวิชาจิตวิทยาเบื้องต้น เราก็จะได้เรียนรู้เรื่อง Generation X Generration Y และผู้หลักผู้ใหญ่ในรุ่น Baby Boomer ถ้าหากพูดกันจริง ๆ คนในทุกรุ่นตั้งแต่ Baby Boomer ค่านิยมที่อยากที่จะย้ายไปอยู่ต่างประเทศก็มีกันมานานแล้ว แม้แต่ในคนในครอบครัวของข้าพเจ้าเองก็ย้ายไปลงหลักปักฐานอยู่ต่างประเทศ รวมถึงข้าพเจ้าเองก็เคยลาออกจากงานเพื่อวางแผนไปทำงานอยู่กับป้า ซึ่งเปิดร้านอาหารอยู่ในต่างประเทศ





มองดูตัวเราแล้วสะท้อนความคิดของคนทั่ว ๆ ไป... 

ทำไมตอนนั้น (ปี พ.ศ.2548) ลาออกจากงานสอนซึ่งเป็นงานประจำในมหาวิทยาลัย แล้วอยากไปทำงานร้านอาหารในต่างประเทศ 

ถ้าคิดจริง ๆ แล้วก็เห็นว่า น่าจะดีกว่าอยู่เมืองไทย 

ดีกว่าอย่างไร ก็คือ รายได้ดีกว่า พูดง่าย ๆ คือ ได้เงินเยอะกว่า

อันนี้ไม่ได้คิดถึงเรื่องตำแหน่งทางสังคม ที่ลาออกจากอาชีพอาจารย์ในเมืองไทย แล้วต้องไปเป็นเด็กล้างจานในเมืองนอก

ตอนนั้นไม่ได้คิดจริง ๆ เพราะยศ ตำแหน่ง อะไรต่าง ๆ ถูกมองข้ามไปก็เพราะว่าเด็กล้างจานได้เงินค่าตอบแทนมากกว่าการทำงานด้านวิชาการในเมืองไทย




ใคร ๆ ก็ไปกัน...

ใช่... คนเรา ทำอะไรก็ทำตามกัน ค่านิยมของสังคมทำให้เราเดินไปตามกระแสของสังคม โดยที่บางครั้งก็ไม่รู้ว่าเราเดินไปทำไม 

ถามจริง ๆ ว่า อยู่เมืองไทยเรามีความสุขไหม มีความสุขสิ...

ย้อนถอยหลังกลับไปหน่อย ตอนช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตตอนที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นเราไปเรียนเปียโนในสถาบันดนตรี สยามกลการ และสอบผ่านหลักสูตรมาได้ประมาณหนึ่ง ซึ่งสามารถนำไปยื่นขอโควต้าในคณะที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยลำดับต้น ๆ ของเมืองไทยได้

แต่ทว่า เราไม่ไป เพราะมหาวิทยาลัยที่จะไปนั้นอยู่ "กรุงเทพฯ"

ใช่ เราไม่ชอบอยู่กรุงเทพฯ ตอนเด็ก ๆ ช่วงชีวิตชั้นประถมศึกษา เราเคยไปเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งก็รู้ว่าเป็นชีวิตที่ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนอยู่หลายอย่างหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาเรื่อง "รถติด"

มันก็โก้นะ ได้ไปเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง มหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่ถามว่า ความโก้เก๋เหล่านั้นทำให้เรามีความสุขไหม

ตอบว่า... ก็มีความสุขนะ ความสุขตอนที่ใคร ๆ มาถามแล้วเราได้อวด ได้คุย แต่ถ้าเมื่อเปรียบเทียบกับเวลาที่จะต้องฝ่าฟันปัญหาการจราจร เรื่องหอพัก ที่อยู่ ที่นอน ที่กิน ที่ต้องไปหาอยู่ในห้องเล็ก ๆ บนตึกสูง ๆที่อากาศภายนอกร้อนอบอ้าวแล้วล่ะก็ คงจะทุกข์ยากลำบากมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับความโก้เก๋ที่เวลามีคนมาถาม

ก็นั่นแหละ... ลูกหลานใครได้ไปเรียนในกรุงเทพฯ (สำหรับคนต่างจังหวัด) หรือสำหรับคนกรุงเทพฯ หรือคนต่างจังหวัด ถ้าใครได้ไปเรียนเมืองไทย ได้ไปทำงานเมืองนอก เขาก็คิดว่าโก้เก๋ และ "มีความสุข..."

โก้เก๋น่ะ โก้เก๋แน่นอน แต่ทว่ามีความสุขหรือไม่ ต้องถามใจคนที่เคยไปอยู่ดูว่า เขามีความสุขไหม...?

จะได้คำตอบหรือไม่ เราก็ต้องกลับมาใช้วิชาวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ในบทที่ 2 นั่นก็คือ เราต้องมานิยมศัพท์เฉพาะกับคำว่า "ความสุข" สำหรับชีวิตมนุษย์ที่ไปดำเนินอยู่ที่ต่างประเทศ







ความสุขคืออะไร?

หนึ่งล่ะ ความโก้เก๋ เวลาที่ใครมาถามเรา ถามญาติผู้ใหญ่ ว่าเราเรียนที่ไหน ทำงานที่ไหน ถ้าตอบว่าไปอยู่เมืองนอกล่ะก็ เท่ห์น่าดู

สอง สุขที่ได้ใช้ชีวิตโก้เก๋ อันนี้ก็ดูจากภาพที่เขานำเสนอผ่านมาตามสื่อโซเชียลต่าง ๆ จะ Facebook ก็ดี Instragram ก็ดี ว่าชีวิตดี๊ดีได้ไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ ได้ไปเดินทางรอบโลก

สาม สุขที่อยู่กับวัตถุเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าคนในประเทศเดิม ก็คือ เราได้ไปอยู่ในประเทศที่มีวิวัฒนาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า เพราะเทคโนโลยีอะไรใหม่เมื่อออกมา ส่วนใหญ่ก็จะเปิดตัวที่เมืองนอกก่อน และอีกสักระยะถึงจะนำเข้ามาสู่เมืองไทย

ดังนั้น การได้เสพ ได้โชว์ วัตถุต่าง ๆ ได้ไวกว่าคนอื่นก็ถือว่าเป็นความโก้เก๋อย่างหนึ่ง




เมื่อนิยามศัพท์เฉพาะมาสามข้อแรกนี้ ข้าพเจ้าจับคำซ้ำคำหนึ่งเกี่ยวกับนิยามความสุขว่าคือ "ความโก้เก๋"

นั่นน่ะสิ ความโก้เก๋คืออะไร สำหรับความคิดของข้าพเจ้านั้น ความโก๋เก๋ก็คือ การที่เราสามารถดีดตัวเองให้ได้สูงกว่าผู้อื่น

การดีดตัวเองนั้นสามารถดีดได้ร้อยพันแปดประการ

นับตั้งแต่เรื่อกายภาพ ตั้งแต่คนตัวสูงกว่า ก็โก้กว่า คนหุ่นดีกว่า ก็โก้กว่า คนหล่อคนสวยกว่า ก็โก้กว่า คนผอมก็รู้สึกดีกว่าคนอ้วน

แต่ถ้าเรามีขีดจำกัดด้านกายภาพที่ดีดตัวเองไม่ได้ เราก็ต้องหาเรื่องอื่นมาดีดตัวเองให้ดูสูงกว่าคนอื่น

และคนส่วนใหญ่ที่มีวิธีการดีดตัวเองได้ง่าย ๆ ก็คือ ดีดตัวเองด้วย "เงิน"

คนมีเงิน มีทองหยองใส่ ก็เดินเฉิดฉายไฉไล ได้ทั่วไปในสังคม

ดังนั้น เราจะเห็นปรากฏการณ์ที่ใคร ๆ ก็นับถือเงินเป็นพระเจ้า

ทุกคน ๆ ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่ง "เงิน"

แม้จะรู้ว่าคนนั้นเขาได้เงินมาอย่างไม่ถูกต้อง ขายยาเสพติด เป็นข้าราชการคอรัปชั่น เป็นนักการเมืองที่ซื้อเสียง ทำธุรกิจแบบเห็นแก่ตัว แต่ทุกอย่างสามารถถูกปิดถูกบังได้ด้วย "เงิน"






คนรวยอะไรก็ไม่ผิด คนจนทำอะไรก็ผิดไปหมด

ดังนั้นจึงกลายมาเป็นปรัชญาคู่ชีวิตของคนในสังคมที่ว่า "ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป"

เพราะคนทำดีมันไม่โก้ ไม่เก๋ คนชั่วทำเลวแต่มีเงินกลับโก้เก๋ และได้รับการยอมรับจากสังคม

เราคาดหวังจากการทำความดีว่า เมื่อทำแล้วต้องรวย ต้องได้เงิน

ด้วยเหตุนี้เอง ความคิดของคนในสังคมตั้งแต่ Generation X จนถึง Y จึง No แคร์ No สน เรื่องผิดเรื่องถูก ขอให้ลูกให้หลานฉัน "รวย" ก็พอ

ดังนั้นวิธีการง่าย ๆ ไปอยู่เมืองนอกสิ

เพราะไปถึงเราก็รวยเลย รวยง่าย เพราะแค่วัดจากอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา ที่เราไปทำงานล้างจานได้แต่ละวัน เราก็รวยกว่าพนักงานหรือข้าราชการประจำในเมืองไทยแล้ว






คนเราจึงขวนขวายที่จะไปทำงานในต่างประเทศ

นับตั้งแต่ผู้ใช้แรงงาน ที่ต้องทิ้งครอบครัว ทิ้งบ้าน ทิ้งลูก เพื่อไปเป็นแรงงานแบกหามในต่างประเทศ

งานบ้านเราก็มีทำไมไม่ทำ เพราะทำงานบ้านเรามันไม่โก้เก๋ไง

ก็แบกหามเหมือนกัน ก่ออิฐ อ๊อกเหล็กเหมือนกัน มันจะโก้เก๋กว่าอย่างไง..?

มันโก้เก๋กว่าก็เพราะว่ามันได้เงินมากกว่าไง เวลาไปคุยกับใคร ๆ ว่าอยู่เมืองไทยได้แค่แรงวันละสองสามร้อย กับอยู่เมืองนอกได้เงินวันละเป็นพัน เดือน ๆ นึงได้เงินเดือนเป็นแสน มันก็ต้องโก้เก๋กว่าแน่นอน

กลับมาลองย้อนคิดดู ถ้าหากเราทำงานประจำในเมืองไทย เราทำอาชีพใด เป็นเวลานานเท่าไหร่ เราจะได้เงินเดือนละเป็นแสน

ถ้าเป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างของรัฐในหน่วยงานราชการ เงินเดือนของอธิบดี ซี 9 ซี 10 ซี 11 ก็น่าจะยังไม่ถึงหนึ่งแสนบาทต่อเดือน แล้วกว่าเราจะก้าวไปได้ถึงตำแหน่งข้าราชการชั้นสูงขนาดนั้น ส่วนใหญ่ก็ต้องบรรจุเป็นข้าราชการกันอย่างน้อยยี่สิบ สามสิบปีขึ้นไป โน่นแหละ บางคนเหลืออีกไม่กี่ปีจะเกษียณ ถึงจะได้ซี ได้ยศสูงขนาดนั้น






ดังนั้นวิธีลัดแห่งความโก้เก๋ คุณก็ไปอยู่เมืองนอกสิ

ไปทำงานร้านอาหาร หรือเป็นช่างทำงานตามบ้าน เดือน ๆ หนึ่งคิดเฉพาะรายรับ คุณก็ได้เงินมากกว่าหนึ่งแสนบาทแน่นอน

ไม่รวมถึง คุณจะมีสิทธิใช้รถหรู ๆ จะเป็น Benz Volvo BMW หรือจะเป็นรถค่ายอเมริกัน ก็สามารถหาซื้อมาถ่ายรูปโชว์ได้ ก็เพราะราคารถเมืองนอกกับเมืองไทย แตกต่างกันหลายเท่า

อยากจะไปร้านอาหารหรู ๆ ไปถ่ายรูปคู่กับอนุเสาวรีย์ระดับโลกก็ไปได้ เพราะสร้างความโก้เก๋ ว่าเราอยู่ใกล้เมืองศิวิไลซ์ ดีกว่าจะให้จมปรักอยู่ในบ้านป่า (เมืองเถื่อน)

คนที่ถ่ายรูปใส่กางเกงม่อฮ่อม กางเกงเล เอาผ้าขาวม้าคาดพุง ทำงานอยู่ในไร่ ในสวน จะไปโก้เก๋เท่ากับคนที่ใส่สูทดี ๆ คู่กับรถหรู ๆ ได้อย่างไร

นี่แหละ นิยามความสุขของคนที่นิยมหรือติดอยู่กับความโก้เก๋






แค่นี้เองใช่ไหม อาจจะมีปัจจัยหรือเหตุผลอื่น ๆ อีกมากมาย แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับการตีค่า ตีราคาความสุขของแต่ละคน

ระบบการศึกษา ระบบสื่อสารมวลชนของโลกกว่าห้าสิบปีที่ผ่านมานั้น สอนให้เราไปวิ่งหาความสุขจากภายนอก วิ่งตามฝัน วิ่งตามวัตถุ เพื่อไปหาความสุขในที่ที่ห่างไกล

การวิ่งหาความสุขจากนอกตัวนั้น ก็เหมือนกับเราวิ่งตามตะครุบเงา หรือเหมือนกับดื่มน้ำผึ้งที่ผสมยาพิษ น้ำผึ้งมันก็มีรสหอม รสหวานอยู่นะ แต่เมื่อดื่มไปแล้ว ยาพิษนั้นก็จะค่อย ๆ กัดกินชีวิตของเราไปอย่างไม่รู้ตัว

กัดกินอย่างไร..? ดูตัวอย่างง่าย ๆ อย่างเป็นรูปธรรมก็คือ "มะเร็ง"คนเดี๋ยวนี้เป็นโรคมะเร็งกันมาก ก็เพราะว่าต่างคนก็ต่างพากันวิ่งหาความสุขที่มีอยู่อย่างกระจุก โดยทุก ๆ วันต้องกลิ้งเกลือกอยู่บนความทุกข์ที่กระจัดกระจายอยู่ทุกหนทุกแห่ง

เราทุกข์ตลอดทั้งวันทั้งคืน ทั้งเดือนทั้งปี อยู่บ้านก็ทุกข์ ไปทำงานก็ทุกข์ เพราะรอความสุขตอนสิ้นเดือนที่จะได้เงิน หรือรอความสุขตอนสิ้นปีที่จะได้ไปท่องเที่ยวตามที่ได้วาดฝันวันแห่งความสุขไว้ มีความสุขสามวันเจ็ดวัน แล้วกลับมาทุกข์เพื่อเก็บเงินต่ออีกสามร้อยหกสิบวัน หมุนเปลี่ยนเป็นวังวนแห่งความสุขจากความฝันจนวันตาย...



นี่แหละ ถ้าใครอยากไปเมืองนอกแล้วไปหาความสุข ก็ต้องลองคิดสัดส่วนแห่งความสุขในทุก ๆ วินาที

ความสุขกับความทุกข์ในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปีนั้นสิ่งใดมีมากน้อยกว่ากัน

ถ้าไปเมืองนอกมีความสุขมากกว่าแล้วก็ไป ถ้าหากอยู่เมืองไทยมีความสุขมากกว่าก็อยู่

สุดท้ายทุก ๆ อย่างเราก็ต้องย้อนกลับมาดูว่า "ความสุขของเรานั้นอยู่ที่ใด..."

หมายเลขบันทึก: 690523เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2021 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2021 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท