พุทธเศรษฐศาสตร์ : อุปสงค์เพียงพอในวันนี้ เพื่อให้เกิดมีอุปทานในวันหน้า


เช้าวันนี้แม่เก็บเห็ดได้สองกาละมังกาละมังแรก เป็นเห็ดดอกเล็กหลาย ๆ ดอกรวมกันเป็นหนึ่งกาละมังส่วนอีกกาละมัง มีดอกเดียว และเป็นดอกใหญ่ ซึ่งแม่บอกว่า ดอกใหญ่นี้จะขยำและโรยทั่วไป เพื่อให้เกิดเป็นเห็ดทั้งดอกเล็ก ดอกกลาง ดอกใหญ่ในอนาคต...

เห็ดเท่ากาละมัง กับ เห็ดหนึ่งกาละมังการวางแผนเป็นสิ่งที่สำคัญ...

ถ้าหากเราคิดแต่ที่จะกินจะใช้ในปัจจุบัน อนาคตเราก็ไม่มี...



--------------

ทุกวันนี้ที่เห็นว่าแม่ของข้าพเจ้าเก็บเห็ดได้ทุกวัน ก็เพราะว่าเป็นรางวัลจากความพากเพียรในหลาย ๆ เดือนก่อนนั่นเอง 

การวางแผน การคิด ทำให้ชีวิตของเราก้าวเดินอย่างมั่นคงเช่นเดียวกันกับการกินการใช้ปัจจัย ๔ ทั้งหลาย 

ถ้าหากเราคิดว่า กว่าจะปลูกต้นไม้เมื่อไหร่จะได้กินลูก ปลูกผักเมื่อไหร่เราจะได้กินใบ เราคิดอย่างนี้แล้วเมื่อไหร่เราจะได้ลงมือ เพราะเรามัวแต่คิดไปคิดมา นอกจากต้องใช้เวลาในการคิดแล้ว ยังแถมมีความท้อแท้สิ้นหวังเกิดขึ้นในใจอีกด้วย

ดังนั้น การวางแผนเรื่องอนาคต ขอให้เราคิดแล้วทำ มีสองอย่างนี้เท่านั้นคือ "คิดกับทำ" แล้วให้ตัดความคาดหวังออกจากจิตจากใจ 

เพราะถ้าเรามีความคาดหวังเมื่อไหร่ ความท้อแท้ ความสิ้นหวังก็จะตามมา 

ขอเพียงเราตั้งหน้า ตั้งตาทำ รางวัลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น ย่อมเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน 

--------------

คนเราบางครั้ง เวลามีอะไรใหญ่ ๆ โต ๆ โก้ ๆ หรู ๆ ดี ๆ ก็จะกินจะใช้อย่างเต็มที่ในวันนี้ หรือไม่ก็เก็บของโต ๆ ใหญ่ ๆ ดี ๆ ไว้ให้ตัวเอง ส่วนอันที่เล็ก ๆ ไม่ค่อยจะดีถึงจะเอาไปให้ ไปทานแก่คนอื่น

ยกตัวอย่างอย่างเห็ดผึ้งนี้นั้น ถ้าแม่เจอเห็ดดอกใหญ่ ๆ แม่ก็จะเอาใบไม้คลุมไว้ รอให้ใหญ่ เพื่อให้ย่อยสลายไปตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง หรือปล่อยให้ใหญ่ให้โตอย่างสุด ๆ แล้วนำมาขยำเพื่อขยายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ต่อไป

ที่แม่ทำได้เช่นนี้ เพราะเราตัดวงจรเรื่องการค้าการขายออกไป เราไม่ได้หวังว่าจะเอาเห็ดดอกใหญ่ไปขายเพราะจะได้น้ำหนักเยอะ ๆ ซึ่งจะตามมาด้วยเงินมาก ๆ 

แม่ขยายพันธุ์ออกไปก็ไม่ได้หวังไว้กินเอง แม่เก็บไว้ให้ลูก ๆ เพราะลูก ๆ แม่เยอะ ลูก ๆ จากที่นั่นที่นี่ต่างก็แวะเวียนมาเยี่ยม มาเยียน มาแวะ มาหา หรือไม่ได้มาแม่ก็จะฝากเห็ดไปให้

น้ำใจเป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยากเลยสำหรับผู้ที่ตัดวงจรของเงิน หรือระบบเศรษฐกิจกระแสหลักออกไป

ถ้าหากเราแทนค่าสิ่งใดด้วยเงินแล้ว เราก็ต้องรู้สึกเสียดาย

อย่างเช่นถ้าคนภายนอกมาเห็นเห็ดที่แม่เก็บได้ ส่วนใหญ่ก็จะพูดว่า ถ้าไปขายนี้ได้กิโลละสี่ห้าร้อย แล้วแม่เก็บเห็ดบางวันได้เกือบสิบกิโล โอ้โห นี่ถ้าไปขายได้วันละสี่ห้าพัน... แต่ทว่า เมื่อเราไม่คิดเรื่องเงิน เรามีชีวิตเพียงพอแค่อยู่ได้ หุงข้าววันละหม้อ มีกับข้าววันละจานสองจาน ผัดเห็ด ไข่เจียว น้ำพริก ผักต้ม แค่นี้ชีวิตก็อยู่ได้ แล้วส่วนที่มากเกินเราก็แบ่งไว้เพื่อให้ เพื่อให้ และเพื่อให้ นี้คือน้ำใจที่หลั่งไหลออกมาจากการตัดอุปสงค์ส่วนเกินคือตัดกิเลสออกไป เหลือไว้เพียงอุปทานเท่าที่ร่างกายต้องการ



--------------

พุทธเศรษฐศาสตร์ (ฺBuddhist Economics) สอนให้เรารู้จักคิดตามความเป็นจริง รู้จักพื้นฐานธาตุแท้แห่ง อุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงมี เมื่อมีการทำ ผลแห่งการกระทำย่อมตามมา...

รู้จักกิน รู้จักใช้ในวันนี้ คือ ตอบสนองต่ออุปสงค์ หรือความอยากของตนเองเท่าที่ร่างกายพออยู่ได้ แล้วเผื่อแผ่เจือจานเพื่อสร้างอุปทาน (Supply) สร้างเหตุสร้างปัจจัยไว้ในอนาคต เราย่อมมีกินมีใช้ พออยู่พอกิน สิ่งที่เหลือกินเหลือใช้ ก็วางแผนสร้างอุปทานต่อไปอย่างไม่รู้จักจบ จักสิ้น...

หมายเลขบันทึก: 690411เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2021 17:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2021 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท