การผจญภัยที่ทุ่งกะมัง ในวันหยุดสงกรานต์ เทศกาลโควิด-19 (EP.1)


ช่วงหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์  10-15 เมษายน 2564 ผมไม่ได้มีแผนที่จะเดินทางไปไหน ตั้งใจว่าจะไม่กลับภูมิลำเนา ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดในพื้นที่ขอนแก่น มีรายงานตัวเลขมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมจึง(แอบ)ตั้งใจว่าจะไม่กลับบ้าน... ในระหว่างนั้นเอง ก็มีกำหนดการงานบวชของน้องออโต้ ที่วัดไชยศรี บ้านสาวะถี (ฮูบแต้มสินไซ) จึงถือโอกาสไปร่วมปลงผมนาคในเช้าวันที่ 11 เมษายน คนไปร่วมงานไม่มาก มีเพียงญาติสนิทมิตรสหาย ทั้งด้วยสถานการณ์ของโควิด-19 ที่ต้องกระชับงานให้เล็กลง ลดการพบปะคนหมู่มาก และเป็นห้วงหยุดยาวที่หลายคนต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหรือกลับภูมิลำเนา ก่อนแยกย้ายกันกลับ หลังเสร็จพิธีปลงผมนาค พี่หน่อย สุมาลี สุวรรณกร ก็เอ่ยปากชวนว่า วันพรุ่งรุ่งเช้าหลังเสร็จพิธีบวชพระ จะพากันไปนอนค้างแรมที่ทุ่งกะมัง สนใจไปด้วยไหม ชวนเด็ก ๆ ที่หอพักไปด้วยก็ได้สักคนหนึ่ง จองบ้านพักที่อุทยานไว้แล้ว.... แหม ช่างประจวบเหมาะ ตอบแบบไม่ลังเลว่า “ไปครับ” .... แม้ว่าขณะนั้น จะยังจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าทุ่งกะมังอยู่ที่ไหนบนแผนที่โลก เพราะยังไม่เคยไป จำได้เพียงว่ามีทุ่งหญ้ากว่างใหญ่... บ่าย ๆ จึงส่งข้อความถามแม่หน่อยว่าต้องเตรียมอะไรไปบ้าง ... และได้ชวนคุณนทีให้เป็นผู้ร่วมทริป สักพักใหญ่ ๆ นทีบอกว่าไปครับแต่ชวนตุ้ยไปด้วยนะครับ ตุ้ยบอกโอเคแล้ว.... จึงได้ส่งข้อความไปบอกแม่หน่อยว่า เรา 3 คน จะไปร่วมทริปนี้ด้วย แม่หน่อยก็ตอบ “โอเค”

เช้าพรุ่งรุ่งขึ้น พวกเราก็ขนสัมภาระขึ้นรถไปร่วมงานบวชนาคออโต้ที่วัดไชยศรี บ้านสาวะถี จนเสร็จสิ้นการถวายภัตตาหารเพล และมื้อกลางวันของญาติโยมเสร็จ เราก็ออกจากวัดมุ่งหน้าไปคอนสาร ส่วนคันอื่น ๆ ก็กลับบ้านไปขนสัมภาระและเพื่อนร่วมทาง นัดหมายกันที่หน้าปากทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว (ทุ่งกะมัง)...ผมจึงมุ่งหน้าไปก่อนคันอื่น ๆ พาคุณนทีและคุณตุ้ย ออกเดินทางท่องโลก เป้าหมายแรกคือวัดเจดีย์ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เพื่อกราบพระพุทธรูปสำคัญ และถวายเทียนเล่มใหญ่ที่โมทฝากให้ทำบุญถวายวัด... จากนั้นแวะทักทายครอบครัวน้องกบที่ตลาดสี่แยกคอนสาร เลือกซื้อสินค้าสำหรับการดำรงชีพในป่า (ของกิน) แล้วเดินทางไปยัง “น้ำผุดทัพลาว” เมื่อไปถึงหน้าที่ทำการก็มีรั้วกั้น “ปิดให้เข้าชม” จึงกลับรถมุ่งหน้าไป “เขื่อนจุฬาภรณ์” แวะจุดชมวิวปากทางเข้าทุ่งกะมัง พักรถ พักคน สองหนุ่มดูตื่นเต้นกับวิวสวยงามและอากาศเย็นสบายในบ่ายวันนั้น ถ่ายรูปเก็บบรรยากาศกันพอสมควร ก็มุ่งหน้าไปสันเขื่อน เพื่อชมวิว ถ่ายรูป แล้วออกจากเขื่อนกลับมาจอดรถรอคณะทัวร์ที่จุดชมวิวปากทางเข้าทุ่งกะมัง....คณะทัวร์ 3 คันมาถึง ติดต่อเข้าอุทยาน เราก็มุ่งหน้าผ่านป่า 25 กิโลเมตร จึงถึงที่พัก... ผมตื่นเต้นมากที่เกือบตลอดเส้นทางไม่มีคลื่นโทรศัพท์ และที่สำคัญได้รับแจ้งว่าไฟฟ้าจะมีให้ใช้ถึงแค่ 21.00 น. เราจอดรถเสร็จ มองไป โอ้โห ฝูงกวางเต็มไปหมด ชอบ ชอบ ตื่นเต้น  แต่ก็มาทราบภายหลังว่าคือ “เนื้อทราย” ไม่ใช่กวาง จึงเดินวนรอบ ๆ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์อันสวยงาม จนเย็นย่ำ ก็ช่วยกันหุงหาอาหาร รับประทานมื้อเย็น พร้อมกับวงสนทนาอย่างสนุกสนาน พูดคุยในหลาย ๆ ประเด็น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม โควิด-19 และสัตว์ป่า ระหว่างที่อาทิตย์อัสดง ฟ้ามืดลง หลอดไฟหน้าบ้านพักติด ๆ ดับ ๆ จึงตัดสินใจจุดเทียน นั่งสนทนากันยาว ๆ ก็มีสัตว์ป่าไต่ต้นไม้มาหน้าบ้าน ใช้ไฟฉายส่องจึงรู้ว่าคือ “อีเห็น” 2 ตัว... สักพักได้ยินเสียง “สุนัขจิ้งจอก” ร้องให้ได้ยินและสร้างความตื่นเต้นว่ามาถึงป่าทุ่งกะมังจริง ๆ และทำให้เราได้ความรู้เรื่อง “หมาป่า” และการใช้คำเรียก “หมาใน” กับ “สุนัขจิ้งจอก” เพื่อจำแนกชนิด อันมีสาเหตุมาจากพฤติกรรม... งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อไฟฟ้าถูกดับลง พวกเราจึงแยกวงไปพักผ่อน เอนกายลงนอนท่ามกลางธรรมชาติอันเงียบสงบ อากาศเย็นสบายปะทะกายในค่ำคืนอันมืดมิด

คุณนที สุมาลัย เด็กชายผู้ไม่เคยไปนอนพักค้างแรมในพื้นที่อุทยาน (ป่า) เล่าถึงประสบการณ์ที่ทุ่งกระมังในครั้งนี้ว่า “การไปทุ่งกะมังครั้งนี้ เป็นการได้ออกไปพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ บรรยากาศดีปราศจากมลพิษ นอกจากนี้ยังปราศจากสัญญาณโทรศัพท์ บางทีก็ขัดใจวัยรุ่นมากที่ไม่ได้อัพสตอรี่ไอจี ต้องรอจนกว่าจะกลับ แต่ก็เป็นการพักผ่อนจริง ๆ ไม่มีเรื่องราวภายนอกมาเป็นเรื่องให้คิดหนักใจ อีกอย่างก็เป็นการหนีโควิดด้วย พอไปถึงระยะทางจากทางเข้าไปทุ่งกะมังเข้าป่าลึกมาก แต่ก็คุ้มค่าเพราะเห็นเนื้อทราย กวาง อยู่เป็นฝูงใหญ่มาก บรรยากาศเงียบอย่างบอกไม่ถูก บางทีเเอบคิดว่ากลัวกวางจะเหงาเลยเข้าไปวิ่งไล่ซะเลย 555 เป็นประสบการณ์ที่ดีเพราะเราได้ร่วมเดินทางกับผู้ใหญ่เป็นการนั่งร่วมวงพูดคุยกับผู้ใหญ่ที่ถือว่าเข้ากันได้ดี สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณอาจารย์ยอดคนขับรถที่มักมอบประสบการณ์ดี ๆ ให้เสมอมาครับ”

บันทึกการผจญภัยที่ทุ่งกะมัง ตอนที่ 1 ขอบันทึกยาว ๆ ส่วนตอนนี้ 2 จะเป็นอย่างไรนั้น ..... ก็ช่าง “กะมัง”

16 เมษายน 2564

หมายเลขบันทึก: 690069เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2021 16:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2021 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท