ปัญหาสิ่งแวดล้อมหมอกควันภาคเหนือตอนบน


ปัญหาสิ่งแวดล้อมหมอกควันภาคเหนือตอนบน

9 เมษายน 2564 
 

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

ค่าเฉลี่ยมาตรฐานของฝุ่นละอองในอากาศ (PM)

มองไปบนฟ้า ถ้าเห็นเป็นหมอกขาว แต่ไม่รู้ว่าเป็นหมอกอะไร ทั้งที่ไม่ใช่หน้าหนาว นั่นคือ “หมอกฝุ่นพิษ” หรือ ฝุ่นจิ๋ว ที่เรียกย่อว่า PM 2.5 (Particulate Matters : PM)   

องค์กรอนามัยโลกหรือ “WHO” ได้กำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองในอากาศต่อปีไม่เกิน 10 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และต่อวันอยู่ที่ระดับไม่เกิน 25 ไมโครกรัม/ลบ.ม. เป็นฝุ่นขนาดเล็กมากๆ (PM)

เมื่อปีที่แล้วผู้เขียนได้นำเสนอบทความเรื่อง “ปัญหาฝุ่นพิษเป็นวาระแห่งชาติ” ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็น “วาระแห่งชาติ” [2] ให้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่เกินกว่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. หรือ มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) ค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศที่สูงเกินกว่า 100 ในหลายพื้นที่ และ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติดังกล่าวแล้ว

ผลการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ได้กำหนดแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เรื่อง “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยมอบอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดบูรณาการแก้ปัญหาช่วงค่าฝุ่นวิกฤต พร้อมการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ผลการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ได้กำหนดให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ ผลการประชุมครั้งที่ 7/2563 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ได้เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติฯ พ.ศ. 2563 นี่เป็นสาระสำคัญๆ การดำเนินงานของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

ปัญหาการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือพลังงานฟอสซิล

ตัวการสำคัญผลิตพลังงาน 86% คือการเผาผลาญ “เชื้อเพลิงฟอสซิล” หรือ “เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์” (Fossil fuel) [3] คืออินทรีย์สารใต้พื้นโลกที่เกิดจากการทับถมกันของซากพืชซากสัตว์ ที่ทับถมจมอยู่ใต้พื้นพิภพใต้ทะเลลึก เป็นเวลานานหลายพันล้านปี โดยเฉพาะการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ หินน้ำมัน ทรายน้ำมัน ซึ่งเป็นพลังงานสิ้นเปลือง (Conventional Energy) หรือ พลังงานที่ใช้แล้วหมดไป  ก่อให้เกิดก๊าซพิษต่างๆ ได้แก่ CO2 , CO , SO2 , NO2 ที่เป็นสาเหตุของ “ภาวะโลกร้อน” และแล้งหนัก ทำให้ภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลว

โลกมีความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจสูงขึ้น เพราะการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร โดยเฉพาะเชื้อเพลิงหลัก 3 ชนิด คือ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน จากข้อมูลปี 2011 การบริโภคน้ำมันดิบทั่วโลก ปีละ 84,077,000 บาร์เรล ก๊าซธรรมชาติปีละ 2,940.4 พันล้านลูกบาศก์เมตร และถ่านหินปีละ 3,278.3 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ จากการบริโภคในปริมาณนี้คาดการณ์ว่าน้ำมันดิบจะหมดไปจากโลกในปี พ.ศ. 2582 ก๊าซธรรมชาติ ปี พ.ศ. 2604 และ ถ่านหิน ปี พ.ศ. 2760

ต่อไป “พลังงานทดแทน” หรือ “พลังงานทางเลือก” (Alternative Energy) ในประเทศที่จะใช้ทดแทนพลังงานจากฟอสซิลที่หมดไปที่สำคัญแยกตามแหล่งที่มาของพลังงานประกอบด้วย (1) “พลังงานทางเลือกฟอสซิลอื่น” คือ พลังงานที่ได้จากแหล่งฟอสซิลอื่น ที่ไม่ใช่น้ำมัน ได้แก่ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือยูเรเนียม ซึ่งมีแต่ใช้แล้วจะหมดไป และ (2) “พลังงานหมุนเวียน” (Renewable Energy) คือ พลังงานที่ได้จากแหล่งที่สามารถผลิตหรือก่อกำเนิดพลังงานนั้นขึ้นมาเองได้ และยังหมุนเวียนนำกลับมาใช้ได้อีก มักเป็นพลังงานสะอาด และไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานคลื่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานเคมีจากไฮโดรเจน พลังงานชีวมวล พลังงานชีวภาพ พลังงานไบโอดีเซล พลังงานเอทานอล หรือ แก๊สโซฮอล เป็นต้น

สรุปรวมแล้ว “พลังงานทดแทน” (Alternative Energy) [4] หรือ พลังงานที่จะใช้ทดแทนเชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลัก ประกอบด้วย พลังงานชีวมวล (ไบโอแมส) ของแข็ง พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) เชิงไฟฟ้าและความร้อน พลังงานลม พลังงานน้ำ ขยะ เชื้อเพลิงชีวภาพของเหลว ก๊าซชีวภาพ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งหากมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถนำเอาพลังงานทดแทนเหล่านี้มาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้วจะสามารถแทนที่เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ทั้งหมด

ปัญหาฝุ่นหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน

มาปี 2563 นี้ลองสำรวจดูข่าว ปรากฏว่ามีปัญหาการเผาป่าซ้ำซาก โดยเฉพาะป่าเขาในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 9 จังหวัด ช่วงนี้ภาษาชาวบ้านเรียก “หน้าแล้งหรือฤดูแล้ง” ซึ่งเป็นฤดูที่ยาวนานก่อนที่จะเข้าสู่หน้าฝนประมาณเดือน มิถุนายน ซึ่งจะพบปัญหาฝุ่นหมอกควันที่มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ของทุกปี เพราะสภาพพื้นที่ที่เป็นภูเขาและเป็นแอ่งกระทะ โดยมีความเร็วและทิศทางลมที่มีผลต่อการสะสมของฝุ่นด้วย

จากสถิติย้อนหลัง 3 ปี [5] พ.ศ. 2561-2563 พบค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนอยู่ในภาวะวิกฤติมาก ปี 2561 มีค่าความเข้มข้นสูงสุด 118 ไมโครกรัม/ลบ.ม. จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนวันที่เกินมาตรฐาน 44 วัน ปี 2562 มีค่าความเข้มข้นสูงสุด 353 ไมโครกรัม/ลบ.ม. จังหวัดลำพูนมีจำนวนวันที่เกินมาตรฐาน 42 วัน ปี 2563 มีค่าความเข้มข้นสูงสุด 366 ไมโครกรัม/ลบ.ม. จังหวัดเชียงรายมีจำนวนวันที่เกินมาตรฐาน 57 วัน จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนวันที่เกินมาตรฐาน 54 วัน จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีจำนวนวันที่เกินมาตรฐาน 53 วัน และจังหวัดลำพูนมีจำนวนวันที่เกินมาตรฐาน 26 วัน และข้อมูลปัจจุบันล่าสุด ช่วงวันที่ 1 มกราคม- 31 มีนาคม 2564 (90 วัน) พบว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองมีความรุนแรงเกินมาตรฐานในจังหวัดเชียงใหม่ 75 วัน จังหวัดเชียงราย 54 วัน จังหวัดแม่ฮ่องสอน 39 วัน จังหวัดลำพูน 35 วัน

สภาพปัญหาหมอกควันจากการเผาป่า เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องมักนำมารวมกันกับปัญหาฝุ่นจิ๋ว หรือ ฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งในบริบทจริงๆ แล้ว เป็นคนละเรื่องเดียวกัน ไม่ควรนำมาปะปนกัน จนลืมไปว่า ต้นเหตุหรือสาเหตุหลักที่แตกต่างกันมาก เพราะ หมอกควันในเขาป่าเขาเกิดจากการเผาป่า การเผาในที่โล่ง การเผาพื้นที่การเกษตร ทั้งโดยเหตุจงใจ หรืออุบัติเหตุ ไฟป่า ก็ได้ แต่ ฝุ่นจิ๋ว ฝุ่นพิษ PM 2.5 นั้น มาจากทุกๆ สาเหตุ รวมทั้งการใช้ยวดยานพาหนะ ควันดำรถยนต์ เครื่องยนต์ดีเซล จากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาหญ้า เผาขยะ การหุงต้ม ร้านอาหาร ฯลฯ รวมทั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเสียจากการเผาผลาญน้ำมัน จากแหล่งฟอสซิล และฝุ่นที่พัดพามาจากแหล่งอื่นๆ เช่น หมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา, สปป.ลาว, กัมพูชา)

ประเด็นปัญหาหมอกควันไฟป่าภาคเหนือตอนบนนำไปสู่คดีปกครอง

ปัญหาเรื่องหมอกควันในภาคเหนือโดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน มีมานานมาก นานหลายปีแล้ว โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง นับมาจากช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ของทุกปี แต่ก่อนเจ้าหน้าที่โยนปัญหาไปให้เกษตรกรว่าเป็นผู้ก่อเหตุ โทษชาวเขา โทษชาวบ้าน นายพรานเผาป่าล่าสัตว์ พวกหาของป่า การครอบครองพื้นที่ การเผาในพื้นที่เกษตร ฯลฯ ในระยะหลังมาความรุนแรงของปัญหามีมากขึ้นและเหตุเกิดจากไฟไหม้ป่าซึ่งเป็นป่าในเขตอุทยานฯ และป่าสงวนแห่งชาติ ที่รัฐดูแล

แต่การบริหารจัดการปัญหายังทำโดยแก้ไขตามเหตุการณ์เฉพาะหน้า ไม่มีแผนรองรับใดๆ ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อป้องกันไม่มีเหตุไฟไหม้ป่าที่เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาหมอกควันดังกล่าว นอกจากนี้ปัญหาหมอกควันยังถูกเจ้าหน้าที่รวมเป็นปัญหา PM 2.5 หรือ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนโดยข้อเท็จจริงฝุ่นละอองขนาดจิ๋วนั้น ไม่ได้เกิดจากหมอกควันทั้งหมด เพราะ PM 2.5 ซึ่งเป็นฝุ่นจิ๋ว ฝุ่นพิษ ที่ทำอันตรายต่อสุขภาพประชาชนมาก มาจากหลายสาเหตุ เหตุสำคัญหลักในเขตเมืองก็คือ การเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิงยวดยานฯ รวมทั้งการเผาผลาญต่างๆ ที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซพิษอื่นๆ อันเป็นสาเหตุที่เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่ถือเป็น “วาระสำคัญหนึ่งของโลก” (Global Agenda) ตามที่รองประธานาธิบดีอัล กอร์ (Al Gore) และ สาวน้อยเกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) รณรงค์เรียกร้อง

การแก้ปัญหาหมอกควันซึ่งมุ่งเน้นไปที่แก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนเป็นหลัก ทำให้การแก้ปัญหาหมอกควันจึงไม่ได้เน้นที่ต้นเหตุคือต้องทำให้ไฟป่าหมดไป โดยมีแผน มาตรการควบคุมดูแลที่เหมาะสม อย่างมีประสิทธิภาพ ตามขั้นตอนของกฎหมาย มิใช่ปล่อยปละละเลยให้เอกชน อาสาสมัคร NGO รณรงค์ดูแลก้นเอง เช่น กรณีเกิดข่าวดราม่านายฌอน [6] ในการระดมเงินช่วยอาสาสมัครสู้ไฟป่า ที่เป็นเพียงการตีข่าวแสวงประโยชน์ของกระแสโลกโซเชียลเท่านั้น ในขณะที่หน่วยงานของรัฐกลับเพิกเฉยในการตีข่าวรณรงค์แก้ไข

การแก้ปัญหาหมอกควันต้องทำให้ไฟไหม้ป่าหมดไปโดยการบังคับกฎหมายอย่างจริงจัง แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ท้องที่กลับไม่มีอำนาจเพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ โดย พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 [7] มาตรา 59 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่าท้องที่ใดมีปัญหามลพิษซึ่งมีแนวโน้มที่จะร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษได้”

หมายความว่าให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีประกาศเขตภัยพิบัติมลพิษในราชกิจจานุเบกษาเสียก่อนเจ้าหน้าที่ในท้องที่ จึงจะมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายได้ แต่ที่ผ่านมาปัญหาหมอกควันเกิดขึ้นทุกปี และรุนแรงขึ้นตามลำดับ ปีแล้วปีเล่า แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติชี้แจงแก้คำฟ้องว่า [8]คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสามารถเลือกใช้ (มีดุลพินิจ) มาตรการทางกฎหมายแก้ไขปัญหามลพิษ(หมอกควันฝุ่น) ตามความเหมาะสมได้หลายวิธี โดยไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจประกาศกำหนดเป็นเขตควบคุมมลพิษทุกครั้งในพื้นที่ที่มีปัญหามลพิษที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนฯ

ด้วยเหตุปัญหาหมอกควันที่เกิดต่อเนื่องมาหลายปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งขณะนี้มีความรุนแรงมากขึ้น เป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนในพื้นที่ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจึงต้องรีบมีประกาศเขตภัยพิบัติจากหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าฯ ทำได้อย่างคล่องตัว และมีงบประมาณมาสนับสนุนให้แก่เจ้าหน้าที่ในพื้นที่สามารถปฏิบัติการได้ตามแผน อย่างมีประสิทธิภาพ นี่เป็นที่มาของการฟ้องคดีคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ซึ่งศาลปกครองเชียงใหม่มีการพิจารณาไต่สวนฉุกเฉินแล้ว เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 [9] และศาลปกครองเชียงใหม่ได้นัดตัดสินอ่านคำพิพากษาในวันที่ 8 เมษายน 2564 [10] นี้

ตามคำฟ้องของนายภูมิ วชร เจริญผลิตผล ราษฎรอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตามคดีหมายเลขดำที่ ส.1/2564 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2564 [11] ถือเป็นคดีตัวอย่างที่น่าสนใจของประชาชนในพื้นที่มากๆ คอยติดตาม

กรณีศึกษาเปรียบเทียบในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างใช้กฎหมายหลายฉบับ

จากสารสนเทศของกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุว่า การเผาในที่โล่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมลพิษ PM 2.5 ดังกล่าว ซึ่งตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เรื่อง “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปี 2563 มาตรการหนึ่ง คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับผู้ที่กระทำการเผา โดยให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาศัยอำนาจตามกฎหมายควบคุมการเผาในที่โล่งในช่วงสถานการณ์วิกฤตฝุ่นละอองนี้

ในการควบคุม กำกับดูแล และเข้มงวดไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างเคร่งครัด ตัวอย่างประกาศจังหวัดนครราชสีมา ลงวันที่ 20 มกราคม 2564 [12] ในการบังคับใช้กฎหมายกับการเผาในที่โล่ง

ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายหรือการจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่ทำการเผาในที่โล่งของเจ้าหน้าที่ อย่างเช่น การเผาไร่นา ไร่อ้อย หรือเผาหญ้า เป็นต้น ส่วนมากที่เห็นจะเป็นการจับกุมตามความผิดใน 2 ข้อหา ได้แก่ (1) การก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ ตามมาตรา 25(4), 27 หรือ 28 และ 74 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 หากพบว่ามีผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ลักลอบทำการเผา เจ้าหน้าที่จึงเข้าทำการจับกุม ข้อหา ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศพื้นที่ควบคุมการเผาของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามมาตรา 28/1 และ มาตรา 74 กับ (2) การเผาริมถนน ตามมาตรา 130 และ 152 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 

นอกจากนี้ยังอาจมี ข้อหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งห้ามเผาของผู้อำนวยการท้องถิ่น ตามมาตรา 4, 29 และ 52 แห่งพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เพราะการเผาซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตฝุ่นละออง อันก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายของประชาชน ถือได้ว่าเป็นสาธารณภัยตามนิยาม หรืออาจโดนข้อหา “เผาจนเป็นอันตรายต่อผู้อื่นและทรัพย์ของผู้อื่น” ตามมาตรา 220 [13] แห่งประมวลกฎหมายอาญา ด้วย

กล่าวโดยสรุปคือ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ด้วยมาตรการควบคุมการเผานั้น จังหวัดและ/หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำการประกาศพื้นที่ควบคุมการเผาเสียก่อน ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่พบการเผาที่ใดในเขตควบคุม ก็สามารถจับกุมดำเนินคดีกับผู้เผาได้ทันที ในความผิดข้อหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศพื้นที่ควบคุมการเผา ซึ่งมีโทษทั้งจำคุกและปรับ เช่นนี้ จึงจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปได้อย่างเข้มข้นและมีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ของแผนปฏิบัติการ

ขอฝากเจ้าหน้าที่บุคลากร อปท. และข้าราชการส่วนภูมิภาคทุกฝ่าย ควรใส่ใจศึกษาแนวทางปฏิบัติ และข้อกฎหมายเพื่อการบังคับใช้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เรื่อง “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยเฉพาะการเผาป่า เผาหญ้า เผาขยะ เผาวัชพืช เผาในที่โล่ง ฯลฯ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Bhumi Wachara Charoenplidpol, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 9 เมษายน 2564, https://siamrath.co.th/n/234081

[2]หนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด ที่ มท 0624/ว7552 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2562 เรื่อง การป้องกันและลดผลกระทบจากกรณีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM2.5), http://122.155.1.141/site6/cms-download_content.php?did=32006  & แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”, กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กันยายน 2562, http://air4thai.pcd.go.th/webV2/download_book.php?bookid=35

[3]เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ (Fossil fuel) หรือ เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือแร่เชื้อเพลิงเป็นเชื้อเพลิงอันเกิดแต่ซากดึกดำบรรพ์ซึ่งได้แก่ไฮโดรคาร์บอนที่พบจากช่วงชั้นดิน ด้านบนสุดของเปลือกโลก : วิกิพีเดีย

คาดการณ์ว่าน้ำมันดิบจะหมดไปจากโลกในปี พ.ศ.2582 ก๊าซธรรมชาติ ปี พ.ศ.2604 และ ถ่านหิน ปี พ.ศ.2760
ดู สถานการณ์เชื้อเพลิงฟอสซิลและศักยภาพพลังงานทดแทนในประเทศไทย, โดย สืบพงษ์ พงษ์สวัสดิ์ ใน วารสารมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น, Vol. 5 No. 1 (2011): มิถุนายน 2554 - พฤศจิกายน 2554, https://so01.tci-thaijo.org/index.php/FEU/article/view/24849 

[4]“พลังงานทดแทน” กับ “พลังงานทางเลือก” เป็นคำเรียกที่มีความหมายใกล้เคียงกันมาก ในภาษาไทยมักใช้คำสับสนปนกัน

พลังงานทดแทน หมายถึง พลังงานที่ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ทั่วโลกนิยมใช้ในปัจจุบัน ทั้งนี้ พลังงานทดแทนแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

(1) พลังงานทางเลือก (Alternative Energy) คือ พลังงานที่ได้จากแหล่งฟอสซิลอื่น ที่ไม่ใช่น้ำมัน ได้แก่ ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ หรือยูเรเนียม ซึ่งมีแต่ใช้แล้วจะหมดไป

(2) พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) คือ พลังงานที่ได้จากแหล่งที่สามารถผลิตหรือก่อกำเนิดพลังงานนั้นขึ้นมาเองได้ และยังหมุนเวียนนำกลับมาใช้ได้อีก มักเป็นพลังงานสะอาด และไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานคลื่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานเคมีจากไฮโดรเจน พลังงานชีวมวล พลังงานชีวภาพ พลังงานไบโอดีเซล พลังงานเอทานอล หรือ แก๊สโซฮอล เป็นต้น

จากคำจำกัดความข้างต้น สรุปได้ว่า “พลังงานทางเลือก ถือเป็นพลังงานทดแทนประเภทหนึ่ง”

ดู “พลังงานทดแทน” กับ “พลังงานทางเลือก” ต่างกันอย่างไร, จาก วารสารชุมชนและวิชาการดอทคอม, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), 25 ตุลาคม 2554, https://www.scimath.org/article-science/item/2371-qq-qq

[5]คำชี้แจง (ค.3) ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ลงวันที่ 31 มีนาคม 2564, https://www.mediafire.com/file/4qodw47o0oo7h36/NatEnviCasePM25CM.pdf/file?

[6]สรุปประเด็นข้อสงสัยเงินบริจาคไฟป่า ‘ฌอน บูรณะหิรัญ’, โดย THE STANDARD TEAM, 29 มิถุนายน 2563, https://thestandard.co/sean-buranahiran-on-forest-fire-donations-issue-conclusion/

& สรุปดราม่า “ฌอน บูรณะหิรัญ” โดนแฉยับหลังชม “บิ๊กป้อม” สู่ปมเงินบริจาคดับไฟป่า 8 แสน, ไทยรัฐออนไลน์, 27 มิถุนายน 2563, https://www.thairath.co.th/news/society/1877803

[7]พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 รวมแก้ไข คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ แก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561, https://www.pcd.go.th/laws/พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ-ฉบับรวม-โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา/

[8]คำชี้แจง (ค.3) ของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดี) ลงวันที่ 31 มีนาคม 2564, อ้างแล้ว

[9]ตุลาการผู้แถลงคดีสรุปข้อเท็จจริงคดีหมายเลขดำที่ ส.1/2564,

https://www.mediafire.com/file/ko8ml7k47o27tuk/สรุปข้อเท็จจริงคดีหมายเลขดำที่ส.1-2564.pdf/file

[10]คำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ คดีหมายเลขดำที่ ส.1/2564 คดีหมายเลขแดงที่ ส.1/2564 วันที่ 8 เมษายน 2564, https://www.mediafire.com/file/wfyru3q8c3uwuk2/AdminEnviJudgeCMcourt8apr2564.pdf/file 

[11]คำฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, ลงวันที่ 15 มีนาคม 2564, https://www.mediafire.com/file/do9jnib74o84gmd/คำฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ.pdf/file

[12]ผู้ว่าโคราช สั่งจับตา 5 อำเภอ หวั่นเผาพื้นที่การเกษตร วาง 6 มาตรการเข้มงวด ควบคุม ฝุ่น PM2.5, สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์, 27 มกราคม 2564, https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG210127135928682

& ดู ประกาศจังหวัดนครราชสีมา ลงวันที่ 20 มกราคม 2564 เรื่อง การควบคุม กำกับดูแล และเข้มงวดไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างเคร่งครัด, https://www.facebook.com/localreformthailand/posts/3479688918806249/

[13]ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 มาตรา 220  ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้แก่ทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 218 ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 218



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท