ปรัชญาภควัทคีตา บทเพลงแห่งภควัน



ปรัชญาภควัทคีตา บทเพลงแห่งภควัน

เราที่เป็นชาวพุทธเมื่ออ่าน ภควัทคีตา อาจจะคลางแคลงใจ ในความใกล้เคียงกันบางตอนระหว่างพุทธธรรมกับฮินดูธรรม อันแสดงเอาไว้ในรูปของอนุศาสนกถาแห่งองค์กฤษณะ ซึ่งผู้เขียนก็รู้สึกเช่นนั้นในช่วงแรก แต่เมื่อระลึกถึงความเป็นจริงด้านกาลเวลา ที่หนังสือนี้ถูกแต่งขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับการก่อตัวของพุทธศาสนา ความคลางแคลงนั้นก็เป็นอันระงับไป เพราะเป็นธรรมดาอยู่เองที่ความคิดร่วมสมัยไม่ว่าจะยุคใดสมัยใดมักจะถ่ายทอดไปสู่กันและกันได้ง่าย

พระพุทธองค์เองเมื่อตรัสรู้ประกาศธรรมแล้ว ก็ทรงหยิบยกเอาหลักธรรมบางประการในลัทธิพราหมณ์ มาประยุกต์เข้ากับหลักธรรมของพุทธศาสนา การถ่ายทอดความคิดระหว่างกันนี้ไม่ถือว่าเป็นการลอกเลียนแบบ หรือเป็นสิ่งแสดงว่าใครดีใครด้อยกว่ากัน หากแต่เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของพัฒนาการด้านปัญญาของมนุษย์ ที่รู้จักรับและให้สิ่งอันเป็นแสงสว่างแก่กันและกัน หากขาดธรรมชาติส่วนนี้แล้วโลกจะพัฒนาได้ช้ากว่าที่เราเห็นนี้มาก เพราะเวลาที่มีใครบางคนแสดงทรรศนะว่า ภควัทคีตา ลอกความคิดบางอย่างมาจาก พุทธศาสนา หรือที่บางคนพยายามแสดงหลักฐานว่าภควัทคีตา เขียนขึ้นก่อนสมัยพุทธกาล ซึ่งความพยายามอันนั้นก็นำจะบ่งบอกถึงความประสงค์ได้ว่าต้องการข่มพุทธศาสนาให้ด้อยลง

จึงควรระลึกเสมอว่า หนังสือภควัทคีตาคือวรรณคดีแสดงปรัชญาฮินดูอันว่าด้วยโลก.จักรวาล, และความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตกับพระผู้เป็นเจ้า แก่นของงานอยู่ที่นี่ เรื่องปลีกย่อยอื่นๆ เช่น หน้าที่ของนักรบ, ธรรมชาติของคน, หรืออิทธิปาฏิหาริย์เหนือจริง เป็นเพียงส่วนประกอบของเรื่องเมื่อจับประเด็นตรงนี้ได้เราก็จะเห็นว่าตลอดทั้งเล่มหนังสือ ท่านผู้แต่งต้องการแสดงความเป็นจริงของชีวิตและวิถีทางในการพัฒนา ชีวิตไปสู่จุดสูงสุดที่เรียกกันว่า "โมกษะ" หรือ "ความหลุดพ้น"ความหลุดพันที่ว่านี้ก็คือความหลุดพันจากการเวียนว่ายอยู่ในห้วงสังสารวัฏฏ์จุดสูงสุดหรือภาวะสูงสุดที่เป็นเป้าหมายแห่งชีวิตที่เรียกกันในรูปต่างๆกัน หากเราเอาไปเทียบกับจุดสูงสุดในคำสอนของศาสนาและลัทธิต่างๆ ที่สอนเรื่องนี้ก็จะเห็นได้ว่านี้คือความใฝ่ฝันร่วมกันของมนุษยชาติ

เหลาจื๊ออาจจะเรียกสิ่งสูงสุดนี้ว่า "เต๋า"  ในขณะที่ชาวคริสต์ อาจเรียกว่า "พระจ้า"  หรือชาวพุทธอาจจะเรียกว่า "นิพพาน"

ทั้งเต๋า,พระเจ้า, และนิพพาน ต่างก็คือแบบจำลองความใฝ่ฝันของมนุษย์เป็นความฝันงดงาม,สมบูรณ์ เปี่ยมตัวยความสุขสงบ และเป็นจิตสำนึกร่วมระหว่างมนุษยชาติที่ต้องการดิ้นรนจากชีวิตอันทุกข์ทรมานไปสู่ชีวิตที่เป็นสุขอันนิรันดร 

ในภควัทคีตาก็กล่าวไว้ชัดถึงการสละความเห็นแก่ตัวท่านมหาตมะคานธีเคยแสดงทรรศนะว่าสงครามในภควัทคีตานั้นคือแบบจำลองสงครามภายในตัวมนุษย์ กองทัพฝ่ายหนึ่งคือตัวแทนของธรรมชาติฝ่ายดีงามในตัวตน กองทัพอีกฝ่ายก็คือตัวแทนธรรมชาติฝ่ายต่ำในตัวมนุษย์ ภควัทคีตาเป็นคัมภีร์แสดงให้เห็นแก่นแท้ของชีวิตและการต่อสู้กันระหว่างธรรมชาติสองส่วนภายในตัวมนุษย์และครั้งหนึ่งท่านเคยเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ยุวภารตะฉบับประจำวันที่๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๘ มีความตอนนึ่งว่า 

"ข้าพเจ้าต้องขอสารภาพต่อท่านทั้งหลายว่า เมื่อใดที่ข้าพเจ้ารู้สึกผิดหวังท้อแท้ มองไม่ห็นหนทางในการแก้ปัญหาชีวิต เมื่อนั้น ข้าพเจ้าจะหันเข้าหาภควัทคีตา หลังจากได้อ่านบทโศลกอันช่วยประโลมดวงใจอ่อนล้านั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็จะยิ้มออกท่ามกลางภาวะรุมเร้าของความยากลำบาก ชีวิตของข้าพเจ้าดำเนินมาท่ามกลางความรันทดทุกข์ยาก แต่ความทุกข์เข็ญเหล่านั้นต่างก็ค่อยๆ มลายหายไป ทั้งนี้ก็ด้วยอศัยพลังใจจากภควัทคีตา

ภควัทคีตานำเราไปสู่โลกโลกหนึ่ง... ซึ่งอาจอยู่ที่ไหนสักแห่ง ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง อันอาจ จะเป็นวันนี้ เมื่อวานหรือเมื่อสองพันปีล่วงมาแล้ว...  ภายในโลกใบนั้นเราจะพบใครต่อใครมากมาย ซึ่งในจำนวนนี้ขอแนะนำบุคคลผู้หนึ่งเป็นพิเศษ เขาคือ"อรชุน"นักรบผู้กล้าที่ได้แสดงสัจธรรมอันสำคัญประการหนึ่งออกมาว่า มนุษย์เราล้วนแล้วแต่ต้องมี"หัวโขน"สวมอยู่ตามหน้าที่หรือบทบาทในสังคม แต่ภายใต้หัวโขนนั้น เราคือมนุษย์...คือคน... คือสิ่งที่ถูกสร้างมาให้มีความขัดแย้งในตัวเอง

อรชุน เป็นนักรบ ได้รับการอบรมมาเพื่อให้ทำหน้าที่เป็น "กลไก" ของรัฐซึ่ง บางครั้งภารกิจในฐานะกลไกนั้นก็คือการฆ่าฝ่ายตรงข้ามในสงครามเมื่อประจันหน้ากับกองทัพฝายตรงข้าม ณ ทุ่งราบกรุเกษตร สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาของอรชุนครั้งนี้กลับมิใช่"ข้าศึก"หรือ "ศัตรู" หรือ "คนพวกนั้น"หากแต่คือ"ญาติมิตร"หรือ"ผองเพื่อน" หรือ "เพื่อนมนุษย์"

ภายในตัวอรชุนนี้คือความขัดแยังอันเป็นธรรมชาติสากลของมนุษย์ทุกผู้ทุกคน เมื่อเช้ากินข้าวกับหมูทอดกระเทียม แต่เมื่อเราเห็นคนฆ่าหมูรู้สึกก็สังเวชใจ มนุษย์มีกายที่ตกอยู่ภายใต้กฎทางชีววิทยา จะต้องกินอาหารและอาหารที่เราจะกินได้ก็ต้องเป็นชีวิตของผู้อื่นเท่านั้น(แม้บางคนจะเลี่ยงไปกินพืชแค่พืชนั้นก็เป็นสิ่งมีชีวิตอยู่ดี) 

แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็มีใจที่ดูเหมือนจะพัฒนาก้าวพันจากความเป็นสัตว์ไปแล้ว และด้วยพัฒนาการนี้เองที่ทำให้บางครั้งมนุษย์ก็ต้องมานั่งเศร้าสลดใจภายหลังการฆ่าในขณะที่เสือหรือสิงโตจะไม่มีวันเสียใจกับการล่าเลย

อรชุนคือตัวอย่างของมนุษย์ที่แม้จะถูกฝึกมาให้ลืมความเป็นมนุษย์ แต่ที่สุดความป็นมนุษย์ก็เผยตัวของมันออกมาในรูปของความขัดแย้งทางศีลธรรมมนุษย์มีโลกอยู่อย่างน้อยสองโลก โลกหนึ่งคือโลกแห่งวัตถุที่เรียกร้องให้เราทำทุกสิ่งเพื่อความอยู่รอด (ดังที่ดาร์วินเคยวิเคราะห์เอาไว้)อีกโลกหนึ่งคือโลกแห่งธรรมหรือโลกแห่งจิตวิญญาณที่เรียกร้องให้เราทำตนให้สมกับที่เป็นมนุษย์ ความขัดแย้งในตัวมนุษย์เกิดจากความไม่อาจลงรอยกันระหว่างการแสดงบทบาทในฐานะสมาชิกของโลกสองโลกนี้ พระกฤษณะ ซึ่งอาจตีความว่าเป็นตัวแทนความคิดในศาสนาอินดูสำนักหนึ่ง ได้สอนวิธีอยู่เหนือความขัดแย้งดังกล่าวนั้นแก่อรชุน จุดนี้คิดว่าคือหัวใจของภควัทคีตา

ศาสนาทั้งหลายมักเลี่ยงที่จะพูดปัญหานี้อย่างจริงจัง เช่น พระมักไม่สนใจตอบคำถามว่าทำไม การฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร จึงถือว่าบาปเพราะเราไม่ได้สร้างตัวเรามาให้ต้องกินเนื้อผู้อื่น ธรรมชาติต่างหากที่ทำให้เราเป็นช่นนั้น เหตุใดเราจึงต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เรามิได้กระทำแก่ตนเองต้วย แต่ปัญหานี้มีกล่าวไว้อย่างละเอียดในภควัทคีตานี้ ความขัดแย้งภายในชีวิตมนุษย์นี้นักคิดบางคนอาจเห็นว่าเป็นสิ่งที่เราไม่มีทางแก้ไขได้ และ นักคิดบางคนอาจเห็นว่าความขัดแย้งนี้แหละที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์นั้นยิ่งใหญ่ ตัวอย่างของผู้ที่คิดเช่นนี้ก็เช่น อัลแบร์ กามูส์ (Albert Camus) ผู้เขียน คนนอกเป็นต้น สำหรับผู้ที่เข้าใจว่าความขัดแยังไม่ใช่จุดด้อยของมนุษย์อย่างกามูส์หรือ ฌ็อง-ปอล ชาร์ต (Jean-Paul Sartre)

ชีวิตต้องมากับความขัดแย้งเสมอและทางเลือกระหว่างความขัดแย้งในชีวิตนั่นเองที่จะเป็นเครื่องตัดสินว่าเขาคนนั้นเป็น"คน"หรือไม่

ก้อนหินไม่มีความขัดแย้ง ต้นหญ้าไม่มีความขัดแย้ง แม้แต่พระเจ้าเองก็ไม่มีความขัดแย้ง ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงมีสถานะอยู่กึ่งกลางระหว่างต้นหญ้ากับพระเจ้า  ความยิ่งใหญ่ของมนุษย์เป็นความยิ่งใหญ่บนพื้นฐานของความไม่สมบูรณ์ แต่ในความไม่สมบูรณ์นั้นมี "ช่องทาง" มากมายสำหรับให้มนุษย์ได้"เลือก"

มนุษย์รู้จักเลือกมนุษย์จึงยิ่งใหญ่ ไม่แน่ใจว่าท้ายที่สุดแล้วอรชุนได้เลือกหรือไม่ ปริศนาข้อนี้ ผู้อ่านต้องค้นหาคำตอบด้วยตนเอง หนังสือที่ยิ่งใหญ่นั้นอ่านไม่เคยจบ (หมายถึงต้องเอาไปคิดไตร่ตรองต่อ) ดังพระไตรปิฎก คัมภีร์ไบเบิ้ล และคัมภีร์อัลกุรอาน เมื่อกลับมาอ่านภควัทคีตาอีกครั้ง ความรู้สึกหลายอย่างได้ผ่านเข้ามาในห้วงความคิดโดยบอกไม่ได้ว่ารู้สึกอะไรและอย่างไร หากแต่จะปล่อยให้มันหายไปกับความว่างเปล่าของกาลเวลา แล้วจะอ่านมันใหม่อีกครั้ง และจะสัมผัสความรู้สึกใหม่นั้นอีกครั้ง  ผู้ที่ได้มีโอกาสอ่าน หรือเสพวรรณกรรมนี้จะสัมผัสความรู้สึกอันไม่อาจอธิบายได้ในด้วยตัวเอง... อย่างไม่จำกัดกาลเวลา


ธันรบ วงศ์ษา

หมายเลขบันทึก: 689959เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2021 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2021 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท