มุุมมองและกลยุทธ์การทำงานชุมชน Note from Coffee & Work-Life Meeting


Coffee & Work-Life Meeting

วิชาการเป็นงานหนัก ยิ่งวิชาการที่ต้องการกลยุทธ์คมๆ ในบริบทที่ยากลำบากยิ่งต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ แผนการเคลื่อนขบวนที่รู้รับกับจังหวะและผู้คนกลุ่มต่างๆที่เคลื่อนไหวตลอดเวลา

นั่งในห้องประชุมสี่เหลี่ยมเคร่งขรึมบ่อยๆมันจะตื้อ วันนี้ (31 มีนา)พาทีมหนุนวิชาการงานสุขภาวะสตรีชาติพันธุ์มาพูดคุยแบบไม่เป็นทางการกันบ้าง

เรียกเท่ห์ๆว่าเป็น Coffee & Work-Life Meeting


ได้เห็นความตั้งใจของทีมงานในการลงเก็บข้อมูลในพื้นที่

เห็นความรู้สึกทุกข์ยาก ที่ทีมซึมซับจากชาวบ้าน แต่ยังไม่รู้จะเขียนหรือสื่อออกมาได้อย่างไรจึงจะไม่แตกแยก

เห็นความกังวลของทีม ที่เกรงงานขับเคลื่อนในพื้นที่ยังฝากไว้กับอำนาจผู้นำ หน่วยงานและการเมืองท้องถิ่นค่อนข้างมาก แต่ไม่ได้ขยับบนวัฒนธรรมที่มีฐานข้อมูลที่รอบด้านพอ

อันนี้ เป็นแง่มุมบางส่วน ที่นึกขึ้นได้ จากวงเสวนานี้ที่สบายๆเมื่อหลายวันก่อนนี้

................................... ...................................

-ความกังวลใจ ข้อมูลที่ขัดแย้งกันมากมาย หลายอย่างก็เคลื่อนยังไม่ได้เพราะติดโครงสร้าง

ไม่เป็นไรๆ ทำใจนิ่งๆ ลองถอยออกมายืนดู สิ่งที่เราทำ แล้วมองกลับเข้าไปใหม่ ทำซ้ำๆบ่อยๆ ค่อยๆวิเคราะห์ใคร่ครวญ จะเห็นการเปลี่ยนแปลง จังหวะ โอกาสต่างๆ

เราแรงน้อย แต่ถ้าเรายังต่อเนื่อง จะเห็นจังหวะที่ใช้แรงน้อยแต่เกิดประโยชน์สูงสุด จังหวะจึงสำคัญมาก

จะอ่านจังหวะเพื่อใช้แรงให้น้อยที่สุดได้ ต้องรู้จักคู่ต่อสู้ (ปัญหา) และรู้ปรับเปลี่ยนแรง ปรับ “เกียร์”ชีวิตของตัวเอง

-หลายอย่างทำตรงๆในพื้นที่ไม่ได้ อย่าเพิ่งท้อ แม้พื้นที่ Scale เล็กๆจะยังไม่ไหว แต่เราใช้กลยุทธ์ Up Scale ขึ้นไปในพื้นที่ใหญ่เพื่อให้ซึมผ่านลงมาได้

เหมือนเด็กไม่อยากกินผัก กินผักคำใหญ่ๆไม่ได้ เราก็ลองให้กินซุปเนื้อใส่น้ำผักเจือลงไปก่อน อย่าลืมเจือคำหวาน ความเอาใจใส่ด้วยนะ อีกหน่อยไม่นานเด็กก็กินผักได้มากขึ้นๆ งานพัฒนาชุมชนก็เช่นกัน

-องค์ความรู้ก็ดี งบประมาณก็ดี รวมถึงนโยบายเรื่องสุขภาวะสตรีมีมากมาย แต่ที่ไปได้ไม่ถึงฝั่งฝัน ส่วนใหญ่คือขาดกระบวนการเฉพาะ กระบวนที่เหมาะสมกับผู้หญิงชาติพันธุ์ และกลไกที่ผู้หญิงชาติพันธุ์ได้มีบทบาทเป็นผู้นำและมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

-ความขัดแย้งในข้อมูล หรือในบุคคล เป็นเรื่องธรรมดา สำคัญคือเราจะพลิกให้เกิดการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ สานกันจนเป็นประโยชน์ เหมือนตอกไม้ไผ่ที่สานขัดกันไปมาจนกลายเป็นตระกร้า

สำคัญคือต้องมีกระบวนการ และกระบวนกรที่มีฝีมือถึง

อันนี้ ต้องคอยเฟ้นหา บ่มเพาะ มองหมายไว้เป็นตัวบุคคลเพื่อโค้ชให้เกิดเป็นทีมด้วย เป็นงานสร้างคน ให้เกิดผู้นำที่เป็นกระบวนกร ทำกระบวนการที่มีลักษณะเฉพาะแก่กลุ่มสตรีชาติพันธุ์ได้

สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลาและความมุ่งมั่นตั้งใจ แต่เป็นสิ่งจำเป็น ไม่งั้นโครงสร้างที่ได้จะหลวม นโยบายที่ได้ก็จะ fake

-งานที่เราทำ เวทีประชุมที่เราแลกเปลี่ยนมันเซ็กซ์ซี่ไหม? คือมันมีเสน่ห์ดึงดูดให้คนเขาอยากร่วมไหม

อันนี้เป็นสิ่งที่นักพัฒนารุ่นใหม่ต้องคิดและจินตนาการตลอดนะ แต่จะทำอย่างนั้นได้ ก็ต้องเริ่มจากการออกแบบตัวเองด้วย

หมั่นถามตัวเองว่า เราเองมี Body-Mind-Soul ที่น่าสนใจพอจะเป็นแม่เหล็กให้ใครอยากเข้าหาเพียงใด เพราะการเรียนรู้ที่มีพลังมันขาด Feeling หรืออารมณ์ความรู้สึกไม่ได้

If you can not feel , you can not learn.

หมั่นเติมความรู้เรื่องเหล่านี้ หมั่นแสวงหาครูอาจารย์ ถ้าคิดว่าตัวเองเก่ง ทำงานในระบบอยู่ Comfort Zone เอาตัวรอดได้พอ อีกหน่อยก็ตกขบวนเพราะโลกเปลี่ยนเร็ว

-ถึงจะทำงานในลักษณะโครงการที่มีความพิเศษหลายอย่างที่งานประจำทำไม่ได้ แต่ต้องคิดเสมอว่าเราไม่ใช่ทำโครงการนะ

เรากำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องและส่งผลลึก ทั้งในแง่ต่อสังคม และต่อตัวเรา บุคลิกลักษณะ ไปจนถึงชีวิตครอบครัวของเราเอง

คิดให้เห็นความเชื่อมโยง จะเห็นความสุข ความเบิกบานจากการทำงานที่เราเองได้รับทุกวัน

ผมโน้ตไว้เผื่อทีมนะ แต่ถ้ามีประโยชน์ต่อสาธารณะก็ยินดีครับ

หมายเลขบันทึก: 689876เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2021 19:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2021 19:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท