จากตัวกูถึงจิตวาง


.

ณ บัดนี้จะขอเสนอข้อรำพึงอีกสองประการ ซึ่งเป็นการเอาศัพท์บัญญัติของลพง. มาเป็นต้นคิด คือลพง.ท่านนำเสนอคำสองคำที่กินใจมากและระบาดมากไปในวงกว้าง คือคำว่า ตัวกู/ของกู เราเห็นว่าพระพุทธธรรม ๘๔พันธรรมขันธ์นั้น สรุปเป็นใจความสำคัญได้เพียง๒คำ คือตัวกู และของกู.. คืออะไรๆ ก็จะยึดเอามาเป็นตัวกู และ ของกู ไปเสียหมด ทำให้โลกวุ่นวาย ทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นรบกันก็มี เช่นแย่งดินแดนกัน โดยยึดว่าเป็นดินแดนของกู (ไม่ใช่ของมึงที่มาแย่งเอาของกูไปครอง)

  ในธศ.นี้จะขอปรับการตีความเรื่องนี้สักหน่อยว่า ตัวกูให้มีได้ แต่ห้ามมี “ตัวของกู”..การมีตัวกูนั้นเราเห็นว่าเป็นธรรมชาติกลางๆ เพราะเราท่านก็รู้สึกว่าตัวกูมีอยู่ (ไม่งั้นคงมาเขียนมาอ่านนสลน.ไม่ได้) ส่วนตัวของกูนั้นเป็นปัญหา เพราะตัวกูนั้นยังไม่มีเจ้าของ แต่ตัวของกูนี้มีเจ้าของแล้ว ซึ่งเจ้าของก็คือตัวกูเจ้าเก่านี่แหละ

          ที่นี้ลองมาดูเรื่องทรัพย์สมบัติกันบ้าง เรายอมให้มี ทรัพย์กู แต่ไม่ยอมให้มีทรัพย์ของกู เพราะอย่างแรกนั้นมันอยู่คู่กันในเชิงรูปธรรมเป็นอย่างน้อย ทำมาหากินโดยสุจริตแสนยากลำบากจนได้ทรัพย์มา จะให้ไม่มีทรัพย์กูได้อย่างไร แต่มีแล้วก็ปลงใจอยู่เพียงแค่นั้นว่า มีก็สักแต่ว่ามี ไม่ให้ลุกลามไปเป็นทรัพย์ของกู ไม่งั้นอาจพัฒนามาเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ก็เป็นได้ แก่/ตายแล้วยังหวงทรัพย์/เฝ้าทรัพย์อยู่นั่นแหละ ไม่ยอมไปผุดไปเกิดเสียที

          ในเรื่องของความสุข/อร่อยก็เหมือนกัน...กินข้าวแกงเจ้าเก่า ผัดคะน้าไฟดำเจ้าเก่า แหม..อร่อยของกูอีกแล้ว ต้องเวียนแวะมากินบ่อยๆ เพราะว่าติดในรสอร่อยของกู

          ว่ากันถึงที่สุด ก็คือโลกุตรสุข ที่ปฏิบัติเพียรภาวนากันมานานจนเข้าถึงนิพพาน ก็ยังอาจมาติดกับดักว่าเป็น สุขของกู นิพพานของกู ซึ่งจะทุกข์ระทมยิ่งกว่าทรัพย์ของกู ข้าวแกงของกูเสียอีก..ตรงนี้ลพง.ท่านสอนว่า..จงหลุดพ้นเสียจากการหลุดพ้น..ซึ่งกินใจเป็นอย่างยิ่ง..มีเท่าไรก็บริจาคออกไปเท่านั้น ไม่มีนิพพานเหลือเก็บไว้เป็นนิพพานของกูแม้แต่น้อย..ขอสาธุชนพึงฝึกหัดเรื่องการละวางตัวของกูกันให้มากเถิดจะเกิดสันติสุขไปทั่วโลกหล้า

ตัวกับกู อยู่เคียงคู่ กันมานาน

อาจเล่าเป็น นิทาน ก็ยังได้

ตัวของกู นี่สิ มาเมื่อไหร่

ตัวจัญไร มาทำให้ ตัวกูตรม

-----คนถางธรรม..มีค.๖๔

คำสำคัญ (Tags): #ตัวกู#จิตวาง
หมายเลขบันทึก: 689609เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2021 07:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2021 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท