วิกฤติในความเห็นต่าง


วิกฤติในความเห็นต่าง

12 มีนาคม 2564

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก (ท้องถิ่น) [1] 

มนุษย์มีตัณหาความโลภไม่สิ้นสุดจึงก่อให้เกิดเทคโนการพัฒนาขึ้น

ทำไมคนฝรั่งคิดไปดวงจันทร์ ไปดาวอังคาร ไปนอกโลก ก็เพราะเป็นความฝันใฝ่ของมนุษย์ เพื่อสนองตัณหาความไม่รู้จักพอ มีความต้องการที่ไม่สิ้นสุด ความโลภของมนุษย์มีมาก ที่ต้องการสิทธิอิสรเสรี ด้วยเหตุนี้ทำให้มนุษย์ต้องเกิดการแข่งขันกันพัฒนาไปเรื่อยๆ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี space x (ขนส่งทางอวกาศ) 5G 6G Quantum พัฒนา internet ในการสนองความอยากของมนุษย์ เกิดแนวคิด รถไฟความเร็วสูง คลองไทย สิทธิบัตรต่างๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย เป็นผลพลอยได้ เรื่องแนวคิดกรรมสิทธิ์ส่วนตัว (Ownership) อาจหดหายไป กลายเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนรวม ส่วนร่วมที่เป็นของมวลมนุษยชาติร่วมกัน หลังจากที่มนุษย์ห่างเหินจากยุคสงคราม ที่ต้องรบราฆ่าฟันกัน แย่งชิงทรัพยากรกัน แต่กลับเกิดปัญหาตามมามากมาย เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ และเกิดการล้างผลาญโดยธรรมชาติ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ขึ้นที่มิใช่จากน้ำมือของมนุษย์ในการฆ่าฟัน ทำลายล้างวินาศกรรม ก่อสงครามฯ

หลายอย่างเกิดเพราะพฤติกรรมที่แผลงๆ แปลกๆ ของมนุษย์ ที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสุรุ่ยสุร่าย เช่น น้ำท่วมอเมริกาใต้ เผาป่าอินโดนีเซีย สัตว์ป่าตาย ควันพิษ โลกร้อน เกิดปรากฏการณ์ เอลนีโญ และลานีญา ออสเตรเลียไฟไหม้พืชน้ำมัน (ยูคาลิปตัส) ที่เอาไม่อยู่ สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด เกิดโรคเอดส์ โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู (Swine Flu) โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์ส (SARS) โรคโควิด (Covid-19) ซึ่งมีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง และรักษาไม่ได้

การอาหารก็มีการใช้สารเร่งอาหารสัตว์ให้โตไว พืชใช้สารเคมี มีการปลูกพืชรุกป่า เผาป่า ทำลายป่า

เมื่อศึกภายในประเทศไม่มี ก็ต้องหันไปอย่างอื่น เรื่องอื่น ที่อื่น หันไปพัฒนาเทคโนต่างๆ เทคโนอวกาศ เทคโนให้คนมีอายุยืน

ในวัฏจักรเกิดแก่เจ็บตายของมนุษย์ จึงต่างต้องหาคีย์เวิร์ดเพื่อแก้ปัญหา ตามหลักพุทธศาสนาที่สอนให้มนุษย์ต้องไม่เบียดเบียนกัน เดินสายกลาง พอเพียง อย่าฮึกเหิม

ส่วนคนไทยมักคิดอยู่ในกะลา คิดช้า ไม่คิดนอกกรอบ ดีที่ยังคิดไปดวงจันทร์แก้เกี้ยวได้ [2] การพัฒนายานอวกาศ สื่อสารดาวเทียม ก็จะได้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การสื่อสารดาวเทียม การสื่อสารทางทรัพยากรธรรมชาติ GIS GISDA (เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ) เป็นต้น

โลกอนาคตคงไม่หยุดนิ่ง

เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 มีนิยายเพ้อฝันของนักประพันธ์ตะวันตกที่กล่าวถึงโลกอนาคต (Brave New World) [3] ที่ไม่มีพ่อมีแม่ ไม่มีเซ็กส์ มีสิ่งบันเทิงที่โง่เง่า ปราศจากภาษา หรือมีนิยายกล่าวล้อเลียนถึงสัตว์ในฟาร์มของมนุษย์ (Animal Farm) [4] โดยเนื้อแท้แล้วก็คือการคิดเผื่อเพื่อการสรรค์สร้างสังคมใหม่ สังคมนิยมใหม่ นำไปสู่การปฏิวัติและพัฒนาที่ดีกว่า แต่ทุกอย่างกลับเกิดขึ้นภายใต้ การคอรัปชั่น กดขี่ เบี่ยงประเด็น ซึ่งเห็นได้ในสังคมโลกปัจจุบัน

ต้องฝ่าวิกฤติในความเห็นต่าง

ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องนี้มาตลอดยาวนาน ที่เห็นชัดก็ นับแต่ การชุมนุมวุ่นวายของกลุ่มพันธมิตร กลุ่มเสื้อแดง (red shirt) กลุ่ม กปปส. นกหวีด กลุ่มเสื้อเหลือง มาถึงปัจจุบันยิ่งหนัก มีพวกไอโอ พวกเสี้ยมว่ามีพวกชังชาติ พวกมินเนี่ยน ไอโอ ตัวป่วน คนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า ท้าทายคนรุ่นเก่า หัวเก่า กลุ่มอนุรักษ์ ฯลฯ ล้วนเป็นวิกฤติ (Crisis) [5] ความเห็นต่าง [6] การมีความเห็นขัดแย้ง (Conflict) [7] เป็นปฏิปักษ์กันอย่างชัดเจนทั้งสิ้น

หลักนิติรัฐนิติธรรม (The Rule of Law) ในการปกครองบ้านเมืองหายไป มีเนติบริกร จอมแถ องครักษ์พิทักษ์ สมุนรับใช้ ฯ เต็มไปหมดในฝ่ายปกครองที่ถือเป็นฝ่ายอำนาจนิยม (Authoritarianism) ล้วนเป็นเรื่อง เพราะต่างฝ่ายต่างมีกรอบความคิดเห็นคนละอย่าง ถือกันคนละขั้ว สุดโต่ง แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เป็นวิกฤติปัญหาเหตุการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน บ้างก็ว่าเพราะ ความแตกต่างขัดแย้งในแนวคิดของคนรุ่นต่างๆ ที่เรียกว่า Generation Conflict คือ เป็น Generation Gap [8] หรือ Digital Gap เพราะ คนรุ่นเจน Z จะถนัด Digital คนรุ่นเจน Y จะถนัด Internet คนรุ่นเจน X จะถนัดประสบการณ์การปฏิบัติ เป็นต้น แต่ปรากฏว่า การบริหารบ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจของคนเจน Baby Boomer ที่มีอายุมาก

ความคิดต่างตอนนี้ คือ การยึดโยงผลประโยชน์ ที่ถือเอาได้ คือแบ่งแยกได้ 2 กลุ่ม (1) กลุ่มที่ได้ประโยชน์อยู่แล้ว หรือกำลังจะได้เรื่อยๆ เรียกว่า “กลุ่มอนุรักษ์นิยม” (Conservative) [9] กลุ่มนี้สนับสนุนโดยชนชั้นนำ (elite) [10] ทหารที่ครองอำนาจทางการเมืองมาอย่างยาวนานในตลอด 88 ปีแห่งประชาธิปไตย และ (2) กลุ่มที่มองดูแล้ว ว่าไม่ได้ประโยชน์ หรือได้น้อย กว่าที่ควรจะได้ เรียกว่า กลุ่มปฏิรูป, กลุ่มชอบเปลี่ยนแปลง หรือเรียกว่า กลุ่มก้าวหน้า (Progressive Movement) [11] ที่อาจเรียกว่า “พวกฝ่ายประชาธิปไตย” (Liberal) ก็ได้ มันก็มีอยู่ 2 กลุ่มเท่านี้ ต่อให้ใครจะคิดจะหลงไปอย่างไรก็ตาม ทบทวนไปมา ก็อยู่ในวังวนของคน 2 กลุ่มนี้เท่านั้น

กลุ่มอนุรักษ์นิยม มักสืบทอดอำนาจ สร้างชนชั้น เจ้ายศเจ้าอย่าง ศักดินา ไปจนถึงเผด็จการ นิยมการผูกขาด ส่วนกลุ่มก้าวหน้า จะนำทุกอย่าง มาชั่งน้ำหนัก สร้างความสมดุลแก่สังคมใหม่ ซึ่งต้องยอมรับความจริงโลกสมัยใหม่ว่า มันหนีไม่พ้น การเปลี่ยนแปลง มีการลอกเลียนแบบแผนต่อๆ กันจากสังคมรอบโลก ทำให้โลกก้าวไปสู่ความเป็น “สังคมหนึ่งเดียว” (New World Orders) [12] บุคคลที่หัวก้าวไกล มักไม่ยึดติดในระบบชนชั้น ในสังคมแบบเดิมๆ ชอบปฏิรูป ปฏิวัติ จนอาจเพลี่ยงพล้ำเสียรู้ให้แก่กลุ่มอำนาจนิยม กลุ่มอนุรักษ์เดิมหรือพวก Opportunist (พวกคนฉวยโอกาส) [13] เรียกว่าคนรุ่นใหม่พลอย “เสียรังวัด” หัวเสียไปเลย ปกตินั้นคน “กลุ่มอำนาจนิยมเดิม” พยายามอย่างเต็มพิกัดในการรักษาสถานะตนเองเอาไว้ (Status quo) [14] ให้มั่น ไม่ยอมคลาย คืนอำนาจให้ใครโดยง่าย

สุดห้ามใจหลากหลายความคิดต่าง

โลกสมัยใหม่พบว่ามีคนที่ประกาศตนว่า “ไม่ถือศาสนา” ใด หรือจะเรียกว่า “ไม่มีศาสนา” ก็อาจได้ แต่มิใช่ความหมายโดยตรง งานวิจัยของ ม. Chicago พบว่า การไม่นับถือศาสนา (Atheists) [15] ไม่ได้ทำให้คนมีศีลธรรม (Morality) สูงขึ้น ซึ่งมีคนกลุ่มเดิมอยู่แล้วคือ พวกอนุรักษ์นิยม (Conservative or Authoritarianism) กับพวกหัวใหม่หัวก้าวหน้า (Progressive/Liberal) เพราะธรรมชาติสร้างมา จะมีสองสิ่งที่ตรงข้ามกันเสมอ มีขาว มีดำ มีดี มีชั่ว แม้จะมีฝ่ายที่อ้างว่าเป็นกลาง แต่โดยเนื้อแท้แล้ว จะเป็นฝ่ายที่ฉวยโอกาส (Opportunist) มาสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากกว่า อย่าไปสนใจคนที่อ้างว่ามีความเป็นกลาง ให้มาก แม้จะมีกระแสว่า “สังคมต้องปรองดอง” [16] มีความสมานฉันท์สามัคคี สังคมต้องหันมาร่วมเรียนรู้ และเคารพความเห็นต่างต่อกัน ไม่ใช้ความรุนแรง คิดว่า “เห็นต่างไม่ใช่ความผิด แต่ผิดที่คิดใช้ความรุนแรง” ต้องสมานฉันท์รอยร้าวให้ได้ เพื่อให้เกิด reconciliation & compromised & harmony & peace

ว่ากันว่าสังคมมีคน 3 พวก คือ คนวิจารณ์ คนป่วน และ คนทำ เท่านั้น ซึ่งคนทำนั้นมีความตั้งใจ แต่คนป่วนกับวิจารณ์กลับไม่ทำ หรือทำน้อยไป หากเขาไม่ละอายแก่ใจก็ช่างมัน คนวิจารณ์อาจเป็นนักวิชาการอาจารย์ คนป่วนก็คือคนทั่วไปที่มีความคิดเห็นต่าง ไม่พอใจ ไม่สร้างสรรค์ ฯลฯ

ในท่ามกลางวัฒนธรรมกระแสหลักนั้น เกิดมี “กระแสวัฒนธรรมป๊อป” [17] หรือ วัฒนธรรมสมัยนิยม หรือ วัฒนธรรมร่วมสมัย (popular culture or pop culture) นั้น ผู้คนสมัยใหม่ เกิดจากการสื่อสารของบุคคล ความต้องการของวัฒนธรรมในจังหวะช่วงเวลานั้นจนเกิดภาพลักษณ์ออกมา เช่นที่เป็นความคิด มุมมอง ทัศนคติ ภาพลักษณ์ การเลียนแบบ และปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ชื่นชอบของสังคม

ว่ากันว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2560 นำพาสังคมไปสู่วิกฤตในระบอบรัฐธรรมนูญ (Constitutional Crisis) [18] จนถึงปัจจุบันที่ยังแก้กันไม่ได้ น่าเป็นห่วงในกระแสความเห็นต่างที่ไม่ยอมกันและกันเป็นจุดต้นธารของปัญหาทั้งปวง

ในวิกฤติความเห็นต่างนั้น ต้องปรับตัว “I agree to disagree” คนไทยเราทุกฝ่ายน่าจะหันมาหาจุดพลิกผันเพื่อพลิก “วิกฤติเป็นโอกาส” [19] ดีกว่ามั้ง

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 19 มีนาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/228451

[2]เปิดแผน 7 ปี ยานอวกาศไทยไปดวงจันทร์, โดย PPTV Online, 24 ธันวาคม 2563, https://www.pptvhd36.com/news/สังคม/138972  

& คนไทยได้อะไร? จากการพัฒนา 'เทคโนโลยีอวกาศ', กรุงเทพธุรกิจ, 24 มกราคม 2564, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/918642

[3]"Brave New World" โดย Aldous Huxley ชาวอังกฤษ (1931) หรือแปลภาษาไทยชื่อ “โลกใหม่อันกล้าหาญ” หรือ “โลกวิไลซ์” หรือ “โลกที่เราเชื่อ” หรือ “โลกใบใหม่” เป็นนวนิยายล้อเลียน ต่อต้าน Utopia (Dystopia) นำเสนอแนวคิดการเมืองการปกครองรูปแบบใหม่สุดท้าทาย ซึ่งไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใครในทุกประเทศของโลก "การเมืองใหม่" เป็นการ “กระแนะกระแหน” สภาพของสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้น A (brave) new world คือ โลกแห่งอุดมคติ ผู้ควบคุมโลก (world controllers) ทั้งสิบคนได้ปกครองโลก หรือ “รัฐโลก” (world state) เพื่อสันติสุข เหตุการณ์ในเรื่องนี้เกิดในปี ฟอร์ดศักราช 632  หรือ ค.ศ. 2540 (พ.ศ. 3083) คือในอีก 520 ปีข้างหน้า

ดู Brave New World by Aldous Huxley, @srakrn's Blog (Sirakorn's Blog), 31 ธันวาคม 2560, https://srakrn.me/blog/aldous-huxley-brave-new-world/ 

& จาก SAPIENS สู่ BRAVE NEW WORLD โดย THE FREE SPIRIT'S STORIES, 27 เมษายน 2563, https://www.blockdit.com/posts/5ea63c37b118210ca4be0f12

[4]แอนิมอล ฟาร์ม (Animal farm)โดย George Orwell หรือ Eric Arthur Blair ชาวอังกฤษเกิดอินเดีย (1945) เป็นนวนิยายเสียดสีการเมือง “อำนาจนิยม” ล้อเลียนสังคมนิยมโซเวียต นิยายเรื่องนี้สะท้อนถึงเหตุการณ์การปฏิวัติรัสเซียและการครองอำนาจของสตาลิน โดยใช้สัตว์เป็นตัวดำเนินเรื่อง ซึ่งออร์เวลล์ผู้เขียนเป็นผู้สนับสนุนแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย มองว่าสหภาพโซเวียตนั้น “ปกครองอย่างโหดร้าย” 

ดู แอนิมอล ฟาร์ม : นวนิยายแห่งการเสียดสีอำนาจนิยม, NGThai, 31 พฤษภาคม 2562,

https://ngthai.com/cultures/22236/animalfarm/

[5]ยกตัวอย่างกรณี “วิกฤติชาติ” (Crisis) มีมากมาย ที่สำคัญ ณ ห้วงเวลานี้คือ เช่น “วิกฤติเห็นต่าง” “วิกฤติการเมือง” “วิกฤตรัฐธรรมนูญ”  “วิกฤตในระบอบรัฐธรรมนูญ” (Constitutional Crisis) เป็นต้น

ดู ‘กระบวนการรัฐธรรมนูญ’ สานความขัดแย้ง หนทางแก้วิกฤตการเมือง ในสายตา ‘พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย’, อาทิตย์สุขสรรค์ มติชนรายวัน, ผู้เขียน อธิษฐาน จันทร์กลม, 15 พฤศจิกายน 2563, https://www.matichon.co.th/prachachuen/interview/news_2443970

& สมานฉันท์รอยร้าว เห็นต่างวิกฤติชาติ, ไทยรัฐฉบับพิมพ์, 17 พฤศจิกายน 2563, https://www.thairath.co.th/news/politic/1977431

[6]“ความคิด” คือสิ่งที่บุคคลนั้นๆ เชื่อ เป็นความคิดที่พิจารณาตามความเข้าใจส่วนบุคคล แต่ด้วยความคิดนั้นจะผิดหรือถูกก็ขึ้นอยู่กับองค์ความรู้ การขัดเกลาทางสังคม การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อ

“ความเห็นต่าง” หรือ "ความคิดแตกต่าง" หรือ "ความคิดเห็นที่แตกต่าง" ยังไม่ทราบว่าในศัพท์ภาษาอังกฤษนั้นใช้คำใด

จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ส่งผลกระทบต่อครอบครัวทำให้เกิดความทุกข์ทั้งสองฝ่าย ทั้งมุมพ่อแม่และมุมลูก แต่ไม่ควรใช้วิธีเถียงกันเรื่องของข้อมูล เพราะจะทำให้พังทั้งสองฝ่าย ต้องทำความเข้าใจว่า ต่างยุคต่างสมัย ต่างมีข้อมูลคนละชุด

ดู เห็นต่างไม่ใช่ความผิด แต่ผิดที่คิดใช้ความรุนแรง, Sanook.com Tonkit360, 14 กรกฎาคม 2562, https://www.sanook.com/campus/1396305/

& สสส.จัดเสวนา “ทางออก...ครอบครัวไทยในวิกฤตการเมือง” ร่วมเรียนรู้ เคารพความเห็นต่างต่อกัน, ผู้จัดการออนไลน์, 27 ตุลาคม 2563, https://mgronline.com/qol/detail/9630000111165

& เห็นต่างอย่างสร้างสรรค์, สยามรัฐออนไลน์, 28 กันยายน 2563, https://siamrath.co.th/n/185423   

[7]การก้าวข้ามความขัดแย้ง (Conflict Transformation) คือความสามารถที่จะมองเห็นและตอบสนองต่อกระแสธารแห่งความขัดแย้งทางสังคม ซึ่งมีขึ้นลงในฐานะที่เป็นโอกาสเพื่อชีวิต ด้วยการนำเสนอกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ อันมีผลให้ลดความรุนแรง และเพิ่มพูนความยุติธรรมต่อโครงสร้างทางสังคมในเวลาเดียวกัน และตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดจริงในความสัมพันธ์ของมนุษย์ (Johan Galtung, 2007)

ดู การก้าวข้ามวิกฤตการณ์ ความขัดแย้งครั้งสำคัญ, ทัศนีย์ สาแก้ว, ผู้ช่วยนักวิจัย ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ, 2552, http://www.sscthailand.org/uploads_ssc/toacrossofpoliticalthaiprob_52.pdf

[8]เป็น “ช่องว่างระหว่างวัย” หรือ “มีความแตกต่างระหว่างวัย” (Generation Gap) โดยเฉพาะในกรอบความคิดและประสบการณ์ชีวิตที่พบเจอมาในแต่ละช่วงวัย  เรียกว่า “คนต่างรุ่นและต่างความคิด” ที่สังคมสมัยใหม่ปัจจุบันเจอ เช่น โดยเฉพาะคนที่เป็นหัวหน้างานรุ่นใหม่ (New Generation Leader) ที่ต้องบริหารลูกน้อง แต่ในยุคดิจิทัลแบบนี้ เทคโนโลยีเข้ามาปั่นป่วนความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมวงกว้าง ทั้งที่ทำงานและในบ้าน 

ดู Generation Gap ปัญหาของหัวหน้ามือใหม่ จะคุมน้องคุมพี่ต้องมีวิธีการ โดย สโรจ เลาหศิริ, มปป., https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/generation-gap.html 

& มองลึกปัญหา 'Technological Generation Gap', โดย มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ, กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ THINK BIG, 13 มีนาคม 2563, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/870414

[9]อนุรักษนิยม หรือ คติอนุรักษ์ (Conservatism) โดยทั่วไปหมายถึงปรัชญาทางการเมืองที่ส่งเสริมสถาบันทางสังคมที่มีมาแต่เดิมในบริบทวัฒนธรรมและอารยธรรม แก่นศูนย์กลางของอนุรักษนิยมประกอบด้วยประเพณี สังคมสิ่งมีชีวิต (organic society) ลำดับชั้น อำนาจและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน นักอนุรักษนิยมมุ่งธำรงสถาบันอย่างศาสนา การปกครองแบบรัฐสภา กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน โดยมีเป้าหมายที่เน้นเสถียรภาพและการดำเนินไปของสังคม สำหรับคำว่า พวกปฏิกิริยา (reactionary) หมายความถึง อนุรักษนิยมที่คัดค้านสมัยใหม่นิยมและมุ่งหวนกลับสู่ "วิถีทางเก่าๆ (วิกิพีเดีย)

[10]สรุปลักษณะของชนชั้นนำ Elite จะมีความแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ (Mass) คือ 1) ชนชั้นนำเป็นคนกลุ่มจำนวนน้อย แต่มีอำนาจต่อคนส่วนใหญ่ และเป็นผู้ทำหน้าที่จัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าในสังคม 2) คนจำนวนน้อยแต่ไม่ใช่ตัวแทนของปวงชนที่แท้จริง แต่ถูกคัดมาจากชนชั้นในระดับสูง 3) ค่านิยมของชนชั้นนำ กลายเป็นค่านิยมพื้นฐานของสังคมที่คนส่วนใหญ่ตั้งเป็นเป้าหมาย อยากจะได้และอยากจะเป็น ชนชั้นนำจะปกป้องค่านิยมนี้ 4) ชนชั้นนำจะมีความเข้มแข็ง ไม่ค่อยได้รับอิทธิจากคนส่วนใหญ่ แต่คนส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลจากชนชั้นนำ 5) นโยบายของรัฐบาลไม่ได้สะท้อนความต้องการคนส่วนใหญ่แต่จะสะท้อนความต้องการของคนชั้นนำมากกว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายจะค่อยเป็นค่อยไป 6) การเคลื่อนย้ายสังคมส่วนใหญ่สู่สังคมชนชั้นนำ จะเป็นไปอย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง โดยคนส่วนใหญ่จะเข้าไปในชนชั้นนำได้นั้น ก็ต่อเมื่อยอมรับกฎ กติกา มาตรฐานของกลุ่มชนชั้นนำโดยชนชั้นนำจะไม่ปรับตัวเข้าหากลุ่มคนส่วนใหญ่

ดู ทฤษฎีชนชั้นนำ, โดย วชิรวัชร งามละม่อม นักวิชาการและนักวิจัย สถาบัน TDRM, 2556, http://file.siam2web.com/trdm/article/2013328_38140.pdf

[11]คนหัวก้าวหน้า (Progressive) ในที่นี้หมายถึงคนรุ่นใหม่ (New Generation) หรือ “พิพัฒนาการนิยม” (Progressivism) เป็นปรัชญาการเมืองที่สนับสนุนการปฏิรูปสังคม ตามแนวคิดของความก้าวหน้า ที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การพัฒนาเศรษฐกิจ และการจัดระเบียบทางสังคม มีความสำคัญต่อการปรับปรุงสภาพการเป็นอยู่ของมนุษย์ (วิกิพีเดีย)

แต่ในสังคมไทยค่อนข้างย้อนแย้ง เห็นตรงข้าม เพราะเห็นว่า เป็นพวกซ้าย พวกหัวรุนแรง พวกชังชาติ ฯลฯ

ดู ปีศาจในคราบคนหัวก้าวหน้า, เฉลิมชัย ยอดมาลัย ในหนังสือพิมพ์แนวหน้า, 30 มีนาคม 2562, https://www.naewna.com/politic/columnist/39538  

& “หัวก้าวหน้า” สู่นิเวศรัฐ, โดย วิมล ไทรนิ่มนวล, 20 กุมภาพันธ์ 2562, https://www.naewna.com/columnonline/39073  

& คนรุ่นใหม่, ‘อนุรักษ์นิยม’ กับ ‘หัวก้าวหน้า’ เราสามารถสู้ร่วมกันได้, 5 ธันวาคม 2560, https://voicetv.co.th/read/S1iHm6Qbz

[12]New world orderคือการจัดระเบียบโลกใหม่ โดยมีความคิดที่ว่าเป็นภาระของผู้ที่เจริญแล้ว ต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ล้าหลังไร้อารยธรรมเพื่อก้าวสู่โลกใหม่ในอุดมคติ หรือเรียกว่า "K-Shape World Order" เป็น ระเบียบใหม่ของโลกที่กำลังจะเกิดในอนาคต ห่วงโซ่อุปทานของทั้งโลกกำลังถูกเขย่า พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ยังคงเป็นกระแสหลักของโลก และ ESG (Environmental (สิ่งแวดล้อม) Social (สังคม) และ Governance (ธรรมาภิบาล)) จะกลายเป็น Mega Trend ของโลก

ดู New world order, ทวีสุข ธรรมศักดิ์, 17 มิถุนายน 2555, https://www.facebook.com/251902048251841/posts/253269061448473/ 

& ระเบียบโลกใหม่ (New World Order) โดย เจษฎา สุขทิศ คอลัมน์ THE KEY INDICATORS, 11 ธันวาคม 2563, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/911892   

& ระเบียบโลกใหม่ (New World Order) โดย เจษฎา สุขทิศ คอลัมน์ THE KEY INDICATORS, 11 ธันวาคม 2563, https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/911892

[13]มีคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกสังคมสื่อโซเชียลเรียกว่า “สลิ่ม” สุรชาติ บำรุงสุข มองว่า “สลิ่ม” คือตัวแทนชนชั้นกลางปีกขวา(วิกิพีเดีย) ซึ่งผู้เขียนมองว่า เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่ก้ำกึ่งในการเป็นนักฉวยโอกาสจากสถานการณ์ ลองมาดูความหมายของ “นักฉวยโอกาส” ในมุมมองของผู้นำองค์กร

นักฉวยโอกาส (Opportunist) มีอยู่ประมาณ 5% มีนิสัยเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ฟังผู้อื่น มองโลกในแง่ร้าย ใช้เล่ห์เหลี่ยมกลอุบายทุกรูปแบบเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งฐานะและการยอมรับ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์อย่างเดียว มองเพื่อนร่วมงานหัวหน้าและลูกน้องเป็นเพียงวัตถุที่ต้องแสวงหาผลประโยชน์เป็นพวกบ้าอำนาจ ไม่ยอมผู้อื่น ชอบข่มขู่ ควบคุมผู้อื่น มองโลกแคบ

ดู 7 ประเภทผู้นำที่องค์กรต้องการ, อ้างจากรายการ new dimension ของ ดร.บุญชัย, Seven Transformations of Leadership, David Rooke & William R.Torbert โดยเกียรติชัย, 23 กรกฎาคม 2551, https://www.excelthai.com/2008/07/7.html

[14]คนเรามักกลัวความเปลี่ยนแปลง ฝรั่งเขาเรียกว่า คนเรามักจะมี Status Quo หรือถ้าจะให้แปลให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนกับ Comfort Zone หรือพื้นที่หรือโซนที่หากเราอยู่ตรงนี้แล้วจะรู้สึกอุ่นใจ รู้สึกสบายใจ การที่จะไปเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ก็คือการไปทำให้คนเราต้องออกจาก Comfort Zone นั้นๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการพัฒนาองค์การ

Status Quoคือสถานะปัจจุบันของเรา คนเราส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยชอบการเปลี่ยนแปลง เรียกง่ายๆ ว่าเรามักจะชอบสิ่งที่เรามีอยู่แล้วนั่นเอง ถ้าจะให้เปลี่ยน สิ่งที่เราจะเปลี่ยนมันต้องดีกว่าเดิมมากๆ

ดู การพัฒนาองค์การคือการเปลี่ยนแปลง, โดยคงเดช ใน WRITER ส.ส.ท., สำนักงาน สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น), Technology Promotion Association (Thailand-Japan), 11 ธันวาคม 2551, https://www.tpa.or.th/writer/read_this_book_topic.php?bookID=1177&pageid=2&read=true&count=true

& ความลำเอียงกับสถานะปัจจุบัน (Status Quo Bias), โดยนภดล ร่มโพธิ์(Nopadol Rompho), 19 ธันวาคม 2560, https://www.nopadolstory.com/decision/status-quo-bias/

[15]การไม่มีศาสนา (Irreligion or No religion) หมายความว่า ภาวะที่ไม่นับถือศาสนา ไม่แบ่งแยกศาสนา หรือเป็นปรปักษ์ต่อศาสนา ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวเรียกว่า ผู้ที่ไม่มีศาสนา และ อเทวนิยม (Atheism) คือ ทรรศนะที่ไม่เชื่อว่ามีพระเป็นเจ้า และเชื่อในกฎธรรมชาติ ตรงกันข้ามกับเทวนิยม หรือสรุปว่า การไม่มีศาสนาอาจเข้าใจได้ว่าหมายถึง อเทวนิยม (Atheism) : วิกิพีเดีย

Atheist แปลว่า การไม่นับถือพระเจ้า สิ่งเหนือธรรมชาติ คือ ผู้ที่ไม่เชื่อในการมีอยู่ของเทพ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นอศาสนิก หรือเป็นศาสนิกที่ไม่เชื่อในเทพเจ้า ก็ตาม

(Atheist มาจาก A- แปลว่าไม่ รวมกับ Theo แปลว่าเทพ; Theo มีรากศัพท์เดียวกับ Deos, Deus, Deva, เทวา, เทพา, เทพ)

ดังนั้น ถ้าไม่นับถือศาสนา และไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า ก็เป็นเอทิสต์ (Atheist)ถ้านับถือศาสนา ที่สอนให้ไม่เชื่อถือ หรือสอนว่าไม่มีพระเจ้า ก็เป็นเอทิสต์ (Atheist)

ถ้าไม่นับถือศาสนา แต่เชื่อว่ามีพระเจ้าจริง ก็เป็น ทีอิสต์ (Theist) ถ้านับถือศาสนา และเชื่อว่าพระเจ้านั้นมีจริง ก็เป็น ทีอิสต์ (Theist) 

มีข้อสังเกตว่า คนพวก Atheists แยกแยะค่อนข้างยาก เพราะ เขาอาจจะยอมรับ หรือไม่ยอมรับตนเองก็ได้ เช่น คนที่ถือคริสต์ ถืออิสลาม ถือพุทธ แต่ไม่เคยละมาด เข้าโบสถ์ เข้าวัด ไม่ถือศีล หรือมีการกระทำที่มีพฤติกรรมที่ย้อนแย้งกับแนวทางของศาสนา กล่าวคือ ได้ชื่อว่าถือศาสนานั้นๆ แต่เพียงในนาม คนพวกนี้อาจถือเป็นคน Atheists ก็ได้

ตามข้อมูลโลกพบว่ามีคนจำพวกนี้สูงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในญี่ปุ่น จีน อเมริกา

นักวิชาการ ผู้ทรงความรู้อาจเป็น atheists ก็ได้ เช่นคำว่า skeptic, freethinker, libertine etc โดยเฉพาะพวกย้อนแย้ง พวกเห็นต่าง คนไม่มีศาสนาอาจมีคุณธรรมสูงก็ได้ เป็นต้น

ดู เอทิสต์คืออะไร. โดย Pomzazed ในเวบพันทิป, 10 กรกฎาคม 2558, https://pantip.com/topic/33900900#:~:text=นิยามของ%20Atheist%20คือไม่,0

& การนับถือศาสนา ไม่ได้ทำให้คนมีศีลธรรมสูงกว่า อย่างที่คิด, The Columnist, 28 มกราคม 2564,

https://www.blockdit.com/posts/600ff5ddcf0fec16d54c04f9

[16]คำว่า "การปรองดอง" (reconciliation) หมายจัดการความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ในสังคมที่เคยแตกแยก ต่อสู้ และปะทะกัน ทั้งในระดับความคิดและในระดับการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ในการตกลงเพื่อเข้าสู่การเจรจาสันติภาพ (peace talk) ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ โดยไม่ใช้ความรุนแรง และทำการสร้างองค์กรหรือสถาบันที่เป็นประชาธิปไตยในการเข้ามาช่วยปรองดองและต่อรองอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ

ดู ‘กระบวนการรัฐธรรมนูญ’ สานความขัดแย้ง หนทางแก้วิกฤตการเมือง ในสายตา ‘พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย’

, 15 พฤศจิกายน 2563 - 11:12 น., ที่มา อาทิตย์สุขสรรค์ มติชนรายวัน, ผู้เขียน อธิษฐาน จันทร์กลม -เรื่อง, วรพงษ์ เจริญผล- ภาพ, https://www.matichon.co.th/prachachuen/interview/news_2443970 

& บทเรียนวิกฤติความขัดแย้งและแนวทางสู่ความปรองดอง (2), ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ในกรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ พลวัตเศรษฐกิจ, 28 พฤศจิกายน 2556, https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/546747

[17]วัฒนธรรมสมัยนิยม หรือ วัฒนธรรมร่วมสมัย (popular culture หรือ pop culture) หมายถึง วัฒนธรรมที่เป็นที่นิยมของผู้คนในสมัยนั้น เกิดจากการสื่อสารของบุคคล ความต้องการของวัฒนธรรมในจังหวะช่วงเวลานั้น ซึ่งเกิดขึ้นทุกวันและแสดงเป็นภาพลักษณ์ออกมา ซึ่งสามารถรวมได้ถึงทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร การแต่งกาย สื่อมวลชน กีฬา หรือวรรณกรรม โดยวัฒนธรรมสมัยนิยม มักจะมีลักษณะตรงข้ามกับวัฒนธรรมระดับสูง (วิกิพีเดีย)

ดู วัฒนธรรมป๊อป โดย สถาบันการศึกษานานาชาติ-International Education Institute, 20 มีนาคม 2559, https://www.facebook.com/IEI.UBRU/posts/657457401058694/ 

& หนังสือก็ต้องอ่านรัฐบาลก็ต้องด่า : เมื่อโซเชียลมีเดียทำการเมืองให้เป็นป๊อปคัลเจอร์, thematter, 3 มีนาคม 2563, อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ Akkanut Wantanasombut, https://thematter.co/thinkers/social-media-change-politics-to-pop-culture/102442

[18]วิกฤตในระบอบรัฐธรรมนูญ” (Constitutional Crisis) หรือ "วิกฤตรัฐธรรมนูญ" ในทางทฤษฎี หมายถึงการที่รัฐธรรมนูญแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองไม่ได้ ทั้งนี้มักจะมาจากเงื่อนไขเช่นรัฐธรรมนูญนั้นอาจมีมานานแล้วและก้าวไม่ทันปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้นเพราะไม่ได้คาดการณ์ว่าจะเกิดวิกฤตการทางการเมืองใหม่ และรัฐธรรมนูญในแง่นี้มักจะเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษร เพราะไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่จะแก้นั้น

ดู วิกฤตรัฐธรรมนูญในมุมมองใหม่ : บททดลองเสนอ, โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, อ้างจาก J.Azari and S.Masket. “The 4 Types of Constitutional Crisis”. http://fivethirtyeight.com. 9 Feb 17. และ Wikipedia “Constitutional Crisis”ในหนังสือพิมพ์มติชน, 19 กุมภาพันธ์ 2562, https://www.matichon.co.th/columnists/news_1367983

& เมื่อรัฐธรรมนูญเสื่อมทราม, โดย เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง, The 101 World, 24 มิถุนายน 2563, https://www.the101.world/constitutional-rot/ 

& วิกฤตรัฐธรรมนูญและวิกฤตรัฐสภา ในฐานะวิกฤตทางการเมือง โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, หยังสือพิมพ์มติชน, 29 กันยายน 2563, https://www.matichon.co.th/article/news_2371010

& ‘กระบวนการรัฐธรรมนูญ’ สานความขัดแย้ง หนทางแก้วิกฤตการเมือง ในสายตา ‘พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย’, มติชนรายวัน, 15 พฤศจิกายน 2563, อ้างแล้ว

[19]ปี 2563 จุดพลิกผัน (Tipping point) ทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ราษฎรอาวุโส ประเวศ วะสี ให้ทัศนะว่า ปีนี้เป็นวิกฤติใหญ่ประเทศไทย

ดู สกู๊ปหน้า 1 : 5 วิกฤติใหญ่ปี 63 มีขัดแย้งการเมือง, ไทยรัฐฉบับพิมพ์, 25 กุมภาพันธ์ 2563, https://www.thairath.co.th/news/politic/1779000



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท