โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

ผ้าเหลืองน้อยห้อยหู


โสภณ เปียสนิท

.....................................................

เคยอ่านหนังสือเก่าเล่มหนึ่งทำนายพระศาสนาหลังพุทธกาลไว้ว่า สุดท้ายแล้วพระสงฆ์จะมีเพียงแค่ “ผ้าเหลืองน้อยห้อยหู” เพื่อแสดงความเป็นพระสงฆ์สามเณรเท่านั้น อีกครั้งหนึ่งเคยฟังเทศน์ของพระฝรั่งรูปหนึ่งในประเทศไทย ท่านเทศน์ไว้ว่า “อย่าคิดว่า ประเทศไทยจะนับถือพระศาสนาอยู่ตลอดไป วันข้างหน้าอาจเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอื่นก็ได้” อ่านและฟังแล้วก็ผ่านไปไม่ค่อยได้คิดอะไร แต่มาถึงวันนี้ความรู้สึกนี้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป

วันที่คนพุทธวางเฉยต่อการกัดเซาะทำลายพระศาสนาต่างพากันมองเป็นเรื่องเล็กน้อย ทั้งที่เห็นคนนอกพระศาสนาพากันทำลายพระศาสนาด้วยการเปลี่ยนแปลงคำสอนบ้าง ปลอมตัวเป็นพระเถรเณรชีบ้าง ต่างพากันเพิกเฉยไม่สนใจปล่อยไปเรื่อยเปื่อย อาจมาจากคนพุทธห่างไกลพระศาสนาไปไปมาพอจนไม่รู้คุณค่าว่า พระศาสนามีค่าต่อชีวิตอย่างไร

บางคนอยู่ท่ามกลางพระศาสนายังกล่าวว่า “ชีวิตแค่ดำรงอยู่แบบธรรมดาก็พอแล้วไม่ต้องมีความเชื่อศรัทธาในพระศาสนาอะไรเลยก็ได้” ก็น่าคิดนะครับว่า คำกล่าวนี้ควรเชื่อถือหรือเอาเป็นแบบอย่างหรือไม่อย่างไร

สมัยก่อนโน้น สามเณรน้อยองค์หนึ่งกลับไปหาแม่ที่บ้าน บางครั้งก็พักที่วัดใกล้บ้าน แต่เพราะความเป็นเณรน้อยบางครั้งโยมทั้งสองทั้งโยมมารดาและบิดาก็ให้พักชั้นบนของบ้าน ยามค่ำที่บ้านตามชนบทโดยทั่วไปอาศัยแสงสว่างจากตะเกียงน้ำมันก๊าด จุดแล้วไฟสว่างดี แต่ว่าควันสีดำพวยพุงขึ้นจับเพดานบ้าง หลังคาบ้านบ้าง หากเรานั่งใกล้อาจจมูกดำไปด้วย เพราะควันติดจมูก บ้านหนึ่งมักมีตะเกียงสองดวงบ้างสามดวงบ้างเพื่อใช้เดินไปทำธุระบางอย่างที่ไกลออกจากไปจากตะเกียงดวงหลักในบ้าน

เณรน้อยบวชยังไม่นาน แต่ก็พอมีความรู้ทางพระศาสนาตามที่ครูบาอาจารย์ทางวัดแนะนำพร่ำสอนกันมา คืนวันหนึ่งเห็นโยมแม่นั่งแกะเม็ดละหุ่ง เอาเปลือกออกเพื่อเอาเม็ดในไปขายร้านค้า เณรน้อยจึงไปนั่งคุยกับแม่ แถมช่วยแม่แกะเม็ดละหุ่งไปด้วย “โยมแม่ต้องรักษาศีลห้านะแม่ พระท่านสอนมา” เณรพูดตามหลักธรรม “มันคืออะไรนะลูกเณร” แม่กล่าวถามทั้งที่เคยได้ยินมาบ้างจากตอนไปทำบุญที่วัด แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าคืออะไร เพราะตอนไปทำบุญที่วัดพระเณรไม่ค่อยได้มีเวลาอธิบายให้ฟัง

เณรนั่งคิดสักครู่ “คือข้อปฏิบัติของชาวพุทธไงโยมแม่” แม่แกะเม็ดละหุ่งไปปากก็คุยกับเณรไป ดีเหมือนกันได้เณรมาช่วยแกะได้แรงงานและได้ฟังหลักการในพระศาสนา มีลูกเณรบวชอยู่ก็ดีอย่างนี้ “ยังไงหรือ” บางทีโยมแม่อาจต้องการคำอธิบายเพียงเล็กน้อยเป็นการส่งเสริมการสนทนา

เณรใช้ความคิดอย่างหนัก เพราะตนเองก็เพิ่งจะบวชได้ไม่นานนัก ความแม่นยำในหลักธรรมก็ยังไม่มาก แต่อยากคุยหลักธรรมที่ได้เรียนรู้มากับแม่บ้าง อย่างน้อยเณรก็เชื่อว่าแม่จักได้บุญจากการสนทนาธรรมตามสมควรแก่ธรรม “เราเป็นชาวพุทธ คำสอนในพระศาสนามีอยู่ เราก็ต้องศึกษาและปฏิบัติตาม ศีลห้าคือสิ่งที่ชาวพุทธต้องปฏิบัติ หรือ ควรปฏิบัติตาม จึงจะชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง”

โยมแม่ฟังไปแกะเม็ดละหุ่งไป “แล้วศีลห้ามันคืออะไร” เณรขยับอังสะ ผ้าพาดเฉียงบ่าคลุมร่างกายท่อนบน “ศีลคือข้อห้ามชาวพุทธทำ ทำแล้วเป็นบาปห้าข้อด้วยกัน” โยมแม่ฟังสบายๆ “อะไรบ้างละเณร แม่ได้ยินแต่พระท่านให้ศีลแต่ก็จำไม่ค่อยจะได้” เข้าเค้า แม่พอรู้จักศีลห้า เณรน้อยคิดในใจ

“ศีลห้าข้อคือ ไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มเหล้า” เณรน้อยท่องคล่องปรื๊ดตามที่เรียนมาตอนสอบนักธรรมชั้นตรี โยมแม่ยิ้มกับเม็ดละหุ่งโดยไม่ได้หันมามองลูกเณร บางทีแม่อาจดีใจที่ส่งลูกเณรไปเรียนหาความรู้ที่วัดอย่างน้อยก็ได้ผลลัพธ์กลับมาฝากแม่ได้บ้าง เพียงเท่านี้อาจเป็นความพอใจสูงสุดของแม่แล้วก็เป็นได้

แต่ปากแม่ก็ยังพูดไปอีกด้าน “เณรพูดเร็วอย่างนี้แม่ฟังไม่ทัน มันคืออะไรบ้างเล่า” เณรทำสีหน้าดุ เหมือนที่แม่เคยทำกับเขาตอนเป็นเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่4 “คือชาวพุทธต้องไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่ผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มเหล้า ไงแม่” เณรยังพูดคล่องและเร็วเหมือนเดิม บางทีอาจเป็นเพราะเณรท่องมา พูดช้าอาจทำให้ลืมได้

แม่ทำงานไปยิ้มไป “คือแม่ต้องการให้เณรอธิบายหน่อยว่า แต่ละอย่างนั้นมันคืออะไร อย่างไร ทำไม ทำนองนี้ไง” เณรน้อยยิ้มบ้าง “โถ โยมแม่ แล้วผมจะอธิบายได้อย่างไรเล่า ผมไม่ใช่พระนะ” “ใช่พระ หรือไม่ใช่พระ ถ้ามีความรู้ก็ต้องอธิบายได้ซิ มันเกี่ยวข้องกับความรู้ของเรานี่แหละว่ามีมากมีน้อยเพียงไร” แม่ทำสีหน้าจริงจัง แสงตะเกียงสาดส่องให้เห็นร่องรอยของกาลเวลาและความกรากกรำของชีวิตโยมแม่ที่ผ่านมา

โยมแม่ของเณรน้อยเลี้ยงลูกสิบคนตามลำดับ เพราะความที่ลูกเยอะจึงต้องคิดตลอดเวลาว่าจะทำงานอะไรให้ลูกทุกคนได้มีอยู่มีกินไม่อายคนอื่น แม่จึงทำงานหนักมาตลอดชีวิต เรื่องของการทำบุญแม่ก็ทำเหมือนชาวบ้านทั่วไปคือถึงวันทำบุญตามประเพณี แม่ก็ทำตามเขาไปมิได้ขาด เพราะในชุมชนเชื่อกันว่า หากไม่ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับจะไม่มีอาหารเสื้อผ้ายารักษาโรคที่อยู่อาศัย จะไม่มีบุญไม่มีความสุขในสัมปรายภพ

เณรน้อยทำหน้าเคร่งขรึม “งั้นผมคงต้องอธิบายต่ออีกนิดแล้วหละโยมแม่ ไม่ฆ่า คือไม่ฆ่าผลาญชีวิตคนและสัตว์อื่นใดๆทั้งนั้น” แม่ชะงักหันมามองเณรน้อย “เอ ฆ่าเพื่อเป็นอาหารได้ใช่ไหมเณร” “ไม่ได้ดอกแม่ ฆ่าไม่ได้ทั้งนั้น ไม่มียกเว้น” “ก็หมูเห็ดเป็ดไก่ มันเกิดมาเป็นอาหารนี่นะ สัตว์ที่เกิดมาเป็นอาหารเราฆ่ากินเป็นอาหารเป็นเรื่องปกตินี่ ไม่น่าจะบาปนะ หากไม่มีโยมฆ่า พระเณรจะฉันอะไรกันเล่า เณรก็พลอยอดด้วยหน่า” เณรน้อยฟังเหตุผลของโยมแม่แล้วเริ่มลังเล

แต่ยังฝืนใจกล่าวต่อ “เอ แต่พระสอนว่าห้ามฆ่าทั้งนั้นนี่ เณรไปถามพระอาจารย์แล้วท่านบอกว่า ฆ่าเป็นอาหารก็ไม่ได้ ไม่ใช่ฆ่าไม่ได้นะ แต่ฆ่าแล้วมันเป็นบาป เพราะชีวิตใครใครก็รัก ไม่อยากให้ใครมารังแก ตีให้เจ็บสัตว์เหล่านั้นยังวิ่งหนีตาเหลือกตาปลิ้น” โยมแม่หัวเราะออกมา “แหม เณรน้อยพูดเสียเห็นภาพพจน์เลย ตาเหลือกตาปลิ้น”

เณรพลอยหัวเราะตามแม่ไปด้วย โยมแม่กล่าต่อ “วันก่อนคนข้างบ้านมาเล่าให้ฟังว่า จับไก่มาเชือดเป็นอาหาร เชือดคอแล้ววางไว้ไปต้มน้ำร้อน หันกลับมาไก่ดิ้นรนลุกวิ่งหนีไปต่อหน้า จึงวางหม้อน้ำร้อนไว้แล้ววิ่งตามไปจับไก่มาเชือดคอซ้ำอีกรอบจึงได้กิน เณรเล่าเรื่องตาเหลือกตาปลิ้นเลยนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้”

เณรน้อยได้ที “นั่นไงโยมแม่เห็นไหมละว่า สัตว์ทุกตัวไม่ได้เกิดมาเป็นอาหารหรอก ถ้าเกิดมาเป็นอาหารคงไม่วิ่งหนีหรอก มันต้องนอนยิ้มรอให้เราเชือดคอไปกิน” แม่นั่งนิ่งคิดอยู่นาน “ก็อาจจะจริงอย่างเณรว่า แต่คนเราต้องอยู่ต้องกินนะ” “ใช่ๆ ผมก็เห็นด้วย แต่ว่า อย่างน้อยเราก็รู้ว่ามันบาป เรื่องนี้คงต้องค่อยๆ หาวิธีการ”

“ข้อไม่ลักขโมยใครนี่โยมแม่ทำได้ เพราะไม่ได้ขโมยใครกินอยู่แล้ว เพราะรู้ว่ามันไม่ดี ใจเขาใจเรา เราขโมยของเขาเขาก็ไม่ชอบ เขาลักของเราเราก็ไม่ชอบไม่ถูกใจ วันก่อนแม่ไปไร่ฝั่งโน้น” แม่ชี้มือข้ามฝั่งน้ำแควใหญ่ไปอีกด้าน ผมพอจะรู้ว่า เราเคยมีไร่อยู่ฝั่งตรงข้ามนั่นแปลงหนึ่ง “ตอนเดินไปถึงเขตไร่เรา เห็นตาเชยแบกกล้วยออกมาจากดงกล้วยเราพอดี เลยถามว่า มาทำอะไร เขายิ้มหน้าแหยๆ แล้วพูดว่า ว่าจะไปขอกล้วยสักเครืออยู่พอดี เจอที่นี่เลยถือโอกาสขอเลยแล้วกันนะ แรกๆ ก็ไม่พอใจ แต่คิดมาคิดไปก็ญาติพี่น้องกัน เลยพูดไม่ออก”

“ข้อนี้แม่มีประสบการณ์ดี คงไม่ยากจะรักษาไว้ได้ อย่างน้อยก็รักษาได้สักข้อ ข้อสามไม่ผิดในกามก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะแม่รักษาได้อยู่แล้ว” แม้ยิ้มๆ เพราะได้รับคำชม “ข้อนี้แม่ก็ว่าไม่ยากเพราะวันๆ ทำมาหากินก็จะแย่แล้ว ไม่มีเวลาไปไหนทำอะไร ทำงานเลี้ยงลูกสิบคนนี่แม่เหนื่อยจนหลับคางานแล้ว” แม่เอาความจริงมาเล่าสู่กันฟัง

เณรน้อยจึงเลยไม่อีกข้อ “ไม่พูดเท็จนี่แม่คงพอรักษาได้ดี” เณรถามทีเล่นทีจริง โยมแม่ตอบกลับมาโดยเร็ว “ข้อนี้เป็นเรื่องของเทคนิคนะเณร แม่ทำการค้าต้องบอกราคาค้าขายเอากำไรกันบ้าง คงไม่ผิดหรอกกระมัง แม่ว่านะ” เณรหัวเราะรู้ทันเพราะเข้าใจความรู้สึกของแม่ หัวแม่ค้าของแม่ไม่เป็นรองใครในหมู่บ้าน แม้ในตลาดใกล้บ้านหัวแม่ค้าของแม่ไม่แพ้ใคร

“ซื้อถูกขายแพง เป็นเรื่องธรรมดาของแม่ค้าทุกคน ดังนั้นแม่คิดว่าไม่บาปหรอกนะ” โยมแม่พูดแล้วมองหน้าเณรเหมือนขอความเห็นใจ “ก็จริงดั่งว่า แต่แม่ก็พูดความจริงไปเลยซิ เขาจะซื้อก็ซื้อไม่ซื้อก็เป็นเรื่องของเขาต้องตัดสินใจเอง” “แม่ก็ไม่รู้ว่าจะขายได้ราคาดีเท่าเดิมหรือเปล่า” แม่พูดเหมือนรำพึงรำพันเชิงบ่น “เอาเป็นว่า เน้นความเป็นจริงแบบตรงไปตรงมาเราปลอดภัยกว่านะครับ ไม่เป็นบาป” แม่พยักหน้า เห็นสอดคล้องกับลูกเณร

“ข้อสุดท้ายแม่สบายมาก ผมไม่เคยเห็นแม่ดื่มเหล้า แม้ว่าที่บ้านเราเคยเป็นร้านขายเหล้ามานาน” เณรน้อยพูดตามประสบการณ์ที่เคยอยู่บ้านกับแม่จนจบประถมปีที่4 แม่ยิ้มยินดี “จริงเลยลูกเณร แม่ไม่เคยดื่มเหล้า ขายเหล้าอย่างเดียว คงไม่บาป” แม่พูดอย่างสบายใจ เณรกลับพูดตรงกันข้ามเสียนี่ “ขายเหล้าก็บาปด้วยนะแม่” “อ้าว บาปยังไงเราไม่ได้ดื่มกับเขานี่ เขามาซื้อเราดื่มเอง” “แต่เรามีส่วนในการดื่มของเขานี่แม่ บาปน้อยกว่าเขาหน่อย แต่ก็ยังบาปอยู่ดี” เณรน้อยพูดตามที่พระท่านว่ามา

แม่เอามือเปื้อนๆ ปิดปากหาว “ศีลห้าข้อรักษายากมาก ชาวบ้านทั่วไปคงทำไม่ได้หรอกเณร” เณรน้อยคิดนิดหนึ่งแล้วอ้างพระ “พระบอกว่า ให้รักษาศีลห้าข้อให้ครบตอนนอนหลับซิ” แม่นั่งงง “อย่างไรเณร” “พระสอนว่าให้ตั้งใจสมาทานศีลห้าตอนก่อนนอนว่า ระหว่างนอนหลับจะไม่ทำผิดศีลห้าข้อเด็ดขาด” “แล้วมันจะได้บุญหรือ” โยมแม่สงสัย “ได้ซิโยม พระท่านสอนมา อย่างน้อยตอนหลับแม่ไม่ได้ทำผิดศีลแน่” “แน่นอน เพราะแม่หลับ” “นั่นไง ตอนหลับอย่างไรก็ไม่ผิดศีลแม้สักข้อ” “เอ จริง อย่างนี้ค่อยง่ายหน่อย” แม่มีสีหน้าโล่งอก มองเห็นช่องทางการรักษาศีลห้าแบบง่าย

“แล้วมันจะมีผลดีอย่างไรเล่าเณร” แม่ยังไม่มั่นใจว่าจะเป็นคำสอนที่ถูกต้อง “อย่างน้อยแม่ได้ฝึกสมาทานศีล ตั้งใจรักษาศีล ทำบ่อยเข้า นานเข้า จิตจะมีความคุ้นเคยกับการรักษาศีลมากขึ้นจนเพิ่มเวลาได้ในแต่ละวัน” แม่นิ่งคิดสักพัก ก่อนนิมนต์ลูกเณรให้กลับขึ้นไปจำวัดข้างบนบ้าน

หมายเลขบันทึก: 689440เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2021 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มีนาคม 2021 11:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you for this “food for thought”.

I am reminded of the Dalai Lama’s saying that “Sleep is a good meditation” and what I have read some time ago that “deep sleep is as close to nibbāna – true happiness as we can get everyday. It seems that we have already well developed life[style] for nibbāna, but we don’t make use of. ;-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท