สมาธิศึกษา: หลบตัวเข้ากลีบเมฆ


เช้าวันนี้ ผมยังคงทำหน้าที่ของขนนกที่ลอยไปตามแรงลม นัดกับสาวที่บ้านว่า เย็นนี้ไปซื้อของกันที่โลตัสหน้าสถาบันการศึกษา การเดินทางไปทำงานวันนี้ใช้รถคันเดียวกัน หวนคิดถึงเมื่อวันก่อน ได้คุยกับเพื่อนท่านหนึ่งกรณีเราใช้รถไม่คุ้ม หมายถึง รถหนึ่งคันนั่งได้อย่างน้อย ๔ คน แต่เรามักใช้คนเดียว ขณะเดียวกัน CC ของรถก็มากในระดับหนึ่ง เหมือนว่ามันจะไม่คุ้มและเกินความจำเป็น สิ่งนี้เป็นเพียงความคิดที่คุยกัน การเดินทางในวันนี้จึงดูเหมือนจะคุ้มหน่อยเพราะไม่ได้เดินทางคนเดียว

ด้วยความที่เป็นคนไม่กระตือรือร้อนเพื่อจะหาสิ่งใหม่ๆเข้ามาในชีวิต ชีวิตก็ย่ำเดินอยุ่กับสิ่งเดิมๆ แต่สิ่งเดิมๆนี้ก็ทำให้ตาวาวในบางครั้งได้เหมือนกัน บอกกับตัวเองว่า เราคงหันหลังให้กับการศึกษาไม่ได้ อันที่จริงคือน่าจะทำได้ เพียงแต่ไม่ทำเท่านั้นเอง ดังนั้น สุดท้ายก็หวนกลับเข้ามาสู่โลกการศึกษาอีกตามเคย การเข้ามาสู่การศึกษาครั้งนี้มีความสุข รู้สึกดี ความรู้สึกดีนี้อาจจะเกิดจากการที่เราผ่านความรู้สึกทุกข์ (ไม่ใช่กายทุกข์ หากแต่ใจทุกข์เพราะดิ้นรนกับอะไรหลายๆอย่าง) เมื่อความทุกข์เบาลงเพราะเราวางมันหรือทิ้งมัน เราก็รู้สึกสุข รู้สึกดี

เช้าวันนี้เห็นดอกไม้เบ่งบานสวยดี จึงเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก

ตั้งใจว่า วันนี้น่าจะเริ่มต้นจากดอกไม้ดอกนี้ประมาณว่า "ที่นี่มีดอกไม้"

แต่เมื่อขึ้นห้องทำงานเป็นชั้นที่สามของอาคาร มองเห็นแสงแดดที่ทอดผ่านเข้ามาทางหน้าต่างทิศตะวันออก ความรู้สึกก็เปลี่ยนไป จากความสวยงามของดอกไม้เป็นอะไรบางอย่างโดยเฉพาะเงาของต้นไม้ในกระถางผ่านแสงแดดและทาบลงบนพื้นอาคาร

ผมเข้าไปที่ห้องทำงานเปิดคอมพิวเตอร์ อ่านโน้น นี้ นั่น ที่เพื่อนๆแต่ละคนส่งขึ้นสู่ระบบออนไลน์และแชร์ให้อ่าน เช่น จิตหลังตายเป็นอย่างไร หนังสือเล่มหนึ่งของอาจารย์ท่านหนึ่งสายพุทธปรัชญาในประเทศไทยที่ร่วมเขียนให้กับมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด บันทึกการทำงานของสุกัญญา เจริญวีรกุล เกี่ยวกับชีวิตที่มีคุณค่าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บันทึกของอาจารย์อุทิศ ศิริวรรณ เกี่ยวกับการยังคงทำงานในประสบการณ์เดิมที่ตนได้สะสมมา ความคิดอันหนึ่งเกิดขึ้นว่า ดูเหมือนว่า บุญที่แต่ละคนทำกันอยู่นั้นมีความแตกต่างกัน อาจารย์สายปรัชญาไม่เคยเรียกสิ่งที่ตัวเองทำว่าคือการทำบุญ คุณสุกัญญาและอาจารย์อุทิศเรียกสิ่งนี้ว่าการรับใช้พระศาสนา การเข้าไปอ่านเรื่องราวเหล่านี้เปลี่ยนจากดอกไม้ที่พบ แสงแดดและเงาของต้นไม้ในกระถางเป็นพื้นความคิดอีกแบบหนึ่ง และสิ่งหนึ่งที่ไม่ลืมคือ การถามตัวเองว่า เราล่ะทำอะไรบ้าง ความคิดเชื่อมโยงไปถึงศิลปะนครวัดนครธมที่ดูเมื่อวาน ที่ยังคงมีอยู่ให้เราเรียนรู้ หวนคิดว่า เราเคยเรียนภาษาขอมด้วยตนเอง ไหนลองทบทวนดูหน่อยจึงลองเขียนดู

และเริ่มทบทวนตัวเองว่า หลายอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตและเราได้เรียนรู้สิ่งนั้น แต่เราก็ไม่ได้นำมาใช้ ดูเหมือนมันไร้ประโยชน์จริงๆ แต่ความคิดก็โต้แย้งอีกว่า สิ่งที่เราเรียนรู้ไม่ได้มีโทษอะไรปรากฎให้เห็นนี่นา กลอนชุดนี้จึงค่อยๆถูกเรียบเรียงขึ้น

อายุผ่านกาลเก่าไม่เบาแล้ว
นั่งมองดูดวงแก้ววาวแววใส
แสงสว่างแม้นนิดในจิตใจ
เหลือสิ่งอื่นอันใดให้สะสาง
อยู่กับโลกสังคมก็ตามนั้น
ความสงสัยหลายอันค่อนกระจ่าง
เวลาเหลือเพื่อใครสิ่งใดบ้าง
ฉันทบทวนเส้นทางที่ผ่านมา
หลายสิ่งอันฉันมองไร้ประโยชน์
แต่ไม่เห็นภัยโทษอย่างเชื่อว่า
ช่างเปล่าดายคืบคลานที่ผ่านมา
ใยไม่รู้หรือว่าคือฐานตน
เพียงเส้นลากลายลักษณ์ขึ้นอักษร
ภาษาสื่อกาลก่อนอนุสนธ์
แม้นหมดสิ้นการใช้ในบัดดล
แต่สิ่งหนึ่งแยบยลคือใจนิ่ง
แต่ละเส้นลากสายจรรจบเส้น
รับรู้เห็นผ่านใจไม่ไหวติง
ณ เบื้องหลังขีดเขียนสงบนิ่ง
คือคุณค่าอย่างยิ่งเรียนรู้ได้
อย่ามองผ่านเล็กน้อยว่าไร้ค่า
ในบางครั้งเกินกว่าจะเข้าใจ
ประสบการณ์พานพบไม่ไปไหน
คือตัวตนจิตใจแต่ละคน
เหลือเวลาเท่าไรแล้วละนี่
ยังคงมีอันใดให้ขุดค้น
ถ้าคำตอบเหมือนเก่าวกเวียนวน
หยุดเวลาดิ้นรนจะดีกว่า
อยู่กับสิ่งที่มีเท่าที่เห็น
ใจร่มเย็นกับสิ่ง ณ ตรงหน้า
ให้ยิ้มได้ล่วงผ่านกาลเวลา
เพื่อไม่ทิ้งรอยน้ำตาเมื่อต้องไปฯ
๒๕๖๔๐๓๐๙
๐๘.๓๑
หมายเหตุ ขณะทบทวนภาษาโบราณกับคนชอบของโบราณ

เวลาล่วงเก้าโมงเช้า มีนักศึกษามุสลิมมาปรึกษาเรื่องงาน คุยเพื่อเป็นแนวทางอะไรบางอย่างให้กับการสร้างงาน เมื่อนักศึกษาเดินคล้อยไป มีความรู้สึกว่า สมองอึ้งๆยังไงชอบกล จึงทำใจนิ่งๆ ดูนาฬิกาบนหน้าจอคอมฯ มีตัวเลข ๑๐ แต่จำไม่ได้ว่ากี่นาที มีความรู้สึกอยากดับความคิด จึงเดินไปปิดไฟ ปล่อยให้มีแสงสว่างที่ลอดผ่านทางหน้าต่างเท่านั้น ยังคงนั่งบนเก้าอี้ทำงานเหมือนเดิม ขาที่ห้อยก็ยกขึ้นเป็นขัดสมาธิ หลับตาภาวนาตามที่ได้รับอบรมมา ยุบหนอ พองหนอ รับรู้การพองขึ้นและยุบลงของท้อง แต่จับไม่ได้ จึงใช้สติรับรู้รอบตัวและดูแลตัวเองตลอดเวลา ขณะนั้นมีความคิดผุดขึ้นว่า ขอครูบาอาจารย์ช่วยชี้แนวทางให้ด้วย (น่าจะคือครั้งแรกที่มีความคิดนี้) มีภาพหลวงพ่อสด หลวงปู่สงฆ์ หลวงพ่อจรัญ ฯลฯ ผ่านเข้ามาในสมองแบบบางๆ รอบนี้ไม่มีการคอตก ไม่มีหน้าก้ม เพราะจะคอยเตือนสติรอบตัวเสมอๆ หรือรับรู้ตลอดเวลา ช่วงที่เป็นเหมือนเดิมคือ ภาวะความอื้ออึงของอะไรต่ออะไรไม่รู้ก่อนที่จะเข้าสู่ความไม่มีอื้ออึง รับรู้ได้ถึงโลกที่กว้างขึ้น จับการเคลื่อนไหวของท้องได้ชัดเจน และรอบนี้มีแต่ความเงียบ (ขณะนี้มีเสียงจั๊กจั่นดังตลอดเวลา) ภาพต่างๆโผล่ขึ้นมาสลับกันไป เช่น ภาพหัวพยานาคปูนปั้น เข้าใจขณะนั้นว่าน่าจะคือภาพหัวพยานาคที่วัดพะโค๊ะ และภาพอื่นๆที่จำไม่ได้ในขณะนี้แล้ว ขณะที่ภาพต่างๆสลับกันเกิดบนสมอง มีความคิดบางๆเกิดขึ้นว่า "ภาพเหล่านี้ไม่ใช่ความจริง หากแต่เป็นทำเชื่อมโยงของภาพแต่ละภาพที่เกิดจากการเห็นต่างพื้นที่และเวลาผสมผสมกัน ล้วนแต่เป็นการทำงานของสมอง/จิต/ความคิด ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วก็หายไป" ภาพในใจกับสิ่งที่ปรากฏ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฎและภาพในใจ ดูเหมือนว่า การหลับตาภาวนารอบนี้ สิ่งที่ปรากฏชัดคือ การรับรู้ภาพที่เกิดขึ้นบนสมอง จากเดิมที่สติจับไม่ได้เลย มีบางครั้งลับมืดไป (เข้าใจเอาเองว่าน่าจะคือตกภวังค์หรือเปล่าไม่แน่ใจ) แต่รอบนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ที่ลับมืดไปมีเพียงครั้งเดียว เร็วมากและจับได้ทัน สังเกตตัวเองขณะนั่งรอบนี้ ไม่มีอาการโค้งงอ ตัวตรง เหมือนว่าปอดพองขึ้นจึงทำให้ยืดตัวตรงอยู่ได้ (อาจจะคือความอิ่มเอิบ) ระหว่างที่อยู่ในโลกแบบนั้น ไม่มีความคิดใดๆเข้ามารบกวนให้หนักสมองเลย มีแต่การรับรู้ภาพที่เกิดในสมองเท่านั้น โดยภาพดังกล่าวไมไ่ด้ทำให้สมองหนักแต่อย่างใด เห็นว่าเวลาพอสมควรจึงเปิดตาขึ้น 

๒๕๖๔๐๓๐๙

๑๒.๒๗ น. 

หมายเหตุ (เพิ่มเติม) สิ่งหนึ่งที่อยากบันทึกเอาไว้คือ ในช่วงนี้อาการหนึ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองคือเสียงอือๆๆภายในหู ถ้าไม่ปล่อยมันไปจะรู้สึกรำคาญไม่น้อย เข้าใจว่าจะคือประสาทหูอักเสพ อาการนี้เคยรักษาแล้วเมื่อหลายปีก่อนที่ รพ.ธรรมศาสตร์ จากนั้นก็หายไปและเพิ่งเกิดเมื่อเดือนที่แล้ว น่าจะเกิดจากการใช้หูฟังแบบครอบช่วงการต้องสอนแบบออนไลน์ อาการดังกล่าวนี้จะหายไป ไม่มารบกวนในช่วงที่เข้าสู่โลก/ภาวะไม่มีความคิดเข้ามารบกวน /ช่วงเข้าสมาธิ (มั้ง) แต่เมื่อออกจากโลกแบบนั้น อาการดังกล่าวก็มาอีก ทางออกของความขัดใจคือปล่อยมันไป ดีแล้วที่เกิดจะได้รับรู้เสียงนั้น (ขัดใจหน่อยเวลาฟังเพลง เสียงเบสที่กระทบหูเราจะอื้ออึง แต่ก็ฟังๆไป อายุจะเข้าสู่ ๕๐ แล้วจะอะไรมากมาย ทุกอย่างก็เสื่อมไปตามเวลาของมัน)

หมายเลขบันทึก: 689394เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2021 12:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2021 11:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท