ครูนอกระบบ
นาง ณัฐนิธิ อารีย์ อักษรวิทย์

<เล่าสู่กันฟัง> "เกล็ดเลือดต่ำ" ภาวะอันตราย แต่รับมือได้ด้วยวิธีเพิ่มเกล็ดเลือดอย่างเป็นธรรมชาติ


     

     เกล็ดเลือดช่วยให้เลือดหยุดไหลเมื่อเราเป็นแผล หากใครมีปัญหาเกล็ดเลือดต่ำจะเลือดออกง่าย เรามีวิธีเพิ่มเกล็ดเลือดอย่างเป็นธรรมชาติมาฝาก

เกล็ดเลือด ถือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเลือด มีส่วนช่วยในการทำให้เลือดหยุดไหลในเวลาที่เราโดนมีดบาด หรือเป็นแผล ทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างลิ่มเลือดด้วย การรักษาจำนวนของเกล็ดเลือดให้อยู่ในระดับปกติจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากคุณมีเกล็ดเลือดต่ำเมื่อไหร่ ร่างกายของคุณก็จะเกิดปัญหาในการห้ามเลือด หรืออาจมีเลือดไหลง่ายกว่าปกติ ฉะนั้น หากคุณไม่อยากประสบปัญหาเหล่านี้ Hello คุณหมอ ก็มี วิธีเพิ่มเกล็ดเลือด ที่ทำได้ง่ายๆ มาแนะนำ รับรองเลยว่าเกล็ดเลือดของคุณจะเพิ่มขึ้น แถมยังสุขภาพดีขึ้นด้วย


เกล็ดเลือดและจำนวนเกล็ดเลือดสำคัญอย่างไร?

เกล็ดเลือด (Platelets) หรือ ทรอมโบไซท์ (Thrombocytes) เป็นเซลล์เม็ดเลือดชนิดไม่มีสี มีหน้าที่ช่วยในการทำให้เลือดแข็งตัว และลดการสูญเสียเลือดจากร่างกายเวลาเกิดแผล กล่าวคือ เมื่อหลอดเลือดถูกทำลาย หลอดเลือดจะส่งสัญญาณไปยังเกล็ดเลือด แล้วเกล็ดเลือดก็จะหลั่งเอนไซม์ที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวออกมา พร้อมกับยึดเกาะกันเป็นก้อนเลือดเพื่อหยุดการไหลของเลือด จากนั้นเมื่อปากแผลถูกอุด และเลือดหยุดไหลแล้ว เกล็ดเลือดก็จะลดขนาดของลิ่มเลือดที่อุดปากแผลอยู่ให้เล็กลง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือด

เกล็ดเลือดถูกสร้างขึ้นในไขกระดูกพร้อมกับเซลล์เม็ดเลือดแดงและเซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดแต่ละชุดจะไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดประมาณ 8-10 วัน โดยทั่วไปแล้ว ปริมาณเกล็ดเลือดปกติของคนเราจะอยู่ที่ 150,000-450,000 ต่อไมโครลิตร แต่หากจำนวนเกล็ดเลือดลดลง หรือมีน้อยกว่า 150,000 ต่อไมโครลิตร ก็จะเข้าสู่ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้เกิดเลือดออกง่าย หรือร่างกายมีปัญหาในการทำให้เลือดหยุดไหล ยิ่งหากมีจำนวนเกล็ดเลือดต่ำกว่า 50,000 ต่อไมโครลิตร ก็ยิ่งเสี่ยงเกิดปัญหาเลือดออกผิดปกติขั้นรุนแรง จนอาจเป็นอันตรายได้


สัญญาณและอาการของภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) อาจเป็นผลมาจากโรคบางชนิด เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคภูมิต้านตัวเอง ภาวะเลือดมีแบคทีเรีย การติดเชื้อเอชไอวี หรืออาจเกิดจากคุณดื่มแอลกอฮอล์หนักมากมานาน คุณใช้ยาละลายลิ่มเลือด ใช้ยากันชัก และหากคุณกำลังรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด หรือ รังสีรักษา ก็ทำให้มีเกล็ดเลือดต่ำได้เช่นกัน

โดยคุณสามารถสังเกตอาการของภาวะเกล็ดเลือดต่ำได้ ดังนี้

  • เป็นรอยช้ำ หรือเกิดห้อเลือด (Purpura) ง่ายกว่าปกติ หรือรุนแรงกว่าปกติ

  • มีเลือดออกใต้ผิวหนังตื้นๆ เป็นจุดเล็กๆ เหมือนรอยเข็มจิ้ม สีแดงปนม่วง หรือที่เรียกว่า จุดเลือดออก (Petechiae) โดยเฉพาะที่บริเวณขาช่วงล่าง

  • เวลาเป็นแผล หรือโดนของมีคมบาด มักมีเลือดออกนาน และเลือดไม่หยุดไหลเอง

  • มักมีเลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดกำเดาไหล

  • มีเลือดไหลออกจากทวารหนัก มีเลือดปนในปัสสาวะ หรืออุจจาระ

  • ประจำเดือนมามากกว่าปกติ

  • เหนื่อยง่าย

  • ม้ามโต

  • ดีซ่าน (เช่น ผิวเหลือง ตาเหลือง)
  • ยิ่งหากคุณมีเลือดปนในปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นประจำ ร่วมกับอาเจียนเป็นเลือด ก็ควรรีบไปพบคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณว่ามีภาวะเลือดตกใน (Internal bleeding)


    วิธีเพิ่มเกล็ดเลือด อย่างเป็นธรรมชาติ เพิ่มโฟเลตให้กับร่างกาย

    โฟเลต (Folate) หรือวิตามินบี 9 เป็นวิตามินบีชนิดสำคัญที่ช่วยบำรุงเลือด ทำให้เลือดมีสุขภาพดี โดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (The National Institutes of Health หรือ NIH) แนะนำว่า ผู้ใหญ่ควรได้รับโฟเลตอย่างน้อยวันละ 400 ไมโครกรัม และหากเป็นหญิงตั้งครรภ์ก็ควรได้รับโฟเลตวันละ 600 ไมโครกรัม โดยคุณสามารถหาโฟเลตได้จากผักใบเขียว เช่น ปวยเล้ง หน่อไม้ฝรั่ง รวมถึงพืชตระกูลถั่ว ธัญพืช ส้ม ข้าว ยีสต์ ตับวัว

    • กินอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 12

    วิตามินบี 12 มีส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง หากร่างกายของคุณได้รับวิตามินบี 12 ไม่เพียงพอ ก็จะทำให้คุณมีเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า คนที่อายุเกิน 14 ปี ควรได้รับวิตามมินบี 12 มากกว่า 2.4 ไมโครกรัมต่อวัน หากตั้งครรภ์ ควรเพิ่มเป็น 2.8 ไมโครกรัมต่อวัน โดยอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 12 เช่น เนื้อวัว ตับวัว ไข่ หอย ปลา (เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า) แต่หากคุณกินมังสวิรัติ หรือเป็นวีแกน ก็อาจเพิ่มวิตามินบี 12 ได้ด้วยการกินอาหารเสริมวิตามินบี 12 นมถั่วเหลืองหรือนมอัลมอนด์เสริมวิตามินบี 12

    • เพิ่มธาตุเหล็ก

    ธาตุเหล็กช่วยให้เกล็ดเลือดและเซลล์เม็ดเลือดแดงสมบูรณ์แข็งแรง ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งในกลุ่มเด็กทารกและวัยรุ่นที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก พบว่า ธาตุเหล็กอาจช่วยเพิ่มจำนวนเกล็ดเลือดในผู้ที่มีภาวะนี้ได้ ซึ่งคุณสามารถเพิ่มธาตุเหล็กได้จากการกินดาร์กช็อกโกแลต หอยนางรม ตับวัว เต้าหู้ ถั่วแดง ถั่วขาว โดยผู้ที่อายุเกิน 50 ปี ควรได้รับธาตุเหล็กวันละ 8 มิลลิกรัม ผู้หญิงอายุ 19-50 ปี ควรได้รับ 15 มิลลิกรัม และหากตั้งครรภ์ ควรได้รับธาตุเหล็ก 27 มิลลิกรัมต่อวัน

    หากคุณอยากเพิ่มเกล็ดเลือดด้วยการกินอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก คุณก็ต้องระวังให้ดี อย่ากินอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น ชีส โยเกิร์ต ปลาซาร์ดีน เวย์โปรตีน นมวัว หรืออาหารเสริมแคลเซียมในปริมาณมากเกินไป เพราะอาจไปขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กได้

    วิตามินซีช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งยังช่วยให้เกล็ดเลือดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นแร่ธาตุสำคัญในการสร้างเกล็ดเลือดได้เป็นอย่างดี โดยคุณสามารถหาวิตามินซีได้จากบร็อคโคลี่ มะม่วง ฝรั่ง ส้ม เกรปฟรุต สัปปะรด พริกหยวก มะเขือเทศ กีวี สตรอว์เบอร์รี เป็นต้น และถ้าจะให้ดี คุณควรกินผักผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินซีเหล่านี้แบบสดๆ เพราะการนำไปปรุงสุกหรือผ่านความร้อน อาจทำให้วิตามินซีถูกทำลายได้

    • กินวิตามินเค

    วิตามินเคมีส่วนสำคัญในการสร้างลิ่มเลือด ช่วยบำรุงกระดูก และยังมีผลการวิจัยที่ชี้ว่า วิตามินเคช่วยเพิ่มเกล็ดเลือด และบรรเทาอาการเลือดออกผิดปกติได้ โดยคุณสามารถหาวิตามินเคได้จากผักใบเขียว เช่น คะน้า ปวยเล้ง บร็อคโคลี่ ถั่วเหลือง น้ำมันถั่วเหลือง ฟักทอง และถั่วเหลืองหมักดอง เช่น นัตโตะ

    วิธีเพิ่มเกล็ดเลือด นอกจากจะกินอาหารบำรุงเกล็ดเลือดที่เราแนะนำข้างต้นให้มากขึ้นแล้ว คุณก็ควรงดหรือลดอาหารและเครื่องดื่มบางชนิด ที่อาจทำให้เกล็ดเลือดของคุณต่ำลง เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำแครนเบอร์รี แอสปาร์แตมหรือน้ำตาลเทียม (Aspartame)

    ขอขอบคุณ

    ข้อมูล :เนตรนภา ปะวะคัง

    ภาพ :iStock

หมายเลขบันทึก: 689253เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2021 16:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มีนาคม 2021 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท