ชีวิตที่พอเพียง 3880. ชีวิตที่เลือกได้



เคยได้ยินคนเอ่ยถึง Gig economy แต่ผมก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร    ลองค้นดู พบคำอธิบายมากมาย เช่น ที่ (๑) (๒)   (๓)    และมีบทความวิจัยเรื่อง The Impact of the Gig Economy ที่ (๔)     บทความนี้มีคนอ่านให้ฟังด้วย คนสายตาไม่ค่อยดีอย่างผมชอบมาก   ผู้เขียนคือ Jamie Woodcock เป็นนักวิจัยที่ Oxford Internet Institute  มหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด บอกว่า ปัจจัยที่ชักนำให้เกิด gig economy มี ๙ ประการคือ  (๑) เทคโนโลยี ที่เป็น platform infrastructure ได้แก่ คลื่น 4G, cloud computing, เครือข่าย GPS และอื่นๆ  (๒) มีงานที่ทำผ่าน platform ได้  (๓) มีอินเทอร์เน็ต  และสมาร์ทโฟนราคาถูก  (๔) มีความต้องการใช้บริการผ่าน platform  (๕) สภาพสังคมที่ทำให้คนบางกลุ่มเข้าไม่ถึงงานที่เป็นทางการ  (๖) ความยืดหยุ่นที่คนทำงานต้องการ หรือเจ้าของ platform ต้องการ  (๗) กฎหมายบ้านเมือง ทำให้งานแบบนี้เกิดขึ้น หรือสามารถเล็ดรอดกฎหมายได้  (๘) พลังของชนชั้นแรงงานไม่แข็งแรง ในการต่อต้าน  (๙) กระแสโลกาภิวัตน์และ outsourcing     นี่คือข้อสรุปจากงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง    เสนอมุมมองเชิงวิชาการ

จะเห็นว่า งานใน gig economy คืองานอิสระ ไม่มีนายจ้าง    ทำงานเป็นชิ้นๆ และได้ค่าตอบแทนตามข้อตกลง    มีตั้งแต่งานยากๆ ค่าตอบแทนสูง ไปจนถึงงานขี่มอเตอร์ไซคล์ส่งของ    ข้อดีคืออิสระ   ข้อพึงระวังคือต้องดูแลเรื่องสวัสดิการให้แก่ตนเอง     ไม่มีระบบสวัสดิการใดๆ ให้  

นอกจากนั้น ยังมีหนังสือ Working in the Gig Economy : How to Thrive and Succeed When You Choose to Work for Yourself  เขียนโดย Thomas Oppong    เสนอคำแนะนำให้ทำธุรกิจใน gig economy ประสบความสำเร็จ และมั่นคงต่อชีวิตในระยะยาว  

สมัยก่อนงานแบบนี้เรียกว่างาน freelance    แต่ gig economy worker ทำงานกับ digital platform และ App เช่น Uber, Grab    จึงเป็นงานที่เพิ่งเกิดใหม่เมื่อมี digital platform และมีโทรศัพท์มือถือใช้กันแพร่หลาย  

ที่จริงที่บ้านผมมีลูกสาวอยู่ใน gig economy มานานเกือบ ๒๐ ปี    เปลี่ยนจากวิศวกรวิจัยด้านไอทีรายได้สูง     มาเป็นนักทำมูลนิธิ    และทำงานหารายได้อิสระโดยเป็นล่ามและนักแปลภาษา ญี่ปุ่น ไทย อังกฤษ    เขาจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า  ปริญญาโทจาก ฮาร์วาร์ด   และทำงานที่บริษัท มัทสึชิตะ ที่โอซาก้าอยู่ ๓ ปี เงินเดือนสูงมาก    แต่ชอบงานอิสระและงานช่วยเหลือเด็ก   

ผมจึงได้เรียนรู้วิธีทำงานอิสระให้มั่นคง มีชีวิตอยู่ได้สบาย จากลูกสาว    ส่วนมากตรงกับในหนังสือ Working in the Gig Economy    ซึ่งแนะนำว่า ต้องทำงานอย่างมีความรับผิดชอบ  คุณภาพสูง  สื่อสารบริการของตนอย่างสม่ำเสมอ (ลูกสาวผมไม่ทำ เขาปล่อยให้คุณภาพโฆษณาตนเอง เลือดมันแรง)    ต้องมีวินัยในการใช้เวลาและเงิน (ลูกสาวผมใช้เวลาเป็นปีให้ญาติพี่น้องเข้าใจว่าเขาไม่ใช่คนว่างงาน   และมีชีวิตง่ายๆ ประหยัด    เขาเคยเอ่ยเรื่องชีวิตของเขายามชรา ที่ไม่มีบำนาญและสวัสดิการแบบพ่อแม่)    

ชีวิตใน gig economy จึงเป็น “ชีวิตที่เลือกได้”    เลือกทำงานที่ตนชอบหรือสนุก    อย่างที่ลูกสาวของผมมีชีวิตที่น่าอิจฉาจริงๆ (๕)  (๖)    ที่จริงชีวิตของผมตอนนี้ (ยามชรา) ก็เป็นชีวิตที่ผมเลือก    แต่ไม่เรียกว่าอยู่ใน gig economy เพราะผมมีต้นสังกัด คือราชการ ดูแลสวัสดิการอย่างดี  

โลกสมัยนี้ โอกาสเปิดให้มนุษย์เลือกชีวิตที่ตนพอใจได้     หากมีการศึกษา และมีสมรรถนะที่ดี     ก็เลือกแนวทางเลี้ยงชีพแบบอิสระได้    ซึ่งที่จริงสมัยโบราณมากๆ ก่อนที่จะมีระบบการปกครองบ้านเมือง     มนุษย์เราก็มีชีวิตแบบอิสระ (แต่ไม่ใช่ gig economy)    มนุษย์เราคิดระบบต่างๆ ขึ้นมาช่วยการดำรงชีวิต    ให้มีชีวิตที่ดีได้    โดยต้องยอมสูญเสียความเป็นอิสระไปบางส่วน

บัดนี้ digital platform ช่วยให้เกิดอาชีพอิสระแบบใหม่    ที่นับวันจะขยายตัวมากขึ้น    ที่ใครเข้าไปทำ ก็ต้องรู้เท่าทันจุดอ่อนและจุดแข็งของอาชีพแนวนี้    รวมทั้งรู้เท่าทันความสัมพันธ์ที่เหมาะสมยุติธรรมระหว่างเจ้าของหรือผู้จัดการ platform กับผู้ทำงานใน platform         

หนังสือ Working in the Gig Economy แนะนำว่า หากจะเข้าสู่ gig economy ต้องรู้จักตัวเอง ว่าชอบอะไร เก่งอะไร    แต่ผมว่าต้องรู้อีก ๒ อย่าง คือ รู้จัก platform ที่เราจะทำงานด้วย    และต้องรู้จักลูกค้า    ดังนั้น ที่ว่าเป็นงานอิสระนั้น   จริงๆ แล้วไม่อิสระเต็มที่หรอก    ยังต้องขึ้นกับเงื่อนไขของ platform  และขึ้นกับความต้องการของลูกค้าอยู่ดี

ไม่ว่าทำอะไร ความน่าเชื่อถือเป็นเรื่องสำคัญ    หากทำงานกับองค์กร เราอาศัยตรา หรือชื่อเสียงขององค์กร ในการรับประกันงานของเรา    แต่ใน Gig Economy เราต้องสร้างตราหรือชื่อเสียงความน่าเชื่อถือของเราเอง    สำหรับดึงดูดลูกค้า   

แต่บางครั้งก็ควรเลือกลูกค้าด้วย    โดยต้องรู้จักปฏิเสธอย่างนุ่มนวล    ไม่ให้เสียน้ำใจ    เรื่องนี้ลูกสาวผมเก่งมาก    และยิ่งเก่งในเรื่องการทำงานเป็นล่ามในคณะดูงานไปประเทศญี่ปุ่น    เพราะเขาพบว่าสมาชิกในคณะเดินทางมักเข้าใจผิดคิดว่าเขาเป็นไกด์    จึงใช้เขาเหมือนใช้ไกด์    เมื่อมีประสบการณ์ เขาก็มีวิธีจัดการความคาดหวังของลูกค้าตั้งแต่ต้น    ให้บอกสมาชิกคณะดูงานว่า เขาเป็นล่าม ทำงานตอนประชุมหรือดูงานเท่านั้น    ไม่ใช่ไกด์พาเที่ยว    ตอนพาเที่ยวเขาไม่เกี่ยว    ต้องใช้ไกด์    ยิ่งใช้ซื้อของหอบของเขายิ่งไม่เกี่ยว  

อีกคำแนะนำหนึ่งคือต้องมีการจัดการเวลาอย่างดี  และมีวินัยในตัวเอง    ซึ่งเรื่องนี้ลูกสาวผมเก่งมาก    จัดเวลาทำงานไม่ให้พ่อแม่พี่น้องหรือใครๆ มารบกวนเวลาทำงานแปล หรือเตรียมตัวเป็นล่าม    เขาทำงานแบบให้บริการคุณภาพสูง มีการค้นคว้าเตรียมทำความเข้าใจเรื่องที่จะเป็นล่ามล่วงหน้าหลายวัน    จึงเข้าใจเรื่อง ช่วยให้การแปลเข้าใจง่าย    หรือบางครั้งช่วยเสริมคำที่เหมาะสมให้แก่ฝ่ายญี่ปุ่นได้ด้วย    เขาจึงเป็นล่ามค่าตัวแพง    ซึ่งหากคิดเวลาเตรียมตัวเข้าไปด้วย รายได้ของเขาก็ไม่สูงมาก    เพราะทำงาน ๑ วัน เตรียมตัวหลายวัน   

เรื่องสำคัญคือ ต้องรู้จักเก็บเงินเอาไว้ใช้ยามเจ็บป่วยและแก่ชราเอง    เพราะไม่มีสวัสดิการใดๆ ในชีวิต    ลูกสาวเขาเข้าใจดี และโชคดีที่ได้รับมรดกจากป้าสองคน    ช่วยความมั่นคงได้สบาย แม้จะไม่ใช่มรดกที่มากมายนัก        

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ธ.ค. ๖๓

     

หมายเลขบันทึก: 688619เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2021 20:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2021 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท