โจทย์สำคัญสำหรับคนไทยทุกคน


เป็นผลประเมินจาก สมศ. ในโอกาสครบรอบ 5 ปีที่ผมพอจะสรุปมาได้ ซึ่งจะเห็นว่าโดยรวมแล้วยังคงสอดคล้องกับบทความที่ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์เขียนไว้เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว และท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ยังได้เสนอแนวทางการแก้ไขอยู่ในบทความนั้นด้วยครับ

         วันศุกร์ที่ 4 – วันเสาร์ที่ 5 พ.ย. 48 ผมได้เข้าร่วมการประชุมวิชาการ “กึ่งทศวรรษการประเมินคุณภาพภายนอก” เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปี สมศ. ที่เมืองทองธานี

         มีผู้เข้าร่วมงานคับคั่งเกือบ 7,000 คน เป็นบุคลากรทางการศึกษาที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาทั้งระดับการศึกษาปฐมวัย ขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา

         เรื่องที่น่าสนใจมีอยู่จำนวนมาก แต่จะขอเล่าสักหนึ่งเรื่องเกี่ยวกับผลประเมินคุณภาพการศึกษาของไทยโดย สมศ. ในรอบแรก (2542 – 2548) ภาพรวม ๆ เป็นดังนี้ครับ

         ก. การศึกษาขั้นพื้นฐาน

         1. มีโรงเรียนที่ได้มาตรฐาน 45% ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมดที่เหลือ 55% ยังไม่ได้มาตรฐาน ช่องว่างระหว่างโรงเรียนที่ได้มาตรฐานและไม่ได้มาตรฐานกว้างมาก (ประมาณ 8,000 โรงเรียนอยู่ในระดับดี แต่อีกกว่า 10,000 อยู่ในระดับที่ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นโรงเรียน) โรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนของรัฐ ขนาดเล็ก และอยู่ห่างไกล

         2. จากทั้งหมด 7 มาตรฐานที่ทำการประเมินมีใช้ได้ 4 มาตรฐาน ส่วนอีก 3 มาตรฐานไม่เป็นที่น่าพอใจ มาตรฐานที่ไม่น่าพอใจเป็นมาตรฐานที่มีความสำคัญทั้งสิ้นคือ มาตรฐานที่ 4 – 5 – 6 (เป็น 3 มาตรฐานที่ควรรู้จักครับ เนื่องจากมีชื่อ "เสีย" ดังมากในขณะนี้) โดยที่มาตรฐานที่ 4 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการคิดเป็น วิเคราะห์เป็น มาตรฐานที่ 5 เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรู้และทักษะที่จำเป็น มาตรฐานที่ 6 เป็นเรื่องเกี่ยวกับทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองและการรักการเรียนรู้

         3. ครูที่สอนส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี แต่ไม่สามารถสอนตามแนวการปฏิรูปการศึกษาได้ ไม่เข้าใจว่าการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเป็นอย่างไร หรือเข้าใจก็เข้าใจไม่ค่อยจะตรงกัน (ได้ Input มาไม่ดี ซึ่งเป็น Output จากสถาบันอุดมศึกษา)

         ข. ระดับอุดมศึกษา

         1. มาตรฐานที่มีปัญหามากที่สุดคือมาตรฐานเกี่ยวกับการวิจัย อาจารย์ส่วนใหญ่ยังไม่จบปริญญาเอก (ประมาณ 80%) อาจารย์ส่วนใหญ่ไม่ทำวิจัย (ประมาณ 76%) ระบบบริหารงานวิจัยในมหาวิทยาลัยอ่อนแอ ผลงานวิจัยที่ทำอยู่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากนักในการแก้ปัญหาของประเทศชาติ

         2. บางสถาบันใช้นโยบาย “เรียนง่าย จ่ายครบ จบแน่” เนื่องจากได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐบาลน้อย จึงต้องหารายได้เลี้ยงตัวเอง ทำให้เกิดการต่อยอดหรือเสริมปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาจากการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอีกต่อหนึ่ง เชื่อมโยงกันเป็นวงจรที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาการศึกษาของชาติ (ไม่เอื้ออย่างยั่งยืน)

         3. ได้ Input (นักเรียน ม.ปลาย) เข้ามาไม่ดี ซึ่งเป็น Output จากการศึกษาขั้นพื้นฐาน

         ทั้งหมดนี้แหละครับที่ผมคิดว่าเป็นโจทย์เป็นการบ้านข้อใหญ่สำหรับคนไทยทุกคนที่จะต้องช่วยกันคิดหาทางและรีบลงมือแก้ไขกันอย่างเร่งด่วน เป็นผลประเมินจาก สมศ. ในโอกาสครบรอบ 5 ปีที่ผมพอจะสรุปมาได้ ซึ่งจะเห็นว่าโดยรวมแล้วยังคงสอดคล้องกับบทความที่ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์เขียนไว้เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว และท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ยังได้เสนอแนวทางการแก้ไขอยู่ในบทความนั้นด้วยครับ ทุกท่านสามารถติดตามได้จาก <Link>

         วิบูลย์  วัฒนาธร

 

หมายเลขบันทึก: 6884เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2005 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

     เนื่องจากผมไม่อยากให้ประเด็นนี้ ผ่านไปง่าย ๆ จึงขอเป็นหน้าม้าแสดงความคิดเห็นนิดหน่อยก่อน เพื่อให้ทุกท่านได้ช่วยกันแสดงความคิดเห็นต่อ อยากให้ช่วยกันครับ

     ผมมีความคิดเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นวาระแห่งชาติที่แท้จริงเลยครับ

ข้อคิด ข้อเขียน ของท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ ที่อาจารย์วิบูลย์สืบค้นมาลง Blog ให้อ่านกันนั้น  ทำให้ดิฉันเหมือนคนติดละครทีวี ซึ่งคอยเร่งวันคืนให้ผ่านไปโดยเร็ว เพื่อจะได้ติดตามตอนต่อไป  ท่านอาจารย์วิจารณ์ชำแหละปัญหาได้อย่างถึงแก่น ประสาคนอ่อนประสบการณ์ ดิฉันก็คล้อยตามเหตุผลไปเสียทุกเรื่อง ณ ขณะที่ยังอ่านบทความไม่จบ  ดิฉันคิดเห็นว่า ปัญหานี้แก้ยากนัก เพราะ

1. เป็นเรื่องของวัฒนธรรมเสียส่วนใหญ่ การพลิกวัฒนธรรมทั้งที่เป็นวัฒนธรรมองค์กร  และวัฒนธรรมระดับปัจเจก ซึ่งสั่งสมกันมานาน  ต้องอาศัยพลังขับเคลื่อนแรงสูง

2. ความเชื่อมโยงของระบบการศึกษา ตั้งแต่สถาบันครอบครัว การศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่อยมาถึงระดับอุดมศึกษา เป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน ต้องแก้ไขไปด้วยกัน ปัญหาจึงเป็นเรือโยงลำยาว (ตอนนี้ระดับพื้นฐานยังประท้วงกันอยู่เลย)

3. เราอาจสร้างคุณค่าร่วม ว่าการวิจัยเป็นสิ่งสำคัญ ให้แก่อาจารย์ได้ไม่ยากนัก  เพราะธรรมชาติของคนเป็นอาจารย์ก็เอื้ออยู่แล้ว  แต่การสร้างบรรยากาศการวิจัยในสภาวะที่สถาบันถูกเร่งให้เพิ่มผลผลิต และด้วยลำแข้งของตนเองอีกต่างหาก  มันก็ไม่ต่างอะไรกับการเร่งให้แม่มีลูกเยอะๆ แต่ต้องหาเงินเลี้ยงลูกเอง แล้วต้องเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพด้วย

มีสิ่งหนึ่งที่ดิฉันยังไม่อาจปักใจเชื่อได้เต็มร้อยว่า จะเป็นเครื่องช่วยเพิ่มคุณภาพของอุดมศึกษาได้ ก็คือ การเพิ่มปริมาณผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ ในเมื่อผลสำรวจโดยรวมระดับประเทศ ฉายภาพว่า บ้านเรายังอ่อนแอเหลือเกินในเรื่องงานวิจัย ดังนั้น การเริ่มทำวิจัยกันอย่างเศรษฐกิจพอเพียง คือเริ่มจากงานวิจัยที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมืองของเราเป็นอันดับแรก โดยพึ่งเทคโนโลยีต่างชาติให้น้อยหน่อย (เช่นครุภัณฑ์ราคาแพง) พยายามทุกวิถีทางให้เผยแพร่ผลงานที่มีคุณภาพอย่างกว้างขวางในบ้านเราให้ได้ก่อน (วารสารภายในประเทศก็น้อยมาก) พยายามให้คนของเราเองยอมรับในงานของพวกเรากันเองก่อน (พวกเรากันเองไม่ค่อยชอบอ้างอิงผลงานซึ่งกันและกัน  หรืออาจเป็นเพราะระบบฐานข้อมูลงานวิจัยของเราไม่ดีเอง) แล้วค่อยยินดีกับการยอมรับของคนอื่นที่ไกลตัวออกไป วิธีนี้คือสิ่งที่ดิฉันคิดว่าเป็นวิธีการที่เริ่มได้ไม่ยากนัก แล้วก็ค่อยๆพัฒนากันต่อไป ไม่ทราบว่าความคิดเห็นของดิฉันจะไดโนเสาร์ไปหรือปล่าว

 

         ขอบคุณครับอาจารย์มาลินีที่ไม่ทำให้หน้าม้ารอเก้อ ผมขอเสริมความคิดเห็นของอาจารย์ 2 ประเด็นครับ

         1. เรื่องวิจัย Track พอเพียง คือ พอเพียงที่ผู้บริหารจะนำมาใช้ในการกำหนดนโยบายและตัดสินใจ พอเพียงสำหรับคณาจารย์และนิสิตที่จะได้ ลปรร. กัน พอเพียงที่จะนำมาปรับปรุงให้เกิดความพึงพอใจของผู้รับบริการจากทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย สุดท้ายพอเพียงที่จะเป็นแรงสนับสนุนส่งเสริม ในอีกหนึ่ง Track ที่เหลือให้ประสบความสำเร็จไปด้วย ที่เรียก Excellence Track หรือ Selected field ซึ่งภาพรวมที่ได้ก็จะเป็น Dual Tracks ที่ผมเคยกล่าวถึงมาครั้งหนึ่งแล้วใน blog <Link> และได้เคยพูดคุยกับพวกเราอยู่เป็นประจำใน มน.

         2. เรื่องวัฒนธรรม ฟังดูเผิน ๆ อาจจะรู้สึกว่าเป็นนามธรรม ยาก และห่างไกลตัว ถ้าลองให้นิยามคำว่า “วัฒนธรรม” ให้สามารถนำมาเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนได้ง่ายขึ้น เช่น “วัฒนธรรม คือ สิ่งที่คนส่วนใหญ่ในชุมชนถือปฏิบัติด้วยใจ (ไม่ใช่ว่าถูกบังคับให้ทำ) (คำนิยามนี้ผมอาจผิดหรือว่าหลงทางก็ได้นะครับ แต่ขณะนี้ผมเข้าใจว่าเป็นอย่างนี้) เพราะฉะนั้นถ้าเราจะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม ก็ควรทำจากวงเล็ก หลาย ๆ วง แล้วขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นส่วนใหญ่ เหมือนช่วยกันต่อภาพ Jigsaw จุดสำคัญจึงอยู่ที่ความมุ่งมั่นและความพยายามร่วมมือกันของทุกคนในชุมชน ขณะนี้เรามีเครื่องมือหลาย ๆ อย่างที่จะช่วยกันทำในจุดนี้ เครื่องมือที่สำคัญอันหนึ่งที่ผมคิดว่าทรงพลังมากคือ เรื่องของ KM ซึ่งอาจารย์มาลินีเอง ก็คุ้นเคยและมีทักษะที่จะใช้มันอย่างดีแล้วครับ

 

ขอบคุณอาจารย์เช่นกันค่ะ ที่กรุณาขยายความ คำว่า วิจัยแบบพอเพียง ได้อย่างครอบคลุมดีทีเดียว

ไม่ต้องกังวลดอกนะค่ะ ที่ดิฉันว่าเป็นเรื่องยาก  ไม่ได้หมายความว่าดิฉันจะท้อแท้  หรือไม่เห็นด้วย

อย่างไรเสียดิฉันก็ยินดีร่วมวงไพบูลย์กับ KM สู้เต็มที่ค่ะ  งานยากๆ เป็นเรื่องสนุกและท้าทาย  แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ท่ามกลางงานที่ยาก  เราจะยิ่งได้เข้าใกล้คนดี คนเก่ง ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรมากขึ้นเท่านั้น  เพียงเท่านี้ก็เกินคุ้มแล้วที่จะแลก

  

ลาวัณย์ พิทักษ์ทนต์

ดิฉันกำลังเรียน ป.เอก ค่ะ สนใจประเด็นการวิจัยแบบพอเพียงในด้าน KM ในโรงเรียนเอกชน อยากขอคำแนะนำจากอาจารย์เพื่อจะได้งานวิจัยที่มีประโยชน์และมีคุณค่า  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท