๒๐๑. รำลึก ๑๐๘ ปี โรงเรียนเพาะช่าง : ต้นธารศิลปวิทยาและแหล่งบ่มสร้างจิตวิญญาณเสรีที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย


ผมได้เรียนและจบศิลปะจากโรงเรียนเพาะช่าง ในสาขาจิตรกรรมสากล ในช่วงปี 2521-2523 เป็นช่วงสงครามที่ทำให้เขมรแตก ผมไปขายของตามแนวชายแดนในช่วงสงคราม และเป็นช่วงย่างเข้าสู่ห้วงบรรยากาศเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ 200 ปีของกรุงรัตนโกสินทร์ในปี 2525 ได้เรียนพื้นฐาน สาขาศิลปหัตถกรรม ณ วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี รุ่นแรก จากอาจารย์สมบูรณ์ กล่ำสมบัติ อาจารย์วิมลศรี ยุกตนันท์ อาจารย์ภาสกร โพธิ์เจริญ อาจารย์ประวิทย์ จำปาทอง และอีกหลายท่าน ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของเพาะช่าง ประสานมิตร และศิลปากร

อาจารย์สมบูรณ์ กล่ำสมบัติ เป็นอดีตครูของโรงเรียนเพาะช่าง ที่ขอย้ายจากเพาะช่างกลับไปก่อตั้งแผนกศิลปหัตถกรรม ที่ราชบุรีบ้านเกิด และเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ และศาสตราจารย์ประกิต บัวบุศย์ ศิลปินแห่งชาติและราชบัณฑิต ก่อนผมและเพื่อนๆจะจบจากราชบุรี อาจารย์สมบูรณ์ และอาจารย์วิมลศรี ก็ได้พาผมไปดูงานศิลปะที่เพาะช่าง ไปดูโรงเรียนเพาะช่างซึ่งดูขลังโออ่าอลังการ พร้อมกับไปกราบ ชมงาน และรับโอวาท จากอาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ ที่บ้านฝั่งธน เป็นวิถีปฏิบ้ติเหมือนน้อมตนไหว้ครูและฝากตัวเป็นศิษย์ 

เมื่อได้เรียน ก็ได้ครอบครูและได้เป็นศิษย์ของครูดีอีกหลายท่าน เช่น ศาสตราจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ราชบัณฑิต ศาสตราจารย์ประกิต บัวบุศย์ ราชบัณฑิต อาจารย์ทวี เจนขจร ศิษย์ของอาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ ศาสตรเมธีปัญญา เพ็ชรชู ศิษย์ของอาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ ศาสตราจารย์ประกิต บัวบุศย์ ราชบัณฑิต อาจารย์สันติ พฤฒิกสิกร ศิษย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากรและศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี รวมทั้งครูขิม ซอ และดนตรีไทยนอกเวลา หน้าห้องพักครูชั้นล่างของตึกจิตรกรรมสากลและประติมากรรมสากล ครูอภัย นาคคง 

อาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ ศิลปินแห่งชาตินี้ เป็นผู้เขียนภาพนิทานร้อยบรรทัด และหนังสือแบบเรียน รวมทั้งเป็นผู้มีส่วนในการวางรากฐานทางด้านศิลปศึกษาหลายประการของเพาะช่างและของประเทศ ศาสตราจารย์ประกิต บัวบุศย์ ราชบัณฑิต เป็นผู้เขียนตำรา สร้างความรู้ และสร้างทฤษฎีการอธิบายประวัติศาสตร์ศิลป์กับบางมิติของสังคมวัฒนธรรมไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นผู้ออกแบบและสร้างรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่ เป็นผู้ร่วมกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี สร้างประติมากรรมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน และเป็นผู้บูรณาการแนวศิลปะของเอเชีย ญี่ปุ่น อิตาลี ยุโรป กับศิลปสมัยใหม่ สู่การพัฒนาการศึกษาศิลปะของเพาะช่าง


เพาะช่าง ก่อเกิดสืบเนื่องจากพระราชปรารภและแนวพระราชดำริในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งได้ส่งพระราชโอรสและคนรุ่นใหม่ไปเรียนวิทยาการสมัยใหม่ในยุโรปและทั่วโลก แล้วให้นำกลับมาวางรากฐานสิ่งต่างๆ เพื่อนำการพัฒนาประเทศสู่ยุคใหม่ สานต่อกับรัชสมัยรัชกาลที่ 4 นำมาสู่การก่อตั้งโรงเรียนหัตถกรรมราชบูรณะ ภายหลังที่รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้ดำเนินการน้อมเกล้าถวายพระราชกุศลโดยยกระดับดำเนินการ โรงเรียนหัตถกรรมราชบูรณะ ในหลายด้าน แล้วพระราชทานนามเป็น 'โรงเรียนเพาะช่าง' และทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิด เมื่อ 7 มกราคม พุทธศักราช 2456 นับถึงปัจจุบันได้ 108 ปี จัดการศึกษาด้วยแนวทางพื้นฐาน ผสมผสานกันระหว่างรูปแบบอาศรมสำนักช่าง กับแนว Art Academy

แนวอาศรมสำนักช่าง จะเน้นการปลูกฝังกล่อมเกลาจิตวิญญาณแห่งช่าง ซึ่งจะสอนเป็นหลักทฤษฎีสูตรสำเร็จไม่ได้ แต่ต้องสอนใจตนเองโดยเดินตามวิถีของครู ครูจะพาทำพาใช้ชีวิตให้เรียนรู้พัฒนาตนเองขึ้นจากครูพักลักจำ กระทั่งสามารถสร้างความเป็นเลิศในฝีมือของตน ครูอาจารย์ก็จะติชมแนะนำไปบนความเป็นตัวของตัวเองของแต่ละคน รวมทั้งผสมผสานกับการจัดการศึกษาสมัยใหม่ของญี่ปุ่น อิตาลี และของยุโรป ส่วนแนว Art Academy เชื่อว่ามีหลักทฤษฎีและหลักสูตรสร้างศิลปินได้ โดยจะสอนหลักวิชาพื้นฐานแบบศิลปสมัยใหม่ แล้วให้ทำงาน จัดแสดง บางสาขาก็สร้างโครงงานและชิ้นงาน เพื่อออกไปสร้างวงจรดำเนินชีวิตด้วยศิลปะหรือการนำไปประยุกต์ใช้ประกอบกิจการในหนทางของตน

การผสมผสานทั้งสองแนวทางเข้าด้วยกัน ทำให้เพาะช่าง เป็นแหล่งมีบรรยากาศทั้งเพื่อสร้างคนแบบอาร์ตติสและสร้างความมีฝีมือแกล้วกล้านอบน้อมแบบช่างอยู่ในตนเอง ซึ่งในมุมมองของผมนั้น ศิษย์เก่าที่ได้ศึกษาในแนวทางผสมผสานแบบดั้งเดิมกับแบบศิลปสมัยใหม่ ที่ยังมีชีวิตอยู่และมีลักษณะการทำงานเป็นศิลปินและเป็นช่าง ที่สะท้อนลักษณะของเพาะช่าง ก็เช่น ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ ศิษย์เก่าเพาะช่าง และศิลปินสองโลก ตะวันออกผสานตะวันตก ผู้เป็นชาวเอเชียเพียงคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่ได้รับคัดสรรผลงานและเผยแพร่ชีวประวัติเป็น 1 ใน 100 คนของศิลปินร่วมสมัยของโลก กับเปี๊ยก โปสเตอร์ ศิลปินแห่งชาติสาขาการแสดง ศิษย์เก่าเพาะช่าง สาขาจิตรกรรมสากลเช่นกัน ซึ่งเป็นผู้บุกเบิก วางรากฐานหลายอย่างให้กับวงการภาพยนตร์ การทำโปเตอร์ แผ่นปิด สื่อโฆษณา และในหลายด้าน 

การก่อเกิดสาขาวิทยาการสมัยใหม่หลายด้านของประเทศ ได้แพร่ขยายออกไปจากโรงเรียนเพาะช่าง เช่น การก่อเกิดสาขาการก่อสร้างโรงเรียนอุเทนถวาย การก่อเกิดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การก่อเกิดสาขาวิทยาการถ่ายภาพของวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ครูอาจารย์และผู้ผ่านการศึกษาศิลปะจากเพาะช่างหลายคน ได้ไปศึกษาศิลปะสมัยใหม่กับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีส่วนร่วมพัฒนาการศึกษาศิลปะสมัยใหม่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร และพัฒนาศิลปศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ 

นอกจากนี้ ก็ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล คัดเลือกผู้จบเพาะช่าง มีฝีมือด้านการวาดภาพ ประติมากรรม สื่อภาพ และมีพื้นฐานทางวิชาการที่สามารถส่งไปเรียนรู้เพิ่มเติม ให้บูรณาการกับการทำสื่อภาพการแพทย์ ร่วมกับการคัดเลือกครูแพทย์ที่มีความสามารถทางศิลปะ แล้วส่งทั้งหมดไปเรียนสาขาเฉพาะทางทางด้านเวชนิทัศน์ ณ มหาวิทยาลัยจอห์นฮ็อปกิ้น ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาได้พัฒนาการเป็นสาขาเวชนิทัศน์และโรงเรียนเวชนิทัศน์ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล กระทั่งปัจจุบันเป็น โรงเรียนเวชนิทัศน์พัฒนา แผ่ขยายไปสู่สาขาเวชสาธิต ของกระทรวงสาธารณสุข และสาขาเวชนิทัศน์ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งจัดว่าเป็นนวัตกรรมหลักสูตรและนวัตกรรมการศึกษาที่เป็นสาขาพหุวิทยาการและบูรณาการระหว่างศิลปะ การแพทย์ วิทยาศาสตร์ การศึกษา เทคโนโลยี วิทยาการการคัดสรรและจัดแสดงเพื่อการศึกษา นิเทศศาสตร์และการสื่อสาร ในลักษณะที่ดำเนินการเป็นหลักสูตรได้แบบนี้เป็นแห่งแรกของกลุ่มประเทศในเอเชีย และเป็นเพียงไม่กี่แห่งของทั่วโลก

แต่เดิมนั้น หลักสูตรนี้ต้องการผู้มีทักษะดีแล้วทางศิลปะ จึงรับแต่เพียงผู้ที่จบการศึกษาจากเพาะช่าง ช่างศิลป์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร มาถึงรุ่นผม ผมกับเพื่อนๆ เห็นว่าการศึกษาทางศิลปะได้แตกขยายออกจากเพาะช่างและมหาวิทยาลัยศิลปากร แพร่หลายไปทั่วประเทศแล้ว จึงควรเปิดกว้างให้กับผู้ที่เก่งทางศิลปะจากทั่วประเทศ ทั้งจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และเทียบเท่า ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งเพื่อนนักศึกษา รวมทั้งรองศาสตราจารย์นายแพทย์นันทวัน พรหมผลิน อาจารย์ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการของโรงเรียนในขณะนั้น รวมไปจนถึงศาสสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์วีกิจ วีรานุวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาลในขณะนั้น ซึ่งอนุญาตให้ผมและคณะเข้าปรึกษาหารือ ล้วนก็เห็นด้วย พร้อมให้การสนับสนุนให้ผมและเพื่อนๆ ไปแนะนำหลักสูตรให้กับสถาบันหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร และได้ปรับปรุงให้คนเก่งทางศิลปะจากสถาบันการศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศ ได้สามารถสมัครคัดเลือกเข้าศึกษาในสาขานี้ของมหาวิทยาลัยมหิดลได้ในเวลาต่อมา

กล่าวได้ว่ารากฐานของเพาะช่างนั้น ไม่เกินจริงที่จะเปรียบเสมือนเป็นกรุงโรมทางศิลปะและเป็นศูนย์กลางการก่อเกิดพัฒนาการแก่วิทยาการหลายสาขา อันเก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ได้สร้างคน และสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับศิลปะและวิทยาการหลายด้าน ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ

เมื่อผมได้เรียนเพียงเสี้ยวหนึ่งอันเล็กน้อยของเพาะช่างนั้น ก็ได้เรียน ทำงาน และได้อยู่ใกล้ชิดเรียนรู้แบบครูพักลักจำกับครูอาจารย์ชั้นยอดในวงการศิลปะหลายแขนงของประเทศ รวมทั้งมืออาชีพ รุ่นพี่ เพื่อน และกลุ่มการรวมตัวทำงานอิสระ ทั้งกลุ่มศิลปินแห่งชาติ มือรางวัลระดับชาติและระดับโลก กลุ่มผู้เป็นต้นฉบับและเป็นผู้ได้มีส่วนในการวางรากฐานมากมายหลายแขนงของประเทศ ทั้งศิลปะ ดนตรี สื่อโฆษณา ละคร ภาพยนตร์ การแสดง สำนักพิมพ์และหนังสือ สื่อวรรณกรรม การ์ตูนและวิทยาการภาพเคลื่อนไหว สำนักสื่อ วิทยุ โทรทัศน์ แกลลอรี่และการจัดทางเชิงธุรกิจทางศิลปะ การวางหลักสูตรและพัฒนาศิลปศึกษาของประเทศ 

ผมเป็นประธานนักศึกษาสาขาจิตรกรรมสากล และเป็นกรรมการสโมสรนักศึกษาของเพาะช่าง ได้ร่วมกันรับผิดชอบจัดงานสำคัญที่เป็นเทศกาลศิลปะและจัดว่าเป็นวัฒนธรรมศิลปะวิชาการของเพาะช่างที่สืบต่อกันมาจนกระทั่งปัจจุบัน ที่สำคัญคือ การจัดงานวันเกิดเพาะช่าง 7 มกราคม ของทุกปี การจัดนิทรรศการและแสดงผลงานของเพาะช่าง ซึ่งผู้สนใจจากทั่วประเทศจะรอคอย การจัดทำสูจิบัตรรวบรวมผลงานการแสดงของชาวเพาะช่าง การจัดงานวันเสียงเพลง 

บรรยากาศของเพาะช่าง กิจกรรม เทศกาลทางศิลปะและวิทยาการ เหล่านี้ ประหนึ่งเป็นแดนเสรีภาพแห่งการบ่มสร้างพลังความคิดสร้างสรรค์ เป็นเวทีหล่อหลอมช้างเผือกและเจียรนัยเพชรจากทั่วประเทศให้ฉายแววออกไปสร้างศิลป์ สื่อ ภาคการผลิตและบริการทางศิลปะ งานสุนทรียปัญญา ของประเทศมาตลอดนับเป็นศตวรรษ เช่น สุเทพ วงศ์กำแหง ชายเมืองสิงห์ คณะตลกสีเผือก 4 ชาย และอีกหลายคณะ ศิลปินแห่งชาติหลายแขนง สมาชิกวงดิอิมพอสสิเบิ้ล วสันต์ โชติกุล เป้ สีน้ำ จันทนา เงากระจ่าง ประยุต เงากระจ่าง รัชนู บุญชูดวง ธรรมรัตน์ นาคสุริยะ เปี๊ยก โปสเตอร์ กมล ทัพคัลไล กำธร ทัพคัลไล ผู้กำกับและผู้สร้างภาพยนตร์ โน๊ต อุดม แต้พานิช เจนภพ จบกระบวนวรรณ และอีกมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งที่อยู่เบื้องหลังและอยู่แถวหน้าในวงการเศรษฐกิจสังคมศิลปะ ภาคศิลปะและวัฒนธรรมสุนทรียปัญญาของประเทศ  

แม้จะจบการศึกษาไปแล้ว 4-5 ปี ผมก็จะยังไปร่วมงานรับน้องและงานวันเกิดเพาะช่างทุกปี รุ่นอื่นๆก็จะเป็นแบบนี้เช่นกัน คนในแวดวงศิลปะและชาวเพาะช่างโดยมาก จึงมักจะรู้จักกันและไล่เรียงถึงกันได้โดยไม่ยาก

ผมนั้นคุยไม่เก่ง แต่ชอบติดตามรุ่นพี่ ชอบติดตามดูงานและนั่งฟังคนเก่ง ใครที่เก่งและมีงานดี ไม่ว่าจะเป็นชาวเพาะช่าง ศิลปากร หรือจากสำนักไหน ผมก็จะเดินเข้าไปน้อมกราบไหว้เฉยๆ แล้วก็บอกตรงๆ ทื่อๆ ว่าชอบชีวิตการงานและผลงานของท่านนั้นๆ เคยพากันเดินไปกดกริ่งหน้าบ้านของอาจารย์อวบ สาณเสน แล้วท่านก็รับเข้าไปพาเดินดูงาน นั่งคุยเรื่องราวต่างๆให้ฟัง เล่นไวโอลินให้ฟัง หุงข้าวเลี้ยง พากันไปบ้านของพี่หงา สุรชัย จันทิมาธร พากันไปบ้านของอาจารย์บ๊อบ ดร.สุชาติ วงษ์ทอง เดินติดสอยห้อยตามกลุ่มรุ่นพี่ ทั้งเมื่อมีการแสดงงานหรือเขาไปนั่งกินข้าวต้ม ไปกินเหล้า ไปเขียนรูปกัน และอีกหลายท่าน ทุกท่านและทุกแห่งให้ความเมตตาทั้งถ่ายทอดปัญญา และทุกอย่างอย่างดี อาจจะเรียกว่าได้แก่ตนเองมาหลายอย่าง ด้วยทักษะการเรียนรู้เชิงสังคม (Social Learning) ทักษะคน (Human Skill) และการขวนขวายพัฒนาการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Learning) นอกเหนือจากจะตั้งใจเรียน อ่านศึกษาค้นคว้า และทำงานเรียนกับครูอาจารย์ ทั้งภาคทฤษฎี ปฏิบัติ และกิจกรรมนอกห้องเรียน

เมื่อนึกย้อนหลังดูแล้วก็ให้นับถือและเชิดชูสิ่งที่ได้รับมาก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมแทบจะไม่มีขีดจำกัดให้กับนักศึกษาและผู้คน รวมทั้งหลายอย่างในบ้านและในชีวิตของผม ก็ยินดีเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนให้กับชุมชนและผู้อื่นได้อย่างเต็มที่เสมอ ไม่ใช่เพราะผมอยากให้คนอื่นมาเห็นว่าเราเป็นคนดี แต่เพราะเป็นวิถีปฏิบัติบูชา ให้กับครูอาจารย์และคนรุ่นก่อนๆ ที่ก็ให้กับผมและผู้อื่นๆ โดยที่พวกเราไม่สามารถตอบแทนได้โดยตรงให้เหมาะสมเลย ให้ผู้อื่นไปตามเหตุปัจจัยและตามอัตภาพของเรา ในสิ่งที่เราเองก็เคยได้รับ โดยไม่หวังว่าจะได้อะไรเช่นกัน

ตอนที่เรียนทางศิลปะนี้ ผมได้ศึกษาแนวทางสีน้ำ การระบายสี การดรออิ้ง หลักสุนทรียศาสตร์ และการจัดองค์ประกอบศิลป์ อย่างใกล้ชิดมากพอสมควรกับอาจารย์สมบูรณ์ กล่ำสมบัติ รวมทั้งศึกษาแนวการทำงานของอาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ แล้วก็อยู่กับการฝึกฝนเขียนรูปและคิดเป็นภาพแทบจะตลอดเวลา ได้รางวัลยอดเยี่ยม ชนะเลิศ และรองชนะเลิศ ของการเขียนสีน้ำ ของกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาภาคตะวันตก ตั้งแต่ตอนผมเรียนอยู่ปี 2 ของวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี 

เมื่อเรียนเพาะช่าง ก็เป็นครูสอนศิลปะของโรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ไปด้วย รวมกลุ่มจัดติวและกวดวิชาทักษะทางศิลปะ ให้กับผู้ที่จะเข้าเรียนเพาะช่าง ศิลปากร ช่างศิลป์ นิเทศศิลป์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งต่อมา หลายคนได้เป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จทั้งในระดับประเทศ นานาชาติ และระดับโลก ได้ทุนเรียนดีของสมาคมศิษย์เก่าเพาะช่าง ได้ใช้ของที่ดีที่สุดของโลกมาทำงานทางศิลปะ ได้รู้จักความเป็นสุดยอด และเข้าถึงความเป็นที่สุดในทางของตนแบบเชิงเดี่ยวอยู่โดยตลอดบนเส้นทางชีวิตนับแต่การเรียนและทำการงาน ซึ่งในเวลาต่อมา ก็เป็นพื้นฐานการได้เจอและทำงานกับชุมชน ที่มีความรอบด้านและสามารถเดินข้ามศาสตร์ ผสานพหุวิทยาการกับผู้คนต่างศาสตร์ต่างสาขา ยกระดับประเด็นร่วมเพื่อการทำงานในระบบที่ซับซ้อนกับกลุ่มคนที่มีศักยภาพการเรียนรู้เพื่อทำงานไปในสภาพที่ต้องเรียนรู้ พัฒนาตนเอง และเปลี่ยนแปลงตนเองสูงไปด้วย ได้อย่างเชื่อมั่น 

ด้วยพื้นฐานดังที่ดำเนินมาโดยตลอดนี้ เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตการงาน ที่ทำให้ได้ความตระหนักคิดว่า จะต้องเป็นคนที่คอยทำหน้าที่สร้างความรู้และสร้างวิธีพัฒนาคนที่จำเป็นจะต้องทำงานในแนวทางอย่างนี้เช่นกัน สร้างและสะสมไปด้วยตลอดเส้นทางชีวิตการงาน พร้อมทั้งถ่ายทอดและเผยแพร่ไว้ให้กับสังคมด้วย ทำให้ได้ทำหลายอย่าง เหมือนเป็นพันธกิจของชีวิตการงาน 

เมื่อเริ่มจบปริญญาตรี เริ่มทำงานที่มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ได้ใช้ศิลปะและทักษะพหุวิทยาการ เป็นเครื่องมือทำงานไปด้วยตลอดมา ซึ่งหลายอย่างได้รับพื้นฐานมาจากเพาะช่าง ได้เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาและคัดเลือกหนังสือและตำรา ทางด้านศิลปะ สุขภาพ นับแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ให้กับกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ 

ได้พัฒนาหลักสูตรอบรมทางด้านศิลปะสื่อ การผลิตและใช้สื่อ และการสื่อสาร เพื่อบูรณาการกับการพันาสุขภาพ การศึกษา และการพัฒนาทางด้านต่างๆ ดำเนินการให้กับมหาวิทยาลัยมหิดลมากกว่า 15 หลักสูตร จัดเวทีคนทำสื่อและก่อตั้งรางวัลสื่อทางสุขภาพและสาธารณสุขระดับประเทศ สร้างการก่อเกิดผู้นำเชิงพหุวิทยาการสื่อ ศิลปะ และการสื่อสารสุขภาพ ให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นเวทีคนทำสื่อทางด้านสุขภาพในระดับประเทศ ที่ก่อตั้งและดำเนินการอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี ผู้ร่วมคิดและร่วมเป็นกำลังทางปัญญาช่วยกันก่อตั้ง หลายท่านเป็นครูอาจารย์ชั้นยอดของประเทศที่เป็นคนเพาะช่าง เช่น ศาสตราจารย์พูน เกษจำรัส อาจารย์วิวัฒน์ กุลจันทร์ รวมทั้งเพื่อนและรุ่นพี่ของผมอีกหลายท่าน ซึ่งเป็นมือทำงานอยู่เบื้องหลังการสร้างสื่อแถวหน้าของประเทศทั้งสิ้น

ในช่วงหนึ่ง ก็ตั้งหน่วยพัฒนาการวิจัยและจะมุ่งเป็นแหล่งส่งเสริมการพัฒนาชุมชนพหุวิทยาการของประเทศ ที่ผสมผสานข้ามศาสตร์ทางศิลปะ วิทยาศาสตร์ และวิทยาการทุกแขนง ขึ้นที่สถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ยกระดับจากต้นทุนที่มีอยู่แล้วระดับหนึ่ง แล้วก็มุ่งพัฒนาวิธีเผยแพร่สื่อสาร สร้างเวทีวิชาการ ที่มีรูปแบบผสมผสานเป็นงานศิลปะและมหรสพทางวิชาการ ให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้นำในแนวทางนี้ของประเทศและมุ่งสู่ระดับนานาชาติ ผมรวบรวมกลุ่มคนและกลุ่มผู้นำทางปัญญาหลากหลายสาขา ที่เป็นผู้ซึ่งมีภาพสะท้อนความจำเป็นที่ผมเห็นจากการได้ลงไปทำงานกับพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ สะสมเป็น 50-60 คน แล้วก็เขียนจดหมาย รายงาน เล่าเรื่อง สร้างการไหลเวียนเชิงข้อมูลและความคิด นั่งทำเองลงทุนเอง ส่งให้ทุกท่านด้วยตัวผมเองอยู่ระยะหนึ่ง โดยเชื่อว่า จะเป็นรากฐานของการยกระดับและพัฒนาชุมชนทางปัญญาแบบพหุวิทยาการ ที่เชื่อมต่อกับการพัฒนาวิทยาการทางด้านสุขภาพชุมชน การสาธารณสุขมูลฐาน และการพัฒนาคุณภาพแห่งชีวิตบนรากฐานของชุมชน ที่ดีที่สุด เชื่อมโยงกับวงจรภาคเศรษฐกิจสังคม ศิลปะ วรรณกรรม ภาคการผลิตทางวัฒนธรรมปัญญา และมีความเป็นผู้นำเหมาะสมที่สุดกับบริบทของสังคมไทย ซึ่งก็ทำได้เพียงเล็กน้อย เพราะไม่มีกำลังทำ แต่ก็เห็นจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงว่า เป็นสิ่งที่ดี เกิดขึ้นได้ ควรที่จะพัฒนาต่อไป จึงต้องหาทางทำเอง และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจออกไปอยู่ต่างจังหวัดเพื่อทำให้ต้นทุนชีวิตหลายอย่างมีกำลังเพื่อการพึ่งตนเองได้มากยิ่งๆขึ้น 

นอกจากนี้ ก็ได้เจอแวดวงการทำงาน เจอเพื่อน พี่น้อง ชาวศิลปะเพาะช่างและศิลปากร อยู่ตลอดเวลา ได้ทำงาน ร่วมงาน และส่งเสริมสนับสนุนกันของพี่ๆเพื่อนๆน้องๆชาวเพาะช่างมากมายอยู่เสมอ ได้เจอและร่วมงานกับรุ่นเก่าอย่างอาจารย์เทพศิริ สุขโสภา เพาะช่างรุ่นเก่าแก่ ในยุคพี่ถวัลย์ ดัชนี สุเทพ วงศ์กำแหง ซึ่งรุ่นใหญ่กลุ่มนี้ ผมกับเพื่อนๆเคยคอยเก็บรักษาผลงานตอนเรียนของท่าน ไว้บนห้องใต้หลังคาของอาคารจิตรกรรมสากลหลังเก่าไว้ เข้าใจว่าเมื่อรื้อตึกเก่าและสร้างตึกใหม่ ก็คงไม่มีใครสนใจเรื่องราวในรายละเอียดเล็กๆเหล่านี้ แล้วก็คงละทิ้งให้สูญหายไปแล้ว รวมทั้งงานสีน้ำมันของผมในชุดที่เขียนในแนวอิมเพรสชั่นนิสติกดังในภาพ ซึ่งมอบให้งานวันเกิดเพาะช่างไปจัดสอยดาวเอารายได้เข้าโรงเรียน แต่ท่านอาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู ขอเอาไปเก็บรวบรวมไว้ให้คนรุ่นหลังๆเอาไว้ดู 

ได้เจอพี่วินัย ปราบริปู ผู้ก่อตั้งหอศิลป์ริมน่านและนำปฏิบัติ พิสูจน์ให้เห็นได้จริงว่าการกระจายโอกาสการพัฒนาและการกระจายอำนาจทางปัญญาของสังคมไทยสู่ภูมิภาคนั้น เกิดขึ้นได้จริงอย่างยั่งยืน อีกทั้งพิสูจน์จากความสำเร็จด้วยการลงมือทำจริง ให้เห็นได้ว่า ภาคส่วนทางศิลปะและวัฒนธรรมทางสุนทรียปัญญา เป็นภาคส่วนหนึ่ง ที่มีศักยภาพสูงต่อการชี้นำสังคม และจุดประกาย สร้างพลังบันดาลใจ เคลื่อนไหววงจรการพัฒนา ให้บรรลุจุดหมาย ครอบคลุมความจำเป็น และสร้างนัยสำคัญต่อการพัฒนาในมิติใหม่ๆของสังคม ที่หลายอย่างจะเกิดขึ้นไม่ได้โดยวิธีอื่น โดยเฉพาะประเด็นความสัมพันธ์เชิงคุณค่าและความหมายต่อจิตใจและชีวิตด้านใน ของมนุษย์กับระบบสังคม ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ถิ่นฐาน และอุดมคติทางสังคม 

ได้เจอและทำงานกับเป้ สีน้ำ และเมธา เมธี หรือเมธา เพชรเกต ศิษย์เก่าร่วมสำนักเพาะช่าง คนทำเพลง สร้างสรรค์งานกวีนิพนธ์ ทำงานศิลปะ จัดแสดงและสอนศิลปะแก่ผู้สนใจทุกกลุ่ม ผู้เคยทำร้านกระสอบ ตำนานเล็กๆของแหล่งพบปะกันของศิลปิน นักคิด นักเขียน ผู้กำกับ และกลุ่มหัวก้าวหน้า ทั้งของเพาะช่างและของกรุงเทพมหานคร ตลอดจนการมุ่งทำงานและเรียนรู้ไปด้วย โดยใช้ข้อมูลชั้นต้น การสัมผัสตรง และข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่ตนเองพอจะวิเคราะห์เชิงสะท้อนคิด บนข้อมูลจากประสบการณ์และการสังเกตทางตรงได้ (Learning Practice and Direct Observation) ให้เห็นบางมิติ ที่สะท้อนการผสานเชื่อมโยงได้ในระดับรากฐานของปัญญาปฏิบัติ ของโรงเรียนเพาะช่าง วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทั้งในเชิงระเบียบวิธี องค์ความรู้ การสร้างทักษะคน การจัดรูปแบบ ระบบ การพัฒนาองค์กรดำเนินการ การเผยแพร่สื่อสาร และทุกมิติ บนกรณีตัวอย่างของสิ่งที่ได้ทำและได้ถอดบทเรียน ศึกษาข้อมูลภาคปฏิบัติ ถ่ายทอดเอาไว้ 

หลักทฤษฎีปฏิบัติและแนวการเชื่อมโยงให้ถึงกันได้ในบริบทของสังคมไทยดังที่กล่าวมานี้ จะเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งในการส่งเสริมภาวะผู้นำพหุวิทยาการและข้ามศาสตร์ ด้วยวิธีการทางความรู้และการเข้าสู่การเรียนรู้เพื่อผสานความเป็นเลิศหลายด้าน ให้คนทำงานเชิงปฏิบัติการ สามารถยกระดับจุดหลอมความเป็นส่วนรวมที่มีความครอบคลุมความแตกต่างหลากหลายได้ดียิ่งๆขึ้น เป็นอีกมิติในเชิงกระบวนการทางศิลปะแบบพหุวิทยาการ ที่ใช้เป็นวิธีการยกระดับพัฒนาการทางด้านต่างๆของสังคมได้ โดยที่ความเป็นเลิศหลากหลายด้าน นอกจากไม่ต้องลดทอนและทำให้เหมือนกัน ตามๆกัน ซึ่งมักเป็นปัญหาเชิงวิธีคิดของการพัฒนาโดยทั่วไปตลอดมาแล้ว ก็ต่างจะยิ่งเกิดการพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้นไปอีกด้วย 

แนวทางดังกล่าวนี้ จะทำให้เกิดระบบและเกิดการสร้างกลุ่มผู้นำการพัฒนาด้วยศักยภาพใหม่ของสังคม ที่ทัดเทียมกับความซับซ้อน ตอบสนองต่อความจำเป็นที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ต้องใช้ปัญญาปฏิบัติรอบด้าน สอดคล้องกับบริบทการผสานมิติจินตภาพ ทฤษฎี แนวคิด กับภาคปฏิบัติการ ในระดับที่ต้องลงมือทำรอบด้านบนวิถีชีวิตจริง ได้ดียิ่งๆขึ้น ซึ่งผมเป็นเพียงคนส่วนน้อย ที่ชีวิตการงานได้ดำเนินไปบนมิตินี้โดยตรงตลอดชีวิต ในแหล่งที่ก้าวหน้าที่สุด ดีที่สุด และมีบทบาทเป็นศูนย์กลางที่สำคัญที่สุดในงานที่เกี่ยวข้องหลายด้านของประเทศและนานาชาติ ปัญญาปฏิบัติและการเรียนรู้ไปบนการแก้ปัญหา เพื่อบรรลุผลการทำงานทุกอย่าง หลายอย่างจะหาไม่ได้จากแหล่งอื่น รวมทั้งจะมีข้อจำกัดต่อการนำมาใช้โดยตรง และหลายอย่าง จะสามารถส่งเสริมให้สังคมได้พัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง และเป็นผู้นำการถ่ายทอดการพัฒนาให้กับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี จึงให้ความสำคัญที่จะต้องทำไปด้วยตลอดชีวิตการทำงาน แม้จะไม่มีใครสั่งให้ทำ หรือเอาไปใช้เป็นผลงานขอความดีความชอบใดๆไม่ได้ และเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ทำบ้านสังคมศิลป์ ที่เป็นทั้งโฮมสตูดิโอ แหล่งจัดแสดงงาน แหล่งทดลองปฏิบัติการและถ่ายทอดสื่อสาร แหล่งจัดประชุม แหล่งศึกษาค้นคว้า และอีกหลายอย่าง เหมือนเป็นเครื่องมือเพื่อศึกษาและปฏิบัติการเชิงวิจัย ให้ต่อเนื่องได้ตลอดไปบนวิถีชีวิตและการทำงาน ตลอดไป 

ตลอดเส้นทางของชีวิตการงาน แม้จะไม่ได้ไปเพาะช่างเหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติมานานแล้ว ทั้งเพราะเริ่มไม่สะดวกในการเดินทาง แล้วก็เป็นคนรุ่นเก่ากว่า 30-40 ปี ซึ่งครูอาจารย์และคนรุ่นเก่าแก่ร่วมรุ่นกัน ก็แทบจะไม่มีแล้ว แต่ก็เหมือนกับจิตวิญญาณของเพาะช่าง ได้อยู่กับตนเองตลอดไป ผู้บริหาร ครูอาจารย์ ของเพาะช่างในปัจจุบัน หลายท่านก็เป็นรุ่นน้องรุ่นหลังๆของผม แต่เก่ง มีความเป็นเลิศ และมีศักยภาพเพื่อนำการพัฒนาให้บังเกิดแก่เพาะช่างและแก่ประเทศชาติ ให้ก้าวหน้ายืนยาวมากกว่าผมและคนรุ่นผมอีกหลายเท่า จึงขอร่วมรำลึกถึงและร่วมเป็นพลังใจ ให้ยิ่งประสบความสำเร็จ มากยิ่งๆขึ้น ตลอดไปเลย.



ความเห็น (2)

งดงาม ทั้งข้อเขียนและฝีมือด้วยความระลึกถึงอ.เสมอเลยนะครับสวัสดีปีใหม่ครับ

ขอบคุณมากครับ สวัสดีปีใหม่นะ เห็นรูปและเรื่องราวของลูกสาว เจ้าดวงใจ ที่ทั้งเก่ง และเติบโตเป็นสาวแล้ว ก็รู้สึกชื่นชมยินดีและเหมือนเป็นญาติมิตรในชีวิตการงาน ที่ได้เห็นกันมานานนมเลยนะ มีความสุขและขอให้มีความสำเร็จ มีความเจริญก้าวหน้า ในทุกประการ ตลอดไปเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท