การเรียนรู้แบบลื่นไหล (Dynamic Learning) ต้อง “โฟกัสที่จุดศูนย์กลาง มิใช่ที่เป้าหมาย”


การเรียนรู้แบบหยุดนิ่ง (Static Learning) มักโฟกัสโครงสร้าง ข้อมูล ขั้นตอนต่างๆที่ต้องทำตามลำดับ แต่ถ้าเป็นการเรียนรู้แบบมีพลวัตหรือลื่นไหล (Dynamic Learning) จะโฟกัสที่ “จุดศูนย์กลาง” หรือจุดเชื่อมประสานที่ทำให้องค์ประกอบต่างๆในงานนั้นเกิดความสมดุล

ส่วนใหญ่ เวลาทำงานอะไรก็ตาม เราจะเคยชินกับการคิดถึงเป้าหมาย ซึ่งไม่ผิดแต่มันไม่พอครับ

พอดีวันก่อนไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ “วิชาจิ๋ว” (Micro Mastery) เลยถึงบางอ้อว่า เอ้อ ที่เรามักจะมุ่งไปที่เป้าหมายนี่ หลายๆครั้งกลับทำให้ความคิดเราติดกับดัก เพราะไปตอกตรึงตัวเองกับการเรียนรู้แบบหยุดนิ่ง (Static Learning) คือไปคิดว่าถ้าทำตามแบบแผนเป็นขั้นๆ ตามที่ออกแบบหรือเขากำหนดเอาไว้แล้วมันจะได้ความสำเร็จอย่างนั้นอย่างนี้

โอเค ความสำเร็จอาจจะมา แต่เราพลาดสิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าความสำเร็จปลายทางไปแล้ว นั่นคือเราพลาดที่จะยกระดับการเรียนรู้ระหว่างทาง

เพราะเรามุ่งเป้าหมายมากเกินไป จึงไม่กล้าออกจาก Comfort Zone ที่เป็น Static Learning การไม่ออกจากการเรียนรู้แบบหยุดนิ่งนี่ทำให้เราติดนิสัยมองอะไรแบบฉาบฉวย ลวกๆขอให้เสร็จๆเป็นพอ ซึ่งจะส่งผลต่ออะไรต่อมิอะไรทั้งในงานและชีวิตเราในวงกว้าง

ในโลกอภิผันผวน (VUCA World) การเรียนรู้แบบมีพลวัตหรือลื่นไหล (Dynamic Learning) เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เราปรับตัวได้ แต่เราจะทำอย่างไรในเมื่องาน เมื่อโครงการ อะไรมากมายบีบให้เราติดกรอบการมองว่ามุ่งเป้าหมายซึ่งต้องทำตามแผนที่วางไว้เป็นสำคัญ

เป้าหมายนั้นมีแน่ เพราะเราตั้งไว้แต่ต้น แต่สิ่งที่น่าติดคือในระหว่างที่เราเดินไปสู่เป้าหมายนั้น เรากำลังโฟกัสอะไร ซึ่งส่วนใหญ่เราจะพลาดตรงจุดนี้

ถ้าเป็น การเรียนรู้แบบหยุดนิ่ง (Static Learning) ก็จะโฟกัสโครงสร้าง ข้อมูล ขั้นตอนต่างๆที่ต้องทำตามลำดับ แต่ถ้าเป็นการเรียนรู้แบบมีพลวัตหรือลื่นไหล (Dynamic Learning) จะโฟกัสที่ “จุดศูนย์กลาง” หรือจุดเชื่อมประสานที่ทำให้องค์ประกอบต่างๆในงานนั้นเกิดความสมดุล

ถามว่า อะไรคือเป้าหมายของการทำไข่เจียว คงตอบกันได้ไม่ยาก แต่ถ้าจะถามว่า อะไรคือจุดศูนย์กลางของการทำไข่เจียว อันนี้ อาจจะต้อง Slow Down ครุ่นคิด แต่นี่คือคำถามสำคัญที่ทำให้เราสามรถทำไข่เจียวได้ดีขึ้นอีกเป็นสิบเป็นร้อยฟอง

ผู้เขียนคือ Robert Twigger เล่าว่า จุดศูนย์กลางก็คือส่วนที่เราใส่ใจเป็นพิเศษ จุดศูนย์กลางของการทำไข่เจียวเป็นคนละอย่างกับเป้าหมายนะครับ เป้าหมายของการทำไข่เจียวก็คือการได้กิน แต่จุดศูนย์กลางล่ะ ถ้าจุดศูนย์กลางคือจุดที่เราต้องใส่ใจเป็นพิเศษในการทำไข่เจียว จุดศูนย์กลางนั้นก็คือ น้ำมันกับความปรับเพิ่ม-ลดแรงของไฟ

Twigger ยกตัวอย่างการโฟกัสที่จุดศูนย์กลางอีกว่า “ในการต่อสู้ป้องกันตัว เมื่อคุณพบว่าศูนย์กลางของร่างกายคุณควรอยู่ที่ใด สมดุลของคุณจะดีขึ้น เมื่อสมดุลดีขึ้น คุณจะมั่นใจขึ้นด้วย และเมื่อมั่นใจขึ้น คุณจะเชื่อมั่นกับศูนย์กลางของร่างกายมากขึ้น นี่คือวัฏจักรแห่งการพัฒนาคน ”


จุดใหญ่ใจความของ การเรียนรู้แบบมีพลวัตหรือลื่นไหล คือการ Slow Down หรือ ความสงบไม่รีบร้อน มีการจับจังหวะ (sensing) เพื่อรู้สึกถึงศูนย์กลาง (Centering) แล้วจึงสามารถเช็คความเชื่อมโยงและสภาวะสมดุลได้ว่ามีมากหรือน้อยเพียงใด ต้องปรับแก้ตรงจุดไหนบ้าง

วิธิคิดแบบโฟกัสเป้าหมาย จะไม่เน้นจุดนี้ เราจึงพบบ่อยๆว่า พอบรรลุเป้าหมาย คนกลับเสียศูนย์และไม่เกิดการพัฒนาเรียนรู้หรือนวัตกรรมทางความคิดที่จะใช้เป็นทักษะต่อยอดต่อไปได้

ปีใหม่นี้ คิดใหม่ ทำใหม่ อาจจะบอกใครไม่ได้ ว่าเราเปลี่ยนโฟกัสจากเป้าหมายไปโฟกัสที่ศูนย์กลาง เพราะเดี๋ยวจะหาว่าเราเพี้ยน แต่อย่างน้อยเราก็รู้อยู่ในใจว่า ต่อจากนี้ ชีวิตและการงานเราจะยกระดับการเรียนรู้ขึ้นไป


หมายเลขบันทึก: 687611เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2020 13:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2020 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท