Self-Talk ลงพื้นที่เก็บข้อมูลสุขภาวะสตรีชาติพันธุ์ (ปกาเกอะญอ)


การไปเก็บข้อมูลหัวใจอยู่ที่ความสัมพันธ์ ไม่ใช่มีแค่มิติของความรู้ แต่ยังมีมิติของความเป็นมนุษย์ มิติแห่งจิตวิญญาณของการเอาใจใส่ การเป็นเพื่อน การเยียวยาจิตใจไปพร้อมๆกัน

เป็นอีกวันดีๆวันนี้ได้ลงไปเยี่ยมหมู่บ้านเมืองแพม หมู่บ้านปกาเกอะญอที่ไม่ได้ไปสิบปีแล้ว


สมัยก่อนทางยากกว่านี้มาก จำได้ว่าต้องใช้โฟรฺวิลล์ไม่พอต้องใส่โซ่ขึ้นไปด้วย มีลุ้นลงเหวตลอด

ตอนนี้ถึงจะเทคอนกรีตเกือบหมด แต่ผิวถนนก็แตกร่อนร้าวหลายจุด วันนี้ฝนพรำเป็นละอองฝอยเป็นช่วงๆ เลยใส่โฟร์วิลล์บ้างกันเหนียว

มีทีมสามสาว (ปกาเกอญอ, ลีซู , ลาหู่ดำ) นั่งมาด้วย วันนี้น้องๆมาช่วยดูแลเรื่องการลงทะเบียน การจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่สำคัญคือ ให้มาฝึกการลงพื้นที่เก็บข้อมูลแบบมานุษยวิทยาวัฒนธรรมกับเรา

ทีนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า การลงพื้นที่เก็บข้อมูลแบบนักมานุษยวิทยานี่เขาทำกันอย่างไร

หลักการที่เป็นหัวใจของงานมานุษยวิทยาคือ การทำความเข้าใจวัฒนธรรมของชาวบ้าน โดยให้ความสำคัญกับมุมมองของคนใน ก็คือมุมมองของชาวบ้านนั่นเอง โดยไม่เอามุมมองวิธีคิดของเราไปตัดสิน โน้มน้าวให้เขาเปลี่ยนแปลงอย่างนั้นอย่างนี้ คือให้อิสระชาวบ้านเต็มที่ในการเสนอความเห็น โดยไม่ไปวิจารณ์สิ่งที่เขาบอก

จะทำอย่างนี้ได้ ชาวบ้านต้องไว้ใจ เชื่อใจเรา การจะสร้างให้เขาไว้ใจ เชื่อใจเรานั้น ทำได้หลายอย่าง ส่วนของเมืองแพมนี่ เราใช้วิธีสร้างความคุ้นเคย โดยหาจุดเกาะเกี่ยว ถ้าน้องๆสามสาวสังเกต ก็จะเห็นเราพูดถึงประวัติตัวเองที่เคยเป็นครูดอยสอนปกาเกอญอที่อมก๋อย เรื่อยมาจนได้มาเก็บข้อมูลบ้านเมืองแพมนี้เมื่อสิบปีก่อน ทักทายจนได้ที่ เห็นว่าชาวบ้านพร้อมแล้วจึงค่อยเข้าเนื้อหา

อันนี้ เป็นจุดสตาร์ทที่สำคัญมาก ถ้ายังบิ้วอารมณ์คนยังไม่พร้อมจะคุย แล้วไปต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เก็บข้อมูลมันก็จะฝืดๆ


ในวงคุยก็ต้องหมั่นสังเกตการพูดคุย บางคนภาวะผู้นำสูงหรือมีตำแหน่งในชุมชน ก็จะพูดมากหน่อย อันนี้เป็นธรรมดา ก็ไม่ฝืนเขา แต่เราต้องโยนคำถามกระจายไปยังคนอื่นๆด้วย หรือหูฟังจริงแต่ตาก็คอยดูอาการคนในวงว่ามีใครดูท่าอยากจะพูดบ้าง แล้วคอยเสริมแรง ให้กำลังใจ

บางทีในวงก็มีความเห็นแย้งกัน หน้าที่เราไม่ได้ไปตัดสิน ความเห็นไม่ตรงกันเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป เห็นต่างบ้าง นินทาบ้าง มันทำให้การสนทนามีรสชาตินะ แต่เราก็พยายามสร้างบรรยากาศในเบาๆ ผ่อนคลาย จดโน๊ตเก็บเกี่ยวตรงจุดนี้เอาไว้

อ้อ เรื่องของการจดโน๊ตระหว่างสอบถามนี่ ถ้าเป็นแนวของเราจะใช้การอัดเสียงแล้วมาสกัดข้อมูลมากกว่านั่งจด เพราะเราอยากให้น้ำหนักกับการสื่อสารแบบฟังน้ำเสียง สบตา อ่านภาษากายมากกว่า เพราะแว่บหนึ่งที่เราก้มหน้า เราอาจจะพลาดความหมายบางอย่างที่บางคนในวงอยากจะบอกใจจะขาดก็ได้

รอยยิ้ม สีหน้า แววตา น้ำเสียง และความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ แบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Emphathy) ที่เราแสดงออกไปเป็นตัวแปรที่สำคัญมากที่จะทำให้การได้ข้อมูลราบรื่น (Flow) และเปี่ยมด้วยความจริงใจ


วันนี้ ทีมงานสามคน มาเรียนรู้การจัดวงคุยกับสตรีในชุมชน ผมไม่ได้อธิบายอะไรมาก แต่ถ้าสังเกตจะเห็นความไหลลื่นอย่างเป็นธรรมชาติในการประชุม ยังมีอีกหลายหมู่บ้านที่พวกเราต้องลงเก็บลงฝึกกันเอง อาจจะติดขัดอะไรบ้างแต่เชื่อว่าคงฝ่าฟันกันไปไม่ยาก มีอะไรโทรหรือวิดีโอปรึกษาได้ตลอดนะครับ อีกหน่อยงานสุขภาวะสตรีชาติพันธุ์ที่เป็น Non-Health Sector นี่จะสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆต้องฝากทีมคนรุ่นใหม่อย่างน้องๆนี่แหละครับ

การไปเก็บข้อมูลหัวใจอยู่ที่ความสัมพันธ์ วันนี้เราจึงสัมผัสหลายรสชาติในการพูดคุย ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์วิจารณ์วัฒนธรรมของตนเอง มุมมองต่อบทบาทผู้หญิงและผู้ชายที่มีทั้งหยิกบ้างหยอกบ้าง มุมมองที่ต่างกันในการพัฒนาระหว่างคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ หรือแม้แต่การที่ชาวบ้านเปิดใจคุยถึงบาดแผลทางใจจากบุคลากรและระบบการรักษาพยาบาล ที่ถึงแม้เราจะยังแก้ไขอะไรไม่ได้ แต่อย่างน้อยการรับฟังอย่างเอาใจใส่ก็เหมือนการเยียวยา ให้เขาได้ระบายทุกข์ที่เป็นแผลกดทับทางใจที่เก็บเอาไว้ตลอดมา

การเก็บข้อมูลจริงๆมันจึงไม่ใช่มีแค่มิติของความรู้ แต่ยังมีมิติของความเป็นมนุษย์ มิติแห่งจิตวิญญาณของการเอาใจใส่ การเป็นเพื่อน การเยียวยาจิตใจไปพร้อมๆกันครับ

ต้องขอบคุณน้องชุลี และทีมงานล่ามชุมชน นักสื่อสารสุขภาวะชาติพันธุ์ ทีช่วยประสานงานพื้นที่ได้ดีมากๆ หวังว่า Self Talk ที่เป็นกึ่งๆ Field Note นี้ จะช่วยให้พวกเราเพิ่มความเข้าใจและเข้าถึงมุมมองของชาวบ้าน รวมถึงพัฒนาศักยภาพยกระดับคนทำงานรุ่นใหม่ได้มากขึ้นครับ

จริงๆอยากขอบคุณผู้นำชุมชน และ อสม.ที่เป็นผู้ชายในชุมชนด้วยที่ถึงแม้จะเป็นผู้ชายแต่ก็มีใจให้ความสำคัญกับเวทีสุขภาวะผู้หญิงชาติพันธุ์แบบนี้

หมายเลขบันทึก: 686910เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2020 21:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2020 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท