ตราบาปการแก้ไขปัญหาการทุจริต อปท.ด้วยการชี้มูลวินัยอย่างร้ายแรง


ตราบาปการแก้ไขปัญหาการทุจริต อปท.ด้วยการชี้มูลวินัยอย่างร้ายแรง

30 ตุลาคม 2563

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก (ท้องถิ่น) [1]

บริบทเบื้องต้นการทุจริตของท้องถิ่น

   (1) คน อปท.ทั้งฝ่ายการเมืองท้องถิ่น และฝ่ายประจำท้องถิ่นมีประสบการณ์การรับรู้ต่อการ “ทุจริตคอร์รัปชัน” (Corruption) จะแตกต่างจากหน่วยราชการอื่น จะด้วยเหตุใดนั้น เป็นเหตุผลส่วนบุคคลที่คนท้องถิ่นด้วยกันเองก็ค่อนข้างสับสนในบริบทการทำงานในหน้าที่และอำนาจของตนอย่างมาก ฝ่ายหนึ่งอ้างหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อีกฝ่ายหนึ่งอ้างพันธะจากภารกิจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องให้หรือจัด “บริการสาธารณะแก่ประชาชน” ตามสัญญาประชาคมที่ฝ่ายการเมืองได้หาเสียงรับปากไว้แก่ประชาชน ด้วยข้อโต้แย้งสองประการดังกล่าว ประกอบกับเหตุปัจจัยบริบทของสังคมการเมืองไทยและบริบทแวดล้อมอื่นๆ ของ อปท. ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็มีบริบทที่แตกต่างกันไป

   (2) สถิติข้อมูลการร้องเรียนการทุจริต ป.ป.ช.ใหม่ล่าสุดปี 2563 ในรอบ 9 เดือน พบว่า มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมดจำนวน 6,477 เรื่อง ลำดับที่ 1 ได้แก่กระทรวงมหาดไทย 1,601 เรื่อง (24.71%) สถิติรองลงมาใกล้เคียงกันคือ อปท. 1,579 เรื่อง (24.37%) [2] ฉะนั้น อปท.จึงมิใช่หน่วยที่มีสถิติการทุจริตสูงสุดตามที่เข้าใจกัน

           (3) ปัญหาสำคัญที่สุดของสังคมไทยก็คือ “ปัญหาการปฏิบัติตามกฎหมายของประชาชน/เอกชน และปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่” (Law Compliance & Law Enforcement) [3] ที่มักสะท้อนออกมาด้วยคำพูด วาทกรรม ว่า “ทำอะไรก็ได้ตามใจคือไทยแท้” [4] หรือ “การรับใช้เจ้านายเป็นหน้าที่” [5]โดยเฉพาะบุคลากรที่มีพื้นฐานมาจากระบบอุปถัมภ์หรือระบบต่างตอบแทนฯ หรือ ในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่หย่อนยานความรับผิดชอบ หย่อนประสิทธิภาพ มีการเลือกปฏิบัติ สองมาตรฐาน เพิกเฉย ล่าช้า เรียกรับสินบน ฯลฯ ในที่นี้ เห็นว่า “ประเด็นข้อกฎหมาย” ในการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของ อปท. เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง

หน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของ ป.ป.ช.

           (1) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 234(2) [6] กำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหน้าที่และอำนาจ ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเพื่อดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมถูกบัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ลักษณะ 2 หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ มาตรา 147-166 และ หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม มาตรา 200-205   

           (2) จากฐานอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ป.ป.ช. พิจารณาสำนวนการไต่สวนและพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ อปท.มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 161 มาตรา 162(4) มาตรา 264 มาตรา 265 และมาตรา 268 จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 234(2) กำหนดแล้ว ทั้งนี้ เป็นไปตามความเห็นของ ป.ป.ช.

           (3) ด้วยการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ตามมติของ ป.ป.ช. ดังกล่าวนั้น แบ่งกระบวนการ 2 ส่วน ได้แก่ (1) การดำเนินการทางวินัย และ (2) การดำเนินการทางอาญา อันเป็นการดำเนินการคนละส่วนกัน โดยส่วนความผิดทางอาญาย่อมเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการพิจารณาเพื่อส่งเรื่องให้แก่อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญา แต่ส่วนที่เป็นประเด็นปัญหาในการดำเนินการของ อปท.มากที่สุดคือ “การดำเนินการในทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่ อปท.ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด”

           (4) ในส่วนความผูกพันของมติชี้มูล ป.ป.ช. ตามมาตรา 98 [7] แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 บัญญัติให้ผู้บังคับบัญชาย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำความผิด โดยพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ในกรณีความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นความผิดวินัยฐานอื่นซึ่งมิใช่ฐานทุจริต ย่อมต้องดำเนินการตามขั้นตอนการดำเนินการทางวินัยที่กฎหมายกำหนดโดยองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ไม่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงและฐานความผิดตามมติของ ป.ป.ช. ได้ โดยมีอำนาจเพียงพิจารณาเฉพาะเรื่องดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาตามฐานความผิดที่ ป.ป.ช. มีมติเท่านั้น

ประเด็นปัญหาการชี้มูลวินัยทุจริตต่อหน้าที่ราชการที่ไม่ถูกต้อง

           (1) การชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 [8] ที่พบมากที่สุดมักถูกนำมาพิจารณาชี้มูลควบคู่กับความผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐาน “ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาลอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง” ทั้งที่ หากพิจารณาตามองค์ประกอบของการกระทำความผิดวินัยแล้ว ความผิดฐานดังกล่าวมิใช่ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่

           (2) การพิจารณาองค์ประกอบของความผิดฐานทุจริต กล่าวคือ พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ (1) มีหน้าที่ราชการ (2) ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ (3) เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ และ (4) มีเจตนาทุจริต ซึ่งผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษซึ่งเป็นเจตนาชั่วร้าย

           (3) ในขณะที่การพิจารณาความผิดวินัยฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้น จะต้องปรากฏองค์ประกอบ 3 ประการ คือ ตามข้อ (1) (2) (3) ซึ่งองค์ประกอบความผิด 3 ประการดังกล่าว หมายถึง การที่เจ้าหน้าที่หรือข้าราชการมีหน้าที่ราชการที่ต้องปฏิบัติ แต่ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ ผู้กระทำความผิดต้อง “มีเจตนาประสงค์ต่อผล” ซึ่งเป็น “เจตนาพิเศษ” [9] เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใดด้วย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 124/2554) ดังนั้น การกระทำความผิดวินัยฐานไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯ ดังกล่าวข้างต้น จึงขาดเจตนาชั่วร้าย และมิใช่ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ

อำนาจไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลความผิดอาญาและวินัยของ ป.ป.ช.

              (1) มีประเด็นตามกฎหมายเดิมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และตามประกาศคณะกรรมการข้าราชการพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด (ประกาศ ก.จังหวัดฉบับเดิม) ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 161 มาตรา 162 (4) มาตรา 264 มาตรา 265 และมาตรา 268 รวมถึงความผิดวินัยในฐานความผิดที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับหรือประกาศ ที่จะใช้กับผู้ที่จะถูกดำเนินการทางวินัยบัญญัติ โดยได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการกระทำตามมูลความผิดอาญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นความผิดวินัยในฐานนั้น

              (2) สำหรับความผิดวินัยฐานอื่นซึ่งมิใช่ฐานทุจริต ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนย่อมต้องดำเนินการตามขั้นตอนการดำเนินการทางวินัยกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหา ดังนั้น ความผิดฐาน “ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรีหรือนโยบายของรัฐบาลอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง” ข้อ 6 วรรคสอง แห่งประกาศ ก.จังหวัด (ฉบับเดิม) เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย การให้ออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ลงวันที่ 6 มีนาคม 2545 [10] ผู้บังคับบัญชาจึงต้องดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหา ให้ได้ความจริงอย่างชัดแจ้งว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุอันเกิดจากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด จึงจะสามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้  [11]

              (3) นอกจากนี้ ยังมีประเด็นน่าคิดว่า กรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็น “ผู้สนับสนุน” การกระทำความผิด เช่นเป็นสนับสนุน มาตรา 157 และคดีอาญาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลยแล้ว จะถือว่าเป็นผู้ที่กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ราชการฯ หรือไม่ [12] เพราะเป็นเพียงการสนับสนุนการทุจริต ที่อาจส่งผลไปถึงคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการรับราชการได้ เป็นต้น

ข้อสังเกตอำนาจในการชี้มูลวินัยของ ป.ป.ท. และ การวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค.

              นอกจาก ป.ป.ช. แล้ว ได้ทำให้เกิดความกระจ่างระหว่างอำนาจหน้าที่ของทั้งสองหน่วยงาน จากความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการ ป.ป.ท. ก็เป็นอีกองค์กร (หน่วยงาน) หนึ่งที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตเช่นเดียวกับ ป.ป.ช. ตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 554/2561 [13] ที่ให้เกิดความกระจ่างระหว่างอำนาจหน้าที่ของทั้งสององค์กร โดยเห็นว่า คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นให้เป็นอิสระจากผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจสั่งลงโทษ ทั้งมาตรา 31 (2) [14] แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ ได้บัญญัติให้ ก.พ.ค. มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตาม มาตรา 114 และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ต้องเป็นไปตามกฎ ก.พ.ค. ซึ่งเมื่อ ก.พ.ค. พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว มาตรา 116 ได้บัญญัติให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ ก.พ.ค. มีคำวินิจฉัย และในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ให้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ทราบหรือถือว่าทราบคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. แต่ในกรณีของ อปท.นั้น คณะกรรมการ ก.พ.ค. ขาดหายไป เพราะ ณ ปัจจุบัน อปท. ยังไม่มีองค์กร ก.พ.ค. [15] ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกต เช่น

              (1) บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการกำหนดให้ ก.พ.ค. เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจกึ่งตุลาการที่มีกฎหมายให้อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ [16] นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงที่มาและอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ท. ตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ และที่มาและอำนาจหน้าที่ของ ก.พ.ค. ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ แล้ว ป.ป.ท.และ ก.พ.ค. ต่างก็มีสถานะเป็นหน่วยงานราชการซึ่งเป็นกลไกของฝ่ายบริหาร โดยในส่วนของการแต่งตั้ง ป.ป.ท. และ ก.พ.ค. นั้น ต่างก็ได้รับการแต่งตั้งและมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ  ป.ป.ท. และ ก.พ.ค. จึงเป็นองค์กรที่อยู่ในระดับเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานหนึ่งจึงไม่อาจมีผลเป็นการลบล้างอำนาจหน้าที่ของอีกหน่วยงานหนึ่งได้ 

              (2) สำหรับการที่มาตรา 44 [17] แห่งพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ บัญญัติให้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจในการกำหนดโทษของผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ ก็ได้ นั้น เป็นบทบัญญัติที่ใช้กับผู้ถูกกล่าวหาที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งลงโทษตาม มติของ ป.ป.ท. โดยให้ผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิอุทธรณ์ได้เฉพาะดุลพินิจในการกำหนดโทษของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น

              (3) แต่ในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค. มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะเช่นกัน ดังนั้น ก.พ.ค. จึงย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวได้ตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ และกฎ ก.พ.ค. ที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว กรณี อปท. ไม่มี ก.พ.ค. อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ก.จังหวัด ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดเดียวกันกับคณะกรรมการที่ “สั่งลงโทษทางวินัย” จึงถือเป็นองค์กรที่มีส่วนได้เสียในการพิจารณาทางปกครอง ขัดหลักการมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง [18]

              (4) ซึ่งหากพิจารณาตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลมิจำต้องมีความเห็นตาม ป.ป.ท. ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่ในระดับเดียวกันนั้น ก็ได้ กล่าวคือ มีอำนาจอิสระในการพิจารณาอุทธรณ์ได้อย่างเต็มที่

              (5) แต่ทว่า ความเสียหายได้เกิดขึ้นแก่ผู้ถูกกล่าวหาแล้ว นับแต่วันที่ได้รับคำสั่งดังกล่าว กลายเป็นตราบาปในสังคมที่เยียวยาอย่างไรก็ไม่อาจกลับคืนสู่สภาพเดิม อีกทั้งในทางปฏิบัติกลับมิได้เป็นไปตามนั้น ด้วยผู้บังคับบัญชามักให้ความเห็นตามที่ ป.ป.ช. ชี้มูล เช่นเดียวกับคณะกรรมการระดับจังหวัดซึ่งไม่กล้าที่จะมีความเห็นแย้งกับ ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. กว่าผู้ถูกกล่าวหาจะต่อสู้เรียกร้องสิทธิของตนกลับมาได้ชีวิตก็ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ดังเช่น ข้อความตอนหนึ่งของผู้ได้รับความเดือดร้อนซึ่งได้อุทธรณ์มายังคณะกรรมการระดับจังหวัด เช่นขอยกความตอนหนึ่งว่า “หลังจากได้รับคำสั่งดังกล่าว ตนได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงในการดำรงชีวิตของผู้อุทธรณ์และครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นต่อซื่อเสียง สถานะทางสังคมด้วยการถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นผู้ทุจริต สถานะครอบครัว และสถานะทางการเงินแม้ตนได้ออกตระเวนหาสมัครงาน แต่ไม่มีแห่งใดรับตนเข้าทำงาน ทำให้ตนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก” ที่ผ่านมาผู้ถูกชี้มูลบางคนเป็นเสาหลักของครอบครัว การถือเอาความเห็นของหน่วยงานตรวจสอบทุจริตดังกล่าวสร้างความทุกข์ทรมานและเกิดความเสียหายขึ้นกับเจ้าหน้าที่อีกหลายชีวิต

              (6) แม้จะมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดมากมายที่ยืนยันว่า คณะกรรมการตรวจสอบทุจริตทั้งสององค์กรมีอำนาจชี้มูลความผิดฐานทุจริตและที่เกี่ยวข้องกับความผิดดังกล่าวเท่านั้น แต่ก็ยังปรากฏการชี้มูลในลักษณะเช่นนี้อยู่เป็นประจำ การใช้อำนาจที่มีผลกระทบต่อชีวิตคนย่อมต้องใช้อย่างระมัดระวัง ในบริบทของท้องถิ่นหลายครั้งต้องยอมรับว่า การรอขั้นตอนขออนุมัติตามระบบไม่อาจจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในบางเรื่องได้ การพิจารณาความผิดฐานทุจริต จึงควรพิเคราะห์ถึงเจตนาภายในของผู้กระทำด้วย หากประชาชนเป็นผู้รับประโยชน์เกิดประโยชน์กับสาธารณะและประชาชน ซึ่งเป็นหัวใจของการจัดทำบริการสาธารณะ สิ่งเหล่านี้ควรถูกหยิบยกและนำไปพิจารณาประกอบการชี้มูลความผิดด้วยหรือไม่ อย่างไร เพราะผู้บังบัญชามักเห็นตามความเห็นของหน่วยงานดังกล่าวอยู่เป็นประจำเช่นกันหลายครั้ง

              “ตราบาป” ดังกล่าวข้างต้นได้ประทับตราแก่คนท้องถิ่นคนแล้วคนเล่า โดยเฉพาะคน อปท.ฝ่ายข้าราชการพนักงานประจำมักเกิดคำถามในใจเสมอมาว่า เมื่อไหร่หนอองค์กรตรวจสอบจึงจะทราบถึงผลกระทบนี้ และหลีกเลี่ยงการใช้ดุลพินิจที่เกินขอบเขตขาดหลักนิติธรรม และเมื่อไหร่หนอที่ผู้บังคับบัญชาจะทราบถึงบทบาทหน้าที่ของตนเองและเรียกร้องต่อสู้เพื่อความยุติธรรมแก่ลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้อุทิศตนสร้างผลงานให้แก่ผู้บังคับบัญชาและองค์กร  และอีกนานสักเท่าใด “ความยุติธรรม” จึงจะบังเกิดแก่คน อปท. หน่วยงานที่ถือว่ามีบทบาทอย่างสำคัญที่สุดใน “การจัดบริการสาธารณะที่จำเป็น” แก่ประชาชนได้อย่างเต็มความสามารถตลอดมา

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharapron Maneenuch, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 30 ตุลาคม 2563, https://siamrath.co.th/n/193572

[2]ข่าวTNNออนไลน์, ป.ป.ช.เผยสถิติเรื่องร้องเรียนทุจริตปีงบประมาณ63 กว่า 17,000 เรื่อง, 28 สิงหาคม 2563, https://www.tnnthailand.com/content/53027 , สืบค้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2563

[3]แยกเป็น 2 ส่วน คือ (1) การปฏิบัติตามกฎหมาย (Law Compliance)เช่น การปฏิบัติตามกฎหมายของบุคคล และของหน่วยงานธุรกิจเอกชน (compliance by the people and private entities) เป็นเรื่องของ สำนึก วินัย ของประชาชน เป็นเรื่องของรุ่นสู่รุ่น (Generation) ที่ต้องสั่งสม (Socialization) มาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนติดปลูกฝังเป็นนิสัย วินัย เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น

กล้า สมุทวณิช แยกสาเหตุที่คนไม่ทำตามกฎหมายเพราะ (1) ไม่รู้ (2) ทำแล้วมันคุ้ม (3) มือของกฎหมายไม่ยาวพอ (4) กฎหมายไม่เป็นธรรม

(2) การบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement) ซึ่งเป็นปัญหาโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม

ปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐได้แก่ (1) การไม่ดำเนินการตามกฎหมาย (2) เลือกปฏิบัติ/ให้ความสำคัญต่อประเด็นที่ตอบสนองรัฐ/ผู้มีอำนาจ/นโยบายในห้วงเวลานั้น (3) ดำเนินการโดยไม่ใช้หลักวิชาและความรู้

ปัจจัยสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐได้แก่ (1) ข้อจำกัดของหน่วยงาน (2) การทุจริตของเจ้าหน้าที่ (3) ความขลาดของเจ้าหน้าที่ (4) แนวนโยบายของผู้มีอำนาจ

ดู การบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement), คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2554, https://www.law.cmu.ac.th/law2011/goto.php?action=document&id=2502

& คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง ทำไมคนจึงไม่ทำตามกฎหมาย ? ตอนที่ 1 : เพราะไม่รู้ โดย:กล้า สมุทวณิช, 21 กุมภาพันธ์ 2561, https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_847000  

& ทำไมคนจึงไม่ทำตามกฎหมาย? ตอนที่ 2 : เพราะทำแล้วมันคุ้ม โดย กล้า สมุทวณิช, 28 กุมภาพันธ์ 2561, https://www.matichon.co.th/article/news_855744

& ทำไมคนจึงไม่ทำตามกฎหมาย? ตอนที่ 3 : เพราะมือของกฎหมายไม่ยาวพอ โดย กล้า สมุทวณิช, 7 มีนาคม 2561, https://www.matichon.co.th/article/news_863991  

& ทำไมคนจึงไม่ทำตามกฎหมาย? ตอนที่ 4 : เพราะกฎหมายไม่เป็นธรรม โดย : กล้า สมุทวณิช, 14 มีนาคม 2561, https://www.matichon.co.th/columnists/news_872907

& ทำไมคนจึงไม่ทำตามกฎหมาย? บทส่งท้าย โดย : กล้า สมุทวณิช, 21 มีนาคม 2561, https://www.matichon.co.th/columnists/news_881777

[4]ทำอะไรตามใจคือไทยแท้, โดย Orraphansilp, 31 มกราคม 2560, https://minimore.com/b/XTmLh/8

การอยู่รวมกับคนหมู่มากในที่สาธารณะ สิ่งหนึ่งที่เราคำนึง (อยู่ตลอด) และคนอื่น ๆ ก็ควรจะคำนึงด้วยเช่นกัน ก็คือ มารยาททางสังคม แต่เราก็มักจะเห็นพฤติกรรมเสียมารยาทที่ทำให้หงุดหงิดมากขึ้นในทุก ๆ วัน จนต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า “หรือเพราะที่นี่คือประเทศไทย ทุกคนจึงทำอะไรตามใจไปซะหมด?”

[5]ค่านิยมของข้าราชการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 ถึง ปัจจุบัน, วิวัฒนาการระบบบริหารราชการไทย : ค่านิยมของข้าราชการไทย, กลุ่มนักศึกษารหัส 54 สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา,

https://sites.google.com/site/54pa02/kha-niym-khxng-kharachkar-tangtae-pi-ph-s-2501-thung-paccuban-ph-s-2547?tmpl=%2Fsystem%2Fapp%2Ftemplates%2Fprint%2F&showPrintDialog=1

“ค่านิยมพ่อค้า” ยิ่งมีโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน สร้างความร่ำรวย สุขสบายและมีอำนาจมากขึ้น ส่วนข้าราชการที่ยึดถือ “ค่านิยมพระยา” มักจะยากจนและถูกกล่าวหาว่าไม่ฉลาด เพราะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับข้าราชการที่ประพฤติมิชอบ เข้าทำนอง “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” เหล่านี้คือสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่มีส่วนทำให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขึ้น

ค่านิยมที่ข้าราชการรับราชการเพื่อสนองความต้องการของเจ้านายในส่วนราชการของตนไม่ว่าจะอยู่ในส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค

ค่านิยมดังกล่าวนี้ แม้ใกล้เคียงกับ “ค่านิยมพระยา” แต่ในที่นี้ถือว่า ไม่แตกต่างไปจาก “ค่านิยมพ่อค้า” มากนัก

[6]มาตรา 234 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(1) ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญหรือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(2) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เพื่อดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(3) กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

(4) หน้าที่และอำนาจอื่นที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

ในการปฏิบัติหน้าที่ตาม (1) (2) และ (3) ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่จะต้องจัดให้มีมาตรการหรือแนวทางที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพ เกิดความรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม ในกรณีจำเป็นจะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตดำเนินการแทนในเรื่องที่มิใช่เป็นความผิดร้ายแรง หรือที่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางระดับหรือกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยธุรการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนหรือไต่สวนเบื้องต้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตก็ได้ 

[7]พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

มาตรา 98เมื่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาได้รับสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 91 แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก โดยในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น แล้วแต่กรณี

กรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ศาลยุติธรรม ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ประธานกรรมการตุลาการศาลปกครอง หรือประธานกรรมการอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ โดยเร็ว โดยให้ถือรายงานและเอกสารหลักฐานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นส่วนหนึ่งของความเห็นเพื่อพิจารณาทางวินัยในสำนวนการสอบสวนด้วย และเมื่อดำเนินการได้ผลประการใดแล้ว ให้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบผลการพิจารณา

การดำเนินการทางวินัยตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนพิจารณาสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนได้รับแจ้งมติที่ได้ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาทบทวนตามมาตรา 99 วรรคสอง ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหานั้นจะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนหรือหลังที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติวินิจฉัยมูลความผิด เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีมติเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 48 แล้ว แต่ไม่เป็นการตัดอำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะดำเนินการเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาซึ่งไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับวินัยเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดในเรื่องที่ถูกกล่าวหานั้น ให้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

ในการส่งสำนวนการไต่สวนเพื่อดำเนินการทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหา คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือประธานกรรมการ อาจมอบหมายให้เลขาธิการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดำเนินการแทนก็ได้

[8]ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157  “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

[9]เจตนาพิเศษ คือ มูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิด เจตนาพิเศษเป็นคนละกรณีกับเจตนาธรรมดา เจตนาธรรมดาคือประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล ความผิดใดกฎหมายต้องเจตนาพิเศษ ก็จะบัญญัติถ้อยคำที่แสดงว่าเป็นเจตนาพิเศษไว้ในองค์ประกอบของความผิดนั้น ๆ โดยตรง เช่น คำว่า โดยทุจริต ถือว่าเป็นเจตนาพิเศษของความผิดฐานลักทรัพย์ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334) คำว่า เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง เป็นเจตนาพิเศษของความผิดฐานปลอมเอกสาร (มาตรา 264) ในการพิจารณาถ้อยคำนั้น ๆ เป็นเจตนาพิเศษหรือไม่ให้สังเกตที่คำว่า เพื่อ………..หรือคำว่า โดยทุจริต เป็นต้น    ความผิดที่กฎหมายต้องการเจตนาพิเศษ เช่น ความผิดฐานปลอมเอกสาร (มาตรา 264)  หากผู้กระทำมีแต่เจตนาธรรมดา เช่น ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลเท่านั้น ผู้กระทำก็ยังไม่มีความผิด โดยถือว่าขาดองค์ประกอบภายใน แต่ถ้าความผิดมาตรา นั้น ๆ กฎหมายไม่ต้องการเจตนาพิเศษ เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาตาม มาตรา 288  เพียงแต่ผู้กระทำมีเจตนาธรรมดา กล่าวคือ ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล ผู้กระทำก็มีความผิดแล้ว

[10]ประกาศ ก.จังหวัดแต่ละจังหวัดจะมีการลงวันที่ประกาศไม่ตรงกัน เพราะประกาศกันคนละคราว รวม 76 จังหวัด

[11]คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด หมายเลขคดีดำที่ อ.505/2553 หมายเลขคดีแดงที่ อ. 1037/2558 และความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 784/2562 มิถุนายน 2562 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดที่มิใช่การกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 2) เรื่อง การดำเนินการทางวินัยกับพนักงานเทศบาล กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดที่มิใช่การกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ

และดู คำพิพากษา ศาลคดีอาญาทุจริตประพฤติมิชอบ ภาค 2  หมายเลขคดีดำที่ อท 75/2561 หมายเลขคดีแดงที่ อท 30/2562

[12]ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดแม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตามผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น” 

[13]บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 554/2561 เรื่อง การพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ในกรณีที่หน่วยงานมีคำสั่งให้ลงโทษทางวินัยตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ชี้มูล, มีนาคม 2561, https://www.facebook.com/175037009310924/posts/1034898716658078/

& ปัญหาทางกฎหมายของการตรวจสอบการใช้อำนาจลงโทษทางวินัย ตามการชี้มูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยศาลปกครอง โดย สักกพล ภุมรินทร์ นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ กองหลักนิติบัญญัติสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, http://web.krisdika.go.th/pdfPage.jsp?type=act&actCode=322  

[14]พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551

มาตรา 31ก.พ.ค. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) เสนอแนะต่อ ก.พ. หรือองค์กรกลางบริหารงานบุคคลอื่น เพื่อให้ ก.พ. หรือองค์กรกลางบริหารงานบุคคลอื่น ดำเนินการจัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม

(2) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 114

(3) พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามมาตรา 123

(4) พิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรมตามมาตรา 126

(5) ออกกฎ ก.พ.ค. ระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎ ก.พ.ค. เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

(6) แต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ ก.พ.ค. กำหนด เพื่อเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือเป็นกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ 

[15]กฎหมายการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นยังไม่มีบทบัญญัติว่าด้วย “คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น” หรือ ก.พ.ค. ท้องถิ่น หรือ ก.พ.ถ. เนื่องจากยังไม่มีการแก้ไข พรบ.ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 หรือยังไม่มีการตรากฎหมายบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นใหม่แต่อย่างใด 

[16]กรณี ก.พ.ค.นั้น เทียบเท่า ศาลปกครองชั้นต้น ฉะนั้น คดีที่ผ่านในชั้น ก.พ.ค.มาแล้ว เป็นคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด

[17]พระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 3 พ.ศ. 2561,

มาตรา 40  เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดกระทำการทุจริตในภาครัฐ และเป็นกรณีมีมูลความผิดทางวินัย ให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้น เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ถือว่ารายงาน เอกสาร และความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ แล้วแต่กรณี

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาซึ่งไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับวินัย เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวได้กระทำผิดในเรื่องที่ถูกกล่าวหา ให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

มาตรา 41  เมื่อได้รับรายงานตามมาตรา 40 ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนพิจารณาลงโทษภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องและให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนส่งสำเนาคำสั่งลงโทษดังกล่าวไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ออกคำสั่ง

มาตรา 44  ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษตามมาตรา 41 จะใช้สิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจในการกำหนดโทษของผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ ก็ได้  ทั้งนี้ ต้องใช้สิทธิดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่งดังกล่าว

[18]พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539,

มาตรา 3วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับขั้นตอนและระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้งที่กำหนดในกฎหมาย



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท