MOHO มีประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองอย่างไรกันนะ?



ก่อนที่เราจะกล่าวถึงประโยชน์ของ Model of Human Occupation (MOHO) ต่อการพัฒนาตนเองในมุมมองของนักศึกษากิจกรรมบำบัด เราก็เริ่มจากการทำความรู้จักกับตัวโมเดลนี้กันก่อน 

Model of Human Occupation (MOHO) เป็นหนึ่งในโมเดลที่นักกิจกรรมบำบัดใช้ในการช่วยเหลือ และให้บริการในการบำบัดรักษาแก่ผู้รับบริการ ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้รับบริการ  (Client) กับนักกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapist) ให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กระตุ้นให้ผู้รับบริการเห็นคุณค่าของกิจกรรมที่ตนสนใจ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่มีเป้าหมาย

ประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองจาก 7 ข้อคำถาม

  • Occupational identity คำถามนี้มีประโยชน์ในการได้วิเคราะห์ตนเอง ว่าเราอยากจะทำอะไร สิ่งที่เราทำนั้นให้อะไรกับเรา ทำไมถึงอยากที่จะทำ ยกตัวอย่าง การที่ผู้เขียนเลือกเรียนในสาขากิจกรรมบำบัด เพราะเป็นสิ่งที่คาดหวังไว้ว่าจะได้ช่วยเหลือกลุ่มผู้รับบริการของเราให้เขาได้กลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และมองเห็นความหมายของการมีชีวิตอยู่
  • Occupational competence คำถามนี้ช่วยให้เราคิดต่อจากคำถามแรกว่าเราจะใช้ความสามารถอะไรที่จะทำให้เราสามารถทำกิจกรรมนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ประโยชน์คือเป็นการกระตุ้นให้เห็นคุณค่าในตนเองว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง ที่จะช่วยให้เราได้ทำในกิจกรรมที่เราต้องการทำจริง ๆ เช่น ใช้ความตั้งใจ ความขยัน ความอดทนในการเรียนเพื่อที่จะได้จบตามระยะเวลาที่กำหนด
  • Participation เรามีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่เราสนใจอย่างไร ประโยชน์จากคำถามข้อนี้ก็คือ ช่วยกระตุ้นให้เราเกิดความคิดที่จะลงมือทำ ไม่อยู่นิ่งเฉย เช่น ตั้งใจเรียนในคลาส ทบทวนเนื้อหาก่อนสอบ ส่งงานให้ตรงเวลา เพื่อที่จะได้เรียนจบไปเป็นนักกิจกรรมบำบัด และช่วยเหลือผู้อื่นอย่างที่ตั้งใจไว้
  • Performance เราสามารถทำอะไรได้บ้าง หรือมีอะไรที่ยังทำไม่ได้บ้าง ช่วยให้เกิดการพิจารณาตนเอง หาจุดที่เราจะสามารถนำไปต่อยอด หรือแก้ไขในการพัฒนาตนเองต่อ เช่น อยากที่จะเรียนรู้งานฝีมือใหม่ ๆ ที่เรายังไม่เคยลองทำ เพื่อประโยชน์ในช่วงที่กำลังศึกษาสาขากิจกรรมบำบัด
  • Skills เมื่อเราทราบว่าเราทำอะไรได้ หรือยังทำอะไรไม่ได้ ก็จะทำให้เราสามารถเลือกที่จะพัฒนาทักษะได้อย่างตรงจุด เพื่อให้เกิดเป็นความสามารถที่ตรงตามเป้าหมาย เช่น ต้องการฝึกทักษะการปักผ้า ซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยความแม่นยำของสายตา มือ นิ้วให้ทำงานสัมพันธ์กัน
  • How to: Volition-Habituation-Performance capacity เราจะตั้งใจทำสิ่งนั้นจริง ๆ อย่างไร เราทำตามบทบาทของเราอย่างไร และเราจะพัฒนาความสามารถสูงสุดของเราอย่างไร ช่วยกระตุ้นให้เราเกิดความคิดที่จะลงมือทำให้กิจกรรมที่เราสนใจนั้นเป็นจริง เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดี และได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ เช่น เปิดดูวิดีโอสอนการปักผ้าจากแหล่งข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ฝึกฝนอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดความเคยชิน และจดจำวิธีการทำได้ เวลาที่ได้เรียนการทำงานฝีมือในคลาสเรียนก็จะทำให้เราเรียนรู้เร็วเพราะเคยได้ลองทำมาแล้ว
  • Environment สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรามีผลต่อเราอย่างไร มองหาข้อดี ข้อด้อยที่จะช่วยส่งเสริม หรือจุดที่ควรแก้ไขเพื่อให้เราสามารถพัฒนาตนเองได้ดียิ่งขึ้น เช่น การที่คุณแม่ให้การสนับสนุนเรื่องของงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ในการปักผ้า มีเวลาว่างจากการเรียน และทำงานที่ได้รับมอบหมายเรียบร้อยแล้ว 
    ภาพโดย monicore จาก Pixabay.
    บทความต่อไปจะเป็นการพูดถึงประโยชน์ของโมเดล MOHO ต่อการพัฒนากลุ่มเปราะบาง ขอบคุณสำหรับการติดตามค่ะ (●'◡'●)


หมายเลขบันทึก: 684945เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2020 03:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ตุลาคม 2020 08:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท