MOHO กรอบแนวคิดที่จะไม่ทำให้คุณโมโหกับการพัฒนาตัวเองอีกต่อไป


อย่าคิดว่าตนเองทำไม่ได้ คุณอาจแค่ยังมองไม่เห็นเป้าหมายที่ชัดเจน

ตึ่ง ตึง ตึ้งงง (เสียงประกอบ)

สวัสดีค่ะ คุณเคยประสบปัญหาเหล่านี้หรือไม่!? (ตัวประกอบเดินเข้าฉาก)

ตัวประกอบ 1: เฮ้อ อยากลดน้ำหนักจังทำไมลดไม่ได้ซักที

ตัวประกอบ 2: อยากทำพาร์ทไทม์จังทำอะไรดี ตัวเลือกเยอะไปหมดเลย

ตัวประกอบ 3: ช่วงนี้ว่างมาก แต่ก็ไม่รู้จะทำอะไรดี เราเก่งอะไรก็ยังไม่รู้เลย แง


หากคุณกำลังเจอปัญหาเหล่านี้เรามีตัวช่วย!!

คุณคนเขียนขอนำเสนอกรอบแนวคิดที่จะไม่ทำให้คุณต้องโมโหกับการตั้งเป้าหมายของตัวเองอีกต่อไป นั่นก็คือ MOHO นั่นเอง!!


อะเรามาดูกันก่อนว่า MOHO คืออะไร

MOHO หรือ Model of Human Occupation เป็นแบบจำลองหรือกรอบแนวคิดที่นักกิจกรรมบำบัดใช้ในการประเมิน แยกแยะปัญหา เพื่อนั้งเป้าหมายรายบุคคล โดยดูจากตัวบุคคล ทั้งความคิด ความเข้าใจ ลักษณะนิสัย ในรูปของนามธรรม (assets) สินทรัพย์หรือหนี้สินที่เรามีเป็นรูปธรรม (liabilities) เช่น รถ บ้าน ความสามารถที่เราแสดงออกมา (performance) และสุดท้ายคือสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ส่งผลกับเรา (influence) เช่น ครอบครัว สังคม

โดยเป้าหมายของกรอบแนวคิดนี้ คือการเพิ่มความสามารถของบุคคลนั้น ๆ ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะสมตามบทบาท หน้าที่ ตามช่วงวัย หรือตามสภาพแวดล้อมใหม่ที่พบเจอ

อาจจะฟังดูยากแต่จริง ๆ แล้วไม่ยากเลย ซึ่งใครก็สามารถนำกรอบแนวคิดนี้ไปใช้ได้! อาจจะเพื่อค้นหาตัวเอง ตั้งเป้าหมาย หรือทำเป้าหมายที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยกรอบแนวคิดนี้จะมีอยู่ด้วยกัน 7 คำถามหลักด้วยกันเพื่อนำไปสู่เป้าหมายของเรา มาเริ่มจากข้อแรกกันเลย!

1. คุณสนใจอยากจะทำอะไร และเพราะอะไรถึงสนใจ? คำถามแรกก็ยากเลย (หัวเราะ) ลองนึกภาพถึงเป้าหมายที่เราตั้งใจจะทำ หรือสนใจที่จะทำจริง ๆ ก่อน อาจเป็นเรื่องที่เคยทำแล้วรู้สึกอยากแก้ไขมันก็ได้ แต่ต้องเป็นสิ่งที่เราสนใจจริง ๆ นะ อย่าให้ใครมาบังคับเรา! เช่น นายตัวประกอบอยากขายของออนไลน์ เพราะมีเวลาว่างเยอะ และอยากทำเป็นอาชีพเสริม

    ข้อแรกนี้เป็นตัววัดการแยกแยะหรือที่เรียกว่า Occupational Identity คือตัวที่บอกว่าเราสามารถแยกแยะถึงประเด็นหรือเป้าหมายที่เราสนใจได้มั้ย ถ้าได้คำตอบแล้วก็จดโน้ตไว้ได้เลย หรือถ้ายังไม่ได้ก็ค่อย ๆ คิด กลั่นกรองถึงประเด็นหลักที่เราสนใจจริง ๆ ก่อน ไม่ต้องรีบ ไม่ได้กดดัน (หัวเราะ)

    2. กิจกรรมนี้ช่วยให้คุณแสดงศักยภาพอะไรของคุณออกมา หรือจำเป็นต้องใช้ทักษะความสามารถอะไรบ้างในการทำกิจกรรม? การนั่งทบทวนถึงทักษะที่จำเป็นต่อการทำกิจกรรมนั้น จะบอกถึง Occupational Competence หรือ การรู้แนวทาง ในการพัฒนาทักษะความสามารถของตัวคุณเองเพื่อไปสู่การทำกิจกรรมได้ เช่น นายตัวประกอบคิดว่าการขายของออนไลน์ จำเป็นต้องใช้ทักษะการสื่อสารในการพูดคุยกับลูกค้า ทักษะการโน้มน้าวใจ ทักษะการวางแผน การจัดการ เป็นต้น

      2 คำถามแรกนี้ จะช่วยบอกถึง Occupational Adaptation หรือ ความสามาถในการปรับตัว/พัฒนาเพื่อทำกิจกรรมหรือเป้าหมายนั้น น่าจะพอเห็นภาพถึงตัวกิจกรรมที่เราต้องการจะทำได้แล้วล่ะ ไปดูคำถามต่อไปกันเลย~

      3. คุณได้เข้าไปมีส่วนร่วมอะไรบ้างในการทำกิจกรรมนี้? คำถามนี้จะพูดในเรื่องของการมีส่วนร่วม (participation) ในกิจกรรมนั้น ว่าเราได้เข้าไปมีส่วนรวมอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน ให้เราได้ลองทบทวนตัวเอง เช่น นายตัวประกอบอยากขายของออนไลน์ จึงศึกษาหาข้อมูลด้านการตลาด หาช่องทางการขาย หาแหล่งขายส่งที่น่าเชื่อถือ เป็นต้น

      4. ในการทำกิจกรรมทั่วไป เราสามารถทำอะไรได้-ไม่ได้บ้าง? การรู้ความสามารถ (performance) หรือข้อจำกัดของตนเองในการทำกิจกรรม จะนำไปสู่รูปแบบของกิจกรรมที่เราจะทำ หรือเพื่อค้นหาความสามารถที่บกพร่องเพื่อแก้ไข เช่น นายตัวประกอบเป็นอัมพาตท่อนล่าง ไม่สามารถขยับขาได้ แต่ยังใช้มือได้ปกติ และมีความจำดี ซึ่งนั่นทำให้เกิดข้อจำกัดบางอย่างในการทำกิจกรรม เช่น ไม่สามารถขับรถไปส่งพัสดุเองได้ต้องให้คนส่งของมารับพัสดุที่บ้าน เป็นต้น จะเห็นได้ว่ารูปแบบกิจกรรมจะเปลี่ยนไปตามข้อจำกัดด้านความสามารถของเรา หากเรารู้ถึงความสามารถที่เรามี ก็จะสามารถเลือกรูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสมได้

      5. คุณสามารถใช้ทักษะที่จำเป็น (skills) ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร (communication skill) ทักษะการเคลื่อนไหว (motor skill) และทักษะการคิดวิเคราะห์ (process skill) ได้ดีหรือไม่? ทักษะเหล่านี้เป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ เราจึงต้องค้นหาทักษะที่เราบกพร่องไปและแก้ไขเพื่อให้สามารถทำกิจกรรมได้

      6. จะเป็นการเน้นถามโดยใช้คำว่า ‘อย่างไร’ ได้แก่

      6.1 คุณมีเจตจำนง (volition) อย่างไรในการทำกิจกรรมนั้น? หรือก็คือความตั้งใจจริงของการทำกิจกรรมนั้นเป็นอย่างไร

      6.2 คุณมีพฤตินิสัย (habituation) อย่างไรบ้าง? โดย  ‘พฤตินิสัย’ มาจาก พฤติกรรม + นิสัย หมายถึงพฤติกรรมที่ทำจนเป็นนิสัย หรือบุคลิก เพื่อดูว่าลักษณะบุคลิกของเราเอื้อต่อการทำกิจกรรมมากน้อยเพียงใด

      6.3 คุณจะแสดงความสามารถแบบเต็มศักยภาพ (performance capacity) ของคุณได้อย่างไร? เพื่อบอกถึงความสามารถสูงสุดที่ทำได้

      7. ข้อสุดท้ายนี้จะไม่ใช่เรื่องของตัวคุณ แต่เป็นเรื่องของ สภาพแวดล้อมรอบตัว (environment) อะไรบ้าง ที่ส่งผลต่อการทำกิจกรรมของคุณ? การจะทำกิจกรรมได้ สิ่งแวดล้อมก็ต้องเอื้อต่อการทำกิจกรรมนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน


        สรุปจากการใช้กรอบแนวคิด MOHO คือเริ่มจากวางจุดมุ่งหมายให้ชัดเจน และสามารถบอกถึงสิ่งที่จำเป็นต่อการทำกิจกรรมนั้นได้ รวมไปถึงการรู้ถึงความสามารถและข้อจำกัดของตนเอง เพื่อเลือกทำรูปแบบของกิจกรรมที่เหมาะสม และสุดท้ายคือการดูถึงบุคลลิก ลักษณะนิสัย สภาพแวดล้อมรอบตัว ที่จะส่งผลต่อการทำกิจกรรมนั้น หากคุณสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ – ยินดีด้วย! เราเชื่อว่าคุณจะมองเห็นถึงเป้าหมายของตัวเองได้ชัดมากขึ้น และไม่ต้องโมโหกับมันอีกต่อไป เพราะการจะพัฒนาตนเองเพื่อไปสู่เป้าหมายได้นั้นจำเป็นต้องมองในหลาย ๆ มุม อย่าคิดว่าตนเองทำไม่ได้ คุณอาจแค่ยังมองไม่เห็นเป้าหมายที่ชัดเจน แต่เราเชื่อว่าหากคุณมาถึงตรงนี้ได้ คุณก็มองเห็นได้ชัดเจนขึ้นบ้างแล้วล่ะ คุณเก่งมาก:D


        ป.ล. เนื้อหาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่เราได้เรียนภายในคาบเรียน อาจมีข้อผิดพลาดบ้าง สามารถทักมาพูดคุยหรือแบ่งปันกันได้ค่ะ

        ขอบคุณค่ะ :)


        นางสาวสิริการย์ แสงภู่นิธิไพศาล นักศึกษาชั้นปีที่ 1/63 คณะกายภาพบำบัด สาขากิจกรรมบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

        หมายเลขบันทึก: 684841เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2020 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2020 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


        ความเห็น (0)

        ไม่มีความเห็น

        พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
        ClassStart
        ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
        ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
        ClassStart Books
        โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท