อยากช่วยเหลือคุณยายที่นั่งเบื่อ หลาน (ที่น่ารัก) อย่างฉันจะเริ่มต้นอย่างไรดีนะ? [MoHo]



: ยายจ๋า ทำอะไรอยู่คะ ดูทีวีอยู่เหรอ?

: จ้า ดูมาตั้งแต่เช้าแล้วล่ะ

: แล้วไม่เบื่อเหรอจ๊ะคนสวย

: เบื่อสิ ละครก็ยังไม่มา แถมป้าของหนูก็ให้ยายนั่งอยู่นี่เฉย ๆ จะไม่เบื่อได้ยังไง


อืมมม…ก็จริงนะ น่าสนใจแฮะ จะทำอย่างไรเพื่อให้คุณยายวัยเกษียณ (มา 20 ปีแล้ว) ของฉันมีชีวิตชีวาขึ้นได้บ้างนะ

ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก ติ๊กต่อก อ๋อ ที่พึ่งเรียนมานั่นไงล่ะ MoHo น่ะ!!

เอาล่ะ ที่นี้จะมาลองวิเคราะห์เชื่อมโยงความรู้ที่พึ่งได้รับมาสด ๆ ร้อน ๆ เข้ากับคุณยายดู อาจจะได้ผลดีก็ได้นะ

[อยากรู้ว่า MoHo คืออะไร คลิ๊ก บทความแรกของฉัน ได้]



บทสนทนาที่ดูมีสาระบทแรกระหว่างฉันกับยายได้เริ่มขึ้น หลังจากสอบถามและรวบรวมคำตอบจากคุณยายที่หลงลืมไปบ้างมาเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ใจความว่า


      -สิ่งที่คุณยายอยากทำ ชอบทำ จากที่ถามและเห็นมาตั้งแต่จำความได้ คือ ชอบทำอาหาร ยายมีทั้งสูตรกับข้าว สูตรขนมของตัวเองที่อร่อยทุกอย่าง ทำให้ลูกหลานทานประจำ รวมถึงปกติแล้วยายชอบนั่งรถเที่ยว เพราะตอนนั่งรถยายฉันเห็นยายชอบมองวิวเพลิน ๆ สามสี่ชั่วโมงติดกันไม่หลับเลย ในขณะที่หลาน ๆ ได้ไปคนละสามสี่งีบแล้ว


จากคำถามแรก ฉันรู้ถึง Occupational Identity ของยายในวัยชราแล้ว ไปสู่คำถามต่อไปเกี่ยวกับ Occupational Competence ที่เชื่อมโยงกัน และนำไปสู่การ Adaptation ได้


      -แล้วคุณยายในตอนนี้ยังคงสามารถทำอาหาร นั่งรถเที่ยวอย่างที่ชอบได้อยู่ไหม มีการปรับตัวตามอายุที่เพิ่มขึ้นขึ้นบ้างไหม? ยายตอบว่า พอทำได้ แต่ไม่เท่าเมื่อก่อนแล้ว ตอนนี้จะทำอะไรก็ต้องดูขีดจำกัดของตัวเอง (ลูกหลานก็ต้องรู้ด้วย จะได้ช่วยกันเบรกคุณยายขี้เกรงใจที่ไม่กล้าและไม่ยอมหยุดทำนู่นทำนี่)


      -ในระหว่างที่คุณยายมีส่วนร่วมในการทำอาหารกับนั่งรถเที่ยว อะไรที่ทำให้ยายรู้สึกว่าทำได้ไม่ดีเท่าเมื่อก่อนกันล่ะ? สำหรับยายแล้ว ยายคิดว่าเป็นเรื่องของความคล่องแคล่วที่น้อยลง มือสั่น หลงลืมสูตรอาหาร ตอนนั่งรถนาน ๆ ก็จะปวดเมื่อยข้อเข่า ปวดฉี่บ่อยด้วย เป็นปัญหาอยู่เหมือนกัน


      -ตอนที่คุณยายทำอาหารกับนั่งรถ ยายได้ลองใช้ความสามารถที่มีอย่างไรบ้าง ยังมีอะไรที่ทำไม่ได้ไหม? ในปัจจุบัน ยายได้ลองเปลี่ยนเป็นฝ่ายเตรียมส่วนประกอบกับใส่เครื่องปรุงแทนการเป็นคนยืนผัดนาน ๆ โดยมีแม่ของฉันเป็นคนคอยช่วยบอกเวลาลืมใส่วัตถุดิบ และให้คุณยายได้ทำเองเป็นช่วง ๆ เท่านั้น ส่วนการนั่งรถ ก็ต้องเปลี่ยนท่าทาง เอนเบาะ เพื่อแก้อาการเมื่อย


      -แล้วยายคิดว่า ยายต้องฝึกทักษะอะไรเพิ่มไหม จะได้ทำอาหารกับนั่งรถเที่ยวได้ดีขึ้น ข้อนี้ฉัน คุณยาย กับคุณแม่ได้มาช่วยกันคิดคำตอบ ได้ข้อสรุปว่า ฝึกทักษะในเรื่องของความจำเพิ่มเติมก่อน และฝึกเรื่องกล้ามเนื้อมือด้วย


      -คุณยายมีความตั้งใจ พฤติกรรม นิสัย ที่เอื้อต่อการพัฒนาความสามารถให้ได้สูงสุดอย่างไร? เพื่อที่จะถามถึง Volition, Habituation และ Performance Capacity ของคุณยาย ซึ่งได้คำอธิบายมาว่า คุณยายเป็นคนที่มุ่งมั่นและไม่ชอบอยู่นิ่ง ตามบทบาทของแม่ที่มีลูก 7 คน ขี้เกรงใจ เป็นคนที่สามารถพูดด้วยได้ง่าย ใจดี ใจเย็น รวมถึงเป็นคนที่ยังแข็งแรง สามารถจดจ่ออยู่กับอะไรนาน ๆ ได้ อาจทำให้การฝึกเป็นไปอย่างราบรื่น


      -สุดท้าย สิ่งแวดล้อมรอบตัวอะไรที่มีผลกระทบกับการทำอาหารและนั่งรถของคุณยายบ้าง? จากที่ฉันเห็นมา น่าจะเป็น อุปกรณ์เครื่องครัวที่เก่าและมีด้ามจับขนาดเล็กเกินไป, ซอสปรุงรส เครื่องปรุงต่าง ๆ ที่วางปนกันจำนวนมาก, เตาแก๊สที่อยู่ห่างเกินไป, เก้าอี้ที่เตี้ยและไม่มีพนักพิงหลัง ทำให้เวลาคุณยายนั่งเตรียมวัตถุดิบรู้สึกไม่สบายตัว สำหรับการนั่งรถเที่ยว รถมีเบาะที่แคบเกินไป ระยะห่างระหว่างเบาะหน้ากับเบาะหลังน้อย ทำให้เปลี่ยนท่าทางไม่ถนัด, ทางในต่างจังหวัดมีห้องน้ำน้อย อาจต้องใช้แพมเพิสผู้ใหญ่แทน


ในเมื่อทราบข้อมูลที่เกี่ยวกับสิ่งที่คุณยายสนใจทำแล้ว ฉันหวังว่าในอนาคตเมื่อฉันได้เรียนและฝึกปฏิบัติมากกว่านี้ ฉันจะออกแบบกิจกรรมสนุก ๆ เพื่อช่วยพัฒนาทักษะของคุณยาย ยายจะได้ไม่เบื่ออีกต่อไป เชื่อว่านักกิจกรรมบำบัดอย่างฉันจะต้องทำได้อย่างแน่นอน!!!



หมายเหตุ: บทความนี้มีความจริง 70% และเรื่องแต่งเพื่อการเล่าอีก 30%



พิชญาอร กิจกรรมบำบัด ปี 1
งาน "ประโยชน์ของ MoHo ต่อการพัฒนากลุ่มเปราะบาง" ของอาจารย์ป๊อป 19/10/2020

หมายเลขบันทึก: 684838เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2020 02:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2020 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท