หากคุณต้องการจะเริ่มทำอะไรสักอย่าง แต่ยังไม่มีแนวทาง ลองให้ 7 ประเด็น จาก 7 คำถาม MOHO ของกิจกรรมบำบัดช่วยคุณสิ!



เอ๊ะ อยู่บ้านช่วงกักตัวโควิดนี่มันว่างจังเลยนะ ถ้าทำแต่งานกับเรียนออนไลน์อย่างเดียวฉันต้องแย่แน่ ๆ เลย

เฮ้อ อยากลองหาอะไรใหม่ ๆ ทำ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากอะไรดี มันเยอะไปหมด

อืมมม อยากลองหางานอดิเรกดูบ้างจัง นอนเฉย ๆ ก็เบื่อเต็มทนแล้ว ทำอย่างไรดี?

กิจกรรมที่ทำอยู่ตอนนี้ มันดี เหมาะสม ตอบโจทย์กับชีวิตฉันหรือยัง จะรู้ได้อย่างไรนะ?


อ่าฮ่าา หลังจากอ่านข้อความข้างบนจบแล้ว เชื่อว่าหลายคนก็คงจะรู้สึกว่ามันช่างละม้ายคล้ายกับชีวิตของตนเองเหลือเกิน ยิ่งในช่วงเวลานี้ที่นักศึกษามหิดลอย่างชาวเราไม่ได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเหมือนเด็กม.อื่น ๆ ต้องนั่งอยู่บ้านจนกว่าจะจบเทอม เหมือนโดนกักตัว 1 ปีอย่างไรอย่างนั้น แล้วจะทำอะไรแก้เฉาดีล่ะ?


เพื่อที่จะตอบคำถามด้านบนนั้น ผู้เขียนจึงขอนำความรู้จากการศึกษารายวิชาหลักการพื้นฐานกิจกรรมบำบัดล่าสุด เรื่อง “MoHo” มาลองประยุกต์ใช้ดู ในฐานะที่เป็นนักศึกษาสาขาวิชากิจกรรมบำบัดมาประมาณสองเดือนกว่า ๆ ได้


ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นก่อนว่า Moho คืออะไร

“MoHo” หรือ Model of Human Occupation เป็นโมเดลที่ใช้ประเมิน แยกแยะปัญหาเพื่อตั้งเป้าหมายรายบุคคล ผ่านการตั้งคำถาม โดยพิจารณาจากสิ่งที่เป็นตัวบุคคลนั้น (อย่างความคิด ลักษณะนิสัย) สิ่งที่เป็นรูปธรรมที่บุคคลนั้นหามาได้ ความสามารถของบุคคลนั้น รวมถึงสิ่งแวดล้อมโดยรอบที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต โมเดลนี้ใช้เพื่อเพิ่มความสามารถในการแสดงบทบาทที่มีความหมายในชีวิต จากการนำสิ่งรอบตัวมาใช้เป็นสื่อในการพัฒนา ทำให้เกิดการปรับตัวและสร้างทักษะชีวิต เกิดเป็นนิสัยและบทบาทใหม่ขึ้น


ถ้าหากฉันยังไม่รู้ว่าฉันเหมาะกับอะไรล่ะ แล้วจะเอา MoHo มาใช้อย่างไร?



เราจะนำ MoHo มาเป็นหลักในการตั้งคำถามต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ นำไปสู่การประเมินตัวเอง เพื่อหาแนวกิจกรรมที่เหมาะสม ตรงตามความต้องการ และถูกใจคุณได้


โดยมี 7 ประเด็นใหญ่ ๆ ที่ควรได้มาจากการถามคำถาม 7 แนว ที่เราต้องทราบเพื่อประเมินประกอบการตัดสินใจ


1. เริ่มจากคำถามประเด็นแรก “คุณมีความสนใจในเรื่องอะไร และทำไม” คำถามนี้จะสามารถทำให้คุณนึกย้อนไปเห็นตัวเองในระหว่างทำกิจกรรมที่มีความหมายต่อคุณ เช่น รู้สึก อยากทำ เพราะความรู้สึกชอบ คุณจะได้รู้จัก ‘Occupational Identity’ หรือ ‘คุณลักษณะส่วนบุคคลต่อการทำกิจกรรมที่มีความหมาย’ ของตัวเองได้


2. หลังจากตอบคำถามข้อแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็มาต่อกันที่คำถาม “กิจกรรมที่ว่านี้ ช่วยให้คุณได้แสดงศักยภาพใดออกมาบ้าง” คำถามนี้จะทำให้คุณได้ทราบ ‘Occupational Competence’ หรือ ‘ศักยภาพสูงสุดของตัวเองในการทำกิจกรรมที่มีความหมาย’


ซึ่งถ้าหากตอบคำถามสองข้อนี้ได้อย่างชัดเจน ตรงประเด็น และพอนึกแนวทางออก แสดงว่าคุณมี ‘ความสามารถในการปรับตัวต่อการทำกิจกรรม’ หรือ ‘Occupational Adaptation’ เรียบร้อยแล้ว ดำเนินการทำกิจกรรมจริงได้

แต่ถ้าหากยังนึกแนวคำตอบไม่ออก หรือนึกแล้วยังรู้สึกว่ายาก มีอุปสรรค ไม่เข้าใจ ไม่ต้องกังวล อย่าพึ่งท้อ เพราะยังมีอีกหลายคำถามที่จะช่วยคุณ


3. คำถามต่อไป หากคุณยังไม่เห็นภาพศักยภาพของตัวเอง ให้คุณลองนึกว่า “ระหว่างที่คุณกำลังทำกิจกรรมนั้น คุณมีส่วนร่วม (‘Participation’) อะไรบ้าง” อาจทำให้ทราบถึงสิ่งที่เป็นปัญหา ที่มีผลให้การทำกิจกรรมของคุณไม่ราบรื่น เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขต่อไป


4. คำถามนี้จะถามเกี่ยวกับ ‘Performance’ หรือ ‘ความสามารถในการทำกิจกรรม’ โดยเราอาจจะถามตัวเองว่า “เราสามารถแสดงความสามารถอะไรออกมาได้ในระหว่างการทำกิจกรรมปกติ”หรือ “มีอะไรที่เรายังทำได้-ทำไม่ได้บ้าง” จะทำให้เรารู้สึกถึงความสามารถที่เรามีได้มากขึ้น


5. “จากข้อที่ผ่าน ๆ มา คุณรู้สึกอยากฝึกฝนทักษะใดเพิ่มเติมไหม” เพราะคุณรู้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองมากขึ้น อาจรวมถึง ‘Skills’ ที่อยากฝึกพัฒนาเพื่อการทำกิจกรรมด้วย


6. ข้อนี้จะเป็นคำถามต่อเนื่องแบบยาวที่ลึกขึ้นมานิดหน่อย มีคีย์เวิร์ดคือคำว่า อย่างไร

-อย่างไรที่ 1 “คุณมีเจตจำนง (‘Volition’) อย่างไร” เพื่อถามถึงความตั้งใจจริงในการทำกิจกรรมของคุณ

-อย่างไรที่ 2 “คุณมีพฤตินิสัย (‘Habituation’) อย่างไร”เพื่อที่จะได้ทราบว่าระหว่างทำกิจกรรม พฤติกรรม+นิสัยของคุณเป็นใจในการทำกิจกรรมหรือไม่ หรือคุณทำกิจกรรมนี้จนเป็นนิสัยและกลายมาเป็นบทบาท เป็นต้น

-อย่างไรที่ 3 “คุณจะแสดงความสามารถแบบเต็ม ๆ (‘Performance Capacity’) ของคุณออกมาอย่างไร” ถึงแม้ว่าคุณจะประสบปัญหา หรือมีอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งร่างกายและจิตใจนั้นไม่เป็นไร คุณยังมีทางที่จะแสดงศักยภาพออกมา อย่างเต็มประสิทธิภาพในแบบของคุณได้เสมอ :)


7. มาถึงข้อสุดท้ายของการสำรวจกันแล้ว ในข้อนี้ไม่เชิงว่าสำรวจตัวเอง แต่เป็นการสำรวจ ‘สภาพแวดล้อมของคุณ’ หรือ ‘Environment’ แทน โดยอาจตั้งคำถามว่า “คุณคิดว่าสภาพแวดล้อมรอบตัวอะไรส่งผลกระทบต่อการคิด/การทำกิจกรรมของคุณ” สำหรับประกอบการตัดสินใจหากสภาพแวดล้อมไม่เอื้อ รวมถึงเป็นแนวทางแก้ไขเบื้องต้นเท่าที่ทำได้ เพื่อการปรับตัวที่ง่ายขึ้น


  จากที่กล่าวมาทั้งหมด หวังว่าผู้อ่านจะรู้จักและเข้าใจการนำ MoHo มาประยุกต์ใช้ในแบบที่ใกล้ตัวเรามากขึ้น สิ่งที่เห็นในบทความนี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น เพราะความจริงแล้ว MoHo เป็นระบบประเมินที่ค่อนข้างเปิด คำถามต่าง ๆ จะมีมากมายขึ้นอยู่กับผู้ใช้แต่ละบุคคล หากอยากทราบว่าคนอื่น ๆ นำ MoHo มาใช้ในการพัฒนาตัวเองอย่างไร สามารถหาอ่านได้ที่เว็บบล็อกของเพื่อน ๆ ชั้นปีที่ 1 ตามปุ่มค้นหาในเว็บไซต์ได้เลย รวมถึงหากผู้อ่านมีแนวคิดอะไรเพิ่มเติม สามารถคอมเมนต์บอกเล่ากันใต้บทความได้เช่นกัน


 ขอขอบคุณที่ให้ความสนใจค่ะ :D



พิชญาอร กิจกรรมบำบัด ปี 1
งาน "ประโยชน์ของ MoHo ต่อการพัฒนาตนเอง" ของอาจารย์ป๊อป 19/10/2020 

หมายเลขบันทึก: 684837เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2020 02:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ตุลาคม 2020 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท