กรณีนายชาญ กาววัน ตามคำพิพากษาศาลปกครองขอนแก่นที่179/2547 : คนเชื้อชาติเวียดนามที่ประสบปัญหาในการร้องขอสถานะเป็นคนเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิอาศัยถาวร


คำพิพากษาของศาลปกครองฉบับนี้ได้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของศาลไทยในการให้ความยุติธรรมแก่บุคคลโดยไม่นำความเป็นคนเชื้อชาติต่างประเทศมา จำกัดในการให้ความยุติธรรมอย่างชัดเจน โดยจะเห็นได้จากการที่ศาลปกครองพยายามที่จะแสวงหาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีของนายชาญ กาววัน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาอย่างสมบูรณ์ที่สุด

 

                 นายชาญ  กาววัน  บุคคลต่างด้าวเชื้อชาติและสัญชาติเวียดนาม  เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2487  ที่นครเวียงจันทน์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  

                เมื่อปี พ.ศ.2488 นายชาญ กาววัน    ได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ที่ตำบลสว่างแดนดิน  อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร  โดยพักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 418 หมู่ 11 ตำบลสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

 

                ต่อมา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2540 นายชาญ กาววัน     ได้ยื่นคำร้องขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายของคนญวนอพยพรุ่นบิดาและมารดา  ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ต่อนายอำเภอสว่างแดนดิน   ตามคำร้องที่ 1/2540 และในวันเดียวกันนั้นเอง ปลัดอำเภอสว่างแดนดินได้สอบคำให้การของนายชาญ  กาววันประกอบคำร้องขอ

 

                เมื่อระหว่างวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2544  ถึงวันที่ 27 มีนาคม    พ.ศ.2544 กระทรวงมหาดไทยได้จัดส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางออกไปเร่งรัดการยื่นคำร้องขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย และขอมีสัญชาติไทยของคนญวนอพยพในเขตพื้นที่ภาคอีสานตอนบน 13 จังหวัด รวมทั้งจังหวัดสกลนครด้วย นายชาญ กาววันได้มาร่วมโครงการโดยยื่นคำร้องขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย     ต่อเจ้าหน้าที่อีกครั้งหนึ่งโดยได้รับคำร้องเลขที่ มท 0513          หลังจากได้รับคำร้องขอแล้ว เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2544 กองการข่าวสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยได้จัดทำบัญชี   รายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวข้องของผู้ร้องขอจัดส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง              ได้แก่ สำนักงานบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง  สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด  สำนักงานตำรวจสันติบาลกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กองทะเบียนประวัติอาชญากรรม       เพื่อตรวจสอบข้อมูลรวมทั้งพฤติกรรมที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

 

                เมื่อวันที่   27   กันยายน   พ.ศ.2544  จังหวัดสกลนครได้จัด       ส่งรายงานผลการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาให้สิทธิแก่คนญวนอพยพที่ประพฤติตนเป็นคนดีระดับจังหวัด

 

                เมื่อวันที่   3  กันยายน  พ.ศ.2544             โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบเสนอชื่อผู้ฟ้องคดีให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา

 

                ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม   พ.ศ.2545 ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2545 โอนงานด้านการข่าว งานชนกลุ่มน้อย    และงานสัญชาติในความรับผิดชอบของกองการข่าว สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย     ไปเป็นงานของกรมการปกครอง และอธิบดีกรมการปกครองได้รับโอนงานมาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2545

 

                ต่อมาเมื่อวันที่   25   กุมภาพันธ์   พ.ศ.2546             คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ    ให้ยุบงานคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาให้สัญชาติและคนเข้าเมืองซึ่งมีอยู่หลายคณะเป็นคณะเดียวเรียกชื่อว่าคณะกรรมการพิจารณาให้สัญชาติและคนเข้าเมืองซึ่งมีอยู่หลายคณะเป็นคณะเดียว     เรียกชื่อว่าคณะกรรมการพิจารณาให้สัญชาติไทยและให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่     ชนกลุ่มน้อยประกอบด้วยกรรมการซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการรวม 22 คน

 

                ในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2546 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เห็นชอบให้ใช้แนวการตรวจสอบพฤติการณ์ของผู้ร้องขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย      และหรือขอมีสัญชาติไทย โดยเน้นการตรวจสอบการกระทำที่เป็นโทษทางอาญาและอาชญากรรมข้ามชาติแทนการตรวจเฉพาะพฤติกรรมที่เกี่ยวกับยาเสพติดและอาชญากรรม      เนื่องจากคำร้องขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายมีจำนวนมาก   และคณะกรรมการกลั่นกรองเพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พิจารณา ได้ประชุมพิจารณา 2 ครั้ง    คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2546     พิจารณาคำร้องรวม 1,240 ราย สำหรับคำร้องของนายชาญ กาววัน  อยู่ในระหว่างการตรวจสอบพฤติการณ์เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่เป็นโทษทางอาญา  และอาชญากรรมข้ามชาติซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่ง              เมื่อได้รับแจ้งผลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วจะได้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรอง เพื่อนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาต่อไปโดย    ในการพิจารณาคำร้องขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายกระทรวงมหาดไทยไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาในแต่ละครั้งตอนไว้เป็นการเฉพาะแต่อย่างใด

 

                การที่นายชาญ กาววันยื่นคำร้องขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมือง   โดยชอบด้วยกฎหมายของคนญวนอพยพรุ่นบิดาและมารดาฉบับลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2540 และคำร้องที่ มท 0513 ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครองดังกล่าว    โดยที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครองยังมิได้มีคำสั่งใดๆ         นายชาญ กาววันจึงได้มายื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอนแก่น   เพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาว่าการกระทำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย        และอธิบดีกรมการปกครองเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่

 

                ศาลปกครองขอนแก่นได้พิจารณาพิพากษาว่า   ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1   เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่     และออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมกับค่าทำการและค่าใช้จ่ายอื่นๆ        เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า  ในกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องรัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีจะอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้ใด  จำพวกใด   เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรภายใต้เงื่อนไขใดๆ หรือจะยกเว้นไม่จำต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ในกรณีใดๆ ก็ได้    ประกอบกับมติของคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2540  อนุมัติในหลักการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาศัยอำนาจตามมาตรา   17   แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง       พ.ศ.2522 กำหนดคุณสมบัติและแนวทางปฏิบัติการพิจารณาอนุญาตให้คนญวนอพยพรุ่นบิดา และมารดามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522     ประเภทไร้สัญชาติ กำหนดจำนวนจำนวนคนต่างด้าว           และได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวรวมทั้งพิจารณาปรับปรุง แก้ไขคุณสมบัติ    แนวทางปฏิบัติในการพิจารณาให้สถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแก่                ญวนอพยพรุ่นบิดามารดาได้ตามความจำเป็นภายใต้หลักการเดิม    ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาโอนกิจการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง  ทบวง  กรม  พ.ศ. 2545 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2545 ได้โอนการบริหารและอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการเกี่ยวกับงานด้านการข่าว     งานชนกลุ่มน้อย และงานสัญชาติในความรับผิดชอบของกองการข่าว  สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โอนไปเป็นของกรมการปกครองโดยกำหนดให้กรมการปกครองรับมอบงาน    สัญชาติและชนกลุ่มน้อย เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2545 ดังนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ2  จึงมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่จะพิจารณาอนุญาตให้คนญวนอพยพรุ่นบิดา      และมารดามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรและมีสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 17   แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522

 

                กรณีจึงต้องพิจารณาต่อไปว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2    ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรหรือไม่   เห็นว่าเมื่อผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องขอมีสถานะคนต่างด้าว         เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายของคนญวนอพยพรุ่นบิดาและมารดา ตามมาตรา 17     แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ต่อสำนักงานทะเบียนอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร   เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2540 ในวันเดียวกันนั้นเอง ปลัดอำเภอสว่างแดนดินก็ได้สอบถามคำให้การของผู้ฟ้องคดีประกอบคำร้องขอ   และได้ส่งคำร้องดังกล่าวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เพื่อพิจารณา และต่อมาระหว่างวันที่   15   มกราคม    พ.ศ.2544-27 มีนาคม พ.ศ.2544 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก็ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางออกไปดำเนินการเร่งรัดการยื่นคำร้องขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายของคนญวนอพยพ     ในเขตพื้นที่ภาคอีสานตอนบน 13 จังหวัด  รวมทั้งจังหวัดสกลนครด้วย ซึ่งผู้ฟ้องคดีก็ได้ร่วมโครงการโดยยื่นคำร้องอีกครั้งหนึ่งตามคำร้องที่ มท 0513            และเมื่อได้รับคำร้องดังกล่าวแล้ว เจ้าหน้าที่กองการข่าว สำนักงานตำรวจสันติบาล  กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด        และกองทะเบียนประวัติอาชญากรรม เพื่อตรวจสอบพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ  โดยจัดส่งคำร้องไปเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2540 และในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2540   คณะอนุกรรมการจังหวัดสกลนครได้มีการประชุมและมีมติให้สิทธิแก่คนญวนอพยพที่     ประพฤติตนเป็นคนดีระดับจังหวัด ครั้งที่ 2/2544 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบเสนอชื่อผู้ฟ้องคดีให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา ขณะนี้ขั้นตอนกระบวนการพิจารณาคำร้องของผู้ฟ้องคดีอยู่ในระหว่างการ    ตรวจสอบพฤติการณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่  1 และที่ 2 ไม่ได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

 

                ปัญหาจึงต้องพิจารณาต่อไปว่าการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ เห็นว่าตามมาตรา 33        แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฎิบัติราชการทางการปกครอง พ.ศ.2539 กำหนดว่า        เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ความประหยัดและความมีประสิทธิภาพ    ในการดำเนินงานของรัฐให้คณะรัฐมนตรีวางระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อให้เจ้าหน้าที่         กำหนดเวลาสำหรับการพิจารณาทางปกครองขึ้นไว้ตามความเหมาะสมแก่กรณีทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย  หรือกฎในเรื่องนั้น ในกรณีที่การดำเนินการในเรื่องใดจะต้องผ่าน            การพิจารณาของเจ้าหน้าที่มากกว่าหนึ่งราย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง      มีหน้าที่ต้องประสานงานกันในการกำหนดเวลาเพื่อการดำเนินงานในเรื่องนั้น จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงเห็นได้ชัดว่าการบริหารภาครัฐเป็นงานบริการซึ่งรัฐจะต้องให้แก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ     การบริหารราชการที่มีประสิทธิภาพนอกจากจะต้องคำนึงถึงการวินิจฉัยการสั่งการและการใช้อำนาจรัฐอย่างเที่ยงตรงและเป็นธรรมแล้ว       ยังจะต้องคำนึงถึงความรวดเร็วและประหยัดซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญประกอบด้วย แต่จากคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ตามหนังสือด่วนที่สุดที่ มท 0307.3/3385 ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2547 ว่ากรณีการพิจารณาคำร้อง  ขอการมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย  กระทรวงมหาดไทยไม่ได้กำหนดเป็นระเบียบเกี่ยวกับระยะเวลาในการพิจารณาไว้เป็น  การเฉพาะแต่อย่างใด เพียงแต่กำหนดขั้นตอนดังนี้ 1.การดำเนินการเริ่มตั้งแต่สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นรับคำร้องในเบื้องต้น     2.สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นจัดส่งคำร้องให้คณะอนุกรรมการ (คณะกรรมการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการระดับกระทรวง)      พิจารณาให้สถานะคนเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายระดับจังหวัดพิจารณาตามแนวทางที่       รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด 3.เมื่อคณะอนุกรรมการพิจารณาระดับจังหวัด   พิจารณาแล้วจัดส่งคำร้องให้คณะกรรมการพิจารณา           ระดับกระทรวง (คณะกรรมการแต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี) พิจารณาตามแนวทางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด   4.เมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้วส่งผลการพิจารณาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสั่งการ       โดยในแต่ละขั้นตอนไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการไว้แต่อย่างใด    ดังนั้นกระบวนการและขั้นตอนในการพิจารณาคำร้องขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายของคนญวนอพยพรุ่นบิดา         และมารดา ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ2 จึงไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ      มาตรา 33  แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ศาลเห็นว่าแม้ว่าการพิจารณาคำร้องขอ        มีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายของคนญวนอพยพรุ่นบิดาและมารดาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ     ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาคำร้องในแต่ละขั้นตอนพอสมควรก็ตาม แต่หน่วยงานของรัฐ  ก็สามารถที่จะออกกฎระเบียบกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาคำร้องในแต่ละขั้นตอนตามความเหมาะสมได้แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 หาได้กระทำเช่นนั้นไม่      ดังนั้นเมื่อพิจารณาตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งกำหนดว่า การฟ้องคดีปกครองจะต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่   กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผลแล้วแต่กรณี เว้นแต่จะมีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น   จึงเห็นได้ว่าเมื่อผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องขอมีสถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายที่  ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2540 หากพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2540 เจ้าหน้าที่ของรัฐมิได้ชี้แจงหรือมิได้สั่งการคำขอดังกล่าว   ผู้ฟ้องคดีก็มีสิทธิจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองภายใน 90 วัน จึงถือได้ว่าในการพิจารณาทางปกครอง    ถ้าหากไม่มีกฎหมายหรือกฎใดๆ กำหนดระยะเวลาสำหรับใช้ในการพิจารณาทำคำสั่งทางปกครองไว้โดยเฉพาะแล้ว        ระยะเวลาพอสมควรที่จะใช้ในการพิจารณาจัดทำคำสั่งทางปกครองควรจะไม่เกิน 90 วัน และจากข้อเท็จจริงคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1      และ 2 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2540 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 6 ปีเศษแล้ว          การพิจารณาคำร้องขอของผู้ฟ้องคดียังอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบพฤติกรรม         ของผู้ฟ้องคดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงถือว่าการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร

 

                ศาลจึงมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2       ร่วมกันพิจารณาและมีคำสั่งคำร้องขอมีสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายของ             คนญวนอพยพรุ่นบิดาและมารดา          ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ของผู้ฟ้องคดี ตามคำร้องที่ 1/2540 ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ.2545 และคำร้องที่ มท 0513 ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

 

                คำพิพากษาของศาลปกครองฉบับนี้ได้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของศาลไทยในการให้ความยุติธรรมแก่บุคคลโดยไม่นำความเป็นคนเชื้อชาติต่างประเทศมา       จำกัดในการให้ความยุติธรรมอย่างชัดเจน โดยจะเห็นได้จากการที่ศาลปกครองพยายามที่จะแสวงหาข้อเท็จจริง             และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีของนายชาญ กาววัน    เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาอย่างสมบูรณ์ที่สุดโดยมีความต้องการที่จะอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นโดยตั้งอยู่บนความถูกต้อง     และเป็นธรรม ซึ่งทัศนคติของศาลในข้อนี้จะเรียกได้ว่าเป็นการไม่เลือกปฏิบัติของศาลก็ว่าได้  กล่าวคือศาลให้ความยุติธรรมแก่บุคคลทุกคนเท่าเทียมกันไม่จำกัดว่าเป็นเชื้อชาติใด

                 จากกรณีของนายชาญ กาววัน               ได้แสดงให้เห็นถึงอุปสรรคในการมีสถานะบุคคล    กล่าวคือ แม้นายชาญ กาววันจะมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายในการ   มีสถานะเป็นบุคคลเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิอาศัยถาวร     แต่เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการมีสถานะบุคคลของนายชาญ กาววัน ขาดความชัดเจนจึงก่อให้เกิดปัญหาในขั้นตอนของการใช้กฎหมายไม่สามารถใช้กฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย             นอกจากนี้การที่เจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎหมายขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างถ่องแท้   จึงทำให้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งในกรณีของนายชาญ กาววัน     ศาลปกครองขอนแก่นได้เยียวยาแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้   ดังนั้นในปัจจุบันนายชาญ กาววัน  จึงมีสถานะเป็นบุคคลเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีสิทธิอาศัยถาวร โดยนายชาญ กาววัน    มีสิทธิที่จะขอแปลงสัญชาติเป็นสัญชาติไทยได้ตามกฎหมาย  
หมายเลขบันทึก: 68429เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2006 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท