พิษ “โควิด” กระทบเศรษฐกิจชุมชน ท้องถิ่นเร่งสร้างอาชีพ-เสริมภูมิคุ้มภัย


เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ให้ความสำคัญ คือ “อาชีพ” ของคนในชุมชน เพราะเปรียบได้กับรากฐานของชีวิต หากชุมชนประสบกับ “ปัญหาปากท้อง” เรื่องนี้จะถูกแก้ไขโดยกลไกชุมชนได้อย่างไร ? นี่คือโจทย์ใหญ่

แม้วันนี้โควิด-19 ในไทยจะผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปแล้ว แต่คนไทยยังต้องปรับตัว ปฏิบัติตนตามวิถีใหม่ (New Normal) เพราะหลายประเทศยังระบาดอย่างรุนแรง ถ้าคนไทยการ์ดตก ลดความเข้มงวดในการดูแลตัวเอง โอกาสที่ไวรัสโคโรน่าจะระบาดอีกครั้งย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานั้นอาจกล่าวได้ว่าชุมชนท้องถิ่น มีบทบาทอย่างมากในการจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และศูนย์กลางการจัดการ คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เอาใจใส่อย่างยิ่ง โดยเฉพาะเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ที่มีการจัดวางแผนจัดการอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันยังเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่มีผลพวงมาจากโควิด-19 ในอนาคตด้วย

ประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งที่เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ให้ความสำคัญ คือ “อาชีพ” ของคนในชุมชน เพราะเปรียบได้กับรากฐานของชีวิต หากชุมชนประสบกับ “ปัญหาปากท้อง” เรื่องนี้จะถูกแก้ไขโดยกลไกชุมชนได้อย่างไร ? นี่คือโจทย์ใหญ่

ปริศนานี้มีคำตอบจากเสวนาออนไลน์ “ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ภูมิคุ้มกันชุมชน สร้างอาชีพ สร้างคน” บนเพจสุขภาวะชุมชนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีวิทยากรเป็นนักปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั่วทุกภูมิภาคมาร่วมเสวนา

พงษ์พร มานัส นายก อบต.บัวตูม อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ เล่าว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างเข้มข้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพต่างๆ เช่น ชาวสวนยางไม่สามารถออกไปกรีดยางได้ตามปกติ ขณะที่ลูกหลานซึ่งไปทำงานต่างจังหวัด หรือกรุงเทพฯ เป็นแรงงานก่อสร้าง แรงงานในโรงงาน พนักงานบริษัท ประมาณ 1,000 คนเศษ ก็ทยอยกลับบ้าน เพราะตกงานจากสถานการณ์โควิด คิดเป็นเกือบ 20% ของประชากร

โชคดีที่ตำบลบัวตูม มีพื้นที่ทางการเกษตรมาก ชาวบ้านก็มีพื้นเพในการทำเกษตร ทำสวนยางพาราเป็นอาชีพเสริม และยังมีกลุ่มอาชีพ อย่างที่บ้านโนนอุดม และบ้านโนนสมบูรณ์ มีกลุ่มทำไม้กวาด กลุ่มทำปุ๋ยชีวภาพ กลุ่มรีไซเคิลจากขยะ และกลุ่มสหกรณ์สวนยางอีกราว 50 กลุ่ม มีลานยางร่วม 20 ลาน ในช่วงเคอร์ฟิวออกไปกรีดยางไม่ได้ จึงหันมาทำไม้กวาดและเพิ่มกำลังการผลิตปุ๋ยชีวภาพไว้ใช้เอง อาศัยวัตถุดิบธรรมชาติจากในหมู่บ้าน บางส่วนแบ่งขายในตำบลราคากระสอบละ 200 กว่าบาท ช่วยประหยัดรายจ่ายค่าปุ๋ยได้ และแรงงานที่กลับมาอยู่บ้านก็ได้ช่วยงานภาคเกษตรที่บ้าน ส่วนการรีไซเคิลขยะนั้น เดิมมีสมาชิก 1,200 ครัวเรือน พอโควิด-19 ระบาด สมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2,000 ครัวเรือน หรือ 100% ของครัวเรือนทั้งหมด

ขณะที่ผู้ประกอบการรีสอร์ท ร้านอาหารต้องปิด ตลาดนัดของหมู่บ้านที่เคยจัดสัปดาห์ละ 2 หน ก็ปิดไป นายกฯพงษ์พร จึงแนะนำให้ชาวบ้านนำผัก ปลา ผลไม้ หรือสิ่งของอื่นๆ วางขายหน้าบ้านตัวเอง และร้านค้า ร้านอาหารก็เปิดได้ตั้งแต่มีการผ่อนปรนระยะที่ 2 โดยใส่ถุงให้ไปรับประทานที่บ้าน ไม่ให้นั่งในร้าน พอมีรายได้แม้ไม่เท่าเดิม ประกอบกับ ต.บัวตูมมีความเข้มแข็งในด้านการลดรายจ่าย ทำเองปลูกเองกินเอง หาเห็ด ปลา จากแหล่งธรรมชาติ บรรเทาความเดือดร้อนได้มาก

“ในด้านการเงิน กลุ่มไม้กวาดมีกองทุนหมุนเวียนที่มาจากการระดมทุนของสมาชิก เฉพาะกลุ่มที่บ้านโนนอุดม มีเงินหมุนเวียนถึง 10 ล้านบาท ในช่วงโควิดก็นำผลกำไรจากกองทุนมาซื้อแขม วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ แล้วให้สมาชิกเอาวัสดุไปทำ พอเสร็จจะมีพ่อค้ามารับซื้อ ทางกองทุนก็หักทุนไว้ นำผลกำไรไปแบ่งกัน นอกจากนี้ยังมีกองทุนหมู่บ้าน เงินอุดหนุนกลุ่มอาชีพแบบให้เปล่าจาก อบต.อีกกลุ่มอาชีพละ 1 หมื่นบาทต่อปี ทั้งหมดประมาณ 30 กลุ่ม” นายก อบต.บัวตูม กล่าวย้ำ

ส่วนท้องถิ่นทางภาคเหนือ สมนึก เดชโพธิ์ ปลัดเทศบาลตำบลแม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ อธิบายถึงสถานการณ์ในพื้นที่ ต.แม่ข่า ว่าผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มี 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มเกษตรกรรม 2.กลุ่มค้าขาย แยกเป็นกลุ่มขายตามตลาดนัด กับกลุ่มที่มีร้านจำหน่ายในชุมชน 3.กลุ่มผลิตสินค้าชุมชน วิสาหกิจชุมชน แม่บ้านเกษตรกร 4.กลุ่มที่อยู่ข้างนอกแล้วกลับมาในชุมชน แบ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ ทำงานอยู่ในเมือง หรือต่างจังหวัด ที่ถูกเลิกจ้าง หรือพักงาน ต้องกลับบ้าน อีกส่วนหนึ่งคือคนที่ออกไปทำงานในสถานประกอบการ ทั้งในเมือง หรือต่างจังหวัด แล้วถูกเลิกจ้าง ชะลอการจ้าง ก็กลับมาเช่นกัน

ภาคการเกษตรในพื้นที่ตำบลแม่ข่า มีพืชเกษตรสำคัญ คือ ลำไย มะม่วง ส้ม ลิ้นจี่ ข้าว พืชไร่ จำพวกข้าวโพด พืชทีได้รับผลกระทบก่อน คือ ส้ม เพราะให้ผลผลิตตลอดปี แต่ออกมากช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ ปรากฎว่าช่วงนั้นตลาดกระจายสินค้าในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ตลาดสี่แยกมหานาค ชะลอตัวหมด ยังดีที่ส้มเป็นผลไม้ที่รอได้ระยะหนึ่ง จึงเสียหายไม่มากนัก ต่อมาช่วงเมษายน-พฤษภาคม เป็นลิ้นจี่ ซึ่งตลาดไม่กว้างนัก และยังถูกจำกัดโควตา เคยส่งวันละ 1 ตัน ก็เหลือ 200 กิโลกรัม จึงแก้ไขด้วยการกระจายสินค้าในจังหวัดแทน มีรถกระบะขนไปขายในเมือง หรือจังหวัดใกล้เคียง ตอนนี้สถานการณ์ผ่อนคลายลง สินค้าก็กระจายตัวได้มากขึ้น

สำหรับกลุ่มที่นำสินค้าไปขายตามตลาดนัด ก็วางขายหน้าบ้านตัวเอง ส่วนร้านขายของชำในชุมชน พบว่าสินค้าบางอย่างขาดตลาดในบางช่วงเท่านั้น แต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ก็คือกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน เพราะตลาดอยู่ต่างจังหวัด เช่น กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแปรรูปมันฝรั่ง เดิมสต๊อก 70 ตันต่อปี ประมาณเดือนเมษายนก็จำหน่ายหมดแล้ว ปีที่ผ่านมาจึงวางแผนสต๊อกไว้ 100 ตัน ปรากฏว่าตอนนี้ยังขายไม่หมด ต้องหันไปอบแห้งลำไย เพื่อหารายได้ชดเชย แต่ตลาดยังแคบ ตลาดจีนก็ไม่เปิด โชคดีที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เก็บไว้รอจังหวะจำหน่ายได้ หรือในกลุ่มผลิตผักไฮโดรโปรนิกส์ 4 เดือนแรกของปีนี้ต้องหยุดปลูก เพราะซูเปอร์มาเก็ตในตัวเมืองเชียงใหม่ที่เคยสั่งผักสัปดาห์ละ 200 ก.ก. ขายไม่ได้ เลยงดสั่ง ก็นำมาแปรรูปเป็นแยม หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ แทน

การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ทางเทศบาลตำบลแม่ข่า ได้ให้สถาบันการเงินภายในชุมชน เช่นที่หมู่ 9 ลดดอกเบี้ยให้สมาชิกจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 8 และนำเงินส่วนหนึ่งที่เป็นงบใช้สาธารณะประโยชน์ซื้อหน้ากากแจกสมาชิก ส่วนกลุ่มปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ แจกเมล็ดพันธุ์ผักให้สมาชิกฟรี ผักที่เหลือค้างแปลงก็นำมาแปรรูป หรือมอบให้กับพี่น้องในชุมชนผ่านตู้ปันสุข รวมทั้งชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เข้าถึงเงินเยียวยาจากรัฐ เช่น เกษตรกร หรือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ที่สำคัญคือนักศึกษาจบใหม่ที่กลับมาอยู่บ้าน ได้ช่วยทำตลาดออนไลน์ให้พืชเกษตร จนขายได้ค่อนข้างดี เรียกว่าโควิด-19 เป็นบทเรียนที่ทำให้เห็นว่าการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย สามารถแก้ปัญหาและช่วยเหลือกันได้

ขณะที่พื้นที่ภาคกลางอย่างที่ตำบลท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ก็ประสบกับปัญหาด้านการเกษตรเช่นกัน โดย ชินวุฒิ อาศน์วิเชียร นักบริหารงานสวัสดิการสังคม อบต.ท่างาม กล่าวว่า คนในพื้นที่ตำบลท่างามได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม เพราะมีปัญหาภัยแล้งด้วย ผลผลิตทางการเกษตร เช่น กล้วยน้ำว้า ไม่ออกผล โรงตากกล้วยจึงถูกใช้เป็นที่ตากมะม่วงแผ่นแทน ขณะที่คนทำงานที่หยุดงานในช่วงนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ เรียนรู้และคุ้นเคยกับระบบออนไลน์ ก็นำผลิตภัณฑ์ในชุมชุนไปขายออนไลน์ สร้างช่องทางการตลาดเพิ่ม ประกอบกับพัฒนาชุมชนเข้ามาช่วยในกระบวนการไลฟ์สดขายสินค้าด้วย มีการลดราคาเพื่อกระจายสินค้าให้ได้มากขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มชาวนาปลูกข้าวไม่ได้จากสถานการณ์ภัยแล้ง รวมถึงกลุ่มอาชีพ เช่น ธุรกิจรับนักศึกษาดูงาน เมื่อโควิดระบาด คนมาดูงานไม่ได้ กลุ่มที่รองรับเรื่องผลิตภัณฑ์ และอาหารสำหรับคนมาดูงานก็ชะงัก ธุรกิจเพื่อสังคม คือโรงน้ำดื่มและร้านกาแฟ ก็ยอดขายตก

ทางอบต.ท่างามจึงเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิดจำนวน 1,219 ครัวเรือนๆ ละ 1,000 บาท และขออนุญาตเปิดตลาดหรือจุดขายสินค้าเฉพาะกิจ ช่วง 07.00-09.00 น. โดยมีมาตรการป้องกันโควิดอย่างเข้มงวด ประกอบกับมีทุนทางสังคมคือฟาร์มไข่ไก่ในพื้นที่ แม้ช่วงดังกล่าวไข่จะแพง แต่ อบต.ท่างาม ใช้วิธีเจรจาขอรับซื้อจากฟาร์มโดยตรง แล้วนำมาจำหน่ายให้ประชาชนที่จุดขายสินค้าเฉพาะกิจในราคาหน้าฟาร์ม พร้อมทั้งเปิดให้ชาวบ้านนำสินค้าเกษตรมาวางขายด้วย ส่วนผู้ประกอบการโรงแรมมีลูกค้าน้อยลง ต้องปิดครึ่งหนึ่งตามมาตรการของรัฐ จึงลดจำนวนคนงานลง ทาง อบต.ก็เข้าไปช่วยโดยขอเช่าพื้นที่ในราคาต่ำกว่าปกติ ไว้ใช้กักตัวผู้ที่เดินทางเข้ามา โชคดีที่ใน จ.สิงห์บุรี ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19

นอกจากนี้ กองทุนใบหยก ที่อบต.ท่างามตั้งขึ้นมา ก็ได้ช่วยเหลือเกษตรกรให้กู้ยืมไปซื้อปุ๋ย ยา โดยปลอดดอกเบี้ย 1 ปี ส่วนคนที่กู้ไปแล้วไม่สามารถชำระได้ ก็มีมาตรการพักชำระดอกเบี้ย และทำสัญญาใหม่ เพื่อให้ระบบบัญชีของกองทุนอยู่ในบัญชีเดียวกัน

“ที่ท่างามเรามีการทำหน้ากากผ้า แล้วปักเป็นรูปหน้าตัวเอง เกิดมิติใหม่ในช่วงโควิด สามารถทำเป็นอาชีพสร้างรายได้ เรียกว่าใช้ทุนในสังคมที่มีอยู่มาช่วยทดแทน ซึ่งแม้จะไม่มีรายได้เท่าเดิม แต่ก็ไม่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนท่างามถดถอยลงมากนัก” ชินวุฒฺ บอก

ส่วน กนกศักดิ์ บัวผสม กำนัน ต.บ้านในดง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี บอกว่าในวิกฤติมีโอกาส การระบาดของโควิด-19 ทำให้ลูกหลาน คนในครอบครัวได้กลับมาอยู่บ้านพร้อมหน้ากันอย่างอบอุ่น จากที่ปีหนึ่งเจอกันไม่กี่วัน ส่วนการปฏิบัติงานในฐานะกำนัน ต.บ้านในดง อ.ท่ายาง ก็มีการประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย ทั้งอำเภอ จังหวัด อบต. รพ.สต. และตั้งด่านตามคำสั่งของทางอำเภอ เพื่อดูแล ควบคุมให้ชาวบ้านปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ

ผลกระทบในด้านเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย เนื่องจากทั้งตำบลมีประชากรแค่ 2 พันกว่าคน มีอาชีพการเกษตร แต่ทำแบบแปลงเล็ก มีแค่ช่วงแรกที่ตลาดสีเขียวของ อบต.ปิดประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นก็เปิดแบบควบคุมทางเข้า-ออก มีการวัดไข้ ให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เพราะแม้จะเป็นตลาดที่คนในชุมชน นำผักกางมุ้ง ผลไม้ หรือผลิตผลในท้องถิ่นมาขาย แต่ทำเลอยู่ติดถนนใหญ่ คนข้างนอกอาจแวะมาเดินซื้อของ และกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิดได้

ทางด้าน น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ รองผู้จัดการสสส. ในฐานะผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สรุปว่า จากบทเรียนครั้งนี้ชุมชนท้องถิ่นต้องหาทางสร้างเศรษฐกิจชุมชนด้วยดิจิตอลให้ได้ เพื่อให้ทันกับยุคและสถานการณ์ แต่การขายแบบนี้ต้องมีเครือข่าย เช่น การไลฟ์สด ก็จะเชิญเพื่อนมาดูแบบต่อกันไปเรื่อยๆ กลุ่มชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งมีต้นทุนเรื่องเครือข่ายอยู่แล้วถึง 2,000 ตำบล ดังนั้นต้องฝึกทักษะให้คล่อง ก็จะขายสินค้าได้มากขึ้น และทุกพื้นที่ที่ทำได้ถึงตรงนี้ เพราะมีคนที่มีคุณภาพ มีผู้นำท้องถิ่นที่รับผิดชอบ

ขณะที่ รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เสริมว่าการรอดพ้นวิกฤติโควิด-19 โดยไม่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนตกต่ำมากนัก เป็นเพราะเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เน้นใช้ทุนทางสังคมที่มีอยู่เรื่องกลุ่มอาชีพ เพื่อรองรับปัญหา และหาเทคนิค ทักษะใหม่ๆ มาช่วยให้การกระจายสินค้า ผลิตภัณฑ์ การแปรรูป ทำได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดค่าใช้จ่าย ใช้ทรัพยากรในพื้นที่ วิถีชีวิตแบบพอเพียง รวมถึงมีสถาบันการเงินเข้ามาช่วยทันทีที่สถานการณ์เกิดขึ้น และมีการปรับตัวเพื่อช่วยเหลือกัน

ที่สำคัญ แม้จะมีคนกลับบ้าน แต่ก็มาเป็นแรงงานต่อเนื่องให้กับครอบครัวในการทำเกษตร และทำให้ครอบครัวอบอุ่น มีความสุขมากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 683981เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 20:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 20:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท