พลังชุมชนท้องถิ่นหยุด “โควิด-19”




มาตรการหยุดยั้งการแพร่ระบาดโควิด-19 ของไทยนั้น นับว่าครอบคลุมและกว้างขวางที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่ทำกันมา ทุกภาคส่วนล้วนมีบทบาททัดเทียมกันตามภาระหน้าที่ ประสานสอดคล้องมีความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างน่าทึ่ง จนทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมานั้น น่าพึงพอใจ

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คืออีกภาคส่วนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องประชาชนให้รอดพ้นจากภัยโควิด-19 โดยใช้ทุกสรรพกำลังที่มีอยู่ให้ชุมชนปลอดภัย

บางชุมชนออกมาตรการที่เข้มงวด ให้ทุกคนปฏิบัติตามโดยไม่มีข้อยกเว้น อย่างที่เทศบาลตำบลไทรย้อย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก หากใครจะเข้าไปในเขตตำบลไทรย้อย ต้องผ่านจุดคัดกรองที่ รพ.สต.ทั้ง 2 แห่ง ไม่มีการยกเว้น ส่วนพื้นที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ อย่างที่ อบต.บางคนที อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ก็เข้มงวดเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ไม่แพ้กัน พร้อมกับประสานความร่วมกันระหว่างจังหวัดและท้องถิ่นด้วย

นางเรณู เล็กนิมิต นายก อบต.บางคนที บอกว่า มีการบูรณาการร่วมกัน ทั้งทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อบต. ตั้งด่านสกัด 24 ชั่วโมง ทำให้รถติด หน่วงเวลา คนที่ออกนอกบ้านรู้สึกยุ่งยาก ก็ไม่อยากออกจากบ้าน ซึ่งนั่นเท่ากับการสร้างความปลอดภัยให้กับตัวเองและชุมชน สังคม

ขณะที่มาตรการต่างๆ สามารถจัดการควบคุมอย่างเข้มงวดแล้ว ท้องถิ่นอีกหลายพื้นที่ ก็แสดงความใส่ใจ ดูแลสมาชิกในชุมชนดุจคนในครอบครัวด้วย ไม่เพียงแต่ออกไปเยี่ยมชาวบ้าน บอกกล่าวถึงพิษภัยของเชื้อร้ายแล้ว บางท้องถิ่นก็มอบสิ่งของจำเป็นให้กับสมาชิกชุมชนที่กักตัวอยู่ในสถานที่ของตัวเองด้วย

อย่างที่เทศบาลตำบลพระแท่น อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ทำเก๋มอบกิ๊ฟเซ็ตให้ลูกบ้านที่ต้องกักตัวด้วย โดย นายทรงศักดิ์ โชตินิติวัฒน นายกเทศมนตรีตำบลพระแท่นบอกว่า ตลอดระยะเวลาที่มีการแพร่ระบาด ทาง ทต.พระแท่นได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันเฝ้าระวังควบคุมโรค เนื่องจากมีกลุ่มเสี่ยงเข้ามาในพื้นที่ค่อนข้างมาก ทั้งที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 4-5 คน เดินทางกลับจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล 60-70 คน เดินทางมาจากต่างจังหวัดอีกราว 30 คน ทุกคนต้องกักตัวอยู่ในสถานที่ของตัวเอง

ทาง ทต.พระแท่นจึงประสานงานกับ อสม. และผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ช่วยฯ ของแต่ละหมู่บ้าน นำชุดของขวัญ (Gift Set) ประกอบด้วย ปรอทวัดไข้ สบู่ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ขนาด 30 มิลลิลิตร หน้ากากผ้า 2 ชิ้น แบบบันทึกการติดตาม แผ่นพับความรู้แนะนำโรคโควิด-19 ไปมอบให้กับผู้ที่จะต้องกักตัว พร้อมกับเข้าไปติดตามอาการทุก 2 วัน มีไข้หรือไม่ เก็บตัวจริงไหม ขณะเดียวกันก็ตั้งกลุ่มไลน์ โควิด-19 มีสมาชิกคือเทศบาล ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. เพื่อส่งข้อมูล-เก็บข้อมูล รายวัน

“สถานการณ์วันนี้ ทุกหน่วยงาน องค์กร ทั้งฝ่ายท้องถิ่น ท้องที่ ฝ่ายสาธารณสุข ต้องช่วยกันสแกนทุกพื้นที่อย่างละเอียดและทั่วถึง เพื่อหยุดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ให้ได้ ชุมชนและสังคมจะได้กลับมาสงบสุข ส่งผลถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายก ทต.พระแท่น กล่าว

ส่วนท้องถิ่นอีกแห่งหนึ่งห่างจากตัวอำเภอฝาง จ.เชียงใหม่ เกือบ 20 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของเทศบาลตำบลแม่ข่า รับผิดชอบทั้งหมด 13 หมู่บ้าน ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เช่น ปลูกลำไย ลิ้นจี่ ส้ม กระเทียม มันเทศ มีชุมชนชาติพันธุ์ ลาหู่ ไทใหญ่ อยู่ในเขตตำบลด้วย เพราะพื้นที่ติดกับพม่า

เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด มีกลุ่มจากต่างประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน เป็นต้น เดินทางกลับมา รวมทั้งในประเทศที่เดินทางมาจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถือว่ากลับมาจำนวนมากที่สุด รองลงมาเช่น ระยอง ชลบุรี และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง เช่น แพร่ ลำปาง ลำพูน เป็นต้น ราว 130 คน ที่ต้องกักตัวอยู่ในสถานที่ของตัวเอง

นายวีระยุทธ เทพนันท์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน เทศบาลตำบลแม่ข่า บอกว่าแม่งานสำคัญในพื้นที่ คือ กลุ่ม อสม. จะช่วยกันสอดส่องทุกพื้นที่เรียกว่า “กลุ่ม อสม.ตาสับปะรด” ดูแล ให้ความรู้ และเฝ้าระวังตลอดเวลา พร้อมกันนี้ยังจัดให้มีกิจกรรมเชิงรุกอย่างโครงการล้างมือหน้าบ้าน ล้างมือหน้าโรงเรียน ล้างมือหน้าสำนักงาน ล้างมือหน้าวัด ใครเข้าใครออก เข้าบ้านออกบ้านจะต้องมีการล้างมือด้วยสบู่

นอกจากนี้ยังใช้แอพลิเคชั่นไลน์ โดยมีการตั้งกลุ่มไลน์เฉพาะขึ้น ชื่อกลุ่มโควิด โดยมีสมาชิกทั้งผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ รพ.สต. อสม. เทศบาล ที่มีหน้าที่ในการทำงาน เข้ามาร่วมในกลุ่ม มีการประชุมผ่านไลน์ วีดีโอคอล เช่น ในสถานการณ์ฉุกเฉินบ้านไหนมีปัญหา ก็จะมีการเปิดประชุม พูดคุยกัน รวมทั้งอัพเดทสถานการณ์จากศูนย์เฉพาะกิจเชียงใหม่ รายงานให้ข้อมูลสมาชิกในกลุ่มไลน์โควิดอย่างต่อเนื่อง

เรียกได้ว่าทุกๆ พื้นที่ ต่างก็ใช้ทุกเครื่องมือเข้ามาช่วย เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดในคราวนี้ให้ได้ บาง อปท. ก็สร้างนวัตกรรมใหม่ในการช่วยสร้างสุขอนามัยที่ดีให้เกิดขึ้นในชุมชน อย่างที่เทศบาลตำบลวาปีปทุม อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ได้สร้าง อ่างล้างมือเคลื่อนที่ โดยใช้วัสดุอุปกรณ์จากขยะรีไซเคิลโดยนำกลับมาใช้ใหม่ดัดแปลงเป็นอ่างล้างมือเอนกประสงค์ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้ล้างมือทำความสะอาด

นอกจากนี้ยังมี ตู้ต้านโควิค-19 โดยใช้น้ำอิเล็กโทรไลซ์ที่มีมีประสิทธิภาพฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในกลุ่มแบคทีเรียและไวรัสได้มากกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ทดแทนแอลกอฮอล์ ซึ่งเทศบาลได้ทำประดิษฐ์ตู้ต้านโควิค-19 จำนวน 3 ตู้ ติดตั้งไว้ที่สถานีขนส่ง ตลาดสด และเทศบาล

การรวมพลังอย่างเข้มแข็งของท้องถิ่นเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนความรู้และประสบการณ์จากการเข้าร่วมเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทำให้มีข้อมูล ทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น จนสามารถวางแผนรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีระดับหนึ่ง

“ต้องยอมรับว่าท้องถิ่นต่างๆ ทำได้ดีถึงดีมาก” น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) กล่าวชม

สิ่งที่ ผอ.ดวงพร ยกย่องเป็นพิเศษ คือการส่งสารความรู้เรื่องภัยพิบัติโควิด-19 ลงสู่ชุมชนของ อปท.ทั้งหลาย ที่ทำได้อย่างเข้าถึงจริงจัง จนชุมชนมีความตระหนักรู้ สามารถป้องกันตัวเองและชุมชนได้เป็นอย่างดี ชนิดที่เรียกว่าเอาอยู่ แต่อย่างไรก็ตามชุมชนในเขตเมืองอาจจะไม่ค่อยได้ผลนัก เพราะระดับความสัมพันธ์ของแต่ละครอบครัวค่อนข้างห่างเหินกัน

ความสามารถของท้องถิ่นต่อการจัดการกับการระบาดของโควิด-19 นั้น ผอ.ดวงพร มองว่า เริ่มจากการที่แต่ละท้องถิ่นมีอิสระในการจัดการ ต้องช่วยตัวเองให้รอดพ้นจากการแพร่ระบาดให้ได้ ขณะเดียวกันก็ได้รับการหนุนเสริมจากรัฐบาล โดยกระทรวงมหาดไทย ที่สร้างกิจกรรมเย็บหน้ากากอนามัย นับเป็นกิจกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการหยุดโควิดในชุมชน

ก่อนหน้าจะมีกิจกรรมดังกล่าวนี้ ไทยตกอยู่ในภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัยทั่วประเทศ เมื่อกระทรวงมหาดไทยสั่งให้ทุกชุมชนเย็บใช้เอง ปรากฏว่าไม่มีการร้องขอใดๆ จากชุมชน เพราะสามารถทำเองได้แล้ว ขณะเดียวกันแต่ละท้องถิ่นได้คิดค้นระบบการให้กำลังใจสมาชิกในชุมชนที่อยู่ในระยะกักตัว โดยเยี่ยมให้กำลังใจกันเสมอๆ ซึ่งบรรยากาศดีๆ แบบนี้ คือสิ่งที่ชุมชนลุกขึ้นมาทำเอง ผู้บริหารท้องถิ่นพร้อมเหล่าพี่น้อง อสม.ทั้งหลาย ต่างเดินเท้าไปเยี่ยมทุกครัวเรือน

น.ส.ดวงพร กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขนานใหญ่ คำว่า “กินร้อน ช้อนแยก ล้างมือ” ที่รณรงค์กันมาตลอด จะเป็นกิจวัตรที่ทำกันเป็นประจำ ขณะเดียวกันพฤติกรรมรวมกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจะระมัดระวังกันมากขึ้น

ดังนั้นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) แนะนำว่า ชุมชนต้องสร้าง 3 ประการนี้ ได้แก่ 1.รอบรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมและรณรงค์จนทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมในชุมชน 2.ต้องมีระบบเฝ้าระวังที่มีความตื่นตัวสูง ซึ่งประสบการณ์จากโควิด-19 ในครั้งนี้ แต่ละชุมชนรู้แล้วว่า ระดับของการเฝ้าระวัง คัดแยก ตรวจสอบ และกักตัวนั้น ทำอย่างไร หากพัฒนาต่อไประบบการเฝ้าระวังนี้สามารถนำไปใช้กับภัยพิบัติอื่น ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุถล่ม ได้ด้วย และ 3.ต้องสร้าง อสม.พันธุ์ใหม่ที่รอบรู้เรื่องโรคติดต่อ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องติดอาวุธทางปัญญาให้อาสาสมัครเหล่านี้ เพื่อรับมือกับโรคระบาดครั้งใหม่ได้

“อสม.จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งท้องถิ่นต้องสร้างระบบและเพิ่มขีดความสามารถให้ อสม. ถ้าท้องถิ่นเข้มแข็ง อสม.ก็เข้มแข็งด้วย” ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) กล่าวและว่า สสส.จึงพร้อมที่จะสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในการรับมือกับโรคติดต่อต่างๆ โดยขณะนี้ สสส.ให้การสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 2,500 แห่ง เรียกรวมกันว่า “เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่” และกำลังปรับแผนของโครงการ สนับสนุนทุนแก่ อปท. 1,028 แห่ง เพื่อออกแบบและทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชุมชน

ถึงตอนนี้ โควิด-19 คือสัญญาณชัดเจนของโรคอุบัติใหม่ที่จะมาเยือนชุมชนต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นการเตรียมพร้อมในทุกๆ ด้าน เพื่อรับมือกับโรคติดต่อใหม่ๆ นั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และแกนนำที่จะทำให้ชุมชนรอด ก็คือชุมชนท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็งนั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 683971เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 19:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท