ชี้อีก 5 ปี สังคมไทยมีผู้สูงวัย 25% หนุน อปท.พัฒนาระบบดูแลโดยชุมชนท้องถิ่น


องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระตุ้นผู้สูงอายุให้รู้สึกว่าตนเองยังมีพลัง มีศักยภาพ ความรู้ ความสามารถ ไม่ต้องเป็นผู้รับเสมอไป เพราะถ้าเป็นผู้รับก็จะรู้สึกด้อยค่า ด้อยความสำคัญ

สังคมสูงวัยกำลังมาเยือน ระบุอีก 5 ปี ไทยจะมีผู้สูงอายุถึง 25% ของประชากร แนะ อปท.กระตุ้นผู้สูงอายุในชุมชนให้รู้ถึงศักยภาพตัวเอง ชี้ท้องถิ่นต้องต้องพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชน พร้อมดึงทุนทางสังคมและศักยภาพชุมชนออกมาใช้มากขึ้น

ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่ ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ “เวทีสานพลังสูงวัยสร้างเมือง” ที่จัดขึ้นช่วงวันที่ 29-30 ม.ค.63 โดยความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา, คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ 25 ศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ

น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมสานพลังครั้งนี้ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระตุ้นผู้สูงอายุให้รู้สึกว่าตนเองยังมีพลัง มีศักยภาพ ความรู้ ความสามารถ ไม่ต้องเป็นผู้รับเสมอไป เพราะถ้าเป็นผู้รับก็จะรู้สึกด้อยค่า ด้อยความสำคัญ ขณะเดียวกันก็ต้องช่วยกันสื่อสารเรื่องสูงวัยสร้างเมืองให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เนื่องจากอีก 5 ปี สังคมไทยจะมีผู้สูงอายุมากถึง 25% ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วหลายแห่งจะมีสวัสดิการสำหรับคนในแต่ละช่วงอายุแตกต่างกัน ยิ่งสูงอายุมากเท่าไหร่ก็จะได้รับครอบคลุมมากขึ้น

“แต่เราไม่มีเงินดูแลอย่างเพียงพอ ในการทำให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพดี ดังนั้นการส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงวัย ด้วยทุนทางสังคมและศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง” น.ส.ดวงพร กล่าว

ปัจจุบันผู้สูงอายุในภาคเหนือมีสัดส่วนสูงมากถึง 23.97% จากข้อมูลนี้ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. ชี้ว่า เมื่อพิจารณาถึงการดูแลจะเห็นได้ว่าหลายพื้นที่ทำอย่างครบวงจร จึงน่ากังวลเท่าไหร่ โดยเฉพาะในพื้นราบ เช่น เทศบาลตำบลขัวมุง อ.สารภี, เทศบาลตำบลสองแคว อ.ดอยหล่อ, เทศบาลตำบลแม่ปูคา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ มีการใช้ทุนทางสังคมจัดการในพื้นที่ด้วยตนเอง ส่วนบนพื้นที่สูงก็มีการจัดการตามวิถีชีวิต แต่บางแห่งก็พบว่าไม่เหมาะสม หรือไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ สสส.ก็มีบทบาทในการเข้าไปสร้างความเข้าใจ โดยดึงนักวิชาการ หมอ ไปคุยว่าอะไรถูกต้อง อะไรไม่ถูกต้อง ควรปรับปรุงอย่างไร

ด้าน นางจิดาภา อิ่นแก้ว ประธานชมรมอุ่นใจ เทศบาลตำบลแม่ปูคา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ต.แม่ปูคา ประสบปัญหาผู้ชายวัยทำงานมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง จากสถิติโรงพยาบาลสันกำแพง พบว่าในปี 2552-2554 มีอัตราการฆ่าตัวตายของคนวัยทำงานปีละ 4-5 คน เมื่อ อสม.ลงเยี่ยมบ้าน ก็พบว่านอกจากปัญหาฆ่าตัวตายแล้ว ยังมีผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงมีภาวะซึมเศร้า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป เนื่องจากสูญเสียลูกหลานที่ฆ่าตัวตายหรือลูกหลานออกไปทำงานนอกบ้าน ไม่มีเวลาพูดคุยกับผู้สูงอายุ การแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายจึงต้องทำควบคู่กับการดูแลภาวะซึมเศร้าในกลุ่มผู้สูงอายุด้วย อันเป็นที่มาของการตั้ง “ชมรมอุ่นใจ” ในปี 2553

ชมรมมีอาสาสมัครเข้ามาเป็นทีมงานประมาณ 30-40 คน ได้รับการอบรมด้านการให้คำปรึกษา ถ้า อสม.ให้ข้อมูลว่ามีกลุ่มเสี่ยงในหมู่บ้าน ก็จะมีทีมลงพื้นที่ โดยประสานงานกับทางโรงพยาบาล ควบคู่กับการใช้กระบวนการชุมชนเยียวยา และในขณะนี้กำลังจะร่วมมือกับเทศบาลตำบลแม่ปูคา ตั้งศูนย์ประสานงานสุขภาพจิต ถ้าผู้ป่วยมาที่นี่จะได้รับคำปรึกษา เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาในการดำเนินงาน เช่น ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าป่วย บางคนไม่ยอมรับว่าป่วย บางรายลืมกินยาเป็นประจำ เมื่อลงเยี่ยมบ้านก็พบว่าผู้ป่วยรายหนึ่งหลังรับประทานอาหาร จะรีบให้อาหารแมว จนลืมกินยา จึงใช้วิธีแขวนโมบายรูปแมวเตือนความจำ ว่าให้ข้าวแมวแล้วอย่าลืมกินยานะ ก็ลดปัญหาลงได้ ส่วนในภาพรวมหลายรายอาการดีขึ้น และผู้ป่วย 3 รายได้งานทำ สามารถหารายได้เลี้ยงครอบครัว

หมายเลขบันทึก: 683954เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 17:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2020 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท