ความสุขของคนไทยลดลง​ เพราะเหตุุใด​ ?


องค์การสหประชาชาติได้สนับสนุนให้มีการประเมินความสุข เนื่องจากมีความเห็นร่วมกันว่าความสุขน่าจะเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งของการพัฒนาประเทศ จึงมีรายงานความสุุขโลก​ (World Happiness Report ) เป็นประจำเกือบทุกปีตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจสามปีก่อนหน้า ล่าสุดคือ รายงานของปี 2020 (ข้อมูลการสำรวจของปี 2017 -2019) ปรากฏว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 มีคะแนนความสุขอยู่ที่ 5.999

ที่มาของคะแนนความสุข ได้มาจากการสำรวจของ Gallup World Poll ซึ่งใช้คำถามที่เรียกว่า บันไดแคนทริล (Cantril ladder) ซึ่งถามว่า “  โปรดนึกถึงภาพบันไดที่มี 10 ขั้น มีเลขเขียนไว้ที่บันไดแต่ละขั้น ที่พื้นเขียนเลข 0 ที่บันไดขั้นบนสุดเขียนเลข 10  ให้บันไดขั้นบนสุดแทน​ชีวิตที่ดีที่สุุด​ของท่าน และที่พื้นแทนชีวิตที่แย่ที่สุดของท่าน​ ท่านคิดว่าทุกวันนี้ท่านยืนอยู่ที่บันไดขั้นที่เท่าไร? " และมีความพยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนความสุขนี้กับข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับความสุขรวมหกปัจจัยด้วยกัน

ในรายงานของปีนี้มีการเปรียบเทียบคะแนนความสุขเฉลี่ยของช่วงปี 2017 – 2019 กับช่วงปี 2008 – 2010 (ของรายงานปี 2012) ระบุว่าประเทศไทย มีคะแนนลดลงเท่ากับ – 0.095 ซึ่งถือว่าเล็กน้อย และมิได้นำมากล่าวถึงอีกเลย

อย่างไรก็ตาม โปรดสังเกตกราฟที่แสดงไว้ข้างต้น (หมายเหตุ - ปี 2014 ไม่มีรายงาน) จะเห็นว่า จากรายงานผลรวม 8 ครั้ง ในรายงานปี 2013, 2015, 2016 และ 2017 ประเทศไทยมีคะแนนความสุขอยู่ในลำดับค่อนข้างดีคือลำดับที่ 36, 34 , 33, และ 32 แต่ในรายงานปี 2018, 2019 และ 2020 คะแนนความสุขของประเทศไทยลดลงอย่างชัดเจน ทำให้ประเทศไทยลดลำดับไปอยู่ที่ 46, 52, และ 55 โดยเฉพาะอย่างยิ่งคะแนนความสุขของประเทศไทยในรายงานปี 2018 (ใช้ข้อมูลปี 2015–2017) ต่ำกว่าคะแนนความสุขของประเทศไทยในรายงานปี 2017 (ใช้ข้อมูลปี 2014-2016) ถึง – 0.352 คะแนน (ซึ่งสูงกว่าความแตกต่าง – 0.095 เมื่อเปรียบเทียบคะแนนรายงานปี 2020 กับรายงานปี 2012 ที่กล่าวถึงข้างต้น) จึงน่าสนใจว่าทำไมคะแนนความสุขของคนไทยจึงลดลงมากเพียงนี้และอยู่ในระดับนี้มาสามปีแล้ว สาเหตุที่จะมีอิทธิพลมากขนาดนี้น่าจะเป็นเหตุการณ์สำคัญ ที่ผลกระทบรุนแรงและคงอยู่ยาวนานเช่นนี้

วันนี้เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อปลายปี ค.ศ. 2016 เป็นเหตุการณ์เดียวในระยะนั้นที่มีความชัดเจนว่า น่าจะมีผลกระทบรุนแรงและคงอยู่ยาวนานเช่นนี้ การสำรวจของ Gallup World Poll น่าจะมิได้ทำในช่วงปลายปี​ ​ (ยังหาข้อมูลสนับสนุนไม่ได้) ดังนั้นผลที่เกิดจากกรณีสวรรคตจึงไปปรากฎในข้อมูลการสำรวจของปี 2017 และมีผลต่อคะแนนความสุขของคนไทยตั้งแต่รายงานปี 2018 จนถึงปี 2020 จนกว่าจะมีปัจจัยอื่นที่มีอิทธิพลมากพอมากระตุ้นให้ความสุขของคนไทยเพิ่มขึ้น

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

13 ตุลาคม 2563


(เพิ่มเติ​ม​ 23 ตุลาคม​ 2563 หากข้อสันนิษฐานข้างต้นถูกต้อง​ ความสุขของคนไทยในรายงานปี 2021 จะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน​ เนื่องจากไม่รวมข้อมูลจากการสำรวจปี 2517 แล้ว)​ 

หมายเลขบันทึก: 683922เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2020 22:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ตุลาคม 2020 16:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท